‘ระยอง’ สร้าง ‘ระเบียงเรียนรู้ตะวันออก’ ด้วยพลังคนในพื้นที่
ABE The Series ‘ตัวแบบจัดการศึกษาเชิงพื้นที่’ ลดความเหลื่อมล้ำ EP.4

‘ระยอง’ สร้าง ‘ระเบียงเรียนรู้ตะวันออก’ ด้วยพลังคนในพื้นที่

‘ระยอง’ เป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่องการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ด้วยแนวคิดการจัดตั้ง ‘มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาจังหวัด’ อันเป็นจุดเริ่มต้นที่นำภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนมาแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน จนเกิดกลไกระดับจังหวัดที่ทำงานจากล่างสู่บน ที่นั่นมีกำลังหลักคือผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และนายอำเภอ ร่วมกันออกแบบวิธีการทำงานที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่

จุดเด่นอีกประการหนึ่งคือความตระหนักร่วมของชาวระยอง ถึงเอกลักษณ์เฉพาะทางพื้นที่ สภาพแวดล้อม ธรรมชาติ วัฒนธรรม และทรัพยากรต่าง ๆ อันเป็นต้นทุนสำคัญที่จะช่วยยกระดับระยองให้เป็น ‘ระเบียงเรียนรู้ตะวันออก’ ด้วยพลังคนในท้องที่ จนเกิดการก่อตั้ง ‘สถาบันการเรียนรู้ของคนทุกวัยจังหวัดระยอง’ (Rayong Inclusive Learning Academy: RILA) โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดทำหน้าที่เป็นกลไกบริหารจัดการเพื่อขับเคลื่อนนิเวศการเรียนรู้ระดับเมืองอย่างเป็นระบบ (Learning City Mechanism) ควบคู่กับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของแพลตฟอร์มและกิจกรรมการเรียนรู้ (Learning City Infrastructure & Learning System) เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่าน ‘รูปแบบการศึกษาใหม่’ ด้วย ‘เครื่องมือใหม่’ รองรับการเกิดขึ้นของ ‘อาชีพใหม่’ บนฐานของการจัดการศึกษาที่หลากหลาย ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ต้องการพัฒนาตนเองช่วงทุกวัยเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างมีทางเลือก

‘RILA’ คือฟันเฟืองที่ทำหน้าที่ ‘ขบข้อมูล’ จากหลากหลายแหล่งที่มาให้เป็นฐานการทำงานเดียวของทุกหน่วย ก่อนแตกแขนงไปสู่การพัฒนานวัตกรรมจากความถนัดของหน่วยงานนั้น ๆ นอกจากนี้การเกิดขึ้นของสถาบันการเรียนรู้จังหวัด ยังเป็นการทำงานที่ยั่งยืนกับ ‘คนในระดับชุมชน’ โดยเครือข่ายสถาบันมีวาระลงพื้นที่สม่ำเสมอ เพื่อจุดประกาย หล่อเลี้ยง หล่อลื่น และซ่อมบำรุงกระบวนการทำงาน มีการสร้างสมาชิกระดับชุมชนตั้งแต่เด็กเยาวชนจนถึงผู้สูงอายุ ในฐานะ ‘อาสาสมัครนักสื่อสาร’ ที่จะร่วมกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

กระบวนการทำงานกับเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา

ยึดหลักการรับฟังความต้องการและข้อเสนอจากกลุ่มเป้าหมาย ก่อนนำเข้าสู่การศึกษาทั้งในระบบ (โรงเรียน, กศน. และ สถาบันอาชีวศึกษา) ร่วมมือกับสถานประกอบการเพื่อส่งต่อสู่การพัฒนาทักษะเพื่อประกอบอาชีพ โดยระดมทุนและทรัพยากรทั้งในและนอกจังหวัดมาสนับสนุน

ก้าวต่อไปและแรงหนุนเสริม

แผนงานระยะสั้นคือจัด ‘เวทีแลกเปลี่ยนสัญจร’ เพื่อสื่อสารข้อมูลเชิงลึกในพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ รวมถึงมีข้อเสนอถึง กสศ. ในฐานะองค์กรสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาระดับชาติ ในการร่วมลงพื้นที่ทำงานเชิงนโยบายกับหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะสถาบันการศึกษา เพื่อขยายความร่วมมือออกไปในวงกว้างยิ่งขึ้น