‘สงขลา’ พัฒนาพื้นที่นวัตกรรม ‘โรงเรียนชีวิต’ วางระบบการศึกษาเชื่อมโยงส่งต่อทั้งจังหวัด
ABE The Series ‘ตัวแบบจัดการศึกษาเชิงพื้นที่’ ลดความเหลื่อมล้ำ EP.2

‘สงขลา’ พัฒนาพื้นที่นวัตกรรม ‘โรงเรียนชีวิต’ วางระบบการศึกษาเชื่อมโยงส่งต่อทั้งจังหวัด

จังหวัดสงขลา ดำเนินงานจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ด้วยหลักการถ่ายเทอำนาจ ทั้งจากบนลงล่างและล่างขึ้นบน มีกลไกสำคัญคือ ‘เวทีพูดคุย’ ที่ชักชวนหน่วยงานทางการศึกษามาพบปะแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่เวทีระดับจังหวัด จนถึงเวทีระดับตำบล 

ที่ผ่านมาสงขลามีความเข้มแข็งในการทำงานระดับท้องถิ่นด้วย ‘ศูนย์ช่วยเหลือสังคม’ ที่มีรากฐานโครงสร้างแข็งแรง ดำเนินงานโดยอาสาสมัครชุมชน อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และบัณฑิตอาสา ซึ่งวางแผนทำงานร่วมกันเพื่อให้งานลงลึกถึงกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ 

สงขลาได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลจังหวัด มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นแกนหลักบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ 11 หน่วยงาน แลกเปลี่ยนและเก็บข้อมูลร่วมกัน ส่วนในระดับปฏิบัติการ มีแอปพลิเคชันสำหรับคณะทำงานใช้บันทึกข้อมูลและความเคลื่อนไหวในท้องถิ่น สามารถเรียกดูกลุ่มเป้าหมายทั้งจังหวัดได้เป็นรายบุคคล ใช้ประมวลภาพรวมความก้าวหน้าของแต่ละเคสในแต่ละตำบล ดังนั้นเมื่อพบตัวกลุ่มเป้าหมาย จึงแก้ปัญหาหรือให้ความช่วยเหลือได้ทันที ทั้งกรณีเร่งด่วนฉุกเฉิน และการวางแผนงานระยะยาว     

พัฒนานวัตกรรม ‘ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน’ เพื่อจัดการศึกษาให้เด็กเยาวชนนอกระบบทุกกลุ่มเป้าหมาย เข้าถึงโอกาสในการพัฒนาตนเองและสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ ด้วยหลักสูตรที่ออกแบบให้สอดคล้องตามความสนใจและความถนัด สามารถประเมินฐานประสบการณ์ความรู้เดิม เพื่อแปลงเป็นหน่วยกิตและเก็บเป็น Credit Bank เพื่อรับวุฒิการศึกษาและนำไปใช้ศึกษาต่อ คือสิ่งที่สงขลากำลังขับเคลื่อน

อีกหนึ่งแผนงานการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดสงขลา คือการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรม ‘โรงเรียนชีวิต’ สานเครือข่ายร้อยรวมหน่วยงานทั้งจังหวัด เชื่อมต่อการศึกษาทุกระดับให้มีการสื่อสารรับส่งเด็กเยาวชนระหว่างสถาบัน ระหว่างหน่วยงาน มีระบบหลักประกันโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษา ก้าวข้ามข้อจัดเมื่อเปลี่ยนช่วงชั้น มีพื้นที่ปลอดภัยอยู่อาศัยและมีความมั่นคงด้านคุณภาพชีวิต ที่สำคัญคือเด็กเยาวชนทุกคนต้องได้รับการศึกษาต่อเนื่องตามศักยภาพ โดยเตรียมเดินหน้าทำงานค้นหาเด็กเยาวชนที่เข้าไม่ถึงสิทธิทุกด้าน ในพื้นที่นำร่องเขตชุมชนเมืองหาดใหญ่ ชุมชนแออัดริมทางรถไฟ ชุมชนท่าเรือ ก่อนขยายไปยังพื้นที่อื่น

สงขลาจัดการศึกษาเพื่อความเสมอภาคสำหรับเยาวชนทุกกลุ่มโดย ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ เชื่อมโยงเด็กเยาวชนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ให้ได้โอกาสศึกษาต่อในศูนย์การเรียนรู้เด็กเยาวชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี จนมีเด็กจำนวนหนึ่งสามารถจบการศึกษาภาคบังคับได้สำเร็จ และอีกส่วนหนึ่งเตรียมจบการศึกษาในภาคเรียนถัดไป

ด้านแนวทางการสื่อสาร ที่จังหวัดสงขลานำมาใช้ เน้นที่การจัดเวทีระดมทุนทรัพยากรจากคนในจังหวัด มีกิจกรรมการกุศลเพื่อรวบรวมเป็นทุนการศึกษาส่วนกลาง สำหรับช่วยเหลือดูแลเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา ไปจนถึงกลุ่มที่ยังอยู่ในโรงเรียนแต่ประสบปัญหาเศรษฐกิจหรือปัญหาครอบครัว ทำให้เสี่ยงหลุดจากระบบ ทั้งนี้ความช่วยเหลือดังกล่าวไม่ได้ลงไปที่ตัวเด็กเท่านั้น แต่คณะทำงานต้องการทำความเข้าใจและแก้ปัญหาที่ ‘ต้นทาง’ โดยมีแผนการสื่อสารและส่งความช่วยเหลือให้ไปถึงสมาชิกในครอบครัวของเด็กเยาวชนเหล่านี้ด้วย เพราะกรณีศึกษาของเด็กส่วนใหญ่ในพื้นที่ หลายเคสเด็กไม่ได้ต้องการออกจากโรงเรียนด้วยตัวเอง แต่ด้วยสภาพครอบครัวและเศรษฐกิจที่รุมเร้า ทำให้เด็กจำเป็นต้องยอมหลุดจากการศึกษาไป