‘เชื่อมรอยต่อการศึกษา ดึงกลับสู่ความหวังอีกครั้ง’ จาก ‘ใจ’ ครูผู้อยู่เบื้องหลังทุน ‘ลมหายใจเพื่อน้อง’

‘เชื่อมรอยต่อการศึกษา ดึงกลับสู่ความหวังอีกครั้ง’ จาก ‘ใจ’ ครูผู้อยู่เบื้องหลังทุน ‘ลมหายใจเพื่อน้อง’

วิกฤตโควิด-19 ได้เผยให้เห็นรอยร้าวของความเหลื่อมล้ำ ที่กัดกร่อนลึกลงในสังคมไทย โดยเฉพาะในด้านการศึกษา เมื่อปัญหาการขาดรายได้ การว่างงานของพ่อแม่ผู้ปกครอง ความยากจนเฉียบพลันที่หลายครอบครัวต้องประสบ ทำให้มีเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษามากถึง 238,000 คน ระหว่างปีการศึกษา 2563 – 2564 ซึ่งจากการสำรวจพบว่ากลุ่มที่หลุดจากระบบมากที่สุด คือเด็กที่ต้องข้ามผ่าน ‘ช่วงชั้นรอยต่อ’ การศึกษาจาก ป.6 ขึ้น ม.1 และ จบ ม.3 ขึ้น ม.4 เนื่องจากต้องย้ายไปยังโรงเรียนที่ไกลกว่า ทั้งยังต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

เพื่อประคองน้อง ๆ ให้ไปต่อได้ กสศ. ได้จับมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เดินหน้าค้นหา ติดตาม ‘พาน้องกลับมาเรียน’ และหนึ่งในมือนั้นคือการสนับสนุนจาก ปตท. ในโครงการ ‘ลมหายใจเพื่อน้อง’ มอบทุนที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษา อาทิ ค่าเล่าเรียน ค่าเดินทาง ค่าครองชีพ ชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนต่าง ๆ

ทุนนี้ ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานกับโรงเรียน 17,432 แห่งใน 4 สังกัด ได้แก่ สพฐ. ตชด. อปท. และ สช. ในการสำรวจสถานะนักเรียน ‘ทุนเสมอภาค’ กสศ. ราว 100,000 คน ที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบเพราะต้องเปลี่ยนผ่านช่วงชั้น ในช่วงเปิดเทอมการศึกษาแรกปี 2565

ด้วยข้อมูลเชิงลึกจากครูในพื้นที่ ที่ดูแลน้อง ๆ อย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปีการศึกษา ทำให้ กสศ. และ ปตท. สามารถพบเด็กกลุ่มเสี่ยง และนำไปสู่การจัดสรรเงินทุน 151 ล้านบาท ให้กระจายลงไปถึงมือของเด็ก ๆ อย่างทันท่วงที ถูกคน และตรงกับเป้าหมายโครงการ คือช่วยให้น้อง ๆ กลุ่มนี้ไปต่อในระบบการศึกษาได้

กว่าเรื่องราวจะเดินมาถึงตรงนี้ เรามีภาพสะท้อนผ่านมุมมองของคุณครู ผู้อยู่เบื้องหลังการประสานเชื่อมทุนไปถึงเด็ก ว่าพวกเขาได้พบเห็นอะไรตรงหน้างาน

ทุกคนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าไม่มีทุนเข้าไปช่วยต่อลมหายใจให้น้อง ๆ ไม่เพียงเส้นทางการศึกษาเท่านั้นที่จะจบลง แต่ยังอาจหมายถึงชีวิตเด็กและครอบครัวของเขา ที่ไม่อาจฟื้นยืนด้วยกำลังของตัวเองได้ ในท่ามกลางผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งจะยังเป็นโจทย์ท้าทายในแวดวงการศึกษาไปอีกยาวนาน

โรงเรียนไกลขึ้น ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มตามกัน

“เด็กที่ขาดโอกาสเขาเสี่ยงหายจากระบบได้ตลอด ปัญหาคือเราไม่มีโรงเรียนมัธยมใกล้เคียง อยากเรียนต้องไปนอกหมู่บ้าน ทีนี้พอจบ ป.6 ต้องไปต่อโรงเรียนใหม่ การเดินทางเปลี่ยน ทางไกลขึ้น ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นตามกัน หลายบ้านที่ไม่ไหวเขาก็ถอดใจไม่ส่งลูกเรียนต่อแล้ว”   

ครูนงลักษณ์ งามใจ โรงเรียนบ้านหนองขาม (ทองงามวิทยา) อ.คอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ ผู้มีส่วนช่วยให้นักเรียนได้รับทุนลมหายใจเพื่อน้อง 4 คน เล่าถึงปัจจัยที่ทำให้เด็กเสี่ยงหลุดจากระบบ

“ครอบครัวเด็กกลุ่มนี้ทั้งหมดคือทำไร่ทำนา รับจ้างทั่วไป ลำพังอาหารการกินเขาก็ไม่พร้อมอยู่แล้ว พอต้องลงทุนกับการศึกษามันก็เหมือนเป็นสิ่งที่เกินเอื้อม เพราะโดยปกติขนาดเรียนในหมู่บ้าน น้องยังขาดเรียนบ่อยเพื่อไปช่วยที่บ้านทำงาน ครูก็คอยตามกัน ยิ่งโรงเรียนปิดช่วงโควิดยิ่งไปหาบ่อย ทำเท่าที่ทำได้ อย่างรุ่นก่อนมีเด็ก ป.6 ทั้งหมด 21 คน ก็ดันกันจนจบได้ทุกคน

“แต่เรารู้ว่ามีคนที่จบไปแล้วถ้าไม่ช่วยต่อ เขาไม่ได้เรียนต่อแน่นอน หรือในอีกทางคือถึงไปต่อได้ก็อาจไม่ตลอดรอดฝั่ง ดังนั้นข้อมูลที่เราตามเก็บตลอดสามปีการศึกษาจึงสำคัญมาก ทั้งจากการเยี่ยมบ้าน การมาโรงเรียน ผลการเรียน ทำให้สามารถดูได้เลยว่าใครคือคนที่ขาดที่สุด จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือด่วนที่สุด กลายเป็นระบบที่มาช่วยจัดสรรให้เราเจอตัวจริง ซึ่งพอวันนี้เราส่งเขาไปต่อได้แล้ว ก็จะมีอีกรุ่นขึ้นมาให้ดูแลกันต่อไป”         ครูนงลักษณ์ กล่าวว่า ทุนการศึกษาหรือความช่วยเหลืออื่น ๆ ที่เข้ามา ถือว่าสำคัญมาก แม้ตอนนี้ที่ทำได้คือช่วยคนที่เสี่ยงที่สุดก่อน แต่ในความเป็นจริงของโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล เมื่อถึงช่วงชั้นรอยต่อ เด็กทุกคนต้องใช้เงิน ถ้ามีทุนสนับสนุนมากขึ้น คิดว่าจะเป็นหลักประกันช่วยเด็กอีกหลายคนไม่ให้หลุดไปกลางทางได้จริง ๆ

เพียงเงินก้อนเล็ก ๆ ของใครบางคน แต่สำหรับพวกเขาคือโอกาส ปากท้อง และความหวัง

ครูอัญชลี กอมสิน โรงเรียนบ้านโคกใหญ่ อ.ท่าลี่ จ.เลย ซึ่งมีน้องได้รับทุน 5 คน กล่าวว่า เด็กในพื้นที่ส่วนหนึ่งผู้ปกครองไปทำงานที่อื่น อีกส่วนพ่อแม่แยกทางกัน ทิ้งเด็กไว้กับปู่ย่าตายาย ที่อาชีพหลักคือทำไร่หรือขายลอตเตอรี่ จึงไม่มีอะไรแน่นอนเลย

“ยิ่งสถานการณ์โควิด-19 ที่นี่หนักมาก ชีวิตผกผันไปใหญ่ เด็กต้องหยุดเรียนกันยาว ผู้ปกครองหาเงินแทบไม่ได้เลยเกือบสองปี จะกินแต่ละวันยังยาก ไม่ต้องพูดถึงว่าจบแล้วจะเรียนต่อยังไง”

คุณครูบอกว่าสิ่งเดียวที่ทำได้คือพยายามติดตามเด็กกลุ่มเสี่ยงใกล้ชิด ลงเยี่ยมบ้านวันเว้นวัน เพื่อให้น้องไม่ขาดการสื่อสาร ไม่ห่างการเรียนรู้ และพยายามประสานทุนให้ลงไปถึงคนที่ขาดแคลนที่สุด

“เด็กที่จบ ป.6 ของเรามี 14 คน ได้ไปต่อหมด ต้องบอกว่า ‘ทุน’ ช่วยได้เยอะค่ะ เราเองเป็นครูแอดมิน เป็นคนลงระบบต่าง ๆ เรารู้ว่าช่วงโควิดมีหลายบ้านที่ผู้ปกครองตกงานกลับมาอยู่บ้าน พอรู้ว่าลูกหลานได้ทุนเขาก็ดีใจกันมาก เหมือนเป็นแสงสว่างของครอบครัวเขา ว่าอย่างน้อยน้องจะได้เรียนต่อ แล้วยังช่วยเรื่องชีวิตความเป็นอยู่เขาได้อีกด้วย“ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจ ดีใจค่ะที่ได้มีส่วนช่วยตรงนี้ คือเงินก้อนนี้สำหรับบางคนอาจคิดว่าเป็นก้อนเล็ก ๆ แต่สำหรับเด็กกลุ่มนี้ พูดได้ว่าเป็นการต่อลมหายใจให้พวกเขาจริง ๆ ทั้งเรื่องชีวิตและการศึกษา มันทำให้ความเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบลดลง เด็กไม่ต้องหยุดเรียนไปทำงาน เติมเต็มปากท้อง และดึงพวกเขาให้กลับมามีความหวังอีกครั้ง”

‘ต้นทุนอาหารกลางวัน’ อีกหนึ่งรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นของเด็กมัธยม 

ครูพิเชษฐ์ชัย เสาหล่อน โรงเรียนบ้านห้วยฮวก อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น ที่มีน้อง ๆ ได้ทุน 4 คน กล่าวว่า การลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเก็บข้อมูลน้อง ๆ ทำให้เห็นว่าบ้านหลังหนึ่งนั้นมีสมาชิกค่อนข้างแออัด ทั้งปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา รวมถึงตัวเด็กเองและลูกพี่ลูกน้องอีกจำนวนหนึ่ง ฉะนั้นรายได้จากการรับจ้างรายวัน จึงต้องเฉลี่ยเป็นค่ากินอยู่ของทุกคน ซึ่งแน่นอนว่าไม่เพียงพอที่จะทำให้เด็กทั้งบ้านเรียนหนังสือได้ตลอดรอดฝั่ง

“มีหลายบ้านที่ตั้งแต่วิกฤติโควิดเข้ามา เด็กต้องไปช่วยทำงานรับจ้างตามร้านค้า พอโรงเรียนเปิดกลับมาเรียนแล้ว เขาก็ยังต้องทำงานอยู่ โดยสำหรับเด็กกลุ่มเสี่ยงครูได้ติดตามใกล้ชิด ข้อดีคือเด็กเรามีผลการเรียนดี อยากเรียน ขยัน เพียงแต่เขาขาดโอกาส

“ทุนลมหายใจเพื่อน้องถือว่ามาถูกจังหวะ แบ่งเบาภาระครอบครัวเด็กได้มาก คือถึงเราส่งเด็กที่จบ ป.6 ปีก่อนขึ้นมัธยมได้หมด แต่พอข้ามช่วงชั้นไปแล้ว โรงเรียนไกลขึ้น เขาต้องเสียเงินค่ารถโดยสาร ไหนจะค่าอาหารที่ต้องซื้อกินเอง ไม่มีให้เหมือนตอนประถมแล้ว ปัจจัยพวกนี้ผมมองว่าคือความเสี่ยงทั้งหมดที่เด็กจะต้องเจอไปตลอดจนกว่าจะจบ ม.3”

‘ระบบดูแลช่วยเหลือ’ ที่เกิดจากการติดตามข้อมูลต่อเนื่อง

ครูณัฐธิดาวรรณ ทิพฤาตรี โรงเรียนบ้านห้วยเสือเต้น อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ผู้อยู่เบื้องหลังการรับทุนของน้อง ๆ 7 คน กล่าวว่า เด็กในพื้นที่เกือบทั้งหมดเมื่อขึ้นมัธยมก็ต้องอาศัยรถรับส่ง ถือเป็นค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่สูง ถ้าไม่มีทุนเข้ามาช่วย โอกาสที่เด็กจะออกกลางคันมีสูงมาก แล้วเงินนี้ยังไปช่วยเด็กในส่วนอื่น ๆ ไม่ว่าจะชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน จนถึงค่ากินอยู่ประจำวัน ทั้งนี้การมีระบบข้อมูลจาก กสศ. ซึ่งติดตามเด็กในหลายด้าน ทำให้ครูได้เห็นความต่อเนื่อง รู้ความเสี่ยง สามารถดูแลช่วยเหลือเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ และใช้ประสานงานกับหลายฝ่ายจนส่งต่อโอกาสให้เด็กกลุ่มเสี่ยงได้ครบทุกคน