ทะลุกรอบวาทกรรม ‘เด็กในระบบหรือนอกระบบการศึกษา’ ด้วยการเรียนรู้ที่มีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิต

ทะลุกรอบวาทกรรม ‘เด็กในระบบหรือนอกระบบการศึกษา’ ด้วยการเรียนรู้ที่มีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิต

 ทางเข้าศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี มีบานประตูเหล็กสีน้ำเงินหนาทึบสูงตระหง่าน กั้นแบ่งขอบเขตอิสรภาพไว้จากจองจำ  ณ ปัจจุบันในปีการศึกษา 2566 ที่นี่มีเด็กเยาวชน 167 คน ที่ต่างใช้เวลาของตนอยู่ภายในนี้

ประตูเหล็กบานนี้เป็นผลงานของน้อง ๆ สาขาช่างเชื่อมโลหะในโครงการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ที่เป็นความร่วมมือของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และมูลนิธิปัญญากัลป์ ที่ช่วยกันสร้างพื้นที่จัดการศึกษาเสมอภาคและพัฒนาทักษะชีวิตให้กับน้อง ๆ ในพื้นที่ ‘ปิด’ ให้เป็นพื้นที่ ‘เปิดรับ’ กลุ่มเด็กเยาวชนที่เข้ามา ให้รู้สึกอยากเข้าใกล้การศึกษามากกว่าเดิม

“ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ประโยคนี้หากมองเป็นวาทกรรม ก็เป็นเป้าหมายสูงสุดของการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ที่พวกเราอยากทำให้เด็กและเยาวชนทุกคน ไม่ว่าเป็นใครหรืออยู่ที่ไหนก็ตาม ต้องมีโอกาสได้รับการศึกษาที่ ‘ดี’ ‘มีคุณภาพ’ และ ‘เหมาะสม’ กับตัวเอง

เมื่อย้อนกลับมาที่การลงมือ พวกเราระดมความคิด ระดมข้อมูล และงานวิชาการ เพื่อค้นหาและพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาที่มีทางเลือกและเปิดกว้างด้วยระบบที่หลากหลาย ตอบโจทย์ทั้งชีวิต เป้าหมาย และมีวุฒิบัตรรับรองการสำเร็จการศึกษา เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับเด็กเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมให้เป็นเรื่องจริง

มันไม่ใช่งานบนเส้นทางราบรื่นดังที่ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร กสศ. ได้เคยพูดไว้ว่า “การจะทำให้การศึกษาทะลุฝ่ากำแพงหนาทึบและปิดสนิทเข้าไปได้ เป็นโจทย์ที่ยากด้วยข้อจำกัดนานัปการ ดังนั้นต้องมีความร่วมมือ มีนวัตกรรมที่เหมาะสมและทรงพลัง เพื่อให้การศึกษาเข้าไปทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงเด็ก ๆ ให้กลับมาเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ” และไม่ใช่แค่การศึกษา แต่ต้องมีกระบวนการที่ครอบคลุมทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ ทักษะวิชาการ เพื่อรู้เท่าทันความซับซ้อนในสังคม มีการดูแลติดตามต่อเนื่องหลังกลับออกไปใช้ชีวิต เพื่อให้มั่นใจว่าน้อง ๆ ทุกคน จะพบที่ทางของตนในสังคม ไม่เวียนซ้ำกลับไปที่จุดเดิมอีก

รูปแบบการเรียนรู้ที่ ‘ยืดหยุ่น’ ตอบโจทย์เด็กเยาวชนที่หลุดหล่นจากการศึกษาระหว่างทาง

เป็นเวลา 71 ปีแล้ว ที่กรมพินิจ ฯ จัดการศึกษาให้กับเด็กเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม ทั้งเด็กเยาวชนในสถานพินิจ ฯ ที่อยู่ในขั้นตอนรอการพิจารณาจากศาล และเด็กเยาวชนที่ศาลมีคำสั่งให้อยู่ในความดูแลของศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนซึ่งมีอยู่ 21 แห่งทั่วประเทศ โดยมีหลักสูตรการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือ กศน. และหลักสูตรฝึกอาชีพ

แม้ที่ผ่านมา จะมีเด็กเยาวชนจำนวนหนึ่งสามารถเรียนรู้จนสำเร็จการศึกษา แต่ยังนับเป็นจำนวนไม่มาก เนื่องจากปัญหาสำคัญคือเด็กเยาวชนส่วนใหญ่มักหลุดจากระบบการศึกษากลางทาง มีเหตุให้พ้นจากโรงเรียนระหว่างช่วงชั้น เช่น หลุดตอน ม.1 เทอม 2 หรือ ช่วง ม.2 เทอมแรก บ้างก็ใกล้จะจบการศึกษาแล้ว แต่มาหลุดเอาตอน ม.3 เทอม 2 ซึ่งการเรียนด้วยหลักสูตร กศน. พวกเขาจำเป็นต้องอยู่ในกระบวนการเรียนให้ครบทั้งหลักสูตรในชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย

กระทั่งในปี 2563 กสศ. มีเป้าหมายในการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษาผ่านโครงการย่อย 66 โครงการ ในจำนวนนี้มี 20 โครงการที่ทำงานร่วมกับกรมพินิจ ฯ หนึ่งในนั้นคือการทำงานกับศูนย์การเรียนซีวายเอฟ ที่ริเริ่มจัดการศึกษาตามความสนใจและความถนัดผ่านระบบ ‘ศูนย์การเรียน’ จนกลายเป็นโมเดลสำคัญที่ทำให้เห็นว่าการจัดการศึกษาตามความสนใจและความถนัด ควบคู่กับการส่งเสริมทักษะชีวิตให้ผู้เรียนมีความพร้อมในการกลับไปใช้ชีวิตในสังคม คือรูปแบบการศึกษาที่อาจเป็นทางออกสำหรับผู้เรียนที่หลุดหล่นจากระบบการศึกษากลางทาง

จากนั้นในปี 2564 ศูนย์การเรียนซีวายเอฟ ได้ร่วมกับจังหวัดนครพนม ทำโครงการ ‘นครพนมโมเดล’ ที่ใช้การศึกษาในรูปแบบการเทียบเคียงประสบการณ์และความชำนาญเฉพาะทางของผู้เรียน มาใช้กับเยาวชนนอกระบบการศึกษา รวมถึงเด็กเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม จนประสบความสำเร็จและเป็น ‘ต้นแบบ’ การพัฒนาการจัดการศึกษาให้เด็กเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม ที่กรมพินิจฯ และ กสศ. นำมาทดลองใช้ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งทำให้มีเด็กเยาวชนที่สำเร็จการศึกษา 101 คน ในปีการศึกษา 2565

อ่านกสศ. ร่วมกับกรมพินิจฯ มอบวุฒิบัตรสร้างโอกาสชีวิตใหม่แก่เด็กเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม พลิกโฉมการศึกษาเปลี่ยน ‘ศูนย์ฝึกฯ’ เป็น ‘ศูนย์การเรียน’ เปลี่ยน ‘ผู้คุม’ เป็น ‘นักจัดการเรียนรู้’

ด้วยระบบ ‘ศูนย์การเรียน’ ที่มีความยืดหยุ่น ทำให้เด็กเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม สามารถเทียบโอนประสบการณ์เพื่อแปลงเป็นหน่วยกิต และเข้าศึกษาต่อเนื่องตามระดับชั้นที่เรียนค้างไว้ เมื่อเด็กพ้นออกไปจากที่นี่ ก็สามารถกลับไปศึกษาต่อที่สถาบันเดิมได้ทันที รวมถึงผู้ที่จบการศึกษาขณะอยู่ข้างใน ก็จะได้วุฒิบัตรไปใช้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น หรือใช้ต่อยอดสมัครทำงานกับสถานประกอบการได้

พลิกโฉมการศึกษา… เปลี่ยน ‘ศูนย์ฝึกฯ’ เป็น ‘ศูนย์การเรียน’ เปลี่ยน ‘ผู้คุม’ เป็น ‘นักจัดการเรียนรู้’

ในเชิงโครงสร้าง การพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจะพัฒนาผ่าน 4 เป้าหมายหลัก คือ 1.)ยกระดับศูนย์ฝึกฯ ให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ 2.)เปลี่ยนผู้บริหารสถานพินิจฯ และศูนย์ฝึกฯ เป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ที่สามารถออกแบบการศึกษาให้เหมาะสมและมองภาพรวมการจัดการศึกษาได้ในทุกมิติ 3.)เปลี่ยนผู้ดูแล เป็นครูนักจัดการเรียนรู้ที่เปี่ยมประสิทธิภาพ และ 4.)พัฒนาเด็กเยาวชนในกระบวนการให้เป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต ภายใต้กรอบการพัฒนาทักษะวิชาการ วิชาชีพ และวิชาชีวิต ขับเคลื่อนผ่าน 6 แผนงานสร้างโอกาสทางการศึกษาบนพื้นฐานของความเสมอภาค ดังนี้

  1. ครูเป็น ‘โค้ชชีวิต’ ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเชิงลึก สามารถดูแลเด็กเยาวชนได้อย่างต่อเนื่องจนเห็นเส้นทางชีวิตชัดเจนขึ้น และเชื่อมโยงให้เข้าถึงการเรียนรู้ในรูปแบบที่เหมาะสมตามบริบทของตนเอง
  2. จัดการเรียนการสอนและประเมินผลเช่นเดียวกับสถานศึกษาทั่วไป มีหลักสูตรวิชาชีพรองรับ มีการเทียบประเมินประสบการณ์ เพื่อให้ผู้เรียนนำหน่วยวิชาชีพมาเทียบเป็นเครดิตใช้ศึกษาต่อและรับวุฒิบัตรได้
  3. จัดการเรียนรู้ทางวิชาชีพ มีโปรแกรม ‘young boots-up’ ร่วมกับสถานประกอบการ ให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะผู้ประกอบการ ได้ฝึกทักษะวิชาชีพตามความสนใจและความถนัด ได้ลองทำงานจริง ฝึกประสบการณ์ในสถานที่จริง
  4. เรียนรู้วิชาชีวิต ส่งเสริมทักษะชีวิตทั้งมิติสุขภาพจิต ภาวะอารมณ์-ปัญญา เพื่อพัฒนาพฤติกรรมเชิงบวก โดยพัฒนาเครื่องมือเพิ่มเติม 11 ชิ้น เพื่อยกระดับให้เด็กและเยาวชนในกระบวนการสามารถตั้งคำถาม-หาคำตอบ และกำหนดเป้าหมายด้วยตัวเองได้
  5. เชื่อมโยงชุมชนสร้างกระบวนการติดตามหลังกลับคืนสู่สังคม โดยทำงานกับชุมชนปลายทางผ่านกลไก ‘ชุมชนโอบอุ้มคุ้มครองเด็ก’ และผลักดันการทำงานเชิงนโยบายระดับจังหวัด กำหนดนโยบายคุ้มครอง สร้างการยอมรับในสังคม ลดความเสี่ยงของการกระทำผิดซ้ำ และผลักดันให้กลุ่มเป้าหมายปรับตัวในสังคมอย่างมีคุณภาพ
  6. ฐานข้อมูลและงานวิจัย 3 ด้าน คือ วิจัยเชิงระบบเพื่อสังเคราะห์ภาพรวมการทำงาน วิจัยกลุ่มเป้าหมายเพื่อศึกษาความต้องการและการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาที่เหมะสม และ วิจัยครูผู้จัดการเรียนรู้โดยวิเคราะห์พัฒนาการด้านสมรรถนะการจัดการเรียนรู้

นอกจาก 6 แผนงานดังกล่าว ในการดูแลน้อง ๆ อย่างต่อเนื่อง กสศ. ยังสนับสนุนให้เกิด ‘แผนงานที่ 7’ ผ่าน ‘ทุนสานฝันปันโอกาส’ ให้กับเด็กเยาวชน 1,081 คนทั่วประเทศ เพื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาในรูปแบบศูนย์การเรียน และผลักดันให้ได้ศึกษาต่อแม้เมื่อพ้นจากความดูแลของศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนออกไป ในระบบการศึกษาทั้งสายสามัญและสายอาชีพ

ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 5 อุบลราชธานี ‘พื้นที่แห่งโอกาสทางการศึกษา และโอกาสชีวิตใหม่’

“เด็กเยาวชนทุกคนเคยเชื่อว่า ใครที่ก้าวเท้าผ่านเข้ามาในศูนย์ฝึกฯ หรือสถานพินิจฯ ความฝัน ความหวังที่เคยวาดเคยมีจะดับสิ้นลงไปทันที ขณะที่เราในฐานะผู้ดูแลเยาวชนเหล่านี้ เชื่อว่าความผิดพลาดหรือชีวิตที่หักเหของเด็กเยาวชนในช่วงเวลาหนึ่ง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากโอกาสที่เขาไม่เคยได้รับ ทั้งโอกาสทางการศึกษา การพัฒนาศักยภาพในตัวเอง หรือการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดด้วยความรักความเข้าใจ และมูลเหตุเหล่านี้คือต้นทางอันซับซ้อนที่ทำให้เกิดปัญหารูปแบบอื่น ๆ ตามมา”

นี่คือเรื่องเล่าจาก จิตติมา กระสานติ์กุล ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี ที่เล่าให้ฟังถึงหลักการทำงานของศูนย์ฝึกฯ ก่อนพาเราเข้าไปเยี่ยมเยือนข้างใน เพื่อดูว่าด้านหลังบานประตูเหล็กที่มีกำแพงรั้วสูงทึบ ซึ่งเคยถูกมองว่าเป็นพื้นที่ปิดกั้นโอกาส ในวันนี้เมื่อเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จนกลายเป็น ‘พื้นที่การเรียนรู้อันหลากหลาย’ น้อง ๆ เยาวชนข้างในจะมีช่องทางเข้าถึงการพัฒนาตนเองในรูปแบบใดบ้าง

จิตติมา กระสานติ์กุล ผู้อำนวยการ
ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี

ที่นี่แบ่งการดูแลเด็กเยาวชนออกเป็น 4 ระยะ เริ่มจาก ‘ระยะแรกรับ’ (Orientation Stage) เมื่อน้อง ๆ เข้ามาจะมีการตรวจร่างกาย ดูแลเรื่องอาหาร ที่อยู่อาศัย มีครูที่ปรึกษา (นักจิตวิทยา) พาเข้าสู่กิจกรรมบำบัดฟื้นฟูจิตใจ ร่างกาย ความคิด และทบทวนตัวเองเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ก่อนเข้าสู่ ‘ระยะฝึกอบรม’ (Intermediate Stage) ด้วยการจัดการศึกษาทั้งสายสามัญ (กศน., อุดมศึกษา, ศูนย์การเรียน) ควบคู่กับการฝึกอาชีพ ในสาขาช่างเชื่อมโลหะ ช่างไม้และก่อสร้าง ช่างไฟฟ้า ดนตรี ศิลปหัตถกรรม ช่างตัดผม การเกษตร การช่างสตรี กีฬาและ E-sports เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นให้เลือกเรียนตามความสนใจ ได้แก่ หลักสูตรช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ ทำอาหาร เบเกอรี ช่างตัดเย็บ นวดเพื่อสุขภาพและแปรรูปสมุนไพร คอมพิวเตอร์เพื่อการสร้างอาชีพ โดยระหว่างการศึกษาวิชาการและวิชาชีพ น้อง ๆ จะได้รับการดูแลด้านจิตใจ สุขภาพร่างกาย และฝึกวินัยในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ มีครูที่ปรึกษา นักบำบัดจิต นักสังคมสงเคราะห์ คอยอภิบาลสนับสนุนเพื่อเตรียมพร้อมกลับคืนสังคม

เข้าสู่ ‘ระยะเตรียมพร้อมก่อนปล่อยตัว’ (Pre-Release Stage) สำหรับคนที่เหลือเวลาในศูนย์ฝึกฯ ไม่เกิน 6 เดือน จะมีกิจกรรมฝึกทักษะชีวิต-สังคม ความเข้มแข็งทางใจ แนะแนวการศึกษาต่อ เส้นทางอาชีพที่น่าสนใจ โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายสถาบันการศึกษาและภาคเอกชนเข้ามาเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ รวมถึงร่วมวางแผนติดตามน้อง ๆ หลังออกไปจากศูนย์ฝึกฯ ครอบคลุม 5 ด้าน คือที่อยู่อาศัย ชุมชน การศึกษา/การทำงาน ครอบครัว และความสัมพันธ์ทางสังคมกับการใช้เวลาว่าง

แล้วเมื่อถึงกำหนดออกจากศูนย์ฝึกฯ จะเป็น ‘ระยะการติดตามภายหลังปล่อย 1 ปี’ (The follow-up assistance after release Stage) โดยประสานผู้นำชุมชน ผู้ปกครอง สถานพินิจฯ สถานศึกษา และสถานประกอบการปลายทาง พร้อมกับผลักดันติดตามสนับสนุนทางวิชาชีพ และเป็นที่ปรึกษาด้านการใช้ชีวิต เพื่อร่วมกันดูแลจนเด็กเยาวชนสามารถตั้งหลักด้วยตัวเองได้ มีความแข็งแรงสมบูรณ์ทั้งด้านสภาพจิตใจและการประกอบภารกิจด้านการศึกษาหรือการทำงานอย่างมั่นคง

ภารกิจของเราคือต้องช่วยให้เด็ก ๆ ค้นพบโอกาส พบทางรอดใหม่ ๆ ทางสังคมด้วยการศึกษา การฝึกอบรมอาชีพตามความสนใจและความถนัด และไม่เพียงแค่เรียนจบได้วุฒิการศึกษา แต่ยังต้องมีกระบวนการติดตามเมื่อเด็กกลับไปใช้ชีวิตในสังคมอีกครั้ง เพื่อติดตามว่าการศึกษา การพัฒนาตนเองของเขายังเดินหน้าไปต่อได้ สามารถเรียนต่อได้ด้วยวุฒิที่มี มีงานทำและมีรายได้จากทักษะที่ได้รับการฝึกฝน ซึ่งเมื่อไปถึงจุดนั้น หมายถึงเราสามารถคืนความฝันความหวังให้กับเด็กเยาวชนกลุ่มนี้ได้สำเร็จ” จิตติมา กระสานติ์กุล ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี ทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มแห่งความหวัง

แนวทางการออกแบบการศึกษาของ ‘ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี’ แสดงให้เห็นว่า ‘กำแพง และบานประตู’ ที่เคยเป็นเส้นแบ่งระหว่าง ‘อิสรภาพ’ และ ‘จองจำ’ วันนี้ได้รับการเปลี่ยนแปลงจนทำให้เกิดภาพจำใหม่ โดยที่อีกฟาก ‘กำแพง และบานประตู’ เดียวกันได้กลายเป็นพื้นที่แห่ง ‘โอกาส’ ซึ่งไม่ใช่แค่โอกาสของน้อง ๆ ในกระบวนการยุติธรรม หากแต่เป็นจุดเริ่มของการ ‘เปลี่ยนแปลงการศึกษา’ ที่มีทางเลือกและตอบโจทย์ความสนใจของแต่ละคนได้ เป็นตัวอย่างการทะลุเส้นแบ่งของคำว่าเด็ก ‘ในระบบ’ หรือ ‘นอกระบบ’ เหลือเพียงรูปแบบการศึกษาที่มีทางเลือกโดยมีเด็กเยาวชนเป็น ‘ที่ตั้ง’ มีลู่ทางเดินหลากหลายให้พวกเขาพัฒนาทักษะที่มาจากความต้องการภายในอย่างแท้จริง ซึ่งกรมพินิจ ฯ และภาคีเครือข่ายของ กสศ. ได้ทำให้เห็นผลลัพธ์ความสำเร็จของเด็กกลุ่มหนึ่งที่ก้าวเดินล่วงหน้ากันไปแล้ว