ทำไมความคิดสร้างสรรค์จึงเป็นทักษะที่สำคัญกับเยาวชนทั่วโลก : ร่วมวงสนทนากับ 3 คนทำงานนอกรั้วโรงเรียนในงาน CES 2023

ทำไมความคิดสร้างสรรค์จึงเป็นทักษะที่สำคัญกับเยาวชนทั่วโลก : ร่วมวงสนทนากับ 3 คนทำงานนอกรั้วโรงเรียนในงาน CES 2023

เมื่อเอ่ยคำว่าความคิดสร้างสรรค์ หลายคนที่โตมากับการเรียนการสอนแบบท่องจำอาจรู้สึกว่าเป็นทักษะที่ไกลตัวพอสมควร เนื่องจากไม่ได้ถูกสอนให้ฝึกฝนในรั้วโรงเรียน แต่รู้ไหมว่า ความคิดสร้างสรรค์ถูกยกให้เป็นเป็นทักษะสำคัญกับเยาวชนทั่วโลกในศตวรรษที่ 21 และมันไม่ได้ผูกติดอยู่กับคนทำงานศิลปะ ความบันเทิง และสายครีเอทีฟอีกต่อไป

ในการประชุม Creativity in Education Summit 2023 หรือ CES 2023 ที่ผ่านมา หนึ่งในเซสชั่นที่ดึงดูดความสนใจของเราอยู่หมัดคือ The Power Of Creativity วงสนทนาของ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จากประเทศไทย, Alix Dufour ผู้จัดการแบรนด์ด้านศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ของแบรนด์เครื่องเขียน BIC และ Vlad Glăvenu ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Dublin City University และศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์การเรียนรู้และเทคโนโลยีที่ University of Bergen ได้มานั่งคุยกันถึงพลังของความครีเอทีฟ แตะไปจนถึงบทบาทของความคิดสร้างสรรค์ที่ช่วยเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับเยาวชน

ใครที่พลาดทอล์กนี้ไป เราขอสรุปประเด็นสำคัญมาให้ฟัง อ่านจบแล้วมุมมองที่คุณมีต่อคำว่าความคิดสร้างสรรค์อาจเปลี่ยนไป

ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะที่สำคัญกับเยาวชนทั่วโลกในศตวรรษที่ 21

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จุดประเด็นเป็นคนแรก เกริ่นก่อนว่างานของ กสศ.ก่อนหน้านี้คือการบริหารเงินลงทุนสาธารณะเพื่อพัฒนามนุษย์ ผ่านการพัฒนางานวิจัยที่เป็นนวัตกรรม รวมถึงเทคโนโลยีที่นำไปสู่หนทางแก้ไขปัญหาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาในไทยทั้งในระดับชุมชนและระดับชาติ จนถึงตอนนี้ กสศ. สามารถช่วยเหลือเด็กๆ ได้มากกว่า 1.3 ล้านคน ซึ่งเป็นเด็กๆ ที่ยากจน ขาดโอกาส และเสี่ยงต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษา  และทำให้พวกเขาสามารถเรียนต่อได้จนถึงระดับ ปวช. จนถึงปริญญาตรีสำเร็จ 

ในมุมมองของไกรยส ความคิดสร้างสรรค์และการคิดเชิงวิพากษ์คือหนึ่งในทักษะที่สำคัญไม่แพ้ทักษะอื่นๆ ที่ผู้ใหญ่ควรสอนเด็ก โดยเฉพาะเด็กในพื้นที่ห่างไกลที่เข้าถึงหนังสือเรียน เครื่องมือใหม่ๆ หรือห้องเรียนแบบ Smart Classroom ได้ยาก ความคิดสร้างสรรค์จึงถือเป็นหัวใจสำคัญที่ผลักดันให้เด็กๆ ได้พัฒนาตัวเองเพื่อนำทางตัวเองให้ออกมาจากคุณภาพชีวิตแบบเดิม นั่นคือเหตุผลที่ กสศ. มีโปรเจกต์ร่วมกับ OECD เพื่อพัฒนาเครื่องมือเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์และการคิดเชิงวิพากษ์ เพื่อใช้พัฒนาเด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกล

Alix Dufour ผู้จัดการแบรนด์ด้านศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ที่ BIC แบรนด์เครื่องมือที่มอบโอกาสให้นักสร้างสรรค์ทั่วโลกได้แสดงความครีเอทีฟมาตลอด กล่าวว่า BIC ให้ความสำคัญกับการแสดงความคิดสร้างสรรค์ตั้งแต่ยุคปี 1950 ผ่านการผลิตสินค้าที่ราคาย่อมเยา ทุกคนเข้าถึงได้ มันคือจุดเริ่มต้นของการปลดปล่อยสิ่งที่มีอยู่ภายในตัวเรา ปากกาของพวกเขาไม่เพียงแค่ใช้เขียน แต่ยังเป็นการแสดงตัวตนและสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ และเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ศิลปะได้พัฒนาตัวเอง มากกว่านั้น BIC ยังสร้าง BIC Foundation ในปี 2016 ที่จะช่วยขับเคลื่อนการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับเด็กด้อยโอกาส เพราะ BIC มองว่าเมื่อมีความคิดสร้างสรรค์ เราจะสามารถมีสกิลยืดหยุ่น ล้มแล้วลุกได้ และจะสามารถพบทางออกของทุกปัญหาในชีวิต 

คนสุดท้ายในวงสนทนาวันนี้คือ Vlad Glăvenu ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Dublin City University และศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์การเรียนรู้และเทคโนโลยีที่ University of Bergen และผู้ก่อตั้งเครือข่าย Possibility Studies ที่โฟกัสกับเรื่องความคิดสร้างสรรค์ บอกว่าความคิดสร้างสรรค์คือหนึ่งในเครื่องยนต์ของการพัฒนามนุษย์ มากกว่านั้น มันยังเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ของวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมและสังคมอีกด้วย เขาเห็นด้วยกับ ดร.ไกรยสที่บอกว่า ความคิดสร้างสรรค์ช่วย ‘สร้าง’ คนในหลากหลายเส้นทาง เปิดโอกาสให้เราได้เล่นสนุกกับความเป็นไปได้ใหม่ๆ รวมถึงทำให้เราได้มีจริยธรรมในการสร้างสรรค์เช่นกัน 

วลาดยังบอกว่า ความคิดสร้างสรรค์นั้นมีข้อดีมากมาย แม้บางครั้งเราจะไม่ได้สร้างสรรค์งานได้ง่ายๆ แต่เรารู้ว่ามันช่วยในขั้นตอนการพัฒนามนุษย์เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ความคิดสร้างสรรค์ยังช่วยให้เรามีมุมมองอันกว้างขวาง เป็นคนใจกว้าง และโอบรับความหลากหลายและความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ด้วย

กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ด้วยสินค้าและโครงการสุดครีเอทีฟ

เป็นเวลากว่า 5 ปีแล้วที่ กสศ. ได้จับมือกับโรงเรียนกว่า 1,000 แห่ง ครูกว่า 10,000 คน และนักเรียนกว่า 100,000 คน เพื่อถ่ายทอดคอนเซปต์และเครื่องมือที่ช่วยพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดเชิงวิพากษ์ เช่น การใช้รูบิก โดยปรับบริบทให้เข้ากับประชาชนคนไทย และพัฒนาคอร์สฝึกอบรมครูรวมไปถึงพัฒนาหลักสูตรวิชาต่างๆ ทั้งวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ วรรณกรรม และอีกมากมาย

หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือโครงการที่ปั้นให้เด็กๆ ได้เป็นผู้ประกอบการที่มีธุรกิจของตัวเอง กสศ. มอบหมายภารกิจให้เด็กๆ จับกลุ่มรวมกันเพื่อสร้างสรรค์สินค้าของตัวเองออกมาขายจริงๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งไม่ได้ยกระดับแค่ความครีเอทีฟของเด็กเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เด็กๆ ได้รู้จักตลาด เรียนรู้ลักษณะของการขายของผ่านช่องทาง E-Commerce และมอบโอกาสให้เขาสร้างรายได้ให้ตัวเองได้ด้วย ทำให้เด็กๆ สามารถเรียนรู้ทักษะเหล่านี้เพื่อผลักดันให้ตัวเองหลุดออกจากความยากจน นี่คือกรณีตัวอย่างของการใช้ความคิดสร้างสรรค์มาเชื่อมโยงกับการแก้ไขปัญหาความไม่เสมอภาคในสังคม

ในอนาคต กสศ.ยังพยายามขยายโปรแกรมเหล่านี้ให้ไปสู่เด็กๆ ทั่วประเทศผ่านหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาหลักสูตรและสื่อสารกับรัฐบาลชุดใหม่

อัลลิกซ์แห่ง BIC เล่าในมุมของแบรนด์บ้างว่า ปากกาของพวกเขานั้นไม่เพียงแต่เป็นเครื่องมือในการเขียน แต่คือสื่อกลางในการสร้างสรรค์งาน BIC อยากสนับสนุนงานศิลปะของนักสร้างสรรค์ทั่วโลก พวกเขาจึงก่อตั้งคลังสะสมงานศิลปะของตัวเองขึ้นราว 20 ปีก่อน เพื่อซื้องานศิลปะเหล่านั้นมาเก็บไว้ นอกจากนั้น แบรนด์ยังมีการจัดประกวด BIC Art Masters Africa ตั้งแต่ปี 2018 ให้นักสร้างสรรค์ในภูมิภาคได้มาแข่งขันครีเอตงานด้วยปากกาแบรนด์ BIC เพื่อชิงเงินรางวัล และมีโครงการสนับสนุนเงินทุนให้กับเด็กๆ ที่พัฒนาตัวเองผ่านงานศิลปะอีกด้วย

คนทำงานด้านการศึกษา และภารกิจยกระดับความคิดสร้างสรรค์ในรั้วโรงเรียน

แม้ผู้บรรยายทั้ง 3 จะทำงานเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ แต่พวกเขาก็ไม่ได้ทำงานในรั้วโรงเรียนเสียทีเดียว Tia Loukkola พิธีกรผู้ชวนคุยในวงเสวนาครั้งนี้ จึงขอคำแนะนำจากบุคคลทั้ง 3 ว่าหากเราอยากยกระดับความคิดสร้างสรรค์ในรั้วโรงเรียนบ้าง คนทำงานด้านการศึกษาควรเริ่มจากตรงไหน

อัลลิกซ์ออกตัวว่า ในฐานะผู้ดูแลแบรนด์เครื่องเขียน อาจจะยากสำหรับเขาสักนิดที่จะให้คำแนะนำกับคนทำงานด้านการศึกษา แต่หากมีอะไรที่เธอพอจะแนะนำได้   เธอมองว่าคนที่มีความคิดสร้างสรรค์มากมายเคยล้มเหลวกับระบบการศึกษาแบบดั้งเดิม อัลลิกซ์คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่สถานศึกษาจะโอบรับเหล่าคนครีเอทีฟและทุกๆ คนเข้ามาอยู่ในระบบ BIC มองว่าเยาวชนทุกวันนี้คือแรงงานในอนาคต เพราะฉะนั้น มันจึงสำคัญมากที่ชุมชนของเราจะสร้างสะพานเชื่อมจากโรงเรียนไปยังส่วนต่างๆ ของสังคม มากกว่านั้นคือควรสร้างคอมมูนิตี้ที่ครีเอทีฟเพื่อให้พวกเขาสามารถฝึกฝนตนเองได้ และแลกเปลี่ยนทรัพยากรที่ดีที่สุดให้แก่กันและกัน

วลาดเสริมว่า หนึ่งในสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากการทำงานกับครูอาจารย์ในมหาวิทยาลัย คือหนทางที่จะทำให้เกิดบรรยากาศและวัฒนธรรมของความคิดสร้างสรรค์ในรั้วโรงเรียนได้ เราต้องมี ‘ก้าวเล็กๆ’ แต่สำคัญ นั่นคือการทำอะไรที่แตกต่างออกจากสิ่งที่เคยทำตามกันมา เช่น การบิดคำถามหรือตั้งคำถามให้ต่างจากเดิม เพื่อให้เด็กๆ และครูอาจารย์ได้ครุ่นคิดสงสัย และเป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนาเดียวกัน ก้าวเล็กๆ เหล่านี้แหละที่จะช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ แต่เราต้องทุ่มเทเวลาและความพยายามกันมันสักนิด

สุดท้าย ดร.ไกรยส ในฐานะของหน่วยงานที่ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของเด็กไทย เขายอมรับว่าเมื่อเขากล่าวถึงหลัก OECD กับโรงเรียนไทย บุคลาการทางการศึกษาหลายคนเริ่มมีอาการหวาดหวั่นเพราะมันใหม่มาก  แต่นั่นแหละคือก้าวที่เขามองว่าสำคัญ เพราะก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงทุกๆ อย่างคือการโอบรับความแตกต่างหลากหลาย ไอเดียใหม่ และเครื่องมือที่ไม่เคยใช้

ดร.ไกรยสยังมองว่า การสอนแบบเดิมๆ ของครูที่ถ่ายทอดความรู้และข้อมูลให้เด็กแบบดั้งเดิมนั้นใช้ในปัจจุบันไม่ได้อีกแล้ว ครูควรถ่ายทอดข้อมูลความรู้ที่เด็กๆ สามารถคิดต่อได้ รวมถึงทักษะที่ทำให้เด็กสามารถทำงานเป็น โดยเฉพาะกับเยาวชนที่พื้นฐานบ้านไม่ได้ดีมาก แต่พวกเขาก็มีศักยภาพในการเติบโตไปเป็นแรงงานที่มีประสิทธิภาพในอนาคต 

ทว่าก่อนที่จะทำอย่างนั้นได้ ดร.ไกรยสแนะนำให้ครูใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นเครื่องมือในการปลดล็อกศักยภาพของเด็ก และใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการเชื่อมโยงตัวเขาเข้ากับสิ่งอื่นๆ จะทำให้เขานั้นเติบโตมาเป็นแบบอย่างที่ดี สร้างธุรกิจที่ครีเอทีฟ เต็มไปด้วยไอเดียสดใหม่ ขอเพียงเหล่าครูอาจารย์นั้นช่วยพวกเขาให้เดินไปด้วยกัน และมั่นใจว่าความคิดสร้างสรรค์จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับเด็ก สังคม และระบบการศึกษาได้จริงๆ