“การศึกษาทางเลือก” ว่าด้วยสิทธิในการศึกษา ความงดงามของการเป็นมนุษย์ และการขับเคลื่อนบนความจำกัด จากปากคำของชัชวาลย์ ทองดีเลิศ

“การศึกษาทางเลือก” ว่าด้วยสิทธิในการศึกษา ความงดงามของการเป็นมนุษย์ และการขับเคลื่อนบนความจำกัด จากปากคำของชัชวาลย์ ทองดีเลิศ

เมื่อเอ่ยถึงการศึกษาทางเลือก ชื่อของชัชวาลย์ ทองดีเลิศ นายกสมาคมการศึกษาทางเลือกไทย และผู้ก่อตั้ง “โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา” แหล่งเรียนรู้ทางด้านวัฒนธรรมภูมิปัญญาของล้านนาที่มีอายุกว่า 25 ปี น่าจะเป็นชื่อแรกๆ ที่หลายคนในแวดวงการศึกษานึกถึง 

“เราขับเคลื่อนการศึกษาทางเลือกผ่านโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ซึ่งเราไม่ได้จดทะเบียนและไม่มีงบสนับสนุนด้วย ที่ผ่านมามีครูอาสาสมัครเป็นพ่อครูแม่ครูที่มีความรู้ภูมิปัญญาด้านต่างๆ  เราบริหารจัดการโดยเก็บค่าเรียนเล็กน้อยเป็นค่าไหว้ครู ตอนนี้น่าจะมีครูมากกว่า 100 คน ส่วนคนที่เข้ามาเรียนรู้กับเรารวมกันน่าจะหลายหมื่นคน

“ส่วนเหตุผลว่าทำแล้วไม่ได้เงินสนับสนุนจากรัฐ แต่ทำไมยังทำอยู่ ก็เพราะเรามองว่าสิ่งนี้มีคุณค่าสำหรับท้องถิ่น มันคือประวัติศาสตร์ คือรากเหง้า คือมรดกความรู้ คือภูมิปัญญาที่ก็ส่งต่อมา ถ้าเราไม่รักษาไว้ ทั้งหมดนี้จะหายไป ที่สำคัญที่สุดนี่คือความภาคภูมิใจ คือตัวตนของคนท้องถิ่น ดังนั้นเราจึงเห็นภาพเชียงใหม่ยังเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยศิลปวัฒนธรรมและได้รับรางวัลจากยูเนสโกให้เป็นเมืองแห่งศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน”

ในวันที่โลกกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลง ทั้งความแปรปรวนด้านสิ่งแวดล้อม การขยับขับเคลื่อนด้านเทคโนโลยี และค่านิยมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป การศึกษาทางเลือกและการศึกษาที่เอื้อให้คนได้เรียนรู้ตลอดชีวิต…อาจเป็นคำตอบหนึ่งที่ไม่ควรละเลย

ปัจจุบันชัชวาลย์ทำงานเชื่อมโยงกับภาคีปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ ร่วมขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา  ชั่วระยะเวลายาวนานกว่าสองทศวรรษกับบทสรุปสั้นๆ ของการขับเคลื่อนบนความจำกัดนี้ คือคำพูดที่เขาบอกว่า  “สิ่งนี้เกิดจากการที่พวกเราพยายามรักษา หากไม่ทำ…ตัวตน คุณค่าชีวิต และความเป็นมนุษย์จะหายไป”

การสร้าง “พลเมืองที่ดี” ของรัฐ

การศึกษาทางเลือกในไทยเริ่มชัดเจนช่วงที่พวกเราผลักดัน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ปี 2542  พ.ร.บ.นี้ดีมาก เพราะให้สิทธิภาคประชาชนและภาคสังคมจัดการศึกษาได้ โดยรัฐต้องสนับสนุนทั้งงบประมาณ วิชาการ และการลดหย่อนภาษี ทั้งยังมีการออกกฎกระทรวง 6 ฉบับ ที่ให้ทุกคนจัดการศึกษาได้ ไม่ว่าจะเป็นวัด สถานประกอบการ บ้านเรียน ศูนย์การเรียนที่เกิดจากองค์กร ชุมชน และองค์กรเอกชนต่างๆ ถือเป็นความก้าวหน้าเชิงกฎกระทรวง แต่ในทางปฏิบัติค่อนข้างมีปัญหามาโดยตลอด เพราะเกิดจากรัฐไม่ยอมรับ คือรัฐมองว่าการศึกษาควรมีระบบหลักระบบเดียว จึงไม่อยากให้มีการศึกษาอื่นๆ แต่พอมีกฎหมายที่เป็นกฎกระทรวงออกมา รัฐเลยจำเป็นต้องทำ เรียกว่าทำในลักษณะที่ไม่ยอมรับและไม่ค่อยเข้าใจ

นอกจากนี้ยังมีปัญหาจากวิธีบริหารจัดการด้วย ศูนย์การเรียนตามมาตรา 12 ซึ่งเดิมระบุว่า 1. เป็นผู้ด้อยโอกาส 2. เป็นผู้ที่มีความประสงค์ในการจัดการศึกษา  แต่ปัจจุบันได้ตัดคำหลังคือ “มีความประสงค์ในการจัดการศึกษา” ออก  ดังนั้นคนที่จะจัดการศึกษาตามมาตรา 12 ได้ จึงเหลือเฉพาะผู้ด้อยโอกาส ซึ่งหากไปดูนิยามของรัฐคำว่า “ผู้ด้อยโอกาส” จะหมายถึงขอทาน ผู้พิการ คนยากจน พอเขาตัดส่วนนี้ออกมันเลยยิ่งกีดกัน  ยิ่งทำให้เราตระหนักว่ารัฐยังไม่ยอมรับการศึกษาทางเลือก ยังมองการศึกษาในลักษณะอำนาจนิยม ต้องอยู่ในกระแสหลักเท่านั้น  

รัฐใช้การศึกษาสร้างพลเมืองของตัวเองให้เป็นพลเมืองที่ดี อยู่ในกรอบของรัฐ อยู่ในค่านิยม 12 ประการ ต้องทำตามระเบียบ ทำตามวินัย รัฐว่าอย่างไรคุณก็ต้องปฏิบัติตามนั้น ซึ่งนี่คือมุมมองแบบความมั่นคง ดังนั้นเขาเลยมองกลุ่มการศึกษาทางเลือกเป็นพวกนอกคอก  เป็นกลุ่มที่พยายามแหกคอกออกไปจากกรอบของเขา

การศึกษาที่ตอบโจทย์ชีวิต : ความงดงามของการเป็นมนุษย์

ผมมองว่าชีวิตคือการศึกษา คนเราพอเกิดมาแล้วก็เรียนรู้ได้ทุกที่และตลอดเวลา แต่ประเด็นคือ การศึกษามันทำให้เกิดระบบการศึกษา ซึ่งนำมาสู่การชี้นำ อย่างยุคแรกที่เกิดการศึกษาในไทย คือเป็นการผลิตคนเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบราชการ เพื่อเป็นเจ้าคนนายคน ดังนั้นการศึกษาในยุคนั้นก็มีเป้าหมายว่าเพื่อผลิตคนเป็นข้าราชการ ครั้นต่อมาเมื่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจของเราหันมาสนใจธุรกิจและอุตสาหกรรม การศึกษาก็เน้นพัฒนาคนเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งการวางกรอบอย่างนี้ทำให้เกิดการศึกษากระแสหลัก

ชีวิตของมนุษย์แต่ละคนมีความแตกต่างกันและมีศักยภาพที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นการศึกษาจึงควรตอบโจทย์ของผู้เรียน ตอบโจทย์ความรักความชอบ ความถนัด และความใฝ่ฝันของเขา จริงๆ มันคือการพัฒนาความเป็นมนุษย์เพื่อทำให้เขาดำรงชีวิตอยู่ได้ การศึกษาไม่จำเป็นต้องผลิตคนออกมาให้เหมือนกันหรือเข้าโรงงานหมด เพราะสังคมเรามีหลายเซ็กเตอร์มาก เราควรมีชาวนาที่มีผลิตข้าวได้ดี ทำเกษตรอินทรีย์ให้ผู้บริโภคได้กินแล้วมีสุขภาพที่ดี เราควรมีพระสงฆ์ที่มีคุณภาพ เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณได้ดี เราควรมีนักวิทยาศาสตร์ เราควรมีนักวิชาการ มีครูที่มีคุณภาพและเข้าใจเด็ก เป็นต้น ทุกคนมีความฝันที่ต่างกัน ดังนั้นการศึกษาไม่ควรถูกกำหนดแบบ “โหลๆ” ให้ทุกคนเดินไปเส้นทางเดียวกันทั้งหมด

การศึกษาที่ตอบโจทย์ชีวิตควรอยู่บนฐานที่เคารพความแตกต่างหลากหลาย อย่างชุมชนที่อยู่ห่างไกล เช่น กลุ่มพี่น้องชนเผ่าเขาต้องการการศึกษาอีกแบบหนึ่ง ต้องการจดทะเบียนศูนย์การเรียนรู้ เขาอยากเรียนภาษาและภูมิปัญญาของเขาเอง อยากเรียนรู้การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ อยากเรียนรู้การพึ่งตนเองในชุมชน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เขาอยากเรียนมากกว่าสิ่งที่รัฐกำหนด เมื่อแต่ละคนมีความต้องการที่ต่างกัน การศึกษาที่ตอบโจทย์ชีวิตจึงเป็นอะไรที่มีความหมายมาก เพราะมันคือการสร้างพลเมืองที่ตอบโจทย์ชีวิต ตอบโจทย์ชุมชน ตอบโจทย์สังคม ทำให้เกิดพลเมืองที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างสังคมที่เข้มแข็ง 

นอกจากนี้การศึกษาที่ตอบโจทย์ชีวิตยังช่วยให้เด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษาน้อยลง เพราะเด็กที่หลุดจากการศึกษานั้นจะมีอยู่ 2 ส่วน คือ 1. ตัวหลักสูตรไม่ตอบโจทย์ชุมชนและไม่ตอบโจทย์เด็ก 2. กระบวนการเรียนการสอนน่าเบื่อ ให้เด็กนั่งอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมวันละ 8-9 ชั่วโมง  ถือเป็นการยัดเยียดความรู้ ไม่ใช่การเรียนรู้ เมื่อเด็กถูกยัดเยียด เขาจะเกิดความทุกข์ ดังนั้นเมื่อเขารู้สึกเรียนแล้วไม่ตอบโจทย์ชีวิต แถมทุกข์อีก เขาก็ตัดสินใจออกจากระบบการศึกษาในที่สุด  

ในกรณีที่เด็กไม่ต้องการอยู่ในกระแสหลัก เขาควรมีทางเลือก ที่อยากเน้นคือ การศึกษาทางเลือกไม่ใช่ทางเบี่ยง ไม่ใช่ว่าเด็กอยู่ในระบบหลักไม่ได้  จึงออกมาอยู่การศึกษาทางเลือก แต่เป็นสิทธิของการได้เลือกการศึกษาที่ตอบโจทย์ชีวิตผู้เรียน  ตอบโจทย์ความฝันและความปรารถนาของเขา

สิ่งสำคัญของการศึกษาทางเลือกคือการค้นพบตัวเอง เพราะเป็นฐานสำหรับการเรียนรู้  หากเด็กได้ค้นพบตัวเอง เขาจะมีพลังมหาศาล จะมุ่งมั่น  เหนื่อยแค่ไหนก็พร้อมลุย พร้อมเรียนรู้อย่างมีความสุข ซึ่งกระบวนการนี้ไม่ค่อยมีในการศึกษากระแสหลัก  การศึกษากระแสหลักคือ เรียนไปเรื่อยๆ เพื่อให้จบ  แต่การศึกษาทางเลือกที่เราทำอยู่ เราจะฝึกฟังเด็ก

การฝึกฟังเด็กคือ ฟังว่าเขาอยากสื่อสารอะไร พร้อมสังเกตว่าเขาทำอะไรแล้วมีความสุข เมื่อเราฝึกจนกระทั่งเห็นว่าเด็กสนใจเรื่องอะไร เขามีความรัก ความถนัด ความชอบอะไร เราก็พยายามเอื้ออำนวยให้เขาได้เรียนรู้อย่างมีศักยภาพ นั่นคือจุดสำคัญที่สุดของการเรียนรู้เลย เขาจะโตของเขาเอง โตตามสิ่งที่เขาชอบและฝัน เป็นพลังขั้นพื้นฐานที่สำคัญมาก แล้วมันจะต่อยอดได้เอง เขาจะใฝ่รู้มาก ทำและทุ่มเทเยอะ

ระบบกระแสหลักที่เราเจอทุกวันนี้มักบังคับ ยัดเยียด ทำให้เด็กไม่เปิดจินตนาการและแรงบันดาลใจ แต่กระบวนการที่ตอบโจทย์เด็กแต่ละคน ให้เขาค้นพบตัวเอง และเจอในสิ่งที่ตนเองรัก เขาจะมีพลัง กระบวนการหนึ่งของเราคือ เปลี่ยนพ่อแม่ให้เป็นโค้ช เป็นคนอำนวยการเรียนรู้ เมื่อเด็กและพ่อแม่กลุ่มนี้เจอกัน มันจะมีพลังและไปได้ไกลมาก เขาจะเป็นคนที่มีคุณภาพในอนาคต

การศึกษาตลอดชีวิต 
ความเป็นไปได้ที่จะเกิดสิ่งนี้ในสังคมไทย

พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติพูดไว้ชัดมากว่า การศึกษาของเรามี 3 แบบ คือ ในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย แล้วเชื่อมโยงทั้ง 3 แบบเป็นการศึกษาตลอดชีวิต แต่ในทางปฏิบัติ รัฐทำอย่างเดียวคือการศึกษาในระบบ แต่ไม่ทำอีก 2 ระบบ คือการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พอไม่ทำทั้งหมด จึงไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต 

ยกตัวอย่างการศึกษาทางเลือกที่เราทำกับเด็ก อย่างเรื่องการอ่านหนังสือ เราจะให้หนังสือเป็นสิ่งแวดล้อมหนึ่งของเด็กตั้งแต่ยังเล็กเลย ดังนั้นเด็กจะอ่านหนังสือโดยธรรมชาติ ที่เราเจอคือเด็กอ่านหนังสือมากเกินไปจนเราต้องคอยบอกว่าให้ไปทำอย่างอื่น ให้ไปวิ่งเล่นบ้าง เหล่านี้เป็นเรื่องของกระบวนทัศน์ และเป็นเรื่องกระบวนการจัดการการเรียนรู้มากกว่า

ถ้าเรามองเรื่องการเรียนรู้เป็นเรื่องในระบบ นอกระบบ ตามอัธยาศัยแล้ว การเรียนรู้จะอยู่ในชีวิตเลย เพราะคนเราเรียนรู้ตลอดเวลา กินก๋วยเตี๋ยวก็เรียนรู้ได้ เอามาคุยเป็นบทเรียนได้ เขาไปเล่นน้ำก็เอามาเรียนรู้ได้ ทุกอย่างคือการเรียนรู้ทั้งหมด แต่พอเราบอกว่าการเรียนคือหลักสูตรที่ต้องมี 8 สาระวิชา ต้องมีครูสอน ต้องอยู่ในห้อง 8.00-16.00 น. มันเลยอยู่แค่นั้น ผู้คนเลยเข้าใจว่า พอหมดช่วงตรงนั้นคือหมดเวลาการเรียนรู้  วิธีคิดแบบนี้ไม่ใช่การเรียนรู้ของมนุษย์ แท้จริงแล้วมนุษย์มีชีวิตจิตใจ มีกิจกรรมของชีวิตตลอดเวลา เราต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ว่าอยู่ที่ไหนก็เรียนรู้ได้หมด และทุกคนเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ได้หมด

ภาคประชาสังคม : การขับเคลื่อนบนความจำกัด

ต้องยอมรับว่าภาคประชาสังคมยังไม่เข้มแข็งและเติบโตยาก แต่ที่ภาคประชาสังคมลุกมาจัดการศึกษาในระดับทางเลือกนั้น เกิดจากเราเห็นวิกฤตของการศึกษาในกระแสหลัก เราลุกขึ้นมาเพราะไม่อยากเห็นลูกหลานต้องเผชิญวิกฤตหล่านั้น ซึ่งต้องยอมรับว่าลุกขึ้นมาด้วยใจส่วนหนึ่ง พร้อมบ้างไม่พร้อมบ้าง พอขับเคลื่อนโดยที่ระบบสนับสนุนจากภาครัฐไม่เอื้อ เราถูกห้อมล้อมด้วยกฎระเบียบต่างๆ ที่ไม่เปิดโอกาส  จึงทำให้การขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมยังเป็น “การขับเคลื่อนบนความจำกัด” 

โรงเรียนสืบสานฯ ถ้าเราไม่ทุ่มเทแรงกายแรงใจ เราอาจยืนระยะมาจน 25 ปีได้ยาก แต่เราก็สู้กันมาโดยมีผู้เรียนช่วยสนับสนุน ข้อจำกัดมีไม่น้อยเลย เราอยากขยายไปทั่วประเทศด้วยซ้ำ อยากทำทุกภาค ทุกจังหวัด เพราะทุกพื้นที่มีของดีเยอะแยะเต็มไปหมด แต่โอกาสที่เด็กจะได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้กลับไม่มีเลย 

การที่ภาคประชาสังคมลุกมาทำเองนั้น เขามีใจสู้มากและมีประสบการณ์เยอะด้วย แต่ภายใต้ข้อจำกัดทำให้เขาไปได้ไม่ไกล ซึ่งเราก็อยากเห็นภาคประชาสังคมมาคุยและรวบรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลใหม่ เราหวังว่าจะมีกระทรวงศึกษาธิการที่มีความก้าวหน้าและมีวิสัยทัศน์ เชื่อว่าแค่รัฐเปิดโอกาสมากกว่านี้ เราจะขับเคลื่อนการศึกษาทางเลือกได้อย่างเข้มแข็ง และสิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับเด็กๆ

ข้อเสนอโยบายจากเครือข่ายการศึกษาทางเลือก

1. สนับสนุนการสร้างนิเวศการเรียนรู้และขยายให้กว้างอย่างเต็มที่ หากรัฐทำตามที่ระบุในกฎหมายอย่างเต็มกำลัง ทั้งเรื่องงบสนับสนุนและการลดหย่อนภาษี เราเชื่อว่าจะทำให้เกิดคุณภาพในการจัดการศึกษาทันที 

กฎหมายให้อำนาจแล้ว คือ การกระจายอำนาจให้ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนสามารถจัดการศึกษาได้ เรามองว่าการเรียนรู้ในห้องเรียนอย่างเดียวไม่ตอบโจทย์แล้ว เด็กสามารถแสวงหาความรู้ทั้งทางออนไลน์บ้าง หรือฝึกฝนกับผู้รู้ก็ได้ เช่น อยากทำร้านกาแฟก็ฝึกกับร้านกาแฟโดยตรง อยากทำเกษตรอินทรีย์ก็เรียนกับเกษตรกรตัวจริงได้เลย จะเร็วกว่าไปเรียนมหาวิทยาลัย 4 ปี

2. ส่งเสริมให้จังหวัดจัดการศึกษาตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ที่ผ่านมาดำเนินการแล้ว 8 จังหวัด ทั้งยังมีกฎหมายออกมาแล้ว แต่เนื่องจากภาคปฏิบัติยังขึ้นอยู่กับระบบราชการแบบเดิม ทำให้ไม่เวิร์ก คงต้องกระจายอำนาจมากกว่านี้ เพราะตอนนี้ยังอยู่กับศึกษาธิการจังหวัด อยู่กับระบบราชการ ซึ่งเป็นระบบรวมศูนย์ เลยทำให้ไม่ก้าวหน้าเท่าไหร่ 

3. มีกลไกใหม่ที่พร้อมดูแลการศึกษาทางเลือกให้แข็งแรง  อยากให้นำระบบการดูแลและสนับสนุนออกจาก สพฐ. สร้างให้มีกลไกลใหม่ที่ยอมรับและเข้าใจการศึกษาทางเลือก พร้อมเอื้ออำนวยสนับสนุนอย่างเต็มที่ ปัจจุบันนี้เรายังต้องขออนุญาตผ่านเขตการศึกษากันอยู่เลย แล้วบ้านเรามี 180 เขตการศึกษา ซึ่งแต่ละเขตก็เข้าใจไม่เหมือนกัน เขตไหนดีหน่อยก็ไปได้ดี เขตไหนไม่รู้เรื่องก็ไม่ได้รับอนุญาต

4. กระจายอำนาจให้โรงเรียนบริหารจัดการตนเองอย่างแท้จริง  จึงจะสามารถจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับบริบทผู้เรียน สอดคล้องกับชุมชนและกลุ่มชาติพันธุ์  โรงเรียนต้องมีอิสระตั้งแต่เรื่องกำหนดนโยบาย กำหนดหลักสูตร กำหนดบุคลากร กำหนดงบประมาณ แต่ปัญหาคือ ตอนนี้โรงเรียนไทยอยู่ภายใต้ระบบราชการ ต้องมีคำสั่งจากรัฐมนตรีมาที่ สพฐ. จากนั้นส่งต่อมายังเขต มายังผู้อำนวยการโรงเรียน ก่อนส่งต่อไปยังครู ทั้งหมดนี้เป็นระบบราชการแนวดิ่ง ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการเรียนรู้