‘วาดชีวิตด้วยเสียงแคน’ …แม้เส้นทางในโรงเรียนหยุดลง แต่ความใคร่รู้ไม่เคยมอดดับ

‘วาดชีวิตด้วยเสียงแคน’ …แม้เส้นทางในโรงเรียนหยุดลง แต่ความใคร่รู้ไม่เคยมอดดับ

“ผู้เฒ่าผู้แก่เคยสอนผมว่า ถ้าเป่าแคนเป็นก็มีข้าวกิน …ทีแรกผมไม่เชื่อเลย แต่พอเจอกับตัวเองจึงได้รู้ ว่ามันเป็นอย่างที่เขาว่าจริง ๆ จากที่เป่าไม่เป็น เดี๋ยวนี้ผมมีคนจ้างไปเล่นตามงานได้ค่าตัว 1, 000-1, 500 บาท ช่วยแบ่งเบาภาระที่บ้านได้มาก ทั้งปลื้มใจ ทั้งดีใจครับ ที่หาเงินมาได้จากสองมือของผมเอง”

‘นัด’ สมพงษ์ ปัญญาสู้ เยาวชนนอกระบบการศึกษา จากตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี พูดถึงความเปลี่ยนแปลงของชีวิต ที่เริ่มมาจากความสนใจ ใส่ใจ และความพยายามขวนขวายเรียนรู้ด้วยตนเอง จนการเป่าแคนที่เคยเป็นเพียงเรื่อง ‘เล่น ๆ’ ยามว่างจากงาน กลายมาเป็น ‘อาชีพ’ ที่เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้

ลักจำ …จากอาจารย์ยูทูบ!

ย้อนไปที่จุดเริ่มต้นก่อนมาเป็นหมอแคนในวันนี้ นัดเล่าว่าอาศัยอยู่กับยายที่ทำงานก่อสร้างส่งเสียให้เขาเรียน แต่สุดท้ายก็ไปได้ไม่สุด เพราะยิ่งเรียนสูง ค่าใช้จ่ายยิ่งมากขึ้น เกินกำลังที่ยายจะแบกไหว นัดจึงไม่ได้เรียนต่อ ต้องหันเหมาทำงานก่อสร้างเหมือนยาย

แม้เส้นทางในโรงเรียนจะหยุดลง แต่ความสนใจใคร่รู้ของนัดไม่เคยมอดดับ เขาไม่ปล่อยให้ตัวเองใช้ชีวิตทำงานผ่านพ้นวัน ๆ หนึ่งไป แต่กลับเอาเวลาว่างที่เหลือเกือบทั้งหมดไปทุ่มเทกับสิ่งที่รัก และมีความฝันเล็ก ๆ ว่าถ้าฝึกฝนจนชำนาญพอ มันอาจจะเปลี่ยนชีวิตของเขาได้ในวันหนึ่ง

“ส่วนตัวผมรักเสียงเพลง ชอบหมอลำมาก ๆ ฟังเสียงแคนแล้วรู้สึกเพราะ ก็อยากลองเป่าบ้าง พอว่างจากเวลางานเลยฝึกด้วยตัวเอง อาศัยถามเอาจากปราชญ์ชาวบ้านในชุมชนบ้าง หรือดูคลิปหมอแคนที่มีชื่อเสียงเขาเล่นในยูทูบบ้าง แล้วจำมาฝึกฝนหัดเล่นบ่อย ๆ ค่อย ๆ คลำหาวิธีเป่าให้ได้อย่างเขา”

เมื่อความพยายามมาบรรจบกับแรงสนับสนุน
‘ความฝัน’ จึงไปได้เร็วขึ้น

“เขาไม่ได้แค่อยากเป่าเป็น แต่เป้าหมายคือต้องเก่งจนถ่ายทอดวิชาได้”

ศุภชัย ไตรไทยธีระ ผู้รับผิดชอบโครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา โดยเครือข่ายเชิงพื้นที่: ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 9 จังหวัด กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กล่าว หลังการทำงานเชิงพื้นที่ได้ชักนำให้มารู้จักกับนัด

“ตอนเจอแรก ๆ เขาเงียบมาก ไม่พูดไม่คุย ไม่แสดงออก แต่เขามีความสนใจเด่นชัด แน่วแน่มากกับการทำตามฝันที่จะสืบสานดนตรีพื้นบ้าน โดยเฉพาะแคน ซึ่งปลายทางของเขาคือต้องการพัฒนาตัวเองให้สามารถทำเป็นอาชีพ และเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ส่งต่อไปถึงคนอื่น ๆ หรือคนรุ่นต่อไปได้ด้วย

“ถือว่าเป็นการพบกันที่ประจวบเหมาะ เมื่อความตั้งใจของนัด มาพบกับโครงการ ฯ ซึ่งมีหน้าที่สร้างโอกาสให้กับเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษา ให้เขาได้สร้างการเรียนรู้ใหม่ ๆ ขึ้นได้ด้วยตัวเอง และพัฒนาไปเป็นการสร้างรายได้ ประกอบอาชีพ เปลี่ยนแปลงชีวิตเพื่อเติบโตขึ้นไปในทิศทางที่ตั้งเป้าหมายไว้ จนเลี้ยงดูครอบครัวและตนเองได้”

เปลี่ยนความท้อแท้เป็นพลัง

จากทักษะและความพยายามที่พานัดมาถึงจุดหนึ่ง  หลังเข้ามาอยู่ในโครงการ ฯ เขาสามารถพัฒนาตัวเองขึ้นไปได้เร็วยิ่งขึ้น ด้วยการเรียนรู้จากครูผู้เชี่ยวชาญด้านการเป่าแคนโดยตรง ได้รับการสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ ได้โอกาสเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการออกแสดงตามงานต่าง ๆ จนฝีมือก้าวหน้าเป็นลำดับ

ในอีกด้านหนึ่ง การได้รับการยอมรับและสนับสนุน ทำให้มิติด้านอื่น ๆ ได้รับการพัฒนาไปด้วย นัดเริ่มกล้าพูด กล้าแสดงออก มีทักษะถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่เพื่อนและน้อง ๆ ที่สนใจ จนเกิดเป็นกลุ่มก้อนเล็ก ๆ ที่มีตัวเขาเป็นศูนย์กลาง

“ตอนฝึกฝนใหม่ ๆ ผมยอมรับว่าท้อมาก รู้สึกว่าการเป่าแคนเป็นเรื่องยาก แต่สิ่งที่ผมคิดคือจะไม่มีวันยอมแพ้เด็ดขาด ความท้อเป็นสิ่งที่ทำให้ผมยิ่งพยายาม เพราะผมมองไปที่อนาคตของตัวเองและครอบครัวเป็นที่ตั้ง แล้วผมจะมีแรงฮึดสู้ เพื่อชีวิตที่ดีในวันข้างหน้า

“ต้องขอบคุณโครงการ ฯ ที่นำโอกาสมาให้ และทำให้ผมเรียนรู้หลายสิ่งนอกเหนือไปจากการเป่าแคน ขอบคุณครูอาจารย์ทุกท่านที่คอยสนับสนุนผมมาตลอด วันนี้ผมเริ่มมีคนรู้จักมากขึ้น ได้รับการยอมรับจากชุมชน มีงานเยอะกว่าเก่า ที่สำคัญคือทำให้ผมภูมิใจในตัวเองที่ได้เอาความรู้ที่มีมาสร้างรายได้ให้ครอบครัว

“ส่วนอนาคต ผมตั้งใจว่าจะเปิดบ้านเป็นศูนย์การเรียนรู้ สำหรับใครก็ตามที่หลงใหลในมนต์เสน่ห์แคนสามารถเข้ามาได้หมด ผมยินดีสอน เพื่อให้เสียงแคนที่ผมรักจะยังคงดังก้องไปถึงคนรุ่นต่อ ๆ ไป”

ไม่ว่าอยู่บนเส้นทางใดก็ตาม ‘ชีวิตสวยงามได้เสมอ’

ผู้รับผิดชอบโครงการ ฯ เครือข่ายเชิงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า ‘นัด’ คือตัวอย่างของเยาวชนคนหนึ่งที่เชื่อมั่นในเส้นทางของตนเอง และมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาทักษะความสามารถอยู่ตลอดเวลา จนสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองมาเป็นผู้นำพาเพื่อนพี่น้องในการเรียนรู้ สืบสานศิลปะดนตรีพื้นบ้าน ใช่เพียงเพื่อคงอยู่ แต่จะเป็นที่รู้จักสนใจในวงกว้างยิ่ง ๆ ขึ้นไป

“เรื่องราวของนัด จะเป็นกำลังใจให้กับใครก็ตามที่กำลังต่อสู้กับความยากลำบาก ว่าจริง ๆ แล้วเส้นทางของชีวิต เราคือคนที่ลิขิตเอง ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะขีดเขียนวาดลวดลาย หรือเติมแต่งสีสันอย่างไร หรือแม้หากได้ลองลงมือทำสิ่งใดไปแล้วพบว่ายังไม่ดีพอ เราก็ยังมีโอกาสที่จะแก้ไขแต่งเติมได้อีกครั้ง เพื่อให้มันสวยงามอย่างที่ใจวาดหวังเอาไว้ในท้ายที่สุด


เรียบเรียงจาก ‘เสียงแคนแห่งชีวิต’ นัด สมพงษ์ ปัญญาสู้ จ.อุบลราชธานี