“โรงเรียนมือถือ” นวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา

“โรงเรียนมือถือ” นวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา

ศูนย์การเรียน CYF (Children and Youth Development Foundation) ร่วมกับ กสศ. คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดนครพนม สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครพนม และภาคีเครือข่ายพัฒนาเด็กนอกระบบจังหวัดนครพนม พัฒนานวัตกรรม “โรงเรียนมือถือ” ที่เคลื่อนที่ไปหากลุ่มเป้าหมาย  เพื่อให้เด็กสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ตามความสนใจทุกที่ทุกเวลา

กลุ่มเป้าหมาย :  เด็กมัธยมศึกษาตอนต้น ส่วนใหญ่เป็นเด็กนอกระบบและเด็กที่ถูกปล่อยตัวจากสถานพินิจฯ 

สลายปมในและนอกระบบตอบโจทย์ชีวิตจริงเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ
-สำรวจความต้องการและศักยภาพของเด็ก นำเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้หรือฝึกอาชีพ  ให้ได้มีวุฒิอย่างน้อย ม.3 
-เทียบโอนประสบการณ์ ทั้งผลการเรียนเดิม ประสบการณ์ชีวิต และหน่วยกิตตามเกณฑ์จากการศึกษาภาคบังคับ
-ทลายกรอบเรื่องห้องเรียน เด็กไม่ต้องเข้าไปอยู่ในโรงเรียน ทลายกรอบเรื่องครู เด็กกลายเป็นครูของตัวเอง ทลายกรอบเรื่องเวลา  เด็กรู้สึกว่าทุกช่วงเวลาของชีวิตคือการเรียนรู้ 
-เปิดโอกาสให้เรียนหลักสูตรระยะสั้นกับผู้เชี่ยวชาญ  -สนับสนุนให้เดินต่อไปจนสุดทาง โดยมีผู้ประกอบการในพื้นที่ช่วยสนับสนุน
-เน้นเรื่อง “ความสุขในชีวิตเด็ก”  จึงเพิ่มการเรียนรู้เรื่อง Soft Skill  เพื่อสร้างการเติบโตภายใน  นอกจากนี้ยังมีการประเมินภาวะความเสี่ยงด้านสุขภาพจิต หากเป็นสีแดง  จะมีครู เมนเทอร์ และนักจิตวิทยามาดูแล

รู้จักโรงเรียนมือถือ

การเรียนผ่านแอปพลิเคชั่น โดยใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Facebook, Tiktok,  Line, Google Classroom  ออกแบบให้คล้ายการเล่นเกมเพื่อให้เด็กอยากเข้ามาเล่น มีการวัดและประเมินผลผ่านระบบ Ai ทำให้ทราบผลการเรียนได้ตลอดเวลา

บันได 4 ขั้นสู่ฝันเป็นจริง

1. ชิม เด็กเรียนรู้จากสิ่งที่ชอบดูแล้วเอามาแชร์ใน Line  ครูช่วยดูว่าเรื่องนี้เชื่อมโยงกับตัวชี้วัดหลักสูตรแกนกลางของ สพฐ. อะไรบ้าง  
2. ชอบ นำเรื่องราวการเรียนรู้ในชีวิตที่ชอบมาโชว์ให้เพื่อนดูในกลุ่มปิด facebook เช่น การทำนา 
3. โชกโชน จากขั้นชอบ โค้ชจะเริ่มเห็นแววว่าเด็กถนัดอะไร นำไปสู่การส่งเสริมการฝึกอาชีพ
4. เชี่ยวชาญ นำสิ่งที่ชอบมาสร้างเป็นอาชีพ ทำให้เด็กมีรายได้

พิมพ์ชนก จอมมงคล
ครูศูนย์การเรียน CYF

คืนอำนาจการศึกษาไปอยู่ในมือเด็ก

“เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษามีตั้งแต่ประถม แต่ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงมัธยม เป็นเด็กยากจน ไม่มีค่ารถไปเรียนต่อในเมือง ต้องกลายเป็นแรงงานของครอบครัว ไปทำงานต่างอำเภอบ้าง ต่างจังหวัดบ้าง จุดเริ่มต้นมาจากการสำรวจและพบปัญหาว่าผู้ปกครองอาย ไม่กล้าเปิดเผยว่าลูกเป็นเด็กนอกระบบ  เราจึงต้องหาวิธีการใหม่ จัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนขึ้นมา พยายามคิดว่าการเรียนรู้อะไรที่จะติดตามตัวเด็กได้ เกิดเป็นไอเดียโรงเรียนมือถือ เพื่อให้เด็กออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง

“ศูนย์การเรียนเราอยู่ในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษาซึ่งรับผิดชอบโรงเรียนในระบบ ฉะนั้นในช่วงแรกการเอาห้องเรียนและครูออกจากเด็ก  ทางเขตยังมีความกังวลเรื่องต่างๆ เช่น การเทียบโอนประสบการณ์ โครงสร้างเวลาเรียน การประเมินผล  หากไม่มีเครือข่าย เราคงไม่สามารถทำได้อย่างทุกวันนี้  เช่น มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ทำให้มีข้อมูลที่มากและหนักแน่นพอไปอธิบายต่อรองกับทางเขตจนได้รับการยอมรับในที่สุด รวมไปถึงความสำเร็จจากนครพนมโมเดล ที่รวมภาคีเครือข่าย 21 หน่วยงานมาทำงานเรื่องเด็กนอกระบบ ซึ่งเห็นผลเชิงประจักษ์ ทำให้เด็กได้รับวุฒิการศึกษาจริง  เราจึงได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานเป็นอย่างดี

“ที่ผ่านมาการศึกษาในระบบที่โรงเรียนถูกแยกส่วนออกจากชีวิตจริงของนักเรียน โรงเรียนมือถือช่วยปลดล็อกข้อจำกัดทางการเรียนต่างๆ คืนอำนาจการศึกษาไปอยู่ในมือเด็ก เพราะเด็กสามารถเรียนได้ทุกเวลา เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต เด็กจะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า เพราะสิ่งที่ทำในอดีตจะนำมาเทียบโอนเป็นเกรดได้ เช่น การทำนา กรีดยาง 

“ตอนนี้เราพยายามทำให้ทุกการเรียนรู้ ทุกการดำเนินชีวิตของเด็กสามารถต่อยอด มีทางเลือกในการยกระดับชีวิตของตัวเองมากขึ้น เพื่อให้การศึกษาตอบโจทย์บริบทชีวิตของแต่ละคน ซึ่งมีความหลากหลาย อย่างนครพนมก็มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และทางเศรษฐกิจ ฉะนั้นการศึกษาจะต้องออกแบบเป็นรายบุคคล โรงเรียนมือถือต้องเอื้อให้ผู้เรียนสามารถออกแบบการเรียนรู้ของเขาได้ ไม่ว่าต้นทุนชีวิตของเขาจะเป็นอย่างไร เขาสามารถเอาต้นทุนนั้นมาตั้งคำถามให้ลงลึก หาความรู้ในสิ่งที่เขาสนใจ”

เติมความฝันเด็กด้วยการศึกษาที่มีทางเลือก

“เยาวชนคนหนึ่งถูกปล่อยตัวจากสถานพินิจฯ เขาต้องออกจากชุมชนเดิมเพื่อไปให้พ้นจากวงจรยาเสพติด ไปรับจ้างเป็นคนยกของที่กรุงเทพ ฯ แล้วก็เรียนโรงเรียนมือถือกับไปด้วย จนวันที่จบการศึกษา เราส่งวุฒิการศึกษา ม.3 ไปให้ จากที่เป็นแรงงานรับจ้างรายวันก็ได้บรรจุเป็นพนักงานประจำของบริษัท จากเงินเดือน 8,000 บาท ยกระดับเป็น 15,000 บาทต่อเดือน มีสวัสดิการ มีประกันสังคม เขาทักมาขอบคุณ บอกว่าไม่คิดว่าวุฒิการศึกษาจะช่วยยกระดับเขาขึ้นมาได้ขนาดนี้ เมื่อเรามีนวัตกรรมทางเลือกให้เขา มันก็ได้เติมฝัน สร้างทางเลือกให้กับคนๆ หนึ่ง

“เด็กคนหนึ่งชอบตั้งคำถาม ชอบค้นหาความรู้ทางอินเทอร์เน็ต ชอบทำขนม เขาติดต่อสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานเอง ไปฝึกทำขนมอยู่ประมาณ 4 เดือน แล้วเอาใบประกาศจากการฝึกวิชาชีพส่งกลับมาที่ศูนย์การเรียนเพื่อนำมาเทียบโอนเป็นผลการเรียน จากที่เคยชอบถามครูก็กลายเป็นว่าเขาค้นหาความรู้ด้วยตัวเองได้

“อีกตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เรารู้ว่าการเรียนรู้ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางทีต้องรอจังหวะ อย่างกรณีของเจน เด็กจากอำนาจเจริญ เจนหลุดออกจากระบบการศึกษาช่วง ม.4-ม.5 เพราะโรงเรียนให้ออกเนื่องจากมีภาวะซึมเศร้า เจนรู้จักโรงเรียนมือถือจากการค้นหาด้วยตัวเองทางอินเทอร์เน็ต พอมาเรียนที่นี่เจนได้แลกเปลี่ยนการเรียนรู้กับเพื่อนๆ ทาง  Zoom เดือนละครั้ง พอได้เห็นมุมมองชีวิตของคนอื่นทำให้เขาได้เห็นโลกมากขึ้น ภาวะซึมเศร้าดีขึ้น ปัจจุบันเจนจบ ม.6 แล้ว”

เจนจิรา พาเชื้อ (เจน) อายุ 19 ปี

หนูฝันอยากทำงานสายสุขภาพ เช่น อาชีพพยาบาล ก็เลยหาที่เรียนจนได้มาเจอกับ CYF  ที่ไม่สะดวกเรียนในระบบเพราะตอนนั้นเราไม่เข้าใจว่าตัวเองเป็นซึมเศร้า พักประมาณเทอมหนึ่งแล้วก็ต้องหาที่เรียนเพราะอยากเปลี่ยนโรงเรียน  

เลือกเรียนที่สะดวกและรองรับกับข้อจำกัดของเรา รู้สึกว่าโรงเรียนมือถือเหมาะกับเราเพราะเราเป็นคนเก็บตัว  การเรียนแบบนี้ก็เลยตอบโจทย์ชีวิต โรงเรียนมือถือจะมีการพบปะใน Zoom เดือนละหนึ่งครั้ง เล่าประสบการณ์ชีวิตแลกเปลี่ยนกัน ครูก็เหมือนเป็นโค้ชให้เราด้วย  เราได้พูดคุย ได้เห็นตัวเอง  ได้มีทั้งเพื่อนและได้เรียนในเวลาเดียวกัน