บันทึก CM โรงเรียนบ้านบาละ : ‘เขาต้องไม่โดดเดี่ยว ไม่ว่าในหรือนอกรั้วโรงเรียน’
ติดตามนักเรียนเสี่ยงหลุด ‘รายกรณี’ จาก ‘ครูที่โรงเรียน’ ถึงการส่งต่อ ‘ระดับจังหวัด’

บันทึก CM โรงเรียนบ้านบาละ : ‘เขาต้องไม่โดดเดี่ยว ไม่ว่าในหรือนอกรั้วโรงเรียน’

“ผมเป็นคนสงขลา มาอยู่บาละเพราะบรรจุที่นี่ ถึงปีนี้ก็ครบสิบปีพอดีที่เป็นครู อยู่โรงเรียนเดียวพื้นที่เดียวมาตลอด ถ้าถามว่าการช่วยเหลือเด็กเคสไหนยากที่สุด คงตอบไม่ได้ แต่ข้อเท็จจริงหนึ่งที่เราได้จากประสบการณ์สิบปี คือการช่วยเหลือเด็กกลุ่มเสี่ยงให้เขาไปต่อได้บนเส้นทางการศึกษา ไม่เคยมีเคสที่ง่าย และถ้าเราไม่ติดตามให้ความช่วยเหลือ ไม่เป็นที่พึ่งให้กับเขา ความเสี่ยงที่เด็กจะหลุดก็แทบสูงถึง 90% ทีเดียว”

แม้ ‘กาบัง’ จะห่างจากอำเภอเมืองยะลาเพียง 50 กิโลเมตร กับเวลาเดินทางราว 1 ชั่วโมง แต่ด้วยลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นป่าเนินเขาสูง มีภูเขาสลับซับซ้อนปกคลุมด้วยป่าดิบชื้นเป็นวงกว้าง ทำให้การเดินทางในพื้นที่ค่อนข้างลำบาก นอกจากนี้ วิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่ยังมีความเป็นพหุวัฒนธรรมค่อนข้างสูง จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนต่างถิ่นจะปรับตัวใช้ชีวิตอยู่ได้โดยไม่เจออุปสรรค

หากมี ‘ครู’ จากต่างถิ่นท่านหนึ่ง ที่มาเริ่มต้นอาชีพ ณ โรงเรียนแห่งนี้ ทั้งยังทำงานต่อเนื่องมาตลอด 1 ทศวรรษ โดยไม่คิดย้ายไปไหน

“เพราะสิ่งที่รั้งเราไว้ตรงนี้จริง ๆ คือเด็ก ที่เราอยากติดตามดูแลต่อจนได้รู้ว่าเขามีทางไปต่อในชีวิต ได้เรียน มีอาชีพเลี้ยงตัวเอง เห็นครอบครัวเขาดีขึ้น

ครูธีระพล พงษ์พิมาย โรงเรียนบ้านบาละ อำเภอกาบัง

ครูธีระพล พงษ์พิมาย โรงเรียนบ้านบาละ อำเภอกาบัง เผยบทเรียนการทำงานเบื้องหลังเด็กกลุ่มเสี่ยง ที่บรรจบครบสิบรอบปีการศึกษาในปีนี้ หลังจากได้สร้างระบบดูแลช่วยเหลือในโรงเรียนร่วมกับเพื่อนครูโรงเรียนบาละ จนวันนี้ครูธีระพลเป็นหนึ่งในกลไกระดับจังหวัด ในฐานะ ‘ผู้ดูแลรายกรณี’ (Case Manager: CM) โครงการศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา ซึ่งนำโดย อบจ.ยะลา และ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในการผลักดันให้ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนเชื่อมโยงขยับขยายออกไป

ปัญหาทับซ้อนบนความยากจนด้อยโอกาส

ครูธีระพลเล่าว่า นับแต่เทอมแรกของชีวิตการเป็นครู สิ่งหนึ่งที่สะดุดใจคือปัญหาเด็กขาดเรียนบ่อย หรือเด็กบางคนหยุดเรียนเป็นเวลานาน จึงเริ่มติดตาม ค้นหาสาเหตุ จนพบว่ามีสองปัจจัยหลักที่ทำให้เด็กไม่มาเรียน หนึ่งคือเด็กต้องทำงานช่วยที่บ้าน กับสองคือเด็กรู้สึกไม่มีตัวตนที่โรงเรียน

“ข้อมูลเบื้องต้นทำให้เราหยิบสภาพปัญหามาคุยกันจริงจังในหมู่เพื่อนครู แล้วตั้งทีมขึ้นมาดูแลนักเรียนกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะ แน่นอนว่าเบื้องต้นเด็กมาจากครอบครัวยากจนด้อยโอกาส แต่ลึกลงไปเราเห็นปัญหาทับซ้อนมากกว่านั้น คือส่วนใหญ่ของเด็กกลุ่มนี้พ่อแม่เลิกกัน หลายคนอยู่ในครอบครัวแหว่งกลาง ต้องอยู่กับปู่ย่าตายาย บางคนอยู่กับพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว ทำงานแรงเดียวเลี้ยงลูก 4-5 คน พอไปพบผู้ปกครองเด็ก เรารู้เลยว่าเขาเหนื่อย หมดกำลังใจ ความทุกข์ความสิ้นหวังกับปัญหาอีกหลายอย่างหลายประการมันเลยส่งผ่านไปที่ตัวเด็กตรง ๆ โดยไม่มีอะไรกรองไว้เลย ทำให้เขาไม่มีสมาธิ ไม่มีใจจะเรียน”

ทำให้ทุกคนเป็นคนสำคัญ

หนึ่งในวิธีที่โรงเรียนบ้านบาละใช้ดูแลเด็กกลุ่มเสี่ยง คือจัดตั้งกลุ่มอาชีพขึ้นในโรงเรียน แตกแขนงออกไปตามความสนใจของเด็ก อาทิ เกษตรกรรม ทำเบเกอรี ทำอาหาร และงานช่าง     

การรวมกลุ่มอาชีพให้ผลทางตรงคือสร้างรายได้ให้เด็ก ส่วนทางอ้อมคือเกิดการสร้างพื้นที่ให้เด็กมีบทบาท มีตัวตน ได้ค้นหาความสนใจความถนัดของตัวเอง แล้วพัฒนาต่อยอดให้เชี่ยวชาญชำนาญขึ้น โดยในการทำกิจกรรมกลุ่ม ทุกคนจะได้เติมเต็มความเชื่อมั่นในตนเอง ได้รับการยอมรับ และเป็น ‘คนสำคัญ’

“พอมาโรงเรียนแล้วได้เงิน ได้ทำกิจกรรมที่สนใจ อย่างแรกอัตราขาดเรียนน้อยลงทันที แล้วการสื่อสารกับเพื่อนในกลุ่มทำให้เด็กไม่โดดเดี่ยว มีที่ปรึกษา มีคนให้ความช่วยเหลือ มีคนรอคอยให้เขามาโรงเรียนทุกวัน เป็นการฝึกความรับผิดชอบต่อส่วนรวมด้วย เพราะถ้าวันไหนเขาหยุด งานกลุ่มก็เดินไม่ได้ มันเลยบีบให้เขาพยายามมาโรงเรียนกันทุกวัน”

สอดแทรกสาระวิชาในทุกกิจกรรมฝึกอาชีพ

การวิเคราะห์สิ่งที่มีอยู่ในบริบทพื้นที่ แล้วนำมาปรับเป็นหลักสูตรการสอนที่เหมาะสม ทำให้กิจกรรมอาชีพของโรงเรียนบ้านบาละมีการผสมผสานเอาสาระวิชาต่าง ๆ เข้าไป เด็กจึงได้ทั้งความรู้ ทักษะ และความสนุกสนานจากบทเรียนประจำวัน

“ทุกเรื่องทุกอย่างที่ทำ เราสามารถบูรณาการสาระวิชาเข้าไปได้ เช่นคณิตศาสตร์ในสูตรอาหาร การตวงน้ำตาลทราย หรือการเปลี่ยนสถานะของเบคกิ้งโซดาที่ใช้ทำขนมเมื่อโดนน้ำและความร้อน ซึ่งเป็นหลักการทางวิทยาศาสตร์ เหล่านี้เด็กจะได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริงทุกครั้ง โดยครูจะไม่อธิบายว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้คืออะไร มันคือการกระตุ้นให้เขาเป็นนักค้นคว้า ทำความเข้าใจกับส่วนประกอบ ขั้นตอน ตั้งสมติฐานและทดลองหาผลลัพธ์ด้วยตัวเอง

“ภาษาอังกฤษก็อยู่บนฉลากผลิตภัณฑ์ อยู่ในสูตรอาหาร จนถึงการช่วยกันคิดออกแบบบรรจุภัณฑ์ ก็ทำให้เด็กได้สังเกต ได้ลองสร้างสรรค์ไอเดีย เพราะเราไม่ได้ให้เขาแค่ ‘ทำ’ แต่มองปลายทางต่อยอดไว้แล้ว โดยโรงเรียนได้เปิดหน้าร้านขึ้นในตัวอำเภอ เพื่อรองรับทั้งสินค้า และเป็นที่สร้างอาชีพให้กับเด็ก ๆ กลุ่มนี้ด้วย

จบ ม.3 ไม่พอ ต้องข้ามรอยต่อไปให้ได้

ครูธีระพลกล่าวว่า ขั้นตอนที่ว่ามาคือเราใช้ประคองเด็กให้จบ ม.3 ส่วนหลังจากนั้นถ้าเด็กอยากเรียน และสุดความสามารถของผู้ปกครองแล้ว ครูจะพาไปสมัครเรียนต่อทุกคน นี่คือวิธีการที่จะทำให้เด็กข้ามช่วงชั้นไปได้ ทางโรงเรียนบ้านบาละ เรามี MOU กับโรงเรียนที่ไม่เก็บค่าเล่าเรียน ไม่ต้องจ่ายค่าเสื้อผ้ารองเท้ากระเป๋า เงินทุนอีกส่วนก็สะสมจากที่ทำกิจกรรมฝึกอาชีพกัน

“อย่างโรงเรียนกาบังพิทยาคม มีทุนภูมิทายาท เราก็ช่วยกันติวเด็กให้สอบได้ หลุดจากตรงนี้ก็มองหาทางอื่น พยายามดึงความสามารถเขาออกมาขัดเกลา กีฬาบ้าง ศิลปะบ้าง มีทุนอยู่ตรงไหนเราพาเด็กไปหมด”

มรสุมลูกใหญ่ที่ซัดมา ในชื่อ ‘โควิด-19’
จุดเริ่มต้นการสร้างเครือข่ายระดับจังหวัด   

ตลอด 6-7 ปีผ่านมา ระบบดูแลช่วยเหลือในโรงเรียนสามารถช่วยให้เด็กจำนวนมากที่บาละจบชั้น ม.3 และได้ไปต่อในเส้นทางการศึกษาที่สูงขึ้น ทว่าเมื่อโควิด-19 มาถึง และทิ้งรอยโหว่ขนาดใหญ่เอาไว้ ทำให้ต้องยอมรับว่าบางที ความช่วยเหลือเท่าที่ทำได้ อาจถึงจุดที่ ‘สุดมือ’ ของครูแล้ว

“เทอมเดียวเรามีเด็กกลุ่มเสี่ยงเพิ่มมากกว่าหนึ่งเท่า มันคือมรสุมลูกใหญ่ที่กวาดเข้ามา ปัญหาเดิมที่หนักอยู่แล้ว โควิด-19 ยิ่งเข้ามาทำให้ทวีหนักขึ้น เด็กขาดแคลนทุกอย่าง มาโรงเรียนไม่ได้ เรียนออนไลน์ไม่ได้เพราะอุปกรณ์ไม่มี บางพื้นที่หมู่บ้านปิด ครูก็มาช่วยกันหาวิธีการร้อยแปด ครูบางคนให้โทรศัพท์ตัวเองกับเด็กไว้ใช้ ตัวครูใช้ด้วยกันไปก่อน คิดว่าอย่างน้อยให้ติดต่อได้ ไม่ตัดขาดไปเลยจากโรงเรียน”

“เป็นเวลาที่ครูต้องตั้งสติ หลังพยายามกันแล้วที่จะดูแลเด็กให้ครอบคลุมทั่วถึง ใช้ทั้งคน ทั้งทุนทุกอย่างที่มีจนหมด จนคิดกันว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องหาที่พึ่ง หาคนมาช่วยประคอง เพราะการดูแลเด็กกำลังจะสุดปลายมือของครูแล้ว”

และจากสถานการณ์ดังกล่าว ได้นำมาสู่การสานเครือข่ายความร่วมมือขนาดใหญ่ เมื่อ อบจ.ยะลา และ กสศ. ตั้งโครงการศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา โดยทำงานเชิงพื้นที่ประสานกับผู้นำชุมชนและสถาบันการศึกษาในอำเภอต้นแบบ เพื่อช้อนรับเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือฉุกเฉินให้ได้ไปต่อบนเส้นทางการศึกษา

“ต้องบอกว่าโรงเรียนเราแม้ไม่ได้อยู่ในพื้นที่อำเภอต้นแบบ แต่เมื่อเราทราบว่ามีศูนย์ช่วยเหลือ ฯ แล้วติดต่อไปทาง อบจ. ก็ได้รับความช่วยเหลือเข้ามาทันที เด็กหลายคนของเราจึงผ่านช่วงวิกฤตมาได้โดยไม่หลุดออกไป สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ การทำงานที่เริ่มในวันนั้น ได้ยกระดับเป็นเครือข่ายที่ยั่งยืนต่อมา และเป็นหลักประกันโอกาสทางการศึกษาให้เด็กอีกหลายคน ที่ยังเวียนวนอยู่ในภาวะความเสี่ยง ให้เขามีที่พึ่ง ว่าถ้าตัดสินใจไปต่อ เราก็มีมือที่จะเข้ามารองรับและคอยผลักดันสนับสนุนให้เขาอยู่ได้จนตลอดรอดฝั่ง”

1 ทศวรรษของการทำงาน ถ้าไม่มีระบบดูแลช่วยเหลือ เด็ก ๆ เหล่านั้นจะเป็นอย่างไร

ครูธีระพล กล่าวว่า ผลจากการสร้างระบบช่วยเหลือตั้งแต่เล็ก ๆ ในโรงเรียน จนถึงเครือข่ายทำงานระดับจังหวัด ทำให้เห็นชัดว่าจำนวนเด็กหลุดกลางคันลดลงทุกปี ซึ่งเมื่อเทียบกับความเหนื่อยยากของการลงพื้นที่ การสื่อสารกับผู้ปกครองเพื่อรั้งเด็กไว้ในโรงเรียน ก็นับว่าคุ้มค่ามหาศาล เพราะถ้าปล่อยให้เรื่องราวดำเนินไปโดยไม่ทำอะไรเลย ไม่เพียงเราจะมองไม่เห็นอนาคตของเด็กว่าจะเป็นอย่างไร หากวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ก็จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นด้วย

วันที่เด็กพ้นไปจากรั้วโรงเรียน เราไม่มีทางรู้แล้วว่าจากนั้นเขาจะไปอยู่ที่ไหน ดังนั้นการจะตามกลับมาจึงเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ เพราะเมื่อเขาหลุด ส่วนใหญ่จะออกนอกพื้นที่ไปเลย ไปทำงานหาเลี้ยงชีพ ไปมาเลเซียทำงานก่อสร้าง หรืออพยพย้ายถิ่นไปเรื่อยตามแหล่งจ้างงานทั่วประเทศ ซึ่งถึงวันนี้ที่เด็กหลุดน้อยลงแล้ว แต่กลุ่มนี้เรายังเจออยู่ ที่ครูทำได้คือเราไม่หยุดติดตามเขา หาทุกช่องทางเก็บเขาไว้กับเรา ทั้งไลน์ เฟสบุ๊ค หรือเบอร์มือถือ

“เขาจะต้องไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ไม่ว่าในหรือนอกรั้วโรงเรียน ในฐานะครู เราเชื่อว่าแม้ทำทุกทางแล้วยังรั้งเขาไว้ไม่ได้ แต่ถ้าเรายังติดต่อพูดคุย รู้ว่าเขาทำอะไรอยู่ตรงไหน แม้จะออกนอกเส้นทางการศึกษาในระบบไปแล้ว สองสามปีผ่านไปก็ยังไม่สายเกินที่เขาจะกลับมาเรียน”

“บางคนที่เราสื่อสารด้วยตลอด ช่วยแนะแนวชีวิตเขาที่นอกรั้วโรงเรียน ชี้ทางอ้อม ๆ ให้นึกถึงการศึกษา จนวันหนึ่งเขาโทรมาบอกว่าไปสมัครเรียน กศน. เราก็ดีใจ

คือ ณ จุดหนึ่งเขาหรือครอบครัวอาจยังไม่เห็นคุณค่า ไม่รู้ว่าปลายทางการศึกษาจะพาไปไหน แต่บทเรียนจากนอกรั้วโรงเรียนที่ไปเจอจะบอกเขาเองว่าให้กลับมาเรียนให้สูงขึ้น แล้วเมื่อนั้นครูต้องไม่ทิ้งให้เขาโดดเดี่ยว ต้องเปิดรับ พร้อมช่วยเหลือทุกทาง อย่าให้ปัญหาเรื่องกฎเกณฑ์เอกสารหยุมหยิมมาผลักเขาออกไปอีก”

นี่คือบันทึกการทำงานของ CM ท่านหนึ่ง ในโครงการศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา จังหวัดยะลา และเป็นประสบการณ์การทำงานของครูคนหนึ่ง ที่บอกว่า การเป็น ‘ครู’ ไม่จำเป็นต้องเป็นที่โรงเรียนก็ได้ เพราะถ้าเราเข้าไปอยู่ในชีวิตของเด็ก หรือเป็นที่พึ่งของเขาได้แล้ว เราจะสามารถให้บทเรียนหรือคำแนะนำที่ดีกับลูกศิษย์ได้เสมอ