‘ดนตรี’ ช่วยก้าวข้ามรอยต่อการศึกษา และ ‘เชิดสิงโต’ พาพ้นด้านมืดของชีวิต
2 เรื่องเล่าจาก ‘พื้นที่เรียนรู้ชุมชน’ ตาน้ำแห่งแรงบันดาลใจ ให้น้องๆ เดินต่อไปบนเส้นทาง (การศึกษา)

‘ดนตรี’ ช่วยก้าวข้ามรอยต่อการศึกษา และ ‘เชิดสิงโต’ พาพ้นด้านมืดของชีวิต

ถอดบทเรียนการสร้างเครือข่ายชุมชน ผลักดัน ‘พื้นที่เรียนรู้สร้างสรรค์’ ผ่านประสบการณ์การทำงานของกลุ่ม ‘บางกอกนี้ดีจัง’ บนความเชื่อที่ว่าพื้นที่สาธารณะที่มีชีวิต คือแหล่งเรียนรู้ที่พ้นจากห้องสี่เหลี่ยมในโรงเรียน คือที่พบปะแลกเปลี่ยนและพักผ่อนจิตใจ เป็นที่ค้นพบและหล่อหลอมพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ และเป็นดั่ง ‘ตาน้ำแห่งแรงบันดาลใจ’ ที่ไม่มีวันแห้งเหือด ของเด็กเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา

โดยจากการทำงานที่ผ่านมา พื้นที่เล็กๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนเหล่านี้ ได้ช่วยนำทางให้น้องๆ จำนวนหนึ่งสามารถไปต่อได้บนเส้นทางการเรียนรู้อย่างไม่มีวันสิ้นสุด สำหรับบางคนนั้น การได้เข้ามาอยู่ในพื้นที่เรียนรู้ชุมชน นับว่าเป็นจุดหักเหสำคัญที่ช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิต จากไม่รู้ทางไป จนกลับมองเห็นเส้นทางอนาคตได้อีกครั้ง

เรื่องราวที่นำมาเล่านี้ คือกรณีน่าสนใจจากน้องๆ สองคน ที่เข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่ม ‘บางกอกนี้ดีจัง’ คนละไม่น้อยกว่า 5 ปี และใช้พื้นที่กับโอกาสที่ได้รับในการค้นหาตัวตน จนพบ และวันนี้ ทั้งคู่ก็กำลังทุ่มเทสุดกำลัง เพื่อเดินตามฝันของตนต่อไป

เคส 1: ‘ดนตรีเปลี่ยนชีวิต’

‘น้องบุ๊ค’ ปัจจุบัน อายุ 18 ปี เรียนชั้น ปวส.1 สาขาเทคนิคควบคุมและซ่อมบำรุงระบบขนส่งทางราง ก่อนจะถึงวันนี้ ในช่วงวัยมัธยม บุ๊คเคยเป็นเด็กที่ไม่สนใจอะไรเลย ไม่ชอบเรียนหนังสือ ติดเกม ชอบแต่งรถมอเตอร์ไซค์ตามเพื่อน แต่นั่นเป็นเพราะว่าบุ๊คไม่เคยรู้เลยว่าจริงๆ แล้วเขา ‘ชอบ’ หรือ ‘สนใจ’ อะไร         

“ช่วงติดเกมหนักๆ เขาเติมเกมทีเป็นเงินหลักหมื่น ไม่ไปโรงเรียนเลย เรียกว่าอีกนิดเดียวก็จะหลุดออกมาจากระบบแล้ว” คณะทำงานบางกอกนี้ดีจังเล่าถึงช่วงเวลาที่สุ่มเสี่ยงที่สุดของบุ๊ค

“กรณีน้องบุ๊ค เรามองว่าเขาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อให้เรียนรู้ ครอบครัวทำงานไม่มีเวลาใกล้ชิด เด็กอยู่บ้านกับมือถือ นั่งหน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวัน พอไปโรงเรียนก็เจอแต่สังคมเพื่อนที่ชวนทำอะไรตามๆ กัน แล้วตัวน้องเองไม่ถนัดเรียนวิชาการอยู่แล้ว พอไม่สนใจเรียน ไม่ไปโรงเรียน ผลการเรียนก็ยิ่งตกต่ำ มันทำให้เขาหมดใจที่จะเรียน แล้วก็ไหลไปตามปัจจัยเสี่ยงรอบตัว สุดท้ายก็ติดเกม ติดเพื่อน”

จุดเปลี่ยนสำคัญของบุ๊ค คือวันที่น้องมาเจอกลุ่มบางกอกนี้ดีจัง เริ่มจากถูกชวนมาลองเป็นอาสาสมัครทำงานจิปาถะ จากนั้นบุ๊คจึงค่อยๆ วางเกมลง แล้วเริ่มออกเดินทางร่วมกับกลุ่มไปจัดกิจกรรมในหลากหลายพื้นที่

“เขาได้ไปเจอเพื่อนที่โคราช เพชรบุรี ไปเจอนักดนตรีที่ชื่นชอบ ทีนี้พอได้พูดคุยคลุกคลีกับคนเหล่านั้น เขาก็เกิดอยากเล่นดนตรีขึ้นมาบ้าง อยากจะเป็นแบบไอดอลของเขา”

นับจากนั้น บุ๊คก็ขอเป็นอาสาสมัครติดตามกลุ่มไปในที่ต่างๆ เก็บสะสมเพื่อนมากขึ้น โดยเฉพาะเพื่อนที่มีความสนใจด้านดนตรีเหมือนๆ กัน แล้วแค่การพูดคุยก็เริ่มกลายเป็นการรวมกลุ่มเล่นดนตรี หาเวลาว่างฝึกซ้อมด้วยกัน

พอเห็นว่าบุ๊คเจอกิจกรรมที่ชอบ บางกอกนี้ดีจังก็ส่งเสริมเต็มที่ ทั้งแนะนำให้รู้จักคนที่น่าสนใจ และพาไปดูการแสดงดนตรีตามงานต่างๆ จนน้องเลิกขาดจากการเล่นเกม หันมาสะสมเงินแล้วนำไปซื้อกีต้าร์ได้หนึ่งตัว ถึงตรงนั้น บุ๊คที่เคยติดเกมอย่างหนัก ก็เปลี่ยนเป็นเด็กหนุ่มที่ฝักใฝ่ฝึกฝนกีต้าร์ ผ่านการพูดคุยกับเพื่อนๆ พี่ๆ นักดนตรี ผ่านการศึกษาด้วยตัวเองในช่องยูทิวป์ จนฝีมือเริ่มพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ

“เมื่อเห็นว่าเขาพร้อมแล้ว ทางกลุ่มก็อยากให้เขาได้แสดงพลัง เริ่มจากกิจกรรมเล็กๆ ที่บางกอกนี้ดีจังจัด ให้เขาได้เล่นในงานเทศกาลชุมชน หรือลานในตลาด เสริมความมั่นใจให้เขา แล้วน้องก็รวมกลุ่มกับเพื่อนตั้งวงเล่นประจำ พยายามเก็บตุนประสบการณ์ให้มากขึ้น”

ณ วันนี้ บุ๊คยังคงทำงานอาสาสมัครกับบางกอกนี้ดีจัง เพิ่มเติมคือมี ‘ดนตรี’ คอยนำทางชีวิต เพราะการเล่นดนตรีนี้เองที่ทำให้บุ๊ครู้จักกับเพื่อนร่วมวงที่คอยชักชวนกันติวหนังสือ ผลักดันให้เขากลับไปตั้งใจเรียน จนจบชั้นมัธยมและตัดสินใจเรียนต่อสายอาชีพที่สถาบันเดียวกันกับเพื่อน เพื่อจะได้มีเวลาซ้อมกันบ่อยๆ และช่วยพยุงกันให้ผ่านเส้นทางการศึกษาถึงวันเรียนจบ

เคส 2: ‘เชิดสิงโตพาพ้นด้านมืดของชีวิต’

‘น้องม็อบ’ เยาวชนนอกระบบการศึกษาวัย 21 ปี ที่วันนี้เป็นพลังให้กับน้องๆ ในชุมชน ในฐานะแกนนำกิจกรรม ‘เชิดสิงโต’ ซึ่งเขาเป็นผู้ร่วมฟื้นฟูจากช่วงเวลาซบเซาจนกลับมีชีวิตชีวา และได้ออกแสดงทั้งในบริเวณพื้นที่ชุมชนของตัวเอง รวมถึงรับงานนอกสถานที่ เกิดเป็นรายได้ให้เยาวชนกลุ่มนี้มีกินมีใช้เลี้ยงดูตัวเองได้

บางกอกนี้ดีจังเล่าเรื่องราวของม็อบว่า น้องมาจากครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและการพนัน เติบโตขึ้นในบ้านที่เป็นบ่อนประจำชุมชน ส่วนตัวน้องเองเคยถูกใช้เป็นเครื่องมือในการส่งยาด้วย        

“การที่เขาต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมดังกล่าว ทุกวันมีแต่คนแปลกหน้าเวียนมาที่บ้าน มันเหมือนเขาอยู่ใจกลางของความสุ่มเสี่ยง แทบไม่มีทางเลยที่จะได้สัมผัสคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งยังไม่ได้พักผ่อนตามเวลา ไม่ได้กินครบมื้อ ไม่มีโอกาสเรียนหนังสือ สิ่งที่ เราทำได้คืออยากให้เขามีโอกาสได้เรียนรู้ ได้แสดงออก ได้มีสังคมอื่นๆ หรือได้ใช้ศักยภาพของตัวเอง”

เมื่อบางกอกนี้ดีจังได้สื่อสารกับม็อบ ผ่านการแนะนำของผู้นำชุมชน และได้รู้ว่าน้องเองก็อยากพาตัวเองออกจากตรงนั้น แต่ไม่เคยเจอพื้นที่รองรับ การเข้าร่วมกลุ่มบางกอกนี้ดีจัง จึงเป็นแสงสว่างเดียวที่ส่องสาดมาถึงเขา ม็อบตัดสินใจทันทีที่จะเข้ามาทำกิจกรรมกับกลุ่ม

“เราให้สิทธิในการเลือกกับเขา ว่าสนใจหรืออยากมีบทบาทกับพวกเราเรื่องอะไร ค่อยๆ ลองไปทีละอย่าง จนพอเห็นศักยภาพ แล้วจึงดึงออกมาใช้ ปรากฏว่าน้องเลือกเข้าไปทำกลุ่มสิงโตเด็ก ที่ทางกลุ่มเข้าไปฟื้นกิจกรรมเชิดสิงโตคณะเก่าแก่ในชุมชน ซึ่งวันนี้เขาเลิกทำกันไปแล้ว ตัวม็อบเล่าว่าเขาเห็นคณะนี้ตั้งแต่เด็ก เคยใฝ่ฝันว่าอยากเข้าร่วม อยากลองแสดง เราเลยให้โอกาส ก็ร่วมกับผู้นำชุมชนหาเครื่องมืออุปกรณ์ไปให้ ผลักดันให้เขาเป็นคนนำตั้งกลุ่มขึ้นมา ในเวลาไม่นาน ด้วยความเอาจริงเอาจัง ม็อบก็ค่อยๆ พากลุ่มออกแสดงเป็นที่รู้จัก ทำรายได้ให้กับตัวเองและเพื่อนๆ น้องๆ ในกลุ่มได้สม่ำเสมอ”

ไม่เพียงเท่านั้น กลุ่มบางกอกนี้ดีจังยังได้เติมเรื่องกระบวนการคิด ทักษะชีวิต และทักษะสังคม เพื่อหล่อหลอมม็อบให้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน สามารถทำงานร่วมกับอาสาสมัครกลุ่มอื่นได้เป็นอย่างดี

“เหล่านี้คือการทำงานทางความคิด ที่จะทำให้เขาเห็นว่าเราทุกคนต่างอยู่ในสภาวะยากลำบากเหมือนกัน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่แม้จะมีอุปสรรคสักเท่าไหร่ ทุกคนก็ยังมีหัวใจที่จะทำเพื่อให้ตัวเองและคนอื่นดีขึ้นได้ ซึ่งเป็นแง่มุมที่ทำให้เขาค้นพบว่าเขามีพลัง และคนทุกคนต่างก็มีพลัง”

คณะสิงโตเด็กบางกอกนี้ดีจังนี้เอง ที่เพิ่งรับหน้าที่เปิดงาน ‘บางกอกกำลังดี …ที่ฝั่งธน’ ที่ กสศ. สสส. กทม. ภาคเอกชน และเครือข่ายทำงานเกี่ยวกับเด็กเยาวชนในกรุงเทพมหานคร ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อผลักดันพื้นที่เรียนรู้เพื่อเด็กและเยาวชนในกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะนำร่องใน 12 เขต เวียนจัดทุกวันอาทิตย์ ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป

และนี่คือเรื่องเล่าจากบทเรียนการทำงานของกลุ่มบางกอกนี้ดีจัง ที่ทำให้เห็นว่า ‘พื้นที่เรียนรู้ชุมชน’ คือสถานที่แสดงพลังของเด็กเยาวชนทั้งในและนอกระบบ โดยแม้น้องๆ เหล่านี้จะไม่มีความพร้อมในด้านต่างๆ หลายคนต้องหลุดจากระบบการศึกษา หลายคนเสี่ยงหลุดจากระบบกลางทาง ไม่ว่าจะด้วยครอบครัวไม่พร้อมหรือขาดโอกาสในด้านใดก็ตาม แต่เมื่อเขาได้พบพื้นที่ให้สื่อสาร ให้แสดงออก เขาจะได้ค้นพบตัวเองและได้รับความภาคภูมิใจ อันจะช่วยต่อเติมจนเป็นบ่อเกิดของความมุ่งมั่น ในการพัฒนาตัวเอง …อยากทำเพื่อตัวเอง อยากทำเพื่อคนอื่น และอยากส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนรุ่นต่อไป