“เชื่อมั่นว่า ครูรัก(ษ์)ถิ่น คือหัวใจสำคัญในการส่งต่อโอกาสไปสู่ผู้เรียนในพื้นที่ห่างไกล”
โอวาทจากใจ รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ ในวันปฐมนิเทศข้าราชการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1

“เชื่อมั่นว่า ครูรัก(ษ์)ถิ่น คือหัวใจสำคัญในการส่งต่อโอกาสไปสู่ผู้เรียนในพื้นที่ห่างไกล” โอวาทจากใจ รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ ในวันปฐมนิเทศข้าราชการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1

รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวโอวาทในงานปฐมนิเทศข้าราชการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1 “การส่งต่อโอกาสสู่ผู้เรียนในพื้นที่ห่างไกล” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 ณ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีใจความสำคัญความดังนี้

“วันนี้ เป็นวันที่ครูรัก(ษ์)ถิ่นทุกคนควรจะภูมิใจ เป็นวันที่ครอบครัวของแต่ละคน มีความภาคภูมิใจในความสำเร็จทุกคน แต่อย่าภูมิใจนาน เพราะพวกเรากำลังเป็นหนี้ เป็นหนี้ของประเทศที่ให้โอกาส ให้ทุนการศึกษา แล้วก็มอบสิ่งดี ๆ ที่เป็นโอกาส ซึ่งคนอื่น ๆ อีกหลายหมื่นหลายแสนคน ไม่ได้รับเหมือนพวกเรา เพราะฉะนั้น ขอให้ทุกคนมีความภาคภูมิใจในตัวเอง แต่จำเป็นที่จะต้องแบกความหวังของประเทศไปด้วย

หลังจากนี้ ขอให้ครูรัก(ษ์)ถิ่นทุกคน มองออกไปนอกตัวให้มากที่สุด มองให้เห็นถึงโอกาสของตัวเอง มองให้เห็นถึงโอกาสของคนอื่นที่จะรับมอบสิ่งดี ๆ จากตัวเรา  ตอนนี้ ทุกคนหลุดพ้นจากความเป็นนักศึกษาแล้ว ไม่ใช่นักศึกษาครูแล้ว ตอนนี้เข้ามาอยู่ในสถานภาพ 2 อย่างที่สำคัญอย่างยิ่ง

สถานภาพแรก คือ คำว่า “ครู” ซึ่งต้องเป็นตัวอย่าง ต้องเป็นผู้ให้ ต้องเป็นคนที่ต้องคิดถึงคนอื่น ก่อนที่จะคิดถึงตัวเอง

สถานภาพที่สอง คือ เป็น “ข้าราชการ” ความเป็นข้าราชการ ไม่ใช่ใครก็จะเป็นได้ ความเป็นข้าราชการมีแบบแผน มีวิธีปฏิบัติ มีกฎมีเกณฑ์ ที่ไม่ใช่จะทำอะไรตามใจก็ได้ ไม่สามารถคิดอย่างนั้นได้ ความเป็นข้าราชการก็ต้องมีระเบียบแบบแผนปฏิบัติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่เหมาะทั้งนั้น

สองสถานภาพที่กล่าวมา กำลังบอกให้ ครูรัก(ษ์)ถิ่นทุกคนดำรงตน เป็นตัวอย่างให้กับคนอื่น และจะเป็นสิ่งที่โครงการนี้จะต้องตามดูแลทุกคนต่อไปในอีก 6 ปีข้างหน้า”  เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าว

รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์

รศ.ดร.ประวิต กล่าวว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้มีหารือเรื่องการติดตามตามดูครูรัก(ษ์)ถิ่นทั้ง 327 คนอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดให้ครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นแรกแต่ละคน สร้างโพรไฟล์ในระบบการติดตามผ่านเว็บไซต์ “ครูรัก(ษ์)ถิ่นดอทคอม” ซึ่งในสิ่งที่จะติดตามครูรัก(ษ์)ถิ่น จะมีเรื่องสำคัญหลายด้าน เช่น การติดตามดูแลและช่วยเหลือครูรัก(ษ์)ถิ่นในอนาคต เพราะโครงการนี้อยากจะให้ทุกคนในโครงการนี้เป็นกลุ่มนำร่องของการที่จะสร้างครูที่มีคุณภาพ หากในอนาคตได้เห็นความสำเร็จจากการทำงานกับครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นแรกหรือรุ่นต่อ ๆ ไป ที่เป็นมรรคเป็นผล เกิดประสิทธิภาพในการทำงานอย่างชัดเจน ในอนาคตก็มีโอกาสที่จะมีครูระบบปิดเช่นเดียวกับโครงการนี้มากขึ้น ครูรัก(ษ์)ถิ่น จึงถือเป็นตัวอย่าง เป็นแบบอย่างเป็นเป้าหลอมสำคัญ ที่จะต้องฝากความหวังไว้

ทั้งนี้ กระบวนการรวบรวมข้อมูล ครูรัก(ษ์)ถิ่น ดังกล่าว จะมีการรวบรวมโดยให้ครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นแรกเข้าไปกรอกข้อมูล เพื่อเข้าสู่กระบวนการที่เรียกว่า การประเมินตัวเองอยู่เป็นระยะ ๆ โดยประเมิน ใน 4 เรื่องสำคัญ คือ

เรื่องแรก เรื่อง ทักษะทางวิชาชีพ โดยพิจารณาด้านการสอนของทุกคน ว่ามีการพัฒนาขึ้นหรือไม่ พัฒนาอย่างไรบ้าง

เรื่องที่ 2 คือ เรื่อง ความสามารถทางอารมณ์และจิตใจ ทางโครงการจะตามช่วยเหลือดูแลเรื่องนี้ เพื่อช่วยให้ปรับตัวในการทำงานได้

เรื่องที่ 3 คือ การรับรู้ด้านความสามารถด้านการสอน จะมีการติดตามว่า มีทักษะหรือมีการพัฒนาตัวเองเพิ่มขึ้นเป็นยังไงบ้าง

เรื่องที่ 4 คือ จรรยาบรรณในวิชาชีพครู  การปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณวิชาชีพครู คือสิ่งที่ ทางคุรุสภาเป็นหน่วยงานที่ต้องกำกับดูแลเรื่องนี้

“ขอให้ครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นที่ 1 ทุกคน ทั้งที่มาร่วมงานปฐมนิเทศในวันนี้และไม่ได้มา เข้าไปในกลุ่มไลน์ที่ชื่อว่า โครงการวิจัยครูรัก(ษ์)ถิ่น” เพื่อที่แต่ละคนจะได้ทราบความเคลื่อนไหวเรื่องการประเมิน และกระบวนการต่างๆที่จะเก็บข้อมูล หากใครไม่ได้มา ก็ให้ช่วยส่งคิวอาร์โค้ดให้กับเพื่อน ๆ ด้วย โดยโครงการนี้ จะเริ่มมีกระบวนการในการรวบรวมข้อมูลประมาณเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งในอนาคต เว็บไซต์นี้ จะกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า อีพอร์ตโฟลิโอ (E-Portfolio) สำหรับทุกคน แต่ละคนจะเข้าไปดูข้อมูลของตัวเองโดยส่วนตัวได้ แล้วก็จะเก็บเรคคอร์ดข้อมูลเพิ่มได้ จะสามารถเห็นภาพรวมของทั้งรุ่นได้ แต่ไม่สามารถเข้าไปดูข้อมูลของครูคนอื่นได้ จะเห็นภาพรวมแล้วก็จะมีตัวแปรหรือปัจจัยอื่น ๆ ที่ทาง กสศ. อยากจะติดตาม ข้อมูลนี้ พอร์ตโฟลิโอนี้ จะตามทุกคนไปอีก 6 ปี ผ่านไป 6 ปีแล้ว จะดูพัฒนาการของ แต่ละคน เพื่อที่จะเข้าไปดูแลช่วยเหลือ

เพราะฉะนั้น สิ่งที่อยากจะบอก คือ หน่วยงานทั้ง 6 หน่วยงานที่ร่วมกันผลิตครูรุ่นนี้มา มีความคาดหวังกับแต่ละคนสูงมาก ไม่ใช่แค่ที่ต้องการให้ไปเป็นครูที่ดีเท่านั้น หากเป็นไปได้ คือ ไม่เป็นเพียงแค่ผู้นำชุมชนที่สร้างความเจริญให้กับชุมชนที่เป็นภูมิลำเนาของแต่ละคนเท่านั้น ยังคาดหวังที่จะเห็นไปถึง ความเจริญก้าวหน้าของวิชาชีพครู และยังต้องการที่จะสร้างองค์ความรู้ หวังให้ไปปรับเปลี่ยนระบบต่าง ๆ ของระบบการศึกษาใหญ่อีกในหลาย ๆ เรื่อง

ครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นแรกในวันนี้ ถือเป็นหัวใจสำคัญในการส่งต่อโอกาสสู่ผู้เรียนในพื้นที่ห่างไกล ทุกคนเคยเป็นผู้ได้รับโอกาส จึงอยากให้ส่งมอบโอกาสนี้ ให้กับน้อง ๆ ให้กับเยาวชน ให้กับคนที่จะเดินตามเส้นทางเดียวกันนี้ในอนาคตในทุก ๆ มิติ ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จในการทำงาน และทำงานอย่างมีความสุข” รศ.ดร.ประวิต กล่าว