“อยากเป็น มุโคดะ สึโยชิ”
คำตอบของ ‘ตูม-กนกศักดิ์ เซี่ยงว่อง’ เด็กชายวัย 17 ปี เมื่อเราถามว่าอยากเป็นตัวละครในอนิเมะอะไร นี่ไม่ใช่คำถามที่ยากเลยเพราะตูมบอกกับเราว่าเขาคือคออนิเมะอยู่แล้ว ถ้าว่างการจากทำงานและการเรียน อนิเมะนี่แหละคือสิ่งที่ทำให้เขาผ่อนคลายได้มากที่สุด
มุโคดะ สึโยชิ คือ พระเอกจากอนิเมชันเรื่อง ‘สกิลสุดพิสดารกับมื้ออาหารในต่างโลก’ ในขณะที่คนอื่นมีพลังใช้ดาบพิเศษ เวทมนต์มหัศจรรย์ มุโคดะเป็นคนเดียวที่มีพลังแปลกๆ อย่าง ‘เน็ตซุปเปอร์’ ซึ่งก็คือการสั่งซื้อของจากซุปเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์เมื่อไหร่ก็ได้
มุโคดะกับตูมและเด็กนอกระบบคนอื่นๆ มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ‘ความไม่เหมือนคนอื่น’ ตูมอาจไม่ใช่เด็กที่ฉลาดที่สุด แต่เป็นเด็กที่ตั้งใจทำงานไม่แพ้ใคร ชอบทำงานมากกว่าอยู่บ้านเฉยๆ ถ้าถามถึงพลังวิเศษของตูม ก็คงจะเป็นการขนกล่องนมได้เป็นร้อยลัง เลี้ยงไก่ ปลูกผำ และขี่ซาเล้งพาพี่ๆ อย่าง ‘ต้อม-ต้อม เจริญสุข’ และ ‘โชค-ประเสริฐ เจริญสุข’ ไปเที่ยวแถวบ้าน บ้านของพวกเขาอยู่ที่ใน ต.กรับใหญ่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี

พี่คนโตสุดของตูมคือ ‘ต้อม’ อายุ 22 ปี พิการเนื่องจากประสบอุบัติเหตุ และคนต่อมาชื่อ ‘โชค’ วัย 19 ปี เป็นเด็กที่มีพัฒนาการช้า ทั้ง 3 คนคือเด็กนอกระบบที่มีเงื่อนไขในชีวิตของตัวเองไม่เหมือนคนอื่นๆ สำหรับพวกเขาสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการมีรายได้ดูแลตัวเองและครอบครัว
ตูมทำอาชีพรับจ้างทั่วไปตั้งแต่ขนนมไปส่งตามโรงเรียน ปลูกผัก เลี้ยงไก่ ทำคลิปเกี่ยวกับเกมส์ใน TikTok (ช่อง gutoomhunter) ตูมบอกว่างานใช้กำลังนี่แหละเหมาะกับเขามากที่สุด ส่วนโชคชอบทำขนมไทย เช่น ขนมต้ม ข้าวต้มมัด และต้อมถนัดการไลฟ์ขายของ มีสตรีมเกมส์บางเป็นบางครั้ง ปัจจุบันช่อง TikTok ของต้อมที่ชื่อว่า naytom_x2 มีผู้ติดตามกว่า 2 พันคน
เพราะการทำงานเพื่อหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว รวมไปถึงสภาพแวดล้อมหลายๆ อย่างทำให้พวกเขารู้สึกสบายใจที่จะเรียน สกร. (ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้) มากกว่าการเรียนที่โรงเรียนในระบบ ที่สกร. ไปเรียนแค่วันอาทิตย์ตอนช่วงเช้า เวลาที่เหลือพวกเขาจึงเอาไปทำงานได้

อย่างตูมเอง ก่อนหน้านี้เคยเรียนอยู่ในโรงเรียนในระบบเหมือนกัน ประสบการณ์ดีๆ จากที่นั่นก็มีมากพอให้ตูมเอามาเล่าให้เราฟังได้ ตูมบอกว่าได้เจอทั้งเพื่อน ได้เล่นกีฬา ได้เรียน แต่มีบางอย่างที่ทำให้ตูมรู้สึกไม่ปลอดภัยเช่นเดียวกัน สิ่งนั้นคือการถูกบูลลี่
สิ่งนี้ทำให้ตูมไม่อยากตื่นไปโรงเรียน เมื่อถึงเวลาก็โดดเรียนบ้าง จนท้ายที่สุดไม่ไปโรงเรียนอีกเลย ส่วนเวลาที่ว่างจากการไปเรียนก็เอาไปทำงานอย่างเดียว แต่การไม่ไปเรียนของตูมทำให้คนในชุมชนมองว่าเขาคือเด็กไม่เอาไหน เด็กเกเร ดังนั้นเพื่อป้องกันตัวเองจากความคิดแง่ลบของผู้ใหญ่ ตูมเลยปล่อยให้ทุกคนคิดแบบนั้นและพยายามไม่ยุ่งเกี่ยวกับพวกเขา
เวลาผ่านไปสักพักจนตูมได้เจอกับ ‘จีราพร เทียนทอง’ หรือที่เด็กๆ เรียกกว่า แม่พร อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ในชุมชนเดียวกัน แม่พรใช้เวลาพอสมควรกว่าจะทำให้ตูมเชื่อใจได้ เพราะตูม ไม่คิดว่าจะมีใครหวังดีกับเขา กว่ากำแพงจะทลายลงแม่พรเองก็ต้องใช้ความพยายามมากๆ
แม่พรชวนตูม ต้อม และโชคหาพื้นที่ปลอดภัยของตัวเองในสกร. เพราะการเรียนรู้สำคัญสำหรับเด็กเสมอ ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่อยากให้เด็กๆ ทิ้งสิ่งนี้ไป แต่ในขณะเดียวกันการเรียนรู้ครั้งนี้พวกเขาต้องได้ความรู้ และได้ความสบายใจด้วย บทเรียนจากโรงเรียนเก่าทำให้เข้าใจได้ว่า การเรียนที่ไม่มีความสุขก็ยากที่จะรั้งเด็กไว้
การเรียนสกร. ใช่ว่าจะเหงา ตูมได้เจอเพื่อนใหม่ เจอคนมากมาย ในห้องเรียนมีทั้งคนที่เด็กกว่าและคนที่แก่กว่า แต่ก็เป็นเพื่อนกันได้ การเรียนที่นี่ทำให้ตูมกล้าพูดมากขึ้น เพราะได้ฝึกพูดกับคนที่หลากหลาย
เพื่อนที่ตูมรักที่สุดก็คงจะเป็นใครไม่ได้นอกจากต้อมและโชค สองคนนี้เป็นทั้งเพื่อนและพี่ที่อยู่ด้วยกันมานานก่อนจะมาเรียนสกร. เสียอีก ซึ่งวันนี้เราได้มีโอกาสคุยกับทั้ง 3 คนพร้อมกัน ภาพที่เราเห็นคือความรักและมิตรภาพที่พี่น้องมีให้กัน ต่อให้ไม่ใช่พี่น้องที่มาจากสายเลือดเดียวกันทั้งหมด แต่พวกเขาคือครอบครัวของกันและกันเสมอ
ตูมบอกว่าต้อมเป็นคนรักพี่รักน้อง ขณะเดียวกันโชคก็เป็นคนเอาใจใส่พี่น้องเสมอ ระหว่างที่เราสัมภาษณ์เราจะเห็นตูมและโชคสลับกันไปยืนนวดให้ต้อม เนื่องจากต้อมยังไม่สามารถทรงตัวได้ปกติ พวกเขาเลยคอยยืนกันไว้ไม่ให้ต้อมล้ม สิ่งหนึ่งที่เด็ก 3 คนนี้มีคือความรักให้กัน ความรักจากพี่น้องทำให้พวกเขามีแรงใช้ชีวิตต่อได้

ก่อนจะไปเราไม่ลืมถามทั้ง 3 คนว่าอยากมีพลังพิเศษอะไรกัน เพราะทั้ง 3 คนบอกว่าตัวเองชอบดูอนิเมะ
“อยากมีพลังพิเศษเสกดินน้ำลมไฟ เช่น เสกให้ดินดีปลูกอะไรก็ขึ้น จะได้เอาไปขายได้ น้ำก็จะเอาไว้รดน้ำต้นไม้ รดพืชในสวน ลมเอาไว้ใช้ตอนที่ร้อน ตอนที่ร้อนก็จะสั่งให้ลมพัดเย็นๆ” ตูมตอบ พลังพิเศษสำหรับตูมก็หนีไม่พ้นเรื่องงาน ที่เป็นแบบนี้เพราะเขามีเป้าหมายจะเก็บเงินไว้ซื้อรถมอเตอร์ไซต์ Honda Wave 125i สีดำ ตูมอยากเอาไว้ขี่ไปทำงาน และขี่พาต้อมกับโชคไปเที่ยวใกล้ๆ
“อยากมีพลังทำให้ตัวเองหายดี” ต้อมตอบ แม่พรบอกว่าตอนนี้ต้อมอาการดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก เพราะได้น้องๆ พาไปออกกำลังกายและขยับตัว
“อยากมีพลังย้อนเวลา จะย้อนไปตั้งใจเรียนกว่านี้ จะได้มีงานทำ มีเงินเลี้ยงครอบครัว” นี่คือคำตอบของโชค แม้ทุกวันนี้โชคจะเป็นคนที่ตั้งใจเรียนแล้ว แต่ถ้าย้อนไปได้เขาก็อยากจะตั้งใจเรียนกว่าเดิม ทั้งหมดนี้เพื่ออนาคตที่ดีขึ้น

เด็ก 3 คนนี้คือตัวแทนของเด็กนอกระบบที่ยังไม่ทิ้งความฝันของตัวเอง แม้พวกเขาจะมีปัญหาในชีวิตแต่ก็ยังอยากจะสู้กับมันต่อ พวกเขาไม่ได้ต้องการอะไรมากนอกจากพื้นที่ปลอดภัยที่ทำให้สบายใจและเป็นตัวเองได้
เรียนได้ ใช้ชีวิตเป็น คือความตั้งใจของครู สกร.
เวลานึกภาพห้องเรียน เรามักจะนึกถึงห้องสี่เหลี่ยมที่มีกระดาน โต๊ะเรียงกันเยอะๆ แต่ที่สกร. ของตำบลกรับใหญ่ ห้องเรียนคือศาลาโล่ง มีโต๊ะกับกระดานอยู่ตรงกลาง รอบข้างเป็นทุ่งนาและต้นไม้ นักเรียนทุกคนจะนั่งรวมกันอยู่ในศาลานี้ เด็กๆ จะเริ่มเรียนกันตั้งแต่ 9 โมงถึงเที่ยงทุกวันอาทิตย์ แต่ถ้าเด็กคนไหนอยากนั่งเล่นต่อครูก็ไม่ว่า แถมจะอยู่เป็นเพื่อนจนกว่าเด็กๆ จะกลับกันหมดอีกด้วย
“ครั้งแรกที่เจอนักเรียนเราถามแต่ละคนเลยว่าเขาอยากเรียนอะไร อยากฝึกอาชีพด้านไหน แล้วเดี๋ยวเราจะถอดบทเรียนมาทำกันที่นี่ เช่น ถ้าเขาชอบปลูกผักก็จะให้เขาลงมือปฏิบัติกับเพื่อนๆ มีคนหนึ่งบอกครูว่าดีใจมากที่พริกออกเม็ดแล้ว มันคือเรื่องเล็กน้อยแต่เขาภูมิใจกับมันมากนะ”
‘ครูตั๊ก’ พรวิมล ปลื้มจิตร ครู สกร. ในชุมชนนี้ซึ่งก็เป็นครูของ ตูม โชค และต้อมด้วย ครูตั๊กบอกว่าที่นี่เป็นห้องเรียนที่มีความหลากหลาย หลากหลายทั้งอายุและปัญหา เด็กแต่ละคนมาเรียนพร้อมกับเงื่อนไขในชีวิตที่ไม่เหมือนกัน หน้าที่ของครูก็คือทำยังไงก็ได้ให้พวกเขามีความรู้เอาไว้เอาตัวรอดให้ได้
ด้วยความที่แต่ละคนมีปัญหาที่แตกต่างกัน บางคนเจอเรื่องไม่ดีจากโรงเรียนมา บางคนไม่มีเวลามากพอที่จะเรียนทุกวัน สกร.จึงพยายามทำห้องเรียนนี้ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กมากที่สุด ไม่ใช่สภาพของห้องเรียนแต่หมายถึงครูที่เป็นผู้สอนอีกด้วย
“ครูจะพยายามปฏิบัติกับเขาเหมือนเป็นเพื่อน ไม่อยากแบ่งแยกความเป็นครูกับนักเรียน บางทีเรียนเสร็จก็ชวนเขาคุยว่าวันนี้เราทำอะไรกินกันดี หรือบางทีถ้ามีอบรมก็จะไปรับที่บ้านเลย ซึ่งพ่อแม่ก็จะได้สบายใจด้วยว่าไปกับครูตั๊ก”

แต่ไม่ใช่การเรียนที่นี่จะฟรีสไตล์ขนาดนั้น ที่สกร. ก็มีกฎที่ทุกคนต้องเคารพและทำร่วมกัน เช่น เก็บโทรศัพท์ก่อนเข้าเรียน มีการตรวจสุขลักษณะ แบ่งหน้าที่กันทำความสะอาดห้องเรียน แต่ที่แน่ๆ คือถ้าใครทำผิดกฎก็จะไม่มีการตีหรือการลงโทษอย่างรุนแรง จะมีแค่ตักเตือนกันเท่านั้น
ห้องเรียนนี้จึงเป็นห้องที่สอนทั้งวิชาการและทักษะการใช้ชีวิต เด็กหลายคนเคยเข้าสังคมในโรงเรียนใหญ่ไม่ได้ ทำให้พวกเขาปิดกั้นตัวเองให้ไม่ออกไปเจอใคร การมาเรียนที่นี่ทำให้เขารู้จักคนที่หลากหลายมากขึ้น และได้มิตรภาพจากการเรียนรู้ด้วยตัวเองอีกด้วย
“มีอยู่วันหนึ่งเราให้เขาทำกับข้าวกินกัน จะมีอยู่เมนูหนึ่งที่เขาทำพิเศษขึ้นมาเอง เขาบอกว่าอันนี้ทำให้ต้อมเพราะต้อมไม่กินเผ็ด ซึ่งครูเองก็ไม่รู้นะว่าต้อมไม่กินเผ็ด เราก็เลยเห็นว่าพอเขามาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่โอเค เขาก็ไม่ใช่เด็กที่เลวร้ายอะไรเลย”
สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยคือสิ่งสำคัญสำหรับเด็กนอกระบบ ไม่ว่าพวกเขาจะเจออะไรมา แต่อย่างน้อยการที่ได้รู้ว่ามีคนที่ยอมรับในตัวตนของพวกเขา ท้ายที่สุดพวกเขาก็จะแสดงด้านดีออกมาให้ทุกคนเห็นเอง
พลังจากครอบครัวคือสิ่งสำคัญ
“เมื่อก่อนเราจะเจอเด็กกลุ่มนี้ตอนไปออกกำลังกายที่สวนสาธารณะ เขาไม่มองหน้าไม่มองตาเรา ตอนนั้นเราก็กลัวเขา เขาก็กลัวเรา ไม่เคยคุยกันเลย”
จีราพร เทียนทอง หรือใครๆ มักจะเรียกกันว่า ‘แม่พร’ เล่าถึงประสบการณ์การเจอเด็กๆ ครั้งแรก ด้วยความที่เด็กเหล่านี้มักจะอยู่เป็นกลุ่ม ไม่ไปโรงเรียน ใส่เสื้อผ้าที่ไม่ได้ดูสะอาดเท่าไหร่เนื่องจากพวกเขามีเสื้อผ้าไม่กี่ตัว มีท่าทีที่แข็งกร้าว ไม่มองหน้า ไม่มองตาผู้ใหญ่ คนในชุมชนจึงค่อนไปทางกลัวพวกเขาและไม่อยากยุ่งด้วย

จนกระทั่งมีโครงการหนุนเสริมทางวิชาการและการจัดการความรู้สำหรับการพัฒนาเด็กนอกระบบการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งต้องอาศัยแรงจากอสม. ที่เป็นคนหน้างานมากที่สุด แม่พรเลยมีโอกาสได้พูดคุยกับเด็กกลุ่มนี้ แรกๆ เด็กหลายคนไม่มองหน้า ไม่ค่อยพูด แถมเวลามีประชุมก็จะไม่อาบน้ำ มาในสภาพที่ไม่น่าดูเท่าไหร่ แต่แม่พรก็ไม่ยอมแพ้ มั่นใจเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่สอนกันได้
“เราถามเด็กๆ ว่าทำไมไม่ไปโรงเรียนกัน คำตอบก็คือเขาถูกบูลลี่ ด้วยความที่เด็กบางคนก็ไม่ได้มีฐานะที่ดีมาก เสื้อผ้าก็อาจจะดูเก่าๆ เขาก็เลยโดน”
วิธีที่ทำให้แม่พรเชื่อมกับเด็กได้ดี คือ การดูแลเขาเป็นลูก แม่พรมักจะบอกเด็กๆ เสมอว่า ถ้ามีปัญหาอะไรเอามาคุยกับแม่พรได้ จะยังไม่มีการตัดสินว่าสิ่งที่เด็กๆ ทำนั้นถูกหรือผิด ถ้าในบางเรื่องที่เขาทำผิด แม่พรก็แค่ต้องสอนเขาดีๆ บางครั้งเด็กก็ทำผิดไปเพราะไม่มีใครสอนว่าการกระทำที่ถูกต้องเป็นอย่างไร
เช่น การมีท่าทีแข็งกร้าวต่อผู้ใหญ่ หรือที่แม่พรเรียกว่า ‘พร้อมไฝว้ (Fight)’ ของเด็กๆ ในเนื้อแท้ไม่ใช่ว่าเขาคิดไม่ดีอะไร แต่มันคือกลไกการป้องกันตัวเองของเด็ก ที่ทำแบบนั้นก็เพื่ออยากป้องกันไม่ให้ผู้ใหญ่มารังแกเขา แต่พอได้รับการดูแลจากผู้ใหญ่มากขึ้น จากสายตาที่แข็งกร้าวก็เปลี่ยนเป็นตาที่สดใส ยิ้มแย้ม และเคารพผู้ใหญ่ เห็นได้ว่าเด็กๆ ไม่ได้ดูแลอะไรยากเลย เขาแค่ต้องการผู้ใหญ่สักคนที่เอาใจใส่เท่านั้นเอง
ปัจจุบันเด็กๆ ในความดูแลของแม่พรเปลี่ยนไปมาก บางคนจากที่เคยไม่ทำอะไร ไม่เรียน ไม่ทำงาน ก็ลุกขึ้นทำงานเพื่อทำให้ชีวิตตัวเองดีขึ้น บางคนไม่เคยเห็นคุณค่าในตัวเอง ตอนนี้ก็เริ่มเห็นแล้วว่าตัวเองเก่งอะไรและมีศักยภาพแค่ไหน แม่พรบอกว่ากว่าจะมีถึงจุดนี้ได้มันต้องอาศัย ‘พลังตัวเอง’ และ ‘พลังครอบครัว’
อย่างตูม ต้อม และโชค แม่พรเองก็ดูแลมาตั้งแต่วันที่พวกเขายังเป็นเด็กที่แข็งกร้าว ในวันนี้พวกเขาอ่อนโยนและเข้าสังคมได้มากขึ้น แม่พรบอกว่าเด็กๆ ทั้ง 3 คนแค่อยากมีผู้ใหญ่คอยชี้แนะและคุ้มครองเขาได้ คุ้มครองในที่นี้หมายถึงการที่เด็กรู้สึกว่า ถ้าเขาเจอปัญหา ไม่รู้จะไปทางไหน ก็สามารถพึ่งพาแม่พรได้ และที่สำคัญแม่พรมีใจที่จะทำหน้าที่นี้ เมื่อเด็กๆ สัมผัสได้ว่ามีคนที่ห่วงใยพวกเขาจริงๆ พวกเขาก็จะรู้สึกว่าที่ที่เขาอยู่มันน่าอยู่มากขึ้น
“กว่าเด็กคนหนึ่งจะเติบโตได้เขาต้องใช้พลังของตัวเอง และพลังของครอบครัว ในเมื่อครอบครัวเขาไม่แข็งแรง เราก็จะเป็นคนที่แข็งแรงให้เขาเอง”
ตอนนี้แม่พรใช้พลังของตัวเองดูแลเด็กๆ ทั้งหมด 6 คน เพื่อสร้างให้โตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดี สิ่งที่เห็นได้ชัดจากการเปลี่ยนแปลงของเด็กคือการที่ชุมชนยอมรับพวกเขามากขึ้น แม่พรไม่ได้ใช้วิธีป่าวประกาศบอกว่าเด็กเปลี่ยนไปแล้ว แต่ให้ชุมชนเห็นเอง คนในชุมชนเองเมื่อเห็นเด็กออกไปทำงาน ออกไปเรียน ก็รับรู้ได้ว่าเป็นเด็กที่ขยัน อคติเดิมที่มีต่อเด็กก็เปลี่ยนไปเอง
“เราขอให้เขาคิดเป็น แค่เขาคิดอยากจะมีชีวิตที่ดีขึ้น แค่นั้นก็ถือว่าเปลี่ยนไปมากแล้ว แล้วถ้าเขาคิดแบบนี้เมื่อไหร่ เราไม่ต้องกลัวเลยว่าเขาจะหันหลังไปทำอะไรไม่ดีอีกไหม เขาจะเดินไปข้างหน้าแน่นอน” แม่พรทิ้งท้าย