‘หอยทากกระดึ๊บ กระดึ๊บ’ Project Approach ที่ช่วยพัฒนาทักษะ EF ของเด็กปฐมวัย โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

‘หอยทากกระดึ๊บ กระดึ๊บ’ Project Approach ที่ช่วยพัฒนาทักษะ EF ของเด็กปฐมวัย โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

ในระหว่างการทำกิจกรรมกลางแจ้ง เด็กๆ ชั้นอนุบาล 2 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ฝ่ายปฐมวัย ต่างสะดุดตากับสัตว์ชนิดหนึ่งที่มีลักษณะการเคลื่อนไหวเชื่องช้า ค่อยๆ กระดึ๊บบนสนามหญ้า ลำตัวมีเปลือกแข็งๆ เหมือนเปลือกหอยหุ้มอยู่ ซึ่งสัตว์ที่ว่านั่นก็คือ ‘หอยทาก’ 

เด็กๆ เกิดความสงสัยว่า “เอ๊ะ…เจ้าหอยทากเคลื่อนไหวได้อย่างไร เท้าของมันเป็นอย่างไร กินอะไรเป็นอาหาร กินแล้วอึเป็นสีอะไร” 

นี่จึงเป็นที่มาของ ‘โครงการหอยทากกระดึ๊บ กระดึ๊บ’ ที่ ครูอ๋อมแอ๋ม – วรางคนา เต็มเปี่ยม ครูอนุบาล 2 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ฝ่ายปฐมวัย นำมาเล่าในเวทีมหกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้โรงเรียนพัฒนาตนเองระดับพื้นที่ ครั้งที่ 3 ‘กลไกขับเคลื่อนการจัดการศึกษาของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดภูเก็ต สู่งานมหกรรมการศึกษาไทย’ โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในหัวข้อ ‘ห้องเรียน EF กับโจทย์ Project Approach’

“การออกไปนอกห้องเรียนทุกครั้ง เด็กๆ จะได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง และสิ่งที่เกิดขึ้นจากการที่คุณครูพาเด็กออกไปนอกห้องเรียน คือเขาเกิดประเด็นคำถามจากหอยทากที่เขาสังเกตเห็น เพราะในช่วงนั้นเป็นช่วงหน้าฝน หอยทากก็จะมาตามฤดูกาล เขาสงสัยว่า หอยทากไม่มีเท้า แล้วเดินได้ยังไง กินอะไรเป็นอาหาร อึเป็นสีอะไร โดยมาจากประสบการณ์ที่เด็กๆ เคยได้รับจากการเรียนรู้ในหน่วยสัตว์ต่างๆ” ครูอ๋อมแอ๋มเล่าถึงจุดเริ่มต้นของโครงการ

เด็กๆ สงสัยว่า หอยทากกระดึ๊บ กระดึ๊บได้อย่างไร

‘หอยทากกระดึ๊บ กระดึ๊บ’ ชื่อโครงการที่เด็กๆ ร่วมกันคิดและตั้งชื่อกับครูอ๋อมแอ๋ม จัดอยู่ในแผนการจัดประสบการณ์ หนึ่งในการจัดการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย ซึ่งเกิดจากความสงสัย อยากรู้อยากเรียนของตัวเด็กเอง โดยมีครูอ๋อมแอ๋มทำหน้าที่เป็นโค้ชพาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน

หลังจากที่ครูอ๋อมแอ๋มสำรวจความสนใจของเด็กๆ มีการสนทนากันระหว่างครูกับนักเรียนถึงสิ่งที่เด็กอยากรู้ สิ่งที่เด็กอยากทำ ไปจนถึงการตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับหอยทาก และได้ข้อสรุปของชื่อโครงการเรียบร้อยแล้ว ก็เข้าสู่กระบวนการออกแบบการเรียนรู้ของครูผู้สอน โดยมีการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับหอยทาก และวางแผนจัดประสบการณ์ให้ออกมาเป็นกิจกรรมที่เด็กๆ สนุกที่จะเรียนรู้ 

ครูอ๋อมแอ๋มใช้การจัดการเรียนรู้ในรูปแบบโครงการ หรือ Project Approach เป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้เด็กเกิดทักษะ EF (Executive Functions) หรือกระบวนการคิด โดยมีหัวใจสำคัญคือการที่เด็กได้เรียนรู้ในเรื่องที่สนใจอย่างลุ่มลึก ซึ่งจะทำให้เรียนรู้อย่างมีความสุข

“สิ่งที่ตามมาคือเกิดความกล้าคิด กล้าแสดงออก แก้ปัญหาเป็น จากการสำรวจ สังเกต สืบค้น เรียนรู้แบบกลุ่มใหญ่ กลุ่มย่อย และเด็กๆ ได้มีปฎิสัมพันธ์กับเพื่อน คุณครู ผู้ปกครองและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย” และนั่นก็เป็นวัตถุประสงค์ของการจัดประสบการณ์เรื่องหอยทากที่ครูอ๋อมแอ๋มตั้งเป้าไว้นอกเหนือไปจากการไขข้อสงสัยเกี่ยวกับหอยทากที่เด็กๆ ตั้งคำถามด้วย    

ยกตัวอย่างบรรยากาศห้องเรียน EF ของครูอ๋อมแอ๋ม เมื่อชั่วโมงที่เด็กๆ รอคอยมาถึง สิ่งแรกที่คุณครูทำนอกจากการร้องเพลงสวัสดีเป็นการทักทายกันในชั้นเรียนแล้ว ก็ชวนเด็กๆ คุยเกี่ยวกับหอยทาก และเชื่อมโยงเข้ากับองค์ความรู้ภาษาไทย ซึ่งในที่นี้คือ การพาเด็กๆ อ่านคำคล้องจอง ‘หอยทากกระดึ๊บ กระดึ๊บ’ แต่งโดย ศศิธร ดีนนุ้ย และ วรางคนา เต็มเปี่ยม โดยที่มีเด็กๆ ช่วยกันคิดท่าทางประกอบด้วย เพื่อเป็นการนำสู่กิจกรรมที่จะพาพวกเขาเรียนรู้การเดินทางของหอยทาก และเรียกสมาธิให้เด็กจดจ่อใส่ใจ

“หอยทากกระดึ๊บไปมา หอยทากกระดึ๊บไปมา มีเปลือกหนาๆ ไว้กำบังกาย ปล่อยเมือกเป็นทางเดินไกล ชอบอาศัยในน้ำและดิน” ครูอ๋อมแอ๋มพาเด็กๆ อ่านคำคล้องจอง พร้อมทำท่าทางประกอบ 

จากนั้นพาไปไขข้อสงสัยเกี่ยวกับการเดินทางของหอยทาก โดยจัดมุมการเรียนรู้ที่ชื่อว่า ‘มุมวงจรชีวิตของหอยทาก’ ไว้ให้เด็กได้ลงมือสำรวจ สังเกต จดบันทึกเป็นภาพ และนำมาเล่าสู่กันฟังในสิ่งที่ได้เห็น

เด็กๆ เกิดทักษะ EF ‘คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้ และอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข’

เพราะเด็กทุกคนไม่ได้มีทักษะติดตัวมาตั้งแต่เกิด นอกจากพ่อแม่ ผู้ปกครองที่คอยติดอาวุธในการใช้ชีวิตจากที่บ้าน เมื่อถึงคราวมาโรงเรียน คุณครูจึงมีหน้าที่กระตุ้น พัฒนา และส่งเสริมทักษะให้กับเด็ก

“สิ่งสำคัญในการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมพัฒนา EF คือคุณครูไม่ควรปิดกั้นการเรียนรู้ อย่าคิดว่าเด็กทำไม่ได้ เราต้องรอคอย ในการทำกิจกรรม เด็กบางคนทำเสร็จเร็ว และเด็กบางคนก็ทำเสร็จช้า ในตอนนั้นเขากำลังคิดอยู่ สมองเขากำลังแล่นไป ถ้าคุณครูเบรกด้วยการบอกว่า หมดเวลาแล้ว เดี๋ยวเราจะเก็บกันเลย อย่างนั้นเป็นการหยุดชะงักสมอง ซึ่งไม่เป็นผลดีกับเด็ก เพราะเด็กแต่ละคนมีระยะเวลาในการคิดประมวลผลต่างกัน เราต้องรู้จักรอคอย 

หรืออาจจะมีเด็กๆ บางคนที่บอกว่า วาดไม่เป็น วาดไม่ได้ ครูก็มีหน้าที่กระตุ้น เข้าไปช่วยเหลือด้วยคำถาม เช่น เมื่อกี้หนูเห็นอะไรคะ เป็นแบบไหน อาจจะมีสิ่งเปรียบเทียบให้เขามีทั้งประสบการณ์เดิมและประสบการณ์ใหม่ในการตอบคำถามเกิดขึ้น” 

สุดท้ายผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กจากการสังเกตพฤติกรรม สิ่งที่ครูอ๋อมแอ๋มมองเห็นคือ เด็กกล้าพูดกล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม เด็กมีส่วนร่วมในการสร้างข้อตกลงและทำตาม ในเรื่องการฟัง เด็กฟังผู้อื่นพูดจนจบและโต้ตอบได้สอดคล้องกับเรื่องนั้น มีความสามารถในการอ่านภาพ สัญลักษณ์คำ พร้อมทั้งชี้หรือกวาดตามองข้อความตามบรรทัด รวมถึงบอกลักษณะและส่วนประกอบของสิ่งที่ได้สังเกต และสามารถใช้ประโยคคำถามว่า “ที่ไหน” “ทำไม” ในการหาคำตอบได้ ที่สำคัญคือความกระตือรือร้นและจดจ่อใส่ใจในการทำกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นจนจบ

“นอกจากการสังเกตพฤติกรรมเด็กที่เขาแสดงออก คุณครูจะถามเด็กๆ ทุกคน เพื่อทบทวนจากที่ได้ทำกิจกรรมกัน หรือถ้าเด็กมีข้อสงสัยครูก็จะไม่เมินเฉย เราจะไม่ปล่อยเด็กคนใดคนหนึ่งไว้หลังห้องเรียนเด็ดขาด นี่เป็นสิ่งที่เราเองก็ต้องกระตุ้นตัวเองให้คอยสังเกตอยู่เสมอ ต้องพาเด็กๆ ทุกคนไปพร้อมกันทั้งห้อง” 

ครูอ๋อมแอ๋มเพิ่มเติมว่า “ในเด็กที่มีพัฒนาช้าหน่อย จำไม่ได้ ไม่เข้าใจ ต้องบอกว่าเด็กอนุบาลเราไม่สามารถสอนอะไรให้เขารู้เรื่องได้ในครั้งเดียว เราต้องใช้วิธีการทำซ้ำ เราอย่าเบื่อที่จะทำซ้ำ คุณครูเองก็ใช้ระยะเวลาในการรอคอยที่จะฝึกเขาในการจดจำบางสิ่งบางอย่างที่ครูได้ตั้งเป้าหมายไว้ และที่สำคัญโทนเสียงที่ครูใช้กับเด็กวัยนี้ควรจะเป็นโทนเสียงนุ่มนวล เพราะจะทำให้เด็กๆ เขารู้สึกอบอุ่น ไม่เคร่งเครียดในการเรียนรู้”