กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เครื่องมือจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดระดับความเหลื่อมล้ำที่มีประสิทธิภาพ
โดย : ดร.ไกรยส ภัทราวาท
ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เครื่องมือจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดระดับความเหลื่อมล้ำที่มีประสิทธิภาพ

แม้จะมีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นสามารถบริการจัดการหลาย ๆ เรื่อง อาทิ ระบบสาธารณูปโภค ระบบสวัสดิการ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ถึงกระนั้นก็ตาม เรื่องของการศึกษา ท้องถิ่นยังคงรับนโยบายจากส่วนกลาง ดังนั้น ความท้าทายของท้องถิ่นในขณะนี้คือการบริหารจัดการงบประมาณในการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่  รวมไปถึงการในการระดมทรัพยากรที่เอื้อกับการศึกษาในท้องถิ่น เหล่านี้ยังเป็นโจทย์ของการกระจายอำนาจที่ต้องทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมในอนาคต

เกี่ยวกับประเด็นนี้ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)  ให้ความเห็นว่า แม้ประเทศไทยจะมีการกระจายอำนาจด้านการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติตั้งแต่ปี 2542 ถึงปัจจุบันก็หลายสิบปีมาแล้ว แต่ท้องถิ่นก็ยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายด้านที่ไม่สามารถดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย

“นอกจากนี้ยังมีร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติที่อยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา คือมาตรา 18 ของร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวที่จะกำหนดให้ท้องถิ่น ชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดสามารถรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสมัชชาการศึกษาหรือสภาการศึกษาที่เป็นองค์กรภาคประชาชนเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้มีการจัดการศึกษาและแผนการศึกษาของจังหวัดที่สอดคล้องกับบริบท มีอำนาจหน้าที่ติดตามการดำเนินงานตามแผนการศึกษาของจังหวัดนั้นแล้วก็มีการระดมทรัพยากรในการจัดกระบวนการสนับสนุนการศึกษาของภาคประชาชนร่วมกับองค์กรของรัฐและเอกชน  ทั้งหมดนี้เป็นความก้าวหน้าและพัฒนาการการกระจายอำนาจทางการศึกษาเราหวังว่าเส้นทางนี้จะเป็นเส้นทางที่มีการเดินต่อไปเพราะประโยชน์สูงสุดก็คือคนในพื้นที่พี่จะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพแล้วก็สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่และตลาดแรงงานท้องถิ่นได้ในอนาคต”

การมีส่วนร่วม : แนวทางและโอกาสก้าวไปสู่การจัดการศึกษาที่ดี

ดร.ไกรยส ยังกล่าวถึงแนวทางที่จะสนับสนุนให้การจัดการศึกษามีประสิทธิภาพสามารถลดความเหลื่อมล้ำ ว่ามีหลายแนวทางแต่ละแนวทางมีคนที่เกี่ยวข้องอยู่ในหลายระดับ ระดับบนสุด คือผู้บริหารประเทศที่สามารถกำหนดทิศทางการศึกษาของประเทศได้ รองลงมาคือกระทรวงศึกษาธิการหรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาก็สามารถกำหนดทิศทางของประเทศได้ แต่ทั้งหมดทั้งปวงประชาชนคนไทยทุกๆ คนล้วนมีส่วนในการที่จะร่วมกำหนดทิศทางการศึกษาของพื้นที่ตัวเอง ของจังหวัดตัวเองและของประเทศตัวเองได้ทั้งสิ้น และทิศทางหนึ่งที่ทุกคนจะสามารถเข้ามาร่วมกันกำหนดทิศทางการศึกษาของลูกหลานของเราได้ก็คือ “การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่”

จากประสบการณ์ของกสศ. ในการดำเนินโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและลดความเหลื่อมมาตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน พบว่าการจะทำให้เกิดการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ขึ้นในจังหวัดและสามารถเดินหน้าและประสบความสำเร็จได้จริงนั้นจะต้องมีหลายองค์ประกอบ ซึ่งองค์ประกอบหลักที่หยิบยกมาในที่นี้คือ “ผู้นำทางความคิด” ซึ่งมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการรวมตัวของคนทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะทางการศึกษา หากสามารถสนับสนุนให้ผู้นำเหล่านี้ที่ไม่ว่าจะมาจากภาคส่วนไหนให้ก้าวขึ้นมารวมตัวกันได้ก็จะเป็นการขับเคลื่อนที่เร็วขึ้น มีผู้ว่าราชการจังหวัด ศึกษาธิการจังหวัด ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา และหน่วยงานจากภาคส่วนต่างๆ ที่ทำงานเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน

4 เสาหลักผลักดันสู่รูปธรรมความสำเร็จ

เมื่อแต่ละพื้นที่มีหน่วยงานด้านการจัดการศึกษาเกิดขึ้น จะต้องมีต่อยอดความสำเร็จอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการรวมตัวกันที่ขยายวงกว้างมากขึ้นไปสู่ทุกภาคส่วน อาจจะนำไปสู่การจดทะเบียนเป็นสมัชชาการศึกษามูลนิธิสภาการศึกษาจังหวัด เป็นต้น

หลังจากมีกลุ่ม หรือสมัชชา โจทย์ต่อไปคือต้องทำให้เกิดความยั่งยืน วิธีการคือ ต้องมีการประสาน 4 เสาหลักที่สำคัญ คือ

  1. องค์กรภาครัฐ
  2. องค์กรภาคเอกชน
  3. องค์กรภาคประชาชน
  4. ภาควิชาการ

ถ้าเกิดสี่เสาหลักทำงานร่วมกันได้ย่อมจะทำให้เกิดความก้าวหน้าที่ยั่งยืนสามารถที่จะขยายผลได้ในอนาคตไปสู่จังหวัดอื่นๆด้วย  อันนี้เป็นแนวทางสำคัญในการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่

“กสศ.เป็นหน่วยงานที่ถูกออกแบบมาให้เป็นหน่วยกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ กสศ.พยายามสื่อสารรณรงค์มาโดยตลอด ว่า it takes a village to raise a child เราจำเป็นจะต้องใช้คนทั้งหมู่บ้านจึงจะพัฒนาเด็กหนึ่งคนขึ้นมาให้ได้ ซึ่งแนวคิดและทัศนคติในการมองปัญหาแบบนี้เป็นกระดุมเม็ดแรกเป็นจุดเริ่มต้น ของการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ดังนั้นจึงเป็นกิจของทุกคน ไม่ใช่กิจของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เราทุกคนต้องมาร่วมกัน ภายใต้แนวคิด All for Education เพื่อนำไปสู่ Education for all

ผู้จัการ กสศ. ย้ำว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่เป็นปัญหาสะสมมานานจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมกัน

“ผมอยากให้กำลังใจทุกๆ ท่านในจังหวัด ที่กำลังดำเนินโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ว่าท่านจะได้รับการสนับสนุนจากกสศ. หรือไม่ในตอนนี้ก็ตาม ผมคิดว่าท่านกำลังทำสิ่งที่เป็นอนาคตของประเทศ กำลังทำสิ่งที่เป็นหนทางหลักหนทางเดียวที่ประเทศเราจะมีการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและมีภูมิคุ้มกันต่อความท้าทายไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโรคระบาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวิกฤตเศรษฐกิจต่างๆมากมายถ้า 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร มีความยั่งยืนในการจัดการศึกษาของพื้นที่มันก็เหมือนต้นไม้ที่มีรากแก้วอยู่เจ็ดสิบกว่ารากที่จะไม่ล้มครืนได้โดยง่ายไม่ว่าจะเกิดวิกฤตใดๆ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่ได้ใช้เวลาที่มีค่าทำในสิ่งที่สำคัญ กสศ. ขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้การทำงานของท่านมีความสนุกแล้วก็มีความก้าวหน้าเป็นรูปธรรม