จากใจนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง มุ่งมั่นสร้างอนาคต ด้วยพลังคนรุ่นใหม่

จากใจนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง มุ่งมั่นสร้างอนาคต ด้วยพลังคนรุ่นใหม่

เรื่องราวของนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง โดยการสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ภายในงาน ‘ปลุกพลัง สร้างโอกาสแห่งอนาคต กับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปีการศึกษา 2566’ ถ่ายทอดความมุ่งมั่น ประสบการณ์ และจุดเปลี่ยนของชีวิตหลังจากที่ได้รับทุนการศึกษา เรื่องราวของพวกเขาสะท้อนให้เห็นว่า พลังของคนรุ่นใหม่จะสามารถเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต ขอเพียงได้รับการหยิบยื่นโอกาส พวกเขาก็พร้อมจะพิสูจน์ถึงศักยภาพของตนเอง โดยมีการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยกำหนดทิศทางที่ถูกต้องสำหรับก้าวเดินไปสู่อนาคตข้างหน้า

วางแผนสานฝันเพื่ออนาคต

พรรณณิภา คงวิชัย นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา ตัดสินใจขอทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงเพื่อเรียนต่อในแผนกอิเล็กทรอนิกส์ โดยตั้งใจว่า หากเรียนจบการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) แล้ว จะหาโอกาสเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น และขอเรียนในสิ่งที่ถนัด เพื่อจบออกมาเป็นครูสอนในสาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์

“สิ่งที่กำลังพยายามทำอยู่ในตอนนี้ คือเรียนไปด้วยและทำงานไปด้วย ตั้งใจจะเก็บเงินเพื่อส่งตัวเองเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นในอนาคต ตั้งใจจะประกอบอาชีพครู เพราะอาชีพนี้คือสิ่งที่รักและชอบ ได้ถ่ายทอดความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสิ่งที่เรียนมาให้กับคนรุ่นต่อ ๆ ไป มองว่าอาชีพครูเป็นอาชีพที่มีความมั่นคง น่าจะช่วยให้ตัวเองสามารถตั้งหลักและเลี้ยงชีพได้ แต่ถ้าไม่สามารถไปถึงจุดที่ตั้งใจและวาดหวังไว้ได้ ก็จะประกอบอาชีพค้าขาย อาชีพนี้เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่รักมาก เพราะแม่ซึ่งเสียชีวิตไปแล้วสอนให้รู้จักการค้าขายมาตั้งแต่เด็ก” 

พรรณณิภาทราบดีว่า ด้วยข้อจำกัดที่พ่อแม่ซึ่งเป็นเสาหลักของบ้านเสียชีวิตไปแล้ว ส่งผลให้เธอต้องอาศัยอยู่กับพี่สาว มีฐานะทางบ้านที่ค่อนข้างลำบาก ฝันที่เธอวาดไว้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สิ่งวาดหวังไว้ก็ยังมีโอกาสเป็นจริงได้ หากวางแผนไว้อย่างรัดกุมและเดินหน้าไปตามเส้นทางนั้นด้วยความพยายามอย่างสุดความสามารถ

“เมื่อได้ทุนมาก็จะระมัดระวังเรื่องการใช้เงินอย่างเต็มที่ พยายามใช้ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาทเท่านั้น ที่เหลือก็เก็บสะสมไว้เป็นทุนการศึกษาในอนาคต ถามว่าใช้แค่นี้แล้วอยู่ได้มั้ย ตอบว่าอยู่ได้ เพราะใช้วิธีเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย อาศัยเวลาช่วงเย็นหลังเลิกเรียน วันหยุดเสาร์อาทิตย์ ไปทำงานในร้านอาหาร ลำบากและเหนื่อยเป็นเรื่องธรรมดา เพราะใช้ชีวิตแบบนี้มาเกือบ 5 ปีแล้ว การไม่มีพ่อไม่มีแม่ ต้องอยู่กับพี่สาวแค่ 2 คน ทำให้รู้อยู่เสมอว่า ต้องยืนด้วยขาของตัวเองให้ได้” พรรณณิภากล่าวด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น

เปลี่ยนเส้นทางฝัน แต่ไม่เปลี่ยนความมุ่งมั่น

วิจาริณี ปิ่นเพชร์ นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลพบุรี เล่าว่า เธอเคยเรียนชั้นมัธยม แผนกไทย-สังคม และตั้งใจจะเรียนต่อสายอาชีพเกี่ยวกับศิลปะ เพราะมีความสนใจและชอบวาดรูป อยากเข้าไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ แต่เพราะช่วงโควิด-19 ระบาด พ่อแม่ซึ่งมีอาชีพรับจ้างทั่วไป ไม่มีงานให้ทำ ตกอยู่ในสภาพขาดรายได้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน รวมถึงต้องย้ายถิ่นฐานไปตามแหล่งงานอยู่ตลอดเวลา จึงส่งตัวเธอไปอาศัยอยู่กับย่า และไม่สามารถส่งเสียให้เรียนในระดับที่สูงขึ้นต่อจากการศึกษาภาคบังคับได้ วิจาริณีจึงต้องล้มเลิกความตั้งใจเรื่องเรียนต่อ และคิดจะออกหางานทำเพื่อช่วยทางบ้าน

“ตอนแรกตั้งใจว่าจะไม่เรียนต่อ แต่ครูที่โรงเรียนแนะนำว่า ทำไมไม่ลองขอทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงดู อาจจะเป็นทางออกให้ได้เรียนต่อ พอลองขอทุนไป ปรากฏว่าได้ รู้สึกดีใจมาก เลยกลับมาเริ่มวางแผนชีวิตใหม่อีกครั้ง ครูที่วิทยาลัยก็บอกว่า ถ้าตั้งใจเรียนสาขาวิชาสัตวศาสตร์ ทำคะแนนให้ดี ก็มีโอกาสหาทุนเรียนต่อได้ถึงระดับปริญญาตรีสายเทคโนโลยีการผลิตสัตว์ 

“และสาขาวิชาที่เราเลือกเรียน อาจจะสามารถเป็นใบเบิกทางไปสู่การขอทุนเรียนต่อที่ประเทศเกาหลีใต้ได้ พออาจารย์บอกแบบนี้ ก็ทำให้มีกำลังใจ มุ่งมั่นตั้งใจเรียนมาก เพราะดูซีรีส์เกาหลีแล้วฝันอยากไปประเทศนี้ ถ้าได้ไปเรียนต่อที่นั่น ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีมาก และอาจจะเป็นโอกาสสำคัญในการเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองให้มีอาชีพที่มั่นคงได้ในอนาคต” วิจาริณีบอกด้วยน้ำเสียงที่เปี่ยมความหวัง

วิชาชีพแห่งอนาคต

สุวนันท์ งามยิ่ง นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค) เล่าว่า เคยท้อแท้เรื่องการเรียนต่อหลังจากจบชั้นมัธยมปีที่ 3 เพราะต้องเตรียมการหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่ายด้านต่าง ๆ จึงพยายามหาทางออกด้วยการหาข้อมูลออนไลน์ ว่ามีทุนสนับสนุนด้านการศึกษาที่ไหนที่ตรงกับคุณสมบัติของตัวเองบ้าง 

สุวนันท์ พบว่า ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของ กสศ. คือคำตอบที่เธอกำลังค้นหา จึงตัดสินใจขอทุนเพื่อเรียนด้านวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ ภาควิชาที่เรียนด้านการประดิษฐ์คิดค้นหุ่นยนต์อัตโนมัติสำหรับทำงานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ 

“วิชาชีพที่เลือกเรียน น่าจะเป็นวิชาแห่งอนาคตในโลกยุคใหม่ ซึ่งทุกอย่างต้องใช้หุ่นยนต์ในการขับเคลื่อน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การเรียนสาขานี้น่าจะช่วยสร้างหลักประกันด้านอาชีพได้ จึงอยากจะฝากไปถึงน้อง ๆ คนอื่น ๆ ว่า แม้ตอนที่กำลังเรียนอยู่จะไม่มีใครมาแนะนำว่าควรจะเรียนต่ออะไร ก็ควรจะถามตัวเองว่าชอบเรื่องไหนเป็นพิเศษ และแม้จะไม่มีเงินเรียนต่อ แต่ขอให้รู้ไว้ว่า สมัยนี้ถ้าตั้งใจจริง อย่าเพิ่งท้อ ลองหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต จะพบว่ามีทางออกในการขอทุนสนับสนุนอยู่มากมาย เช่นเดียวกับที่ได้รับจากทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของ กสศ.” สุวนันท์กล่าว

พยาบาลมืออาชีพ ผู้ช่วยรับมือสังคมสูงวัย

สุภัสสร ยศผล นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เล่าว่า หลังจากเรียนจบ ปวช. เธอต้องทำใจยอมรับเรื่องร้าย และหาทางออกให้ได้ว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร หลังจากแม่เสียชีวิต เธอรู้ว่าต้องก้าวต่อไปแม้จะขาดทั้งพ่อและแม่ และโอกาสนั้นจะมาถึงได้หากเธอไม่ยอมแพ้ในการแสวงหาโอกาสทางการศึกษา

“มีป้าแนะนำมาว่า มีหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล ที่เรียนด้านการดูแลผู้สูงอายุ น่าจะลองสมัครดู ประกอบกอบกับโดยส่วนตัวเป็นคนที่ชอบดูแลช่วยเหลือผู้ใหญ่ สาขาที่เปิดจึงน่าจะตรงกับความต้องการ เมื่อได้ทุนนี้มาแล้ว แม้จะเป็นทุนสำหรับหลักสูตรที่เรียนต่อแค่ 1 ปี แต่ก็ช่วยให้มีกำลังใจ ทำให้กล้าคิดไปไกลถึงอนาคตว่า ถ้ามีโอกาสก็จะเรียนต่อหลักสูตรพยาบาล หรือเรียนต่อให้สูงที่สุด แม้จะต้องทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย 

“ในอนาคตหากมีโอกาสยิ่งกว่านั้น ก็อยากเปิดศูนย์ดูแลผู้สูงวัยเป็นของตัวเอง เพราะประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่า 7 ล้านคน จึงควรมีพยาบาลมืออาชีพคอยช่วยเหลือดูและด้านปัญหาสุขภาพและโรคเรื้อรังต่าง ๆ ให้มากขึ้น” สุภัสสรกล่าว

ออกแบบสร้างอนาคตของตนเอง

นพดล บริบูรณ์ นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สาขาอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคสิงห์บุรี เล่าว่า เขาต้องเผชิญกับความไม่พร้อมของครอบครัว ซึ่งลุกลามกลายเป็นความไม่พร้อมด้านอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาต่อ ทำให้อนาคตกลายเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอนไปในทันทีที่พ่อแม่แยกทางกัน 

แต่แล้วทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงที่ได้รับ ก็เป็นเสมือนโอกาสครั้งใหม่ ที่ช่วยให้มองเห็นโอกาสทางการศึกษาอีกครั้ง

นพดลเลือกเรียนด้านอิเล็กทรอนิกส์ เพราะเชื่อว่าสาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์ไม่เพียงช่วยให้สามารถสร้างและออกแบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ของอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้เท่านั้น แต่งานออกแบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ยังถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการเรียนรู้ที่ซับซ้อนขึ้น สามารถนำสิ่งที่เรียนไปหาโอกาสศึกษาต่อด้านนี้ ให้สูงขึ้นในอนาคตได้อีกด้วย

“มองอีกทางหนึ่ง การได้เรียนสาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์เป็นเหมือนโอกาสในการออกแบบสร้างอนาคตให้ตัวเองได้เหมือนกัน โอกาสและสถานะทางบ้านไม่พร้อมก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าตั้งใจเรียน อาจจะพบทางออกในการสร้างโอกาสใหม่ให้ชีวิตได้” นพดลกล่าวอย่างมั่นใจ