ภาคเอกชน-ประชาสังคมจับมือ กสศ. ผนึกกำลังผลักดัน “ALL FOR EDUCATION” สร้าง “หลักประกันโอกาสทางการศึกษา” ให้เด็กไทย

ภาคเอกชน-ประชาสังคมจับมือ กสศ. ผนึกกำลังผลักดัน “ALL FOR EDUCATION” สร้าง “หลักประกันโอกาสทางการศึกษา” ให้เด็กไทย

16 องค์กรภาคเอกชนและประชาสังคมร่วมประกาศเจตนารมณ์ของเครือข่าย “ALL FOR EDUCATION” ในงานแถลงข่าว “ALL FOR EDUCATION ร่วมสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา: รวมพลังฟื้นฟูประเทศไทย”

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย
กรรมการและเลขานุการมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

“การยกระดับคุณภาพชีวิตที่ กสศ. เป็นแกนกลางในการระดมความร่วมมือจากหลายองค์กรในครั้งนี้ ผมเชื่อว่าแต่ละองค์กรจะสามารถดึงความถนัดของตนเองในช่วยในแง่มุมต่างๆ ที่ทำให้การทำงานของ กสศ.ประสบความสำเร็จ สิ่งที่เราจะได้เห็นคือการเกิดกลไกและมาตรการระดับประเทศ ที่จะทำให้เด็กและเยาวชนได้รับการดูแล ซึ่งทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่เราสามารถใช้ในการพัฒนาประเทศในระยะยาวอย่างยั่งยืน”

ดร.วิทย์ สุนทรนันท์ 
รองประธานกรรมการมูลนิธิพุทธรักษา และมูลนิธิธนินท์ เทวี เจียรวนนท์

“การให้โอกาสทางการศึกษากับเด็กและเยาวชนที่ทางมูลนิธิให้ความสำคัญมาโดยตลอด นอกจากเยาวชนจะได้ยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัวแล้ว ยังสามารถเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคมได้อีกด้วย การร่วมกับมือ กสศ. ในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการขยายความช่วยเหลือของมูลนิธิให้กระจายสู่เด็กและเยาวชนได้อย่างเร่งด่วน ครอบคลุม และมีประสิทธิภาพ”

ทั้งนี้มูลนิธิพุทธรักษาและมูลนิธิธนินท์ เทวี เจียรวนนท์ พร้อมทำงานร่วมกับเครือข่ายภายใต้โครงการความร่วมมือนี้ เพื่อสร้างผลลัพธ์ทางสังคมที่เกิดผลทวีคูณ อันเป็นประโยชน์สูงสุดแก่เด็กๆ ต่อไป”

นางสาวโมนา ศิวรังสรรค์
ผู้อำนวยการมูลนิธิยุวพัฒน์

“การศึกษาเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตที่เปลี่ยนแปลงได้จริงๆ” นางสาวโมนา ศิวรังสรรค์  กล่าวถึงประสบการณ์การช่วยเหลือเด็กขาดโอกาสทางการศึกษามากว่า 20 ปี และชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการช่วยเหลือและสนับสนุนโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนที่ขาดโอกาส  โดยเฉพาะกลุ่มยากจนและเปราะบาง ซึ่งปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาที่สามารถแก้ได้ภายใน 10-20 ปี แต่เมื่อมีองค์กร กสศ. ก็จะช่วยให้ปัญหาของเด็กขาดโอกาสได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ทั้งนี้ ทางมูลนิธิมีความเชื่อว่า การศึกษาเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตที่เปลี่ยนแปลงได้จริงๆ ซึ่งเด็กที่ได้รับโอกาสหลายคนเป็นคนที่เห็นค่าโอกาสตรงนั้น และกลายมาเป็นคนที่มีคุณค่าต่อสังคม

ดร.สราวุธ ราชศรีเมือง
ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย

“จากการทำงานกับกลุ่มเด็กเปราะบางมาถึง 40 ปี จะเห็นว่าแม้ภาพรวมปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำจะดีขึ้น แต่ต้องยอมรับว่ามันยังคงมีอยู่ และด้วยสถานการณ์ที่มีอยู่ โดยเฉพาะโควิด-19 อาจจะทำให้ปัญหาที่มีอยู่หนักหนาขึ้น แต่การร่วมมือกันภายใต้โครงการนี้ก็เป็นนิมิตหมายที่ดี เนื่องด้วยการร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ รวมถึงมีการจัดระบบฐานข้อมูลที่ชัดเจน ชี้เป้าหมายการทำงานได้ตรงจุด จะทำให้การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และระดมความร่วมมือได้ดีมากยิ่งขึ้น”

นางสาวสุวิมล จิวาลักษณ์
กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี

“ด้วยปัญหาโควิด-19 ทำให้เด็กหลายคนกลายเป็นเด็กกำพร้าหรือยากจนฉับพลัน ทำให้หลายคนไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาต่อได้ ทางมูลนิธิได้ร่วมมือกับ กสศ. ในการให้ความสนับสนุนเด็กที่อยู่ในช่วงรอยต่อ ม.2-3 ประมาณ 100 ทุน เพื่อให้พวกเขาได้เรียนถึงชั้นระดับ ม.ปลาย ระดับอาชีพ หรือระดับปริญญาตรี ซึ่งทางมูลนิธิส่งเสริมให้เด็กๆ เลือกเรียนในสาขาที่ตรงตามความต้องการของตลาด และเน้นการเรียนเพื่ออยู่รอด สามารถดูแลตัวเองและครอบครัวได้”

“ในส่วนของการร่วมมือจากภาคเอกชน ประกอบไปด้วย เคพีเอ็มจี ประเทศไทย บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กลุ่มธุรกิจ TCP และบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด

นายเจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคพีเอ็มจีประเทศไทย

“เคพีเอ็มจีมีเป้าหมายในการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมให้ดีขึ้น โดยมุ่งเน้นสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ทุกคนสร้างศักยภาพของตนเอง และเชื่อว่าทุกภาคส่วนจะสามารถเติบโตไปพร้อมกันได้ หากได้รับการสนับสนุนอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะด้านการศึกษา ทางเคพีเอ็มจีตระหนักถึงความสำคัญของการได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพ เพราะเชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นพื้นฐานและต้นทุนสำคัญในการพัฒนาบุคลากรและนำไปสู่การสร้างสังคมที่ดีในอนาคต ”

“ความร่วมมือระหว่างเคพีเอ็มจีและ กสศ. ที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้เป็นการต่อยอดโครงการที่เคยทำร่วมกันมา โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการผนึกกำลังในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยสนับสนุนเด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษาให้สามารถเข้าถึงระบบการเรียนที่มีคุณภาพแล้ว ยังเป็นการสร้างแรงกระเพื่อมในสังคม ทำให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และต่อยอดออกไปสู่ทางการแก้ไขปัญหาต่อไป”

เคพีเอ็มจียังกล่าวถึงความมุ่งมั่นช่วยเหลือและสนับสนุนโครงการต่างๆ ของ กสศ. เพื่อสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษาให้กับเยาวชนชาวไทยผ่านโครงการหลากหลายที่เคยจัดมาแล้วและจะจัดต่อไปในอนาคต 

ดร.ทวีศักดิ์ บรรลือสินธุ์
กรรมการบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

เอสโซ่ร่วมกับ กสศ. เดินโครงการ ‘เอสโซ่ปันน้ำใจ พาน้องกลับห้องเรียน’ ใช้ฐานข้อมูล iSEE เพื่อเข้าถึงตัวเด็กยากจนและยากจนพิเศษ 

ดร.ทวีศักดิ์กล่าวสนับสนุนการใช้ระบบ iSEE จาก กสศ. ในการชี้เป้านักเรียนยากจนพิเศษ ซึ่งเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพในการหานักเรียนที่มีความต้องการความช่วยเหลือจากสังคม เน้นให้เด็กสามารถกลับมาเรียนหรือต่อยอดได้ด้วยตนเอง ทั้งยังติดตามผลเด็กที่ได้รับทุนอีกด้วย ทางเอสโซ่ก็ติดตามผลกับกองทุนอยู่เสมอ โดยเชื่อว่าจะพยายามทำอย่างดีที่สุดที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และสามารถเดินหน้าไปพร้อมๆ กัน ทั้งยังมั่นใจว่าทุนที่มอบให้ กสศ. จะสามารถนำไปบริหารจัดการต่อยอดได้มีประสิทธิภาพ 

“ทุกครั้งที่จัดกิจกรรม เรามีความประทับใจใน กสศ.เป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถจัดโครงการให้เด็กรู้สึกว่าถูกผู้ใหญ่ดูแล และสังคมภายในยังโอบอ้อมอารี มีความรัก ความห่วงใยเขาอยู่ ซึ่งตอนทำกิจกรรม เราจะขอพนักงานไปหลายร้อยคน ไปเล่นเกมกับเด็ก ทำกิจกรรมกับเด็ก และทำให้เขาไม่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง” 

ดร.ชาติชาย นรเศรษฐาภรณ์
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด

“การสร้างคนเก่ง คนดี คนมีน้ำใจ เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วน” ดร.ชาติชาย กล่าวถึงภาระของการสร้างบุคลากรให้เป็นคนเก่ง คนดี มีน้ำใจ ไม่ใช่ภาระของภาคใดภาคหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาชน ในการสร้างทรัพยากรที่มีคุณภาพ”

กลุ่มเซ็นทรัลให้ทุนการศึกษาภายใต้โครงการ ‘เซ็นทรัลทำ สานฝัน การศึกษา’ ซึ่งมีการลงพื้นที่ เปิดรับสมัครและสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกผู้ได้รับทุน แต่ในปัจจุบันด้วยความร่วมมือกับ กสศ. ทำให้สามารถมั่นใจได้ว่าทุนต่างๆ จะไปถึงกลุ่มเด็กยากจนและยากจนพิเศษอย่างแท้จริง 

ในปี 2562-2563 กลุ่มเซ็นทรัลได้ให้ทุนการศึกษากับผู้ด้อยโอกาสผ่าน กสศ. 174 ทุน และในปี 2564 เห็นว่าเด็กได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากขึ้น จึงขยายโอกาสเหล่านี้โดยการมอบทุนเพิ่มขึ้นเป็น 507 ทุน นอกจากนี้ยังร่วมมือกับ กสศ. จัดทำโครงการ ‘Million Gifts Million Smiles’ เพื่อช่วยเหลือน้องๆ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดไม่ต่ำกว่า 130 ทุน 

“สิ่งเหล่านี้คือเครื่องมือสำคัญที่เราเชื่อว่าการร่วมไม้ร่วมมือกันทุกภาคส่วน จะช่วยผลักดันให้เราสามารถเติมเต็มในส่วนที่สังคมเราขาด โดยเฉพาะความเสมอภาคทางการศึกษา กลุ่มเซ็นทรัลยินดีมอบทุนการศึกษาต่อเนื่อง ซึ่งไม่มีภาระผูกพันอย่างน้อย 3 ปี และเชื่อว่าในโอกาสต่อไปคงได้ร่วมมือกับ กสศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการขยายทุนให้ได้มากกว่านี้” 

“สิ่งที่สำคัญจากแถลงข่าวในวันนี้ กลุ่มเซ็นทรัลพร้อมที่จะเป็นผีเสื้ออีกตัวหนึ่งที่จะโบยบินและแบ่งปันทุนการศึกษาและโอกาสในการศึกษาให้กับน้องๆ ผู้ด้อยโอกาสเหล่านี้ ขอเชิญชวนภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของผีเสื้อฝูงนี้ในการให้โอกาสทางการศึกษากับน้องๆ ของเรา”

นายเอกอธิ รัตนอารี
กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ สายงานทรัพยากรบุคคลและบริการงานทั่วไป
บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด

“ประเทศไม่สามารถก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง หากเราขาดบุคลากรที่มีคุณภาพ” 

มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการศึกษาด้วยการร่วมมือกับ กสศ. ตั้งแต่ปี 2563 ในการมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น รวมแล้วประมาณ 170 ทุน โดยเป็นนักเรียนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดชลบุรี ซึ่งใกล้กับโรงงานของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ศรีราชา นอกจากนี้ยังมีนักเรียนที่จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันการศึกษาและฝึกอบรม มิตซูบิชิ มอเตอร์ส แห่งประเทศไทย 

“แม้จะมีทุนจำนวนไม่เยอะ แต่พยายามที่จะเพิ่มจำนวนทุนขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี นอกจากการให้ทุนการศึกษาแล้ว มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ยังให้โอกาสน้องๆ ได้เข้ามาฝึกงานที่โรงงาน และยังมีหลักสูตรพิเศษวิศวกรรมยานยนต์ที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกด้วย ทั้งนี้ยังมุ่งสนับสนุนกิจกรรมอื่นๆ ที่สามารถสร้างความมั่นคงทางการศึกษาให้กับเยาวชน ซึ่งจะพูดคุยกับ กสศ. ต่อไป”

นางสาวแคทลียา ธีระโกเมน
รองผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานย่อยความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR)
บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

“การแก้ไขปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นเรื่องไม่ง่าย โดยเฉพาะในวิกฤตโควิด-19 เพราะอุปสรรคทางสังคมที่มาพร้อมกับความยากจนนั้นเยอะมาก แต่หลังจากได้ทำงานกับ กสศ. ก็รู้สึกมีความหวังขึ้นมา เนื่องจาก กสศ. มีระบบการจัดการข้อมูลที่ยอดเยี่ยม และสามารถใช้ข้อมูลไปวิเคราะห์ต่อยอด รวมถึงการวางกลยุทธ์เพื่อจัดสรรลำดับการลงแรงอย่างมีประสิทธิภาพ ทางเราจึงมั่นใจและตั้งใจที่จะเป็นพันธมิตรกับ กสศ. และทุกท่านต่อไปในระยะยาว เพื่อเป็นแรงในการสร้างความเสมอภาคให้กับการศึกษาของประเทศไทย”

นางสาวอรัญญา ลือประดิษฐ์
กลุ่มธุรกิจ TCP

“กลุ่มที.ซี.พี. เป็นองค์กรภาคเอกชนที่ทำงานในไทยมากว่า 60 ปี ควบคู่ไปกับการตอบแทนและดูแลสังคมไปพร้อมๆ กันในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมหรือการศึกษา ซึ่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนผ่านโครงการด้านการศึกษาเป็นสิ่งที่ ที.ซี.พี. ให้ความสำคัญมาโดยตลอด ด้วยความมุ่งหวังว่าเด็กๆ ทุกคนควรได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ รวมถึงพัฒนาทักษะต่างๆ เพื่อเติมเต็มศักยภาพให้พร้อมเติบโตเป็นบุคลกรที่เป็นกำลังสำคัญให้กับประเทศในอนาคต” 

นอกจากโครงการทุนการศึกษาที่ร่วมมือกับ กสศ. แล้ว ทาง ที.ซี.พี. ยังทำโครงการด้านการศึกษากับพันธมิตรและผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ด้วยความมุ่งหวังว่า ที.ซี.พี. จะเป็นหนึ่งในแรงผลักดันในการยกระดับและเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษาไทยต่อไป

นางสาวภัทรา ภัทรสุวรรณ
ผู้จัดการฝ่ายการตลาดอาวุโส สายงานสื่อสารแบรนด์
บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด

“การแก้ปัญหาหรือพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในส่วนงานทรัพยากรมนุษย์นั้น ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชน เพราะเรามีบทบาทอย่างมากที่ไม่ใช่แค่การสร้างแบรนด์หรือการสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรอีกต่อไปแล้ว เรามีช่องทางการสื่อสารกับผู้บริโภคตลอดเวลา เราจึงมีโอกาส มีอิทธิพลอย่างมากที่จะเข้าไปสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกคนในสังคม สุดท้ายแล้วสามารถผลักดันให้เกิดการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้จริงๆ”

“ความเชื่อของเคเอฟซี นอกเหนือจากการทำไก่ทอดให้อร่อยและทุกคนเข้าถึงได้แล้ว อีกหนึ่งความเชื่อคือ ทุกคนมีศักยภาพเต็มที่หากได้รับโอกาสในชีวิตที่ดี โดยเฉพาะโอกาสทางการศึกษา โอกาสในการสร้างอาชีพ ทางเคเอฟซีมองเห็นศักยภาพแบรนด์ของเราที่จะสามารถยื่นมือเข้าไปช่วยค้นหาและสนับสนุนเยาวชน นักเรียนนักศึกษาที่หลุดออกจากระบบการศึกษา และครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่ได้จับมือร่วมกับ กสศ. ในการค้นหาน้องกลุ่มนี้ให้กลับเข้ามาเรียนให้จบในการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีอาชีพที่มั่นคง มีโอกาสที่จะมีความฝันและมั่นใจในการใช้ชีวิตที่ดีต่อไป” 

“กสศ.เป็นองค์กรที่มีเครือข่ายฐานข้อมูลที่ทำให้เราสามารถเข้าถึงน้องๆ นักศึกษาได้อย่างปลอดภัยและมีคุณภาพ มีการติดตาม การเฝ้าระวัง และการวัดผล ซึ่งหวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นก้าวแรกที่ทำให้เราสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างยั่งยืน”

สร้าง ‘หลักประกันโอกาสทางการศึกษา’ แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเรื่องความยากจนชั่วข้ามคน

ในช่วงท้ายของการแถลงข่าว ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วน และเน้นย้ำอีกครั้งถึงความมุ่งหวังของ กสศ.ในการผลักดันหลักประกันโอกาสทางการศึกษา 

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กสศ.

“ในนาม กสศ. ขอขอบคุณภาคธุรกิจเอกชน มูลนิธิ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ที่ให้เกียรติมาร่วมงาน และให้เวลาอันมีค่าในการแบ่งปันข้อมูลความรู้และประสบการณ์ โจทย์ที่ กสศ. กำลังทำอยู่ในขณะนี้เป็นโจทย์ใหญ่ มีความซับซ้อน การร่วมมือในครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณว่าเราสามารถสร้างความร่วมมือให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ได้ ทั้งยังเป็นการส่งสัญญาณไปยังผู้ปฏิบัติการในแนวหน้า เช่น ครู ผู้บริหารโรงเรียนต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล ว่ายังมีผู้ที่สนับสนุนสิ่งที่พวกเขาทำอยู่ ส่วน กสศ. เองพยายามเน้นบทบาทในเรื่องการสร้างระบบฐานข้อมูลที่ดี คิดค้นนวัตกรรม ทดลองรูปแบบในการทำงาน เมื่อได้ร่วมทำงานกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ก็ทำให้เราพอมีความหวังในการแก้โจทย์ใหญ่นี้ได้”

“เมื่อแรกเริ่ม สิ่งที่ กสศ. ทำอยู่อาจจะเหมือนแค่การเยียวยาปัญหาเฉพาะหน้า แต่ด้วยเครื่องมือและแนวทางที่ดี ประกอบกับความร่วมมือกับทุกภาคส่วน สักวันหนึ่งสิ่งที่ดูคล้ายจะเป็นการเยียวยาระยะสั้นจะขยับตัวกลายเป็นการพัฒนาระบบและมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น สุดท้ายเราอาจจะสามารถสร้าง ‘หลักประกันโอกาสทางการศึกษา’ ให้กับเด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะอยู่ในระบบการศึกษาอย่างเป็นทางการหรือระบบเรียนรู้ ซึ่งจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการแก้โจทย์เชิงโครงสร้างอย่างความยากจนข้ามชั่วคน และเป็นประโยชน์กับประเทศชาติของเราต่อไป” 

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นตัวแทนเด็กและเยาวชนในการกล่าวขอบคุณการสนับสนุนและความร่วมมือในครั้งนี้ 

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

“นักเรียนยากจนพิเศษของ สพฐ. ที่ได้รับการดูแลจาก กสศ. ในปี 2561 อยู่ที่ 5 แสนคน และเพิ่มขึ้นเป็น 7.2 แสนคน ในปี 2562 กระทั่งปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาถึง 1.6 ล้านคน ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันให้เห็นว่า กสศ.และสพฐ. รวมทั้งภาคเอกชนได้ร่วมมือร่วมแรงดูแลเด็กที่มีแนวโน้มจะหลุดออกจากระบบ จนวันนี้ เด็กเหล่านี้ได้มีโอกาสกลับเข้ามาในระบบและเรียนรู้ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีคุณภาพ”

“ปัจจุบันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อันมีแนวโน้มให้เด็กหลุดออกนอกระบบเพิ่มขึ้น แต่ด้วยความทุ่มเทมุ่งมั่นของ กสศ. รวมถึงทุกท่านที่ให้ความสำคัญและเห็นตรงกันว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง วันนี้ทางด้าน สพฐ. ขอเป็นตัวแทนของเด็กและเยาวชนในการขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีที่คอยให้การสนับสนุน ทั้งนี้ยังมีโครงการพัฒนาครูในถิ่นทุรกันดาร เพื่อให้ครูสามารถดูแลช่วยเหลือนักเรียน จัดการสอนให้มีคุณภาพ ทาง สพฐ.ยืนยันที่จะให้ความร่วมมือกับ กสศ. และทุกภาคส่วนในการดูแลช่วยเหลือเด็กยากจนเหล่านี้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมในสังคม เพื่อให้พวกเขาเติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป” 

ด้านดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. กล่าวขอบคุณภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน และชี้ว่า การร่วมมือครั้งนี้เป็นสัญญาณที่ชัดเจนมากที่จะให้สังคมไทยได้เห็นว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และเป้าหมายหลักประกันโอกาสทางการศึกษาเป็นเป้าหมายที่ทุกภาคส่วนอยากให้เด็กเยาวชนไทยมีหลักประกันในระยะยาว 

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ.

“ALL FOR EDUCATION จะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิด EDUCATION FOR ALL ปวงชนเพื่อการศึกษาเท่านั้นที่จะทำให้เกิดการศึกษาเพื่อปวงชนได้” 

“กสศ.ประกอบขึ้นด้วยหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน เช่น ส่วนท้องถิ่นต่างๆ สพฐ. และกระทรวงศึกษาธิการ เราอยากที่จะได้รับฟังคำแนะนำจากภาคเอกชน เพื่อให้เราร่วมสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาจากความตั้งใจของทุกท่านให้สำเร็จ ทั้งนี้ ในปีการศึกษา 2564-2565 กสศ. มีนักวิจัยที่กำลังวิเคราะห์ข้อมูลว่าอะไรเป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้นักเรียนและครูในพื้นที่ต่างๆ สามารถฟื้นฟูจากสถานการณ์โควิด-19 กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้อย่างเต็มที่ต่อไป” 


เรียบเรียงจาก งานแถลงข่าว “ALL FOR EDUCATION ร่วมสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา: รวมพลัง ฟื้นฟูประเทศไทย” วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม 2564

โดยมี 16 องค์กร ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมร่วมด้วย ซึ่งได้แก่ มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มูลนิธิพุทธรักษา และมูลนิธิธนินท์ เทวี เจียรวนนท์ มูลนิธิยุวพัฒน์ มูลนิธิก้าวคนละก้าว มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย มูลนิธิไทยพีบีเอส มูลนิธิเอสซีจี มูลนิธิเสริมกล้า เคพีเอ็มจี ประเทศไทย บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กลุ่มธุรกิจ TCP และบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด