ผนึกกำลัง กสศ. ร่วมพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน รร.ตชด.

ผนึกกำลัง กสศ. ร่วมพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน รร.ตชด.

จากเด็กตัวเล็กๆ ที่เคยมีโอกาสได้เรียนหนังสือกับ ครู ตชด. ก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจพร้อมความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเรียนหนังสือให้เก่งเพื่อกลับมาเป็นครูสอนเด็กๆ ในหมู่บ้าน ส่งต่อโอกาสให้เด็กคนอื่นๆ เหมือนอย่างที่เธอเคยได้รับในวัยเด็ก 

วันนี้ ครูสายชล ใจซื่อ ครูจากโรงเรียน​ตำรวจตระเวนชายแดนตะโกปิดทอง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เดินทางมาไกลเกินเป้าหมาย เพราะนอกจากจะได้กลับมาเป็นครู ตชด.สอนเด็กๆ ในโรงเรียนที่เธอเคยจบมาแล้ว

แต่ 22 ปี ในการทำหน้าที่ครู เธอได้สร้าง “ลูกโซ่” ส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ ในพื้นที่ จนหลายคนเลือกเดินตามเส้นทางที่เคยเดิน  กลับมาเป็น ครูตชด. ช่วยกันพัฒนาพื้นที่บ้านเกิด และพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า คุณภาพการศึกษาของเด็กที่จบไปจากโรงเรียน ตชด. มีประสิทธิภาพไม่ต่างจากโรงเรียนทั่วไป​

ครูยุ้ย เล่าย้อนถึงเส้นทางกว่าจะมาถึงวันนี้ว่า ตั้งเป้าหมายในชีวิตว่าอยากเป็นครูและเลือกเรียนด้านนี้โดยตรงแต่ไม่คิดว่าจะได้กลับมาเป็นครูในพื้นที่บ้านเกิด เพราะการเป็นครู ตชด. ก่อนหน้านี้ต้องสอบเข้าเป็นตำรวจตระเวนชายแดนนก่อน แต่จังหวะดีช่วงที่จบปริญญาตรีมีการเปิดรับสมัครครูคุรุทายาทรุ่นที่ 1 รับศิษย์เก่าที่จบจาก รร.ตชด.ให้มาสอบกลับมาเป็นครู เลยสมัครเข้ามาจนมีโอกาสได้กลับมาเป็นครูที่บ้านเกิด

“เรามีเป้าหมายในชีวิตเลยว่าอยากเป็นครูเพราะตอนเด็กๆ พ่อแม่ฐานะยากจนพอได้เรียนกับ ครูตชด.แล้วรู้สึกเป็นเหมือนไอดอล ทั้งสอนให้อ่านออกเขียนได้ สอนให้ทำแปลงเกษตร ปลูกผัก มีรายได้ แต่ในใจก็คิดว่าอาจเอื้อมไปไม่ถึงเพราะก่อนหน้านั้นถ้าเป็นครูตชด. ต้องไปสอบเป็น ตชด. เลยไม่คิดว่าจะมาเป็นครูในจุดนี้ที่ครูเคยอยู่นี้ได้ เผชิญมีโครงการสอบคุรุทายาทเลยไปสมัครเราจบครูมาแล้วได้ไปฝึกตำรวจ 1 ปี ฝึกครู 6 เดือนแล้วก็มาเริ่มต้นที่โรงเรียนเดิมของเรา”

 

ครู ตชด. สมัยก่อน มีข้อจำกัด
แต่สร้างนักเรียนออกไปแข่งขันกับคนข้างนอกได้

ครูสายชล ใจซื่อ โรงเรียน​ตำรวจตระเวนชายแดนตะโกปิดทอง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี

มองย้อนไปตอนนั้นการที่ ครูยุ้ย มีวันนี้ได้ก็เพราะครู ตชด. ที่ช่วยสอนปูพื้นฐานความรู้อ่านออกเขียนได้ให้ สมัยก่อนครูตชด.อาจไม่ได้จบครู มีข้อจำกัดหลายอย่าง แต่ก็สามารถสอนให้เราอ่านออกเขียนได้ มีความรู้ไปแข่งขันกับคนข้างนอกได้ ทำให้ครูยุ้ยเรียนจนจบปริญญาตรีได้ ทั้งที่สมัยที่ยังเด็กนักเรียนมีประมาณ 30 คน ครูมี 4 คนต้องสอนทุกวิชา ต้องทำกับข้าว ต้องปลูกผัก ทำหมดทุกอย่าง

“ตอนเย็นๆ เด็กๆ ก็จะมานอนกันที่วัดก็จะจุดเทียนอ่านหนังสือ ครูก็จะมาสอนเสริม เล่านิทาน สอนความรู้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย จนกลายเป็นแรงบันดาลใจทำให้เราอยากเป็นครู สมัยก่อนครูเก่งมาก เทคนิคการสอนหาสิ่งที่อยู่รอบตัวมาสอนได้หมด พอเราได้กลับมาสอนก็ดีใจที่ได้อยู่ในจุดนี้ ก็ต้องใช้โอกาสจากที่เคยเป็นศิษย์และได้รับแรงบันดาลใจจนมีวันนี้ ถ่ายทอดไปให้ลูกศิษย์ได้รับโอกาสนั้นและอยากกลับมาอยู่ในจุดที่เราอยู่บ้าง”

เวลาสอน ครูยุ้ย จะบอกเด็กๆ ว่า ​ ​ครูก็คือนักเรียน ตชด.​ในสมัยนั้น เหมือนพวกเธอทุกอย่าง ครูมีความฝันเล็กๆ ว่าวันหนึ่งครูต้องกลับมาเป็นครูให้ได้ จึงตั้งใจเรียน ออกไปสอบ กลับมาเป็นครู ช่วยพัฒนาท้องถิ่น ​พัฒนาพวกเธอให้อ่านออกเขียนได้ พอเราถามเด็กๆ ว่าโตขึ้นเขาอยากเป็นอะไร เขาก็จะบอกว่าอยากเป็นครู ตชด. เพราะมีเราเป็นแบบอย่างสร้างแรงบันดาลใจแค่นี้เราก็รู้สึกภูมิใจ ดีใจ ไม่ได้ต้องการรางวัลอะไรตอบแทนแล้ว เห็นเขาอ่านออกเขียนได้ ไม่ถูกเขาหลอกแค่นี้ก็คือความภูมิใจของเราแล้ว

 

ผนึกกำลัง กสศ. พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน
เพิ่มสมรรถนะเด็กชาติพันธุ์อ่านออกเขียนได้

ปัจจุบันมีลูกศิษย์ของครูยุ้ยที่เคยสอนที่โรงเรียนตะโกปิดทองนี้ จบออกไปและกลับมาเป็นครู ตชด. ที่โรงเรียนนี้ สองคนแล้ว ถือเป็นการส่งต่อโอกาสรุ่นต่อรุ่น ที่มีตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมจับต้องได้ บางคนจบออกไปเรียนโรงเรียนสวนผึ้งวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำอำเภอ แล้วยังสามารถสอบได้ที่ 1 ในชั้น ม.1  ม. 2 ตรงนี้สร้างความปลาบปลื้มให้ครูอย่างเราที่เขาออกไปจาก รร.ตชด. แล้วสามารถทำได้ดี เพราะเมื่อก่อนคนอาจมองว่า จบ รร.ตชด. จะไปแข่งอะไรได้ แต่ตอนนี้แสดงให้เห็นแล้วว่า รร.ตชด. ก็สร้างเด็กที่มีคุณภาพได้

หนึ่งในแนวคิดที่สำคัญคือการให้เด็กเป็นศูนย์กลางไม่ใช่ครูเป็นศูนย์กลาง ปัจจุบันทางโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนตะโกปิดทอง ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อมความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งทำงานร่วมกับ มรภ.หมู่บ้านจอมบึง มรภ.เพชรบุรี​ ​ยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีเข้าไปจัดกิจกรรมรการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาสมรรถนะครูโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน​ตามความต้องการของโรงเรียน เสริมให้เด็กอ่านออกเขียนได้ดีขึ้น เพราะเด็กส่วนใหญ่เป็นเด็กชาติพันธุ์ที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลัก

ทั้งนี้ ครู ตชด. ทั้งโรงเรียนจะได้รับการอบรม จากนั้นจะเลือก “ครูอาสา” เพื่อมาทำหน้าที่สอนเสริมให้กับเด็กที่มีปัญหาเรื่องการอ่านออกเขียนได้ เพิ่มเติมวันละ 1 ชม. โดยใช้เครื่องมือ บันได 4 ขั้น ของ อ.ศิวกานท์ ปทุมสูตร โดยทางครู ตชด. ได้ปรับรูปแบบให้เข้ากับนักเรียนเพิ่มเติมเช่นบางคนสมาธิสั้น ไม่สนใจก็จะใช้เพลง นิทาน มาเป็นสื่อช่วยให้เด็กกลับมาสนใจเนื้อหา จากเด็กหลังห้องที่ไม่สนใจตอนนี้กลับมาเริ่มอ่านออกเขียนได้ และทำให้การเรียนวิชาอื่นๆ ดีขึ้นตามไปด้วย

 

สื่อการสอนสามารถหาได้รอบตัว

ครูยุ้ย ประเมินว่า สื่อการสอนสามารถหาได้จากสิ่งรอบตัว สามารถปรับใช้จากสิ่งที่มี สามารถเปิดหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตแล้วนำมาปรับใช้  อย่างแปลงเกษตรของโรงเรียนก็เป็นเครื่องมือการเรียนรู้ของเด็กได้เป็นอย่างดี  เพราะเด็กทุกคนต้องลงมือทำทั้งปลูกผัก เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด ซึ่งเด็กสามารถเรียนรู้คณิตศาสตร์จากบัญชีฟาร์มสหกรณ์ หรืออะไรก็ได้

ทั้งนี้ ทุกอย่างเป็นสื่อการสอนให้กับเด็กได้หมดถ้ารู้จักใช้ เด็กก็จะได้เรียนรู้รู้ตามวุฒิภาวะ ตามที่ควรได้รับเต็มที่ ซึ่งการสอนของ รร.ตชด. ที่นี่ไม่ใช่แค่การสอนตามตำรา แต่เป็นการสอนจากสื่อรอบตัว ได้ลงมือปฏิบัติจริง เป็นแอคทีฟเลิร์นนิ่ง เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต

“เป้าหมายจากนี้ครูอยากให้เด็กที่จบจาก รร.ตชด. ออกไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กลับออกไปสามารถพัฒนาท้องถิ่นตัวเอง แล้วกลับมาให้โอกาสน้องๆ เหมือนที่ตัวเองได้รับโอกาส เมื่อน้องรุ่นต่อไปได้รับโอกาสก็จะเป็นลูกโซ่แห่งความดี ลูกโซ่แห่งการพัฒนา ลูกโซ่ที่จะทำให้เด็กชายแดนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นทุกคน” ครูยุ้ยกล่าวทิ้งท้าย