อยู่กับโควิด ด้วยการสร้างบ้านและโรงเรียนให้เป็นทีมเดียวกัน
โดยครูจุ๊ย กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ

อยู่กับโควิด ด้วยการสร้างบ้านและโรงเรียนให้เป็นทีมเดียวกัน

บ้านและโรงเรียนคือฐานของสามเหลี่ยมที่คอยสนับสนุนนักเรียนบนยอดแหลม เมื่อไหร่ก็ตามที่ฐานข้างใดข้างหนึ่งเอียงหรือสั่นคลอน นั่นหมายความว่าลูกหรือนักเรียนคนนั้นย่อมตกอยู่ในสภาพไม่มั่นคงเช่นเดียวกัน  

ยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 ที่เราทุกคนต่างล้มลุกคลุกคลาน เรียนรู้จากความผิดพลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้น พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะจัดการความไม่รู้ และการเปลี่ยนแปลงอันฉับพลันต่างๆ หลายครั้งครูและโรงเรียนอาจโทษตัวเองว่าไม่สามารถจัดการเรียนรู้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับนักเรียนได้ 

วันนี้อยากชวนมาย้อนนึกถึงปัจจัยสำคัญที่สุด  ในการจัดการการเรียนรู้ให้กับนักเรียนภายใต้สถานการณ์โควิด 19 ที่หลายคนอาจลืมนึกถึง 

อย่ารอให้ถึงการประชุมผู้ปกครอง เราสื่อสารกันบ่อยกว่านั้นได้

การสื่อสารให้ “บ้าน” เป็นทีมเดียวกับเรา

1.จัดการความคาดหวัง

ความคาดหวังคือสิ่งที่ต้องจัดการ สิ่งที่บ้านควรคาดหวังจากโรงเรียน ครู และนักเรียนคืออะไรบ้าง ข้อจำกัดต่างๆ ของโรงเรียนมีอะไรบ้าง เหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องสื่อสารกับผู้ปกครองที่ดูแลนักเรียนอย่างตรงไปตรงมา ทั้งในระดับผู้บริหารที่สามารถอธิบายถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยคำนึงถึง

  • ความพร้อมและข้อจำกัดของโรงเรียนและบุคลากร (รวมถึงข้อจำกัดด้านระเบียบต่างๆ แต่พึงระวังอย่าใช้เป็นข้ออ้าง)
  • ความพร้อมและข้อจำกัดของนักเรียน
  • การปรับเปลี่ยนหลักสูตรและวิธีการจัดการเรียนการสอนตามบริบทที่จำเป็น
  • การเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ที่เกิดขึ้น

ตัวอย่าง

เรามีครูอยู่จำนวน 2 คน จะผลัดกันไปเยี่ยมบ้านนักเรียนในช่วงที่มาโรงเรียนไม่ได้ แต่อาจเกิดความล่าช้าบ้าง โดยโรงเรียนสามารถแจ้งตารางการเยี่ยมบ้านที่ชัดเจน รวมถึงการขอให้ผู้ปกครองเตรียมข้อมูลพื้นฐานเอาไว้ให้ล่วงหน้า ส่วนนี้ช่วยให้เกิดความรู้สึกมีส่วนร่วมกับโรงเรียนมากขึ้น

นักเรียนจะเรียนได้ไม่ครบตามหลักสูตรปกติ เนื่องมาจากเวลาเรียนทั้งออนไลน์และออนไซต์ที่ไม่เป็นปกติ แต่โรงเรียนจะยึดหัวข้อการเรียนรู้ที่จำเป็นสำหรับหลักสูตร ดังต่อไปนี้…ในส่วนอื่นๆ โรงเรียนจะจัดการเรียนเสริมโดยมีรายละเอียดต่างๆ ดังต่อไปนี้… เป็นต้น

ในการสื่อสารเกี่ยวกับพัฒนาการนักเรียนก็เช่นกัน สามารถแจ้งผู้ปกครองได้ว่าช่วงที่เรียนออนไลน์ นักเรียนอาจมีทักษะบางประการที่ตกหล่นไป ส่วนนี้โรงเรียนและคุณครูจะสังเกตและแก้ปัญหาในลำดับถัดไป โดยขอให้ที่บ้านร่วมสังเกตในประเด็นต่างๆ ดังนี้…ทั้งนี้เพื่อเป็นการสนับสนุนให้นักเรียนไม่รู้สึกกดดันจนเกินไป   และสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์การเรียนรู้ในรูปแบบที่ไม่ปกติเช่นนี้ได้

ข้อสำคัญคือ ย้ำเสมอว่า การจัดการเรียนรู้ในช่วงนี้จะไม่เหมือนกับช่วงก่อนโควิด ไม่ควรนำมาเปรียบเทียบกัน

2.ตรงไปตรงมาและสื่อสารสองทาง

การอธิบายสถานการณ์อย่างตรงไปตรงมา พร้อมแสดงข้อมูล รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับบ้านนักเรียน  เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการประคับประคองนักเรียนในสถานการณ์เช่นนี้      ข้อมูลบางอย่างครูอาจมองเห็นไม่ตรงกับผู้ปกครอง ซึ่งเป็นไปได้ เพราะนักเรียนอาจมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไปเมื่ออยู่บ้านและโรงเรียน โดยสามารถบริหารสถานการณ์ได้ด้วยการแจ้งถึงสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ปกครองล่วงหน้า

ความช่วยเหลือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่โรงเรียนสามารถขอจากผู้ปกครองอย่างตรงไปตรงมา หากโรงเรียนต้องการความช่วยเหลือในสถานการณ์เช่นนี้ อาทิ ขอบุคลากรจากชุมชนมาช่วยจัดกิจกรรมกลุ่มย่อยให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ หรือการขอให้ช่วยสังเกตสภาวะความเครียดของบุตรหลาน

3.ใจเราใจเขา

“ความกังวลในสถานการณ์ที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเป็นปกติมาก และหลายครั้งเราต่างลืมไปว่าเราทุกคนเป็นมนุษย์ที่มีวันที่เหนื่อยล้า ทำผิดพลาด หรือต้องพบเจอเรื่องที่ไม่เป็นไปดังใจ แม้การเป็นครูหมายความถึงการเป็นมืออาชีพ  ที่ต้องควบคุมอารมณ์ ความรู้สึก ให้นิ่งราวน้ำแข็ง แต่หากไม่ไหวจริงๆ และเกิดการผิดใจกันขึ้น หายใจลึกๆ พักให้พายุสงบ และค่อยจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นต่อไป การดูแลใจของตัวเองเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในการสื่อสารความจริงใจ และความตั้งใจของเราให้กับผู้อื่น

ส่วนแว่นที่ใช้มองผู้อื่นก็เช่นเดียวกัน เมื่อเราใจดีกับตัวเองได้ เราก็จะใจดีและมองผู้อื่นด้วยความเข้าใจได้เช่นกัน ความยากลำบากที่เรากำลังพบเจออยู่ ผู้ปกครองเองต่างก็พบเจอในรูปแบบต่างกันออกไป ดังนั้นการที่พวกเขาหงุดหงิด ไม่เข้าใจ ล้วนมีเหตุที่มาทั้งสิ้น ที่สุดแล้วคนเราทุกคนต่างอยากทำสิ่งที่ตัวเองรับผิดชอบให้ดีที่สุดทั้งนั้น  ใจพวกเรา เราช่วยกันดูแล

ทั้งสามประเด็นแม้เป็นเรื่องที่ธรรมดาสามัญและดูเหมือนว่าทุกคนจะเข้าใจดีอยู่แล้ว ลองพิจารณาดูปัญหาที่พบและค่อยๆ ใช้การสื่อสารเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาดู 

ทีมที่ดีนั้นเริ่มจากความเชื่อมั่น และความเชื่อมั่นมาจากการสื่อสารด้วยความจริงใจและเปิดเผย