‘8 เดือนที่สูญหาย’ …จากใจเด็กที่หลุดจากรั้วโรงเรียนด้วยผลกระทบจากโควิด-19

‘8 เดือนที่สูญหาย’ …จากใจเด็กที่หลุดจากรั้วโรงเรียนด้วยผลกระทบจากโควิด-19

“หมดเทอมนี้ก็จะไม่ได้เรียนครบปีแล้ว บางทีผมก็ได้คุยกับเพื่อนว่าเขาเรียนอะไรกันไปบ้าง อยากเรียนให้ทันเขา ไม่อยากห่างไปนานกว่านี้ เพราะผมยังเชื่อว่า ถ้าให้ผมได้ฟื้นความรู้สักพัก ได้ติวบทเรียนที่เพื่อนๆ เรียนกันในช่วงที่ผมต้องออกมาทำงาน ก็คิดว่าคงยังทันอยู่ ที่จะกลับไปเรียนกับพวกเขาได้อีกครั้ง

วง ตาวง วัย 17 ปี เผยความในใจหลังผันชีวิตจากห้องเรียนออกมาช่วยแม่ทำงานในไร่ นับแต่ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้เขาต้องหลุดออกมาจากระบบการศึกษาในช่วงรอยต่อชั้น ม.3 ขึ้น ม.4 ด้วยสถานการณ์ตอนนั้นที่วงกับน้องสาวอายุห่างกันปีเดียว จบชั้น ม.3 ในปีการศึกษาก่อนพร้อมกัน แต่เมื่อเทอมใหม่มาถึง มีเพียงน้องของเขาที่ได้เรียนต่อชั้น ม.4 เนื่องจากแม่ที่มีอาชีพรับจ้างรายวันเหลือกำลังส่งต่อได้แค่คนเดียว

วง ตาวง วัย 17 ปี เด็กที่หลุดจากรั้วโรงเรียน
ด้วยผลกระทบจากโควิด-19

สำหรับคนเป็นแม่ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ต้องเลือกว่าลูกคนใดควรได้ไปต่อ วงจึงช่วยให้แม่ตัดสินใจง่ายขึ้นด้วยเหตุผลว่า “น้องเรียนเก่งกว่าผม เขาควรได้เรียนก่อน ส่วนผมตั้งใจจะไปช่วยแม่ทำงานเพื่อให้ครอบครัวเราดีขึ้น”

วงทำตามที่พูดทุกประการ …8 เดือนผ่านมานับจากวันนั้น ‘ทุกวัน’ เขาตื่นหกโมงเช้า ทำธุระส่วนตัวเสร็จจึงขี่มอเตอร์ไซค์ไปส่งแม่ที่ไร่ กลับมาบ้านรับน้องไปส่งที่โรงเรียน สถานที่เดียวกันกับที่สามปีก่อนหน้านี้เขาเคยมากับน้องทุกวัน จากนั้นก็หันหัวรถกลับไปยังไร่ ช่วยแม่ทำงานไปตลอดทั้งวันจนพลบค่ำ

‘หากใจนั้นไม่เคยห่างมาจากโรงเรียน’

หลังการสำรวจข้อมูลเด็กเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาในช่วงรอยต่อปีการศึกษา 63-64 วงได้รับการติดต่อจาก กสศ.เพื่อนำเข้าสู่ความช่วยเหลือตามความสมัครใจ เขายืนยันว่า การเรียน กศน.คือทางเลือกหนึ่งที่เล็งไว้ แต่ถ้าเลือกเส้นทางชีวิตและการศึกษาได้ตรงกับใจที่สุด ก็อยากจะกลับไปเรียนกับครูและเพื่อนๆ ที่โรงเรียนเดิม

“วันที่ผู้อำนวยการ ครูแนะแนว ครูบางวิชาจากที่โรงเรียน พากันมาหาที่บ้าน บอกว่าชื่อผมยังอยู่ที่โรงเรียน เป็นศิษย์เก่า ยังไงก็กลับเข้าเรียนต่อได้แน่ๆ ผมรู้สึกดีมาก แต่มันมีความไม่แน่ใจว่า ‘จริงเหรอ’ ผมไม่ได้อยู่ในห้องเรียนมานานแล้ว จะมีวิธีให้กลับเข้าไปได้ยังไง แล้วถ้า ‘จริง’ …เมื่อไหร่วันนั้นจะมาถึงสักที 

“ตั้งแต่ทำงาน ผมไม่เคยมีวันหยุด ต้องช่วยแม่ทำทุกวัน ได้ค่าแรงวันละ 300-400 แบ่งกับแม่สองคน ทำงานพวกถอนหญ้า ตัดต้นไม้ ดูแลทุกอย่างในไร่ตามแต่ว่าวันนั้นจะมีอะไรให้ทำ แต่ถึงงานจะหนัก ใจก็ยังคิดตลอดว่าขึ้น ม.4 แล้ว เพื่อนๆ เขาได้เรียนอะไรกันบ้าง มีกิจกรรมอะไรสนุกๆ บ้าง บางทีผมก็แอบไปเอาหนังสือเรียนของน้องมาเปิดดูว่าบทเรียนของชั้น ม.ปลายเป็นยังไง

“ไม่เข้าใจเลยครับ” วงยิ้มเขินเมื่อถูกถามว่ามีอะไรอยู่ในหนังสือเรียนชั้น ม.4 บ้าง แต่สักพักเขาก็พูดด้วยท่าทีจริงจังว่า “ถึงจะผ่านมาเทอมกว่าแล้ว แต่ผมคิดว่าถ้าได้กลับไปเรียนจริงๆ อยากมีเวลาได้ติวทำความเข้าใจเนื้อหาวิชาของชั้น ม.4 สักพักหนึ่ง แล้วจะขอสอบวัดความรู้ว่าผมจะสามารถเรียนทันเพื่อนๆ เขาไหม ถ้าได้ ผมก็อยากจะเข้าไปเรียนกับเพื่อนในห้องเดิม เพราะผมคิดถึงพวกเขา อยากกลับไปเรียนกับเขา” 

วงบอกว่า ในความกังวลว่าจะได้กลับไปเรียนหรือไม่ มีอีกกังวลหนึ่งที่ซ้อนทับอยู่ด้วยกัน คือ แม้วันหนึ่งเขาจะได้กลับไปเรียนจริงๆ แต่หากเป็นวันที่เวลาล่วงผ่านไปจากนี้ ความพยายาม ความกระหายในบทเรียนที่อยู่ในตัวเขาตอนนี้อาจแห้งเหือดไม่เหลือแล้ว

“แค่คิดว่าถ้าผ่านไปถึงปีหน้า ผมอาจไม่อยากกลับไปเรียนเหมือนตอนนี้แล้ว คือบางทีก็แอบนึกภาพว่า ถ้าต้องไปอยู่ชั้นเดียวกับรุ่นน้อง มันก็รู้สึกประหม่า กังวลว่าจะพูดคุยกับพวกเขายังไง จะวางตัวยังไงดี แล้วผมเข้าสังคมไม่ค่อยเก่ง กลัวว่าการไปตั้งหลักเรียนใหม่พร้อมกับรุ่นน้องจะทำให้ผมไม่รู้สึกอยากเรียนเหมือนกับในตอนนี้”

“ทำไมแม่จะไม่รู้ว่า…การเรียนคือทางออกที่ดีที่สุด”

“เราไม่เคยอยากให้เขาหยุดเรียน แต่ช่วงโรคระบาดหนัก ไม่มีงานเลยจริงๆ เงินใช้วันต่อวันยังแทบไม่พอ เขามาพูดกับเราว่าจะเสียสละให้น้องเรียนก่อน ตัวเขาค่อยไปเรียน กศน.ทีหลังก็ได้ ลึกๆ เรารู้ว่าเขาอยากเรียน ก็ไม่รู้ทำยังไง เราก็แย่ คนจ้างงานเราก็แย่ มันแย่เหมือนๆ กันหมด”

คุณแม่อำ ตาวง แม่ของวง ย้อนสาเหตุที่ลูกชายต้องเข้าสู่ชีวิตทำงานก่อนวัยอันควร แล้วเล่าต่อว่า “ตอนนั้นคิดว่าอย่างน้อยลูกยังได้เรียนสักคนหนึ่งก่อน อีกคนมาทำงานกับเรา ทีแรกเขาก็ยังร่าเริงปกติ เล่นสนุกเหมือนเด็กที่ได้ปิดเทอมนานกว่าเพื่อน แต่พอผ่านมาสักเดือนสองเดือนก็เริ่มบ่นว่าคิดถึงโรงเรียน อยากไปเรียนแล้ว

“แม่มองว่าวงอยู่ตรงนี้ ทำงานได้เงินมาเขาก็ให้แม่เอามาใช้ค่ากินค่าอยู่ของครอบครัว ค่าเช่าห้อง บางทีเขาก็เอาส่วนของเขาให้น้องสาวไว้ใช้ไปโรงเรียน เพราะบางวันแม่ก็ไม่มี คือเขาไม่เหลือเก็บเลย เหมือนทำงานแค่พอได้เอาเงินมาใช้จ่ายวันต่อวัน ก็เริ่มคิดว่าไม่อยากให้เขาทำงานแล้ว อยากให้ไปโรงเรียนมากกว่า

“คือเขาอาจไม่ได้เรียนเก่งมาก แค่พอไปได้ แต่เราคิดว่าลูกได้อยู่ในโรงเรียนเขามีโอกาสในชีวิตที่เยอะกว่า มีทางเลือกมากกว่าเมื่อเรียนจบ อยู่ตรงนี้กับเรามันเหมือนชีวิตของเขาหายไปเลย สำหรับแม่ที่ทำงานอยู่ตรงนี้มายี่สิบกว่าปีแล้ว ทำไมเราจะไม่รู้ว่าการเรียนคือทางออกที่ดีที่สุด งานที่เราทำมันไม่มีอะไรแน่นอน บางเดือนได้ บางเดือนไม่พอใช้ ฤดูฝนมาบางทีต้องหยุดงานเป็นเดือน ทำๆ อยู่เจอวิกฤตโรคระบาดก็ไปต่อไม่ได้เลย

“สำหรับวง เขาเพิ่งอายุแค่นี้ ชีวิตไปได้อีกไกล อยากให้เขาได้กลับไปเรียนตอนนี้ มันยังทัน เพราะเราก็เคยเห็นว่าเด็กหลายคนที่เขาออกมาทำงาน ห่างโรงเรียนนานๆ พอหลายปีผ่านไปเขาจะหมดไฟ ให้กลับไปโรงเรียนอีกครั้งมันก็ต่อไม่ติดแล้ว

“พอมีคนโทร.มาหา บอกว่าวงจะมีโอกาสได้กลับไปเรียน แม่ดีใจมากๆ เพราะถึงวันหนึ่งเขาเรียนจบ มีงานที่ดี มีเงินเดือนมั่นคง อนาคตของเขาก็จะได้ไม่ต้องมาลำบาก…ส่วนงานตรงนี้เราทำคนเดียวยังได้อยู่ ตอนนี้แม่ยังพอไหว ก็อยากขอให้เขาได้ไปเรียนก่อน”

ปรับการเรียนแบบยืดหยุ่น รักษาพลังบวกหยุดวงจรหลุดนอกระบบ

ปิติ ยางกลาง ผู้อำนวยการโรงเรียนไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี

นายปิติ ยางกลาง ผู้อำนวยการโรงเรียนไทรน้อย จ.นนทบุรี กล่าวว่า โรงเรียนได้ทำงานร่วมกับ กสศ. จนเกิดเป็น “ไทรน้อยโมเดล” เพื่อให้การช่วยเหลือนักเรียนที่หลุดจากระบบการศึกษาได้กลับเข้ามาเรียนต่อ การรับเด็กกลับเข้ามาเรียน จะมีระบบดูแลช่วยเหลือ โดยต้องยอมรับว่า เมื่อออกไปจากระบบ 1 เทอมแล้วแต่ยังต้องมีกระบวนการวัดผลประเมินผล ในช่วงหนึ่งภาคเรียนที่หายไป โดยให้มาเรียนซ่อมเสริมเพิ่มเติม ใช้การประเมินแบบยืดหยุ่น

ทั้งนี้เพื่อให้เด็กรู้สึกมีความสุข และปลอดภัยเมื่ออยู่ในโรงเรียน มีคุณครูคอยช่วยเหลือ ที่สำคัญคือการกลับเข้ามาเราจะต้องรักษาพลังบวกให้เขาผ่านไปตลอดรอดฝั่ง มีระบบดูแลช่วยเหลือ เมื่อเกิดปัญหา อุปสรรค การเรียน ก็ต้องเข้าไปช่วยเหลือ ไม่ให้พลังด้านลบมาบั่นทอนให้พวกเขาออกจากโรงเรียนไปอีกแล้วการดึงกลับเข้ามาจะยากลำบาก

ระวังเด็กหลุดเกิน 3 เดือนเข้าสู่วงจรสีเทา เร่งช่วยกันซ่อมชีวิต

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันมีเด็กเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างมากจากผลกระทบจากโควิด-19 มีนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นสูงเป็นสถิติใหม่ถึง 1,244,591 คน หรือคิดเป็น 19.98 % ของนักเรียนทั้งหมด สร้างสถิตสูงสุดจากที่ผ่านมา

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ.

ดังนั้นการแก้ไขปัญหาช่วยเหลือเด็กคนหนึ่งให้รอดไม่ใช่แค่เรื่องทุนการศึกษาอย่างเดียว ต้องมองให้ครบมิติเพื่อป้องกันไม่ให้หลุดจากระบบซ้ำอีก

  1. สุขภาพกาย เช่น การเข้าถึงวัคซีน ภาวะโภชนาการ
  2. สุขภาพใจ เด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มมีภาวะความเครียด ซึมเศร้า มีแรงกดดันความกังวลในช่วงการกลับเข้ามาเรียนอีกครั้ง
  3. สังคม ภาวะโดดเดี่ยวไม่มีเพื่อน การทำงานที่เสี่ยงอันตราย หรือถูกเอาเปรียบค่าแรง
  4. การศึกษา ความรู้ที่ถดถอย เรียนไม่ทันเพื่อน

และที่น่าเป็นห่วงคือช่วงสามเดือนอันตรายถ้าเด็กหลุดจากระบบการศึกษานานถึงสามเดือนจะเสี่ยงเข้าสู่วงจรสีเทา ทั้งติดเพื่อน ติดเกม ติดยาเสพติด หรือถ้าเราไม่ทำอะไรแล้วพวกเขาเข้าไปในสถานพินิจ พอออกมาสามเดือนก็มีโอกาสกลับเข้าไปซ้ำได้อีก สังคมไม่อาจปล่อยให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปแบบลำพังต่างคนต่างทำไม่ได้ แต่ต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเด็กยากจนด้อยโอกาส ช่วยกันซ่อมชีวิต ซ่อมจิตวิญญาณให้เขากลับมาใช้ชีวิตตามปกติ