“ดึงน้องกลับห้องเรียนที่บ้านห้วยปูลิง”

“ดึงน้องกลับห้องเรียนที่บ้านห้วยปูลิง”

ตามไปดูมาตรการปกป้องเด็กหลุดระบบการศึกษาก่อนเผชิญจุดเสี่ยงด้วยกลไกของโรงเรียนบ้านห้วยปูลิง จ.เชียงใหม่ ใช้บูรณาการฐานสมรรถนะ-จิตศึกษา ช่วยเด็กๆ ที่ความรู้ถดถอยปรับตัวสู่ห้องเรียน

การที่เด็กคนหนึ่งต้องหลุดออกไปจากระบบการศึกษาไม่เพียงแค่ทำให้ตัวเขาต้องเสียโอกาสการเรียนรู้เท่านั้น​​แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้พวกเขาก้าวเข้าไปสู่วงจรอุบาทว์ ทั้งยาเสพติด อาชญากรรม ต่อไปได้​ ดังนั้น การสกัดไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษาในช่วงนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องร่วมไม้ร่วมมือกันทุกฝ่ายอย่างจริงจัง

โรงเรียนบ้านห้วยปูลิง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอีกโรงเรียนที่เอาจริงเอาจัง​ตั้งแต่การจัดการเรียนการสอน ที่มุ่งเน้นสร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้จะต้องปิดเรียนมานานหลายเดือน​อีกด้านหนึ่งยังคอยติดตามอย่างใกล้ชิดไม่ให้เด็กหลุดหายไปในช่วงล็อคดาวน์

ทำทุกวิถีทางสร้างการเรียนรู้ในพื้นที่ช่วงล็อกดาวน์

พวงชมพู เฮ็งประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยปูลิง เล่าให้ฟังว่า แม้จะต้องปิดเรียนตั้งแต่เดือน พ.ย.ปีที่ผ่านมา และเพิ่งจะกลับมาเปิดเรียนออนไซต์ได้ตามปกติอีกครั้งได้ช่วงกลางเดือน ม.ค.ปีนี้ แต่ทางโรงเรียนได้พยายามทุกวิถีทางเพื่อทำให้ให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง  ไม่ว่าจะเป็นการใช้ใบงานไปส่งให้นักเรียนถึงที่บ้าน แต่ด้วยการเดินทางในพื้นที่เขาสูงทำได้ลำบาก ทำให้ไม่อาจทำตามแผนเดิมที่ตั้งใจจะส่งให้สัปดาห์ละครั้ง โดยปรับตามความเหมาะสมของพื้นที่

“ในส่วนของเด็กเล็กช่วงแรก ๆ ครูจะใช้วิธีรวมเด็กที่อยู่ใกล้กันมาสอนตามหย่อมบ้านช่วงที่ลงไปแจกใบงาน จนเริ่มระบาดรุนแรงก็เหลือแค่ไปแจกใบงานอย่างเดียว​ช่วงแรกจะมีความขลุกขลักอยู่มาก เด็กบางคนบ้านอยู่ไกลเดินทางลำบากครูก็จะไปส่งใบงานให้ทำได้ยาว ๆ ส่วนบางพื้นที่ใกล้ ๆ ตอนแรกยังเข้าไปแจกใบงานสอนการบ้านได้ แต่พอช่วงระบาดหนักมีมาตรการเฝ้าระวังเข้มข้นครูก็เข้าไปในพื้นที่ไม่ได้ ทำให้การเรียนรู้ไม่สม่ำเสมอ ที่สำคัญคือผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่สามารถสอนลูกหลานของตัวเองได้ยิ่งทำให้สถานการณ์ลำบากขึ้น”​

วิเคราะห์ 3 สาเหตุหลักพาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา

อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้ช่วงนี้ทางโรงเรียนเริ่มกลับมาเปิดสอนปกติ เด็กส่วนใหญ่กลับมาเรียนปกติมีแค่รายเดียวที่ยังไม่กลับมา ทางคุณครูได้ลงพื้นที่ไปสำรวจพบว่าเป็นเด็กบ้านไกล ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เริ่มหายไปช่วงโควิดตอนนี้พยายามติดตามกลับมา ก่อนหน้านี้มีบางคนที่หายไปช่วงโควิดแต่ก็ตามกลับมาได้เหลือเพียงแค่คนเดียว สาเหตุที่หายไปจากระบบช่วงแรกส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ปกครองไม่อยากให้มาเพราะกลัวติดโควิด สองอยู่บ้านนาน ๆ แล้วไม่อยากมาเรียน สามคือไปช่วยที่บ้านทำไร่ทำสวน

ครูประจำชั้นจะคอยมอนิเตอร์ว่าเด็กคนไหนหายไปและคอยติดตามให้กลับมาเรียน สาเหตุที่ต้องพยายามทำทุกวิธีเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษาเพราะจะทำให้พวกเขาเสี่ยงกับเรื่องยาเสพติด หากยังอยู่ในระบบการศึกษาก็ยังพอสอดส่องดูแลทั้งเรื่องการเรียน ความเป็นอยู่และเรื่องอื่น ๆ ไปด้วยกัน

ความรู้ถดถอย ปัญหาเร่งด่วนรอการแก้ไข

อีกด้านหนึ่งยังงพบว่าหลังเปิดเรียนมาได้สองสัปดาห์​เด็ก ๆ มีความเรื่องความรู้ถดถอยบ้างแต่ก็ดีกว่าที่คาดการณ์เพราะหายไปเกือบ 7 เดือน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะที่ผ่านมาโรงเรียนใช้รูปแบบการเรียนการสอนแบบบูรณาการฐานสมรรถนะ ใช้จิตศึกษาเข้ามาช่วยทำให้เด็กปรับตัวได้เร็ว มีความกระตือรือร้น มีสมาธิในการทำงาน ถามว่าเรื่องเนื้อหาสำคัญไหมเราก็มองว่าสำคัญ แต่เราได้จัดลำดับความสำคัญรองลงมาจากสมรรถนะที่เราอยากให้เด็กเกิด ถ้าเราเสริม ฝึกฝนเขาช่วงสองเดือนที่เหลือ ในเรื่องสมรรถนะ ทักษะที่จำเป็น เครื่องมือพวกนี้จะติดตัวไปช่วยให้เขาสามารถไปหาความรู้ด้วยตัวเองต่อไปได้

แนวคิดนี้มาจากบริบทของโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขาสูงซึ่งเด็ก 80% ไม่ได้เรียนต่อมหาวิทยาลัย  เรียนจบแล้วก็ทำงานในพื้นที่ ดังนั้นจะมีวิธีอย่างไรทำอย่างไรให้เขามีรายได้ มีความสุขในการใช้ชีวิต การเรียนจึงเน้นเรื่องฐานสมรรถนะ ซึ่งทำให้เขาที่อยู่บนดอยก็ยังสามารถสร้างรายได้ใช้ชีวิตมีความสุข อาจจะทำไร่ไถนาแต่ก็จะเป็นรูปแบบที่ยั่งยืนในพื้นที่

บูรณาการหน่วยการเรียนรู้​เน้น PBL สร้างสมรรถนะ

สำหรับการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่จะเริ่มจากการปรับตารางสอนใหม่เหลือแค่วิชาหลัก 3 วิชาคือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิชาที่เหลือจะเป็นบูรณาการรวมกันเป็นการเรียนรู้ที่ใช้ปัญหาเป็นฐาน (PBL) เรียนปีการศึกษาละ 4 หน่วยการเรียนรู้ โดยไม่เน้นแค่การเรียนในห้องเรียนตลอดเวลา แต่ให้ลงพื้นที่ไปสำรวจ ได้รู้จักการแก้ไขปัญหา เมื่อต่อไปเขาเจอปัญหาก็จะสามารถดึงทักษะที่ฝึกฝนมาแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้  ​

เรื่องเร่งด่วนเวลานี้การช่วยกันทำให้เด็กๆ กลับมามีพัฒนาการการเรียนรู้ที่ดีขึ้น  คุณครูที่เขาเริ่มปลุกปั้นเห็นการพัฒนาของเด็ก ๆ ตั้งแต่เริ่มปรับรูปแบบการเรียนการสอนที่ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่ดีขึ้น แต่ช่วงโควิดที่ผ่านมาต้องมาสะดุดเกิดการถดถอย ช่วงที่มา PLC กันทุกคนเห็นสภาพปัญหาที่ไม่ต่างกันและมาช่วยกันคิดว่าจะจะต้องทำให้กลับมาพัฒนาได้เหมือนเดิม