ถ้าจะสร้างโลกที่ดีในอีก 15 ปีข้างหน้า ทุกคนบนโลกต้องลงมือทำเดี๋ยวนี้! : เมื่อการศึกษาคือ “เกราะป้องกัน” ที่จะทำให้มีชีวิตที่ดี ท่ามกลางบริบทโลกอันหนักหน่วง
โดย : Christopher J. Thomas
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

ถ้าจะสร้างโลกที่ดีในอีก 15 ปีข้างหน้า ทุกคนบนโลกต้องลงมือทำเดี๋ยวนี้! : เมื่อการศึกษาคือ “เกราะป้องกัน” ที่จะทำให้มีชีวิตที่ดี ท่ามกลางบริบทโลกอันหนักหน่วง

ท่ามกลางโลกที่ต้องเผชิญกับสภาพปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่มีความซับซ้อนและทับซ้อนกันมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมศาสตร์และการศึกษาได้ออกมาแชร์ทัศนะความเห็นที่มีต่อแนวทางรับมือที่จะช่วยให้ผู้คนในสังคมนานาประเทศทั่วโลกสามารถยืนหยัดอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่จะกลายเป็นเรื่อง “นิวนอร์มอล” (New Normal) หรือภาวะปกติใหม่ โดยกุญแจสำคัญในการรับมือก็คือการศึกษา

คริสโตเฟอร์ เจ. โธมัส (Christopher J. Thomas) ผู้อำนวยการฝ่ายความร่วมมือมูลนิธิรางวัล Yidan เพื่อผู้ประกอบการรัฐวิสาหกิจชุมชน แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ระบุชัดเจนว่า การให้การศึกษาเปรียบเสมือนกับการฉีดเซรุ่มต้านพิษให้แก่คนที่ถูกพิษ ทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานที่จะต่อกรต่อสู้กับพิษที่เข้ามา ซึ่งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของโลกนับต่อจากนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเป็นไปทั้งในทางบวกและทางลบ ดังนั้น การให้ความรู้จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งมีเกราะป้องกันและทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ “ดี” ท่ามกลางบริบทที่หนักหน่วงเหล่านั้นได้

นับตั้งแต่ปี 1960 ประชากรโลกได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าอย่างรวดเร็ว อายุขัยโดยเฉลี่ยของผู้คนเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% ขณะที่รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า ส่วนสัดส่วนของคนยากจนลดลงจาก 54% มาอยู่ที่ 10% (ข้อมูลจากปี 2018 ก่อนการระบาดของโควิด-19) และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้การสื่อสาร การเดินทางและการใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก สะดวกสบายขึ้น และมีคุณภาพมากขึ้น

โลกที่พัฒนาไปข้างหน้าไม่ได้เป็นผลลัพธ์จากปาฏิหาริย์ แต่มันคือผลพวงจากการลงทุนอย่างหนักหน่วงในการศึกษา วิจัยและพัฒนา ที่รัฐบาลนานาประเทศทุ่มเทคิดค้นหานโยบาย แนวทาง ทำให้การศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสากลที่คนทุกคนมีสิทธิที่จะอ่านออกเขียนได้ มีความรู้ มีการศึกษา

ดังนั้น ไม่ว่าประชากรจะขยายจำนวนเพิ่มมากขึ้นเท่าใด การศึกษาก็เพิ่มตามขึ้นไปด้วย และส่งผลให้ศักยภาพในการผลิต การสร้างสรรค์ต่าง ๆ การประดิษฐ์คิดค้น การประยุกต์ใช้ และการพัฒนานวัตกรรมรุดไปข้างหน้ามากด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่การศึกษาผลิดอกออกผล ผู้คนทั่วโลกต่างก็เผชิญหน้ากับความยากลำบาก เริ่มต้นด้วยเรื่องของสิ่งแวดล้อม ข้อมูลจากปี 1960 พบว่า ราว 60% ของพื้นผิวโลกเป็นพื้นที่ของป่า ขณะที่ปัจจุบันลดลงมาเหลือ 35% การขยายตัวของประชากรโลกได้รุกคืบพื้นที่ป่า ทำให้ความหลากหลายทางธรรมชาติลดลงไป ปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมายตามมา การปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ทำลายชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่า ความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันทางสังคมไต่ระดับมาถึงจุดที่ยากจะทนรับได้ และเกิดการต่อสู้ขัดแย้งรุนแรงในหลายพื้นที่

ในมุมมองของโธมัส ปัญหาทั้งหมดข้างต้นมีเหตุปัจจัยหลักมาจากการแข่งขันเพื่อแก่งแย่งช่วงชิงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ล่าสุดก็ทำให้บริบทของความเหลื่อมล้ำทางสังคม ชัดเจนขึ้น รุนแรงขึ้น

หลายฝ่ายได้มีการตั้งคำถามมานานแล้วว่า อะไรคือหนทางหรือแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน หนึ่งในหลาย ๆ คำตอบที่ผู้เชี่ยวชาญตกผลึกและยกมือสนับสนุนอย่างพร้อมเพรียงก็คือการศึกษา โดยเชื่อว่า การศึกษาเป็นเซรุ่มชั้นดีสำหรับโลกที่เต็มไปด้วยรอยร้าวของปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

คำถามที่ต้องถามต่อมาก็คือ แล้วจะทำอย่างไรที่ระบบการศึกษาจึงจะสามารถรวมเอาข้อมูลเชิงลึกใหม่ ๆ เข้าไปไว้ในวิธีที่เด็กเรียนรู้ ปลูกฝังการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ และครอบคลุมถึงกลุ่มคนที่โดนผลักไปอยู่ชายขอบของสังคมได้มากขึ้นหรือไม่

ในการพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักก็คือว่า การลงทุนในการศึกษาไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถให้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจนในทันที เพราะเด็กที่เข้าเรียนโรงเรียนในวันนี้จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพต่อสังคมในอีก 15-20 ปีข้างหน้า ดังนั้น ถ้าจะสร้างโลกที่ดีในปี 2050 ย่อมหมายความว่า ทุกคนบนโลกในเวลานี้ โดยเฉพาะผู้มีอำนาจของสังคม ต้องลงมือทำเดี๋ยวนี้

โธมัสกล่าวว่า การพัฒนาการศึกษาคือเดิมพันที่มีเงินรางวัลสูง เพราะการศึกษาคือสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาส่วนใหญ่ รวมถึงศาสตราจารย์คาร์ล วีแมน (Carl Wieman) แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวว่า ท่ามกลางโลกที่มีปัญหารุมเร้า สิ่งที่คนที่ต้องมีก็คือ “วิธีการคิดแบบผู้เชี่ยวชาญ” ซึ่งหมายถึงการคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล และการไตร่ตรองด้วยข้อมูลข้อเท็จจริง 

ประเด็นสำคัญที่ต้องคำนึงถึงก็คือ การที่เยาวชนส่วนใหญ่ในเจนเนอเรชั่นหน้าจะเติบโตขึ้นมาในพื้นที่ที่มีทรัพยากรค่อนข้างจำกัด โดยมีการประมาณการณ์ว่าภายในปี 2050 ราว 57% ของเยาวชนโลกจะอยู่ในแถบซับ-สะฮาราของแอฟริกาและเอเชียใต้ ซึ่งหลายประเทศในภูมิภาคดังกล่าวต่างมีปัญหาในการสร้างและจูงใจแรงงานครูคุณภาพ สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนในโรงเรียน และพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่สามารถขยายขอบเขตการเรียนรู้ได้

สิ่งที่นักการศึกษาและผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกพากันออกมาเรียกร้องในขณะนี้ก็คือ การผลักดันสังคมให้บรรลุถึงระดับที่สามารถ “พัฒนาได้อย่างรวดเร็ว”

โวล์ฟกัง ลุตซ์ (Wolfgang Lutz) และ คลอเดีย ไรเตอร์ (Claudia Reiter) แห่งศูนย์วิตเกนสไตน์เพื่อประชากรศาสตร์และทรัพยากรมนุษย์ ได้จำลองภาพแนวโน้มประชากรโลกในปี 2050 ภายใต้เงื่อนไขสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันตามฐานข้อมูลทรัพยากรมนุษย์  พบว่า ภายใต้สถานการณ์ที่การพัฒนาหยุดชะงัก เกิดขึ้นเพราะมีการจำกัดการลงทุนในการศึกษาและสุขภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่ยากจนที่สุดของโลกและเป็นพื้นที่ที่มีการอพยพลี้ภัยในระดับสูง จะทำให้มีประชากรโลกด้อยคุณภาพไร้การศึกษามากถึง 10,000 ล้านคนในปี 2050

ในสถานการณ์ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ที่ประเทศส่วนใหญ่สามารถพัฒนาได้ทันตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goal) ซึ่งรวมถึงการศึกษาและสุขภาพในปี 2030 สัดส่วนของประชากรในปี 2050 จะมีอยู่ประมาณ 8,600 ล้านคน หรืออาจมากกว่านั้น โดยเด็กและเยาวชนในพื้นที่ส่วนนี้จะมีการศึกษาที่ดี และมีการเตรียมตัวพร้อมรับมือกับความท้าทายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงนั้นได้อย่างดี ถือเป็นอีกโลกที่แตกต่าง เพราะมีโอกาสที่ดีกว่าสำหรับคนในพื้นที่นี้

คำถามที่ตามมาก็คือ  ทำอย่างไรอนาคตของประเทศจึงจะบรรลุถึงสถานการณ์ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว? 

โธมัสได้อ้างอิงรายงานฉบับล่าสุดของศูนย์วิตเกนสไตน์ ภายใต้ความร่วมมือกับมูลนิธิรางวัล Yidan ซึ่งได้สรุปประมวลคำแนะนำที่จะช่วยให้นานาประเทศสามารถวางรากฐานเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็วในอนาคตได้

  1. ตระหนักว่าการศึกษาเริ่มต้นก่อนที่จะเข้าโรงเรียน ซึ่งหมายถึงการให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตั้งแต่ช่วงปฐมวัย โดยประสบการณ์การเรียนรู้ตั้งแต่เด็กจะฝังรากลึกและมีผลต่อการพัฒนาร่างกาย จิตใจ และสติปัญญาของเด็กในระยะยาว

2. จัดทำระบบการศึกษาเพื่อทุกคนอย่างน้อยเป็นเวลา 10-12 ปี หมายความว่า ให้ทุกคนได้มีโอกาสเรียนหนังสือให้ได้มากกว่าระดับประถมศึกษาที่มีอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากระดับความรู้ดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะฉุดพ้นจากความยากจนได้

3. ว่าจ้างครูที่มีทักษะความรู้ให้มากขึ้น ไม่มีปัจจัยใดที่จะเพิ่มความสำเร็จของการเรียนของเด็กนักเรียนได้ดีกว่าการที่มีครูที่ดี มีแรงจูงใจ และให้แรงบันดาลใจแก่เด็ก

4. ให้ความสำคัญกับการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี ที่สามารถช่วยครูผู้สอนในการถ่ายทอดส่งผ่านการศึกษาที่ดีและฟรี หรือราคาไม่แพง ส่งตรงถึงทุกส่วนพื้นที่บนโลก แม้แต่พื้นที่ชนบทห่างไกล

5. ส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตระหนักว่าการศึกษาไม่ใช่แค่สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเรียนหรือฝึกงานเท่านั้น แต่การศึกษาเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่จะช่วยให้คนสามารถมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีจิตใจที่เข้มแข็ง มีสติปัญญาที่แจ่มชัด และมีอารมณ์ที่เบิกบาน ส่งผลทำให้มีอายุที่ยืนยาวขึ้น

ทั้งนี้ โธมัสสรุปทิ้งท้ายว่า ภายใต้โลกที่ซับซ้อนและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องรวดเร็ว การศึกษาในอนาคต หรือยุคถัดไป ไม่ว่าจะอยู่ในมุมไหนของโลก เป็นสิ่งที่คนทุกคนจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญ และทุกคนควรให้การสนับสนุนการศึกษาประหนึ่งว่าชีวิตเราต้องพึ่งพาการศึกษาเพื่อเป็นกุญแจไขสู่การมีชีวิตที่ดี

ที่มา : How can education be the antidote to a world prone to fracture along environmental, social, and economic fault lines?