ต่อยอดฝีมือจักสาน สร้างงาน สร้างรายได้ให้ผู้สูงอายุ

ต่อยอดฝีมือจักสาน สร้างงาน สร้างรายได้ให้ผู้สูงอายุ

https://www.eef.or.th/ทุนพัฒนาอาชีพ/ ‎

ทุกหัวไร่ปลายนาในต.บางประมุง อ.โกรกพระ จ.นครสวรรค์ เต็มไปด้วย “ไผ่สีสุก” พืชเศรษฐกิจสำคัญในพื้นที่  นับเป็นต้นทุนวัตถุดิบซึ่งสามารถนำไปแปรรูปได้หลากหลายรูปแบบ ​ตามความต้องการของตลาด

อีกด้านหนี่งในพื้นที่ยังมีของดีประจำท้องถิ่นคือ “กล้วยกวน” ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่รวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชนเกษตรบ้านไร่ผลิตออกขายกันมายาวนานทั้งสองจุดเด่นนี้ นำมาสู่โครงการสาน “ชะลอมขนาดเล็ก”​เพื่อเป็นบรรจุภัณฑ์ “กล้วยกวน” ของชุมชนคลองบางประมุง จ.นครสวรรค์  ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.)​  ความพิเศษของ “ไผ่สีสุก” คือการให้สีขาวอมเหลือง ดูสวยงาม อีกทั้งเวลาสานเนื้อไผ่จะอ่อนนุ่ม แต่พอสานเสร็จเนื้อไผ่จะแข็งแรงขึ้น  ซึ่งผลิตภัณฑ์ “ชะลอมขนาดเล็ก” ที่ได้จะถูกขายส่งให้กับร้านขายกล้วยกวนในพื้นที่ เพื่อนำไปทำเป็นบรรจุภัณฑ์ขายเป็นของดีของดังประจำถิ่น

ฟื้นทักษะจักสานที่ถูกทิ้งร้างกันมา 30 ปี

โครงการนี้ถือเป็นการสร้างโอกาส ในการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับ ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ และผู้ด้อยโอกาสที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 80 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ในชุมชน 4 หมู่บ้านใกล้เคียง ซึ่งสมัครเข้ามาร่วมกันฝึกทักษะจากที่ไม่เคยสานจนทำออกจำหน่ายได้ 

“ส่วนใหญ่คนที่มาร่วมโครงการ เคยสานเป็นมาแล้วตั้งแต่สมัยยังสาว เมื่อ 20- 30 ปี แต่ก็เลิกทำไป ทิ้งร้างกันมานาน เมื่อมาเข้าโครงการอีกครั้ง ก็รื้อฟื้นฝึกฝนกันใหม่ โดยมีวิทยากรซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการสานไม้ไผ่และทำส่งขายตามร้านอยู่แล้ว มาเป็นผู้ฝึกฝนให้” “ดร.กิตติคุณ หมู่พยัคฆ์ อาจารย์และนักวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์  ผู้ประสานงานโครงการเล่าถึงกระบวนการฝึกทักษะ

                 

วิกฤต COVID-19 ทำให้กล้วยกวนขายไม่ได้

สำหรับผู้ที่เริ่มต้นจะใช้เวลาสานค่อนข้างนาน โดยตอนเริ่มต้น การสอนชะลอม  1 ใบ จะ ใช้เวลาสานถึง 30 นาที  แต่พอทำเรื่อยๆ มีความชำนาญมากขึ้นก็ใช้เวลาที่น้อยลง โดยชะลอมขนาดเล็ก 1 ใบ จะขายได้ในราคา 5 บาท เป็นค่าแรงในการสาน 1 บาท จักตอก 1 บาท ที่เหลือคือค่าวัสดุ แต่ถ้าคนไหนทำได้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำออกมาเป็นชะลอม 1 ใบก็จะได้ค่าแรงทั้งหมด 5 บาท

ชะลอมทั้งหมดที่ผลิตขึ้นจะมีตลาดรับซื้อที่แน่นอน จนกระทั่งเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ร้านขายของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยวซึ่งรับซื้อกล้วยกวนอีกทีหนึ่งปิดตัวลง เมื่อกล้วยกวนขายไม่ได้ ชะลอมจึงขายไม่ได้ตามไปด้วย

เปลี่ยนไปสาน “กระถางต้นไม้” รายได้เพิ่ม 10 เท่า​

แต่เมื่อประตูหนึ่งปิดลง ประตูอีกบานจะเปิดขึ้นเสมอ แม้การแพร่ระบาดของ  COVID-19 จะทำให้หลายกิจการซบเซา แต่บางกิจการกลับเฟื่องฟูขึ้น หนึ่งในนั้นคือกิจการขายต้นไม้  ผู้เข้าร่วมโครงการจึงได้อาศัยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น  ปรับจากการสานชะลอมบรรจุกล้วยกวน ไปเป็นสานกระถางต้นไม้แทน

“กลุ่มมีการปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นการสานตะกร้า และที่ใส่กระถางต้นไม้  โดยมีการปรับตามขนาดของกระถางต้นไม้  ซึ่งมีร้านต้นไม้รับซื้อทั้งหมดเหมือนเคย เพราะทางกลุ่มซึ่งส่วนใหญ่คือผู้สูงอายุ ต้องการให้มีที่รับซื้อที่แน่นอน เพราะเขากังวลว่าหากผลิตออกมาแล้วจะไม่มีคนมาซื้อ อย่างที่ใส่กระถางต้นไม้ขนาด 5 นิ้ว เราตั้งราคา 35-40 บาท บรรดาคุณป้าที่เข้าร่วมโครงการก็จะถามว่าขายได้หรือ ในมุมมองของเขาประเมินว่า ชิ้นแค่นี้ขายแค่ 20 บาทก็พอ สุดท้ายพอร้านขายต้นไม้รับซื้อที่ในราคาส่ง 35 บาท ปลีก 40 บาท ซึ่งเป็นราคาที่มากกว่าเกือบ10เท่า จากราคาชะลอม เขาก็ดีใจกันใหญ่”

บุกตลาดออนไลน์ ผ่าน FB “ลอมชอม”

นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการอยากต่อยอดในการผลิตสินค้าจักสานของตัวเองต่อไปในอนาคต  เมื่อชาวบ้านคิดที่จะต่อยอดการจักสานของตัวเอง ทางโครงการจึงได้เสริมการอบรมให้ความรู้การขายผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก ภายใต้ชื่อ “ลอมชอม” เพื่อเป็นอีกช่องทางการขายที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน ถือเป็นการเปิดตลาดให้กว้างขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมบางคน ดึง ลูก-หลานของตัวเองมาศึกษาการทำการตลาด การขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ หรือเรียนรู้การถ่ายรูปผลิตภัณฑ์ให้ดึงดูดความสนใจของลูกค้า

สร้างงาน สร้างรายได้ ต่อเนื่องเลี้ยงตัวเองได้

ดร.กิตติคุณ  อธิบายว่า สิ่งที่โครงการกำลังทำคือปั้นให้ชาวบ้านสามารถเรียนรู้และสามารถนำประสบการณ์ และสิ่งที่ได้จากโครงการ ออกไปทำกิจการเป็นของเขาเองได้ โดยต่อยอดจากสิ่งที่เคยเรียนรู้ไปแล้วอย่างการสานชะลอม สานกระถางต้นไม้ หลังจบโครงการก็สามารถทำต่อไปได้ด้วยตัวเอง 

“ต่อไปเขาจะได้มีความมั่นคงของเขาเอง โดยเฉพาะผู้สูงวัยเขาไม่สามารถ ไปทำงานที่อื่นได้ เพราะมีพ่อแม่ หรือหลาน หรือคนในบ้าน ที่ต้องดูแล ดังนั้นข้อจำกัดหนึ่งคือไม่สามารถออกนอกบ้านได้เป็นเวลามากกว่าหนึ่งวัน เพราะอายุมากแล้วเริ่มใช้แรงงานได้ไม่ค่อยมาก ดังนั้นความสำเร็จของโครงการนี้คือการที่พวกเขามีรายได้ต่อเนื่อง เพื่อเลี้ยงดูตัวเองได้” ดร.กิตติคุณ สรุป

 ​