เดินหน้าออกแบบนโยบาย “หลักประกันโอกาสทางการศึกษา” กับ ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท อุ๊คบี จำกัด และผู้บริหารกองทุน 500 TukTuks

เดินหน้าออกแบบนโยบาย “หลักประกันโอกาสทางการศึกษา” กับ ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท อุ๊คบี จำกัด และผู้บริหารกองทุน 500 TukTuks

ช่วยเศรษฐกิจของพ่อแม่ และสร้างแนวร่วมผ่านแรงจูงใจทางภาษี คืออีกวิธีในการเปิดโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กไทย

-เท่าที่ติดตามข่าวในช่วงที่ผ่านมา หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เด็กไทยจำนวนไม่น้อยไม่ได้เรียนต่ออย่างที่อยากเรียน คือปัจจัยด้านเศรษฐกิจในครัวเรือน ต้องยอมรับกันว่าในภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีความชะลอตัว คนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็รวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กด้วย อาจจะเป็นคำตอบที่กำปั้นทุบดิน แต่ผมมองว่าหากครอบครัวมีความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กๆ จะเปิดกว้างขึ้น ดังนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงในทางหนึ่งก็เป็นสิ่งที่ควรทำควบคู่ไปกับนโยบายการศึกษาอื่นๆ ที่ภาครัฐกำลังพยายามทำอยู่

-“หลักประกันโอกาสทางการศึกษา” ที่ กสศ.​จับมือกับภาคส่วนอื่นๆ เป็นจุดเริ่มที่น่ายินดีครับ จริงๆ เรื่องการศึกษาเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับทุกคน ทุกภาคส่วนเลย รวมถึงวงการเทคโนโลยีและแวดวงธุรกิจด้วย ที่ผ่านมาไทยเรามีภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมขับเคลื่อนโครงการเกี่ยวกับการศึกษาไม่น้อย แต่อาจจะขาดแกนกลาง ผมมองว่าความร่วมมือนี้เป็นก้าวสำคัญ ที่อยากเสนอแนะเพิ่มเติมคือ เนื่องจากมีคนในประเทศสนใจประเด็นการศึกษาไม่น้อย หากสามารถเปิดโอกาสให้คนทั่วไปสนับสนุนผ่านช่องทางภาษีได้ น่าจะเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ

-การสนับสนุนผ่านช่องทางภาษีอาจมีได้หลายแบบ แต่แบบหนึ่งคือ ตอนที่เราต้องจ่ายภาษีประจำปี หากมีช่องให้ประชาชนทั่วไปกรอก หรือระบุได้ว่าอยากใช้ภาษีส่วนนี้ไปสนับสนุนกองทุนที่ดำเนินงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาโดยเฉพาะ คงจะดีไม่น้อย ทั้งนี้การระบุความต้องการผ่านภาษีนี้ถือเป็นส่วนเสริม หรือส่วนที่แยกออกมาจากนโยบายพื้นฐานการศึกษาที่ภาครัฐต้องทำอยู่แล้ว 

หลักประกันโอกาสทางการศึกษา การใช้ดาต้ามาช่วยขับเคลื่อนนั้นน่าสนใจมาก

-จากการที่ กสศ.ใช้การจัดระบบฐานข้อมูลหรือดาต้า มาเป็นส่วนหลักของการขับเคลื่อน “หลักประกันโอกาสทางการศึกษา” ถือว่าน่าสนใจมาก ผมชอบไอเดียที่ กสศ.พยายามใช้ข้อมูลเพื่อจับคู่ (matching) เด็กนักเรียนยากจนพิเศษกับองค์กรต่างๆ ที่มีทรัพยากรในการสนับสนุนเด็กอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผมอยากชวนคิดไปอีกขั้นว่า หากภาครัฐสามารถขยายไปถึงการทำ Matching Fund ร่วมกับภาคเอกชนได้คงน่าสนใจไม่น้อย

โดย Matching Fund คือ มาตรการการลงทุนผ่านกองทุนของเอกชน โดยเอกชนลงทุนส่วนหนึ่งด้านการศึกษา และมีรัฐลงทุนสนับสนุนอีกส่วน ทั้งนี้ภาครัฐมีข้อมูลเชิงลึกในระดับประเทศอยู่แล้ว ขณะที่กองทุนภาคเอกชนก็มีจุดแข็งตรงที่ดำเนินการได้คล่องตัว Matching Fund ไม่ถือเป็นแนวคิดใหม่ มีการพูดถึงเรื่องนี้มาสักระยะแล้ว แต่ในเมืองไทยอาจยังไม่มีตัวอย่างที่ชัดเจนเกิดขึ้น แต่ส่วนตัวมองว่าเป็นแนวคิดที่น่าสนใจไม่น้อย 

โควิด-19 เผยให้เห็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หนึ่งในทางแก้คือต้องลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

-อย่างที่พูดไปข้างต้นว่า หนึ่งในทางแก้ไม่ให้เด็กนักเรียนไทยต้องออกจากโรงเรียนกลางคันคือ ต้องช่วยเศรษฐกิจของพ่อแม่ หากพ่อแม่หรือผู้ปกครองมีรายได้ที่มั่นคง เศรษฐกิจเติบโต เด็กจะมีโอกาสได้เรียนรู้ เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพมากขึ้น ช่วงโควิด-19 ระบาด เราเห็นข่าวว่าบางครอบครัวไม่มีอุปกรณ์การเรียนให้แก่เด็ก เช่น ไม่มีมือถือ ไม่มีแท็บเล็ตให้เด็กได้เรียนออนไลน์ หรือบางพื้นที่เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต ปัญหาเหล่านี้อาจมีความซับซ้อนให้พูดถึงหลายระดับ แต่ในขั้นต้นสุด หากเรากระจายความเจริญทางเศรษฐกิจให้เท่าเทียมมากขึ้น อย่างน้อยลำดับแรก ประตูสู่โอกาสทางการศึกษาของเด็กจะเปิดกว้างและหลากหลายขึ้น

โลกยุคใหม่บางอาชีพไม่ต้องใช้ใบปริญญา แต่การศึกษานั้นสำคัญ

-ที่บริษัทของผม เนื่องจากเรามีการจ้างงานโปรแกรมเมอร์จำนวนมาก ในส่วนของอาชีพที่มีทักษะเฉพาะทางแบบนี้ อาจต้องยอมรับว่าเราไม่ได้โฟกัสไปที่ใบปริญญา แต่จะดูผลงานหรือทักษะที่ตรงกับงานเป็นหลัก ขณะเดียวกันในบริษัทก็ยังมีตำแหน่งงานอื่นๆ ด้วย เช่น ฝ่ายการตลาด ฝ่ายบัญชี ฝ่ายบุคคล เป็นต้น ซึ่งบางสายงานเรายังต้องพิจารณาจากผลการเรียนอยู่ เพราะยังไม่มีตัววัดผลอื่นให้ใช้ ถือว่าในจุดหนึ่ง การศึกษาสำคัญและสามารถต่อยอดอาชีพการงานได้ ซึ่งมันก็จะกลับมาที่ประเด็นเดิมว่า เมื่อการศึกษาเป็นจุดเริ่มต้นที่เปลี่ยนแปลงชีวิตเด็กได้ คงดีหากทุกคนที่อยากเรียนต่อนั้นได้รับการสนับสนุนด้านโอกาส ไม่ว่าจะผ่านนโยบายหรือโครงการแบบไหนก็ตาม