สไบมอญ ลดว่างงาน-ความรุนแรงในครอบครัว ผ่านการ ‘ถักปักร้อย’ โยงวัฒนธรรมเชื่อมชุมชน

สไบมอญ ลดว่างงาน-ความรุนแรงในครอบครัว ผ่านการ ‘ถักปักร้อย’ โยงวัฒนธรรมเชื่อมชุมชน

นอกเหนือจากดอกบัวหลวง สัญลักษณ์ประจำจังหวัดปทุมธานี ที่ใครหลายคนรู้จักคุ้นเคยกันอยู่แล้ว ยังมีมนต์เสน่ห์ทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจอีกด้านอย่างการทำผ้า “สไบมอญ” จากฝีมือคนไทยเชื้อสายมอญที่มีการสืบทอดผ่านรุ่นแล้วรุ่นเล่า นับเป็นผลิตภัณฑ์สร้างชื่อเสียงให้กับชาวไทยเชื้อสายมอญในจังหวัดปทุมธานีใต้ภูมิปัญญาวัฒนธรรมดั่งเดิมที่มีมาแต่อดีต อัตลักษณ์ชาวมอญถูกถ่ายทอดผ่าน ‘สไบมอญ’ มาช้านาน

 

งานบุญโชว์ผ้า ‘สไบมอญ’ ผืนงามสีสันสะดุดตา

ทุกปีจังหวัดปทุมธานีมีกิจกรรมสำคัญ ‘ตักบาตรพระร้อย’ งานบุญประเพณีประจำปีที่คนในจังหวัดรู้กันว่าต้องออกมาร่วมงาน นั่นหมายความว่าในงานจะมีผู้คนจำนวนมากไม่ว่าชาวไทยเชื้อสายมอญ หรือพุทธ ต่างออกมาร่วมกิจกรรมสำคัญเป็นประจำทุกปีไม่ขาดสาย นอกเหนือจากการสะสมบุญแล้ว

งานบุญนี้ยังมีไฮไลท์สำคัญที่ดูจะขาดหายไปไม่ได้แถมยังคงเอกลักษณ์เฉพาะจังหวัดไว้อย่างน่าประทับใจ อย่างการแต่งกายโดยห่มผ้า ‘สไบมอญ’ ออกมาร่วมงานบุญ เสมือนเป็นสนามประชันความงามของลวดลายสีสันจากสไบเช่นกัน งานบุญจึงตลบอบอวลไปมนต์เสน่ห์อันงดงามจากสไบ แถมมีเรื่องราวจากผ้าสไบมอญที่ไม่ใช่เกิดขึ้นเพียงปีสองปี แต่สืบทอดมานานหลายสิบปีของชาวไทยเชื้อสายมอญอีกด้วย

 

วัฒนธรรมตัวกลางการเชื่อมคน ชุมชน เกิดอาชีพ

สีสันและลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ไม่ว่าจะเป็นลายดอกมะเขือ ลายดาวล้อมเดือน ลายหงษ์ ลายดอกบัว ฯลฯ ล้วนดึงดูดความสนใจและสะดุดตาทุกครั้งเมื่อพบเห็น สไบมอญไม่ได้มีดีแค่สวยงาม แต่วันนี้ผ้าสไบมอญกำลังสร้างรอยยิ้ม สร้างโอกาส ให้กับคนกลุ่มหนึ่งผ่านโครงการยกระดับกลุ่มสตรีสร้างโอกาสผ่านการพัฒนาสไบมอญสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นโครงการที่จัดขึ้นโดยการสนับสนุนของทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อสร้างโอกาสและสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนผ่านการอบรมเรียนรู้เรื่องการปักสไบมอญ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวไทยเชื้อสายมอญ

วรรธนสกล รักปทุม ผู้รับผิดชอบโครงการฯ เล่าให้ฟังว่า จังหวัดปทุมธานีมีชาวไทยเชื้อสายมอญอยู่จำนวนมากผนวกกับประเพณีประจำถิ่นของชาวมอญที่ต้องห่มผ้าสไบออกงานสำคัญๆ เช่น งานแต่งงาน งานบุญ ฯลฯ ชาวมอญทุกคนต้องห่มสไบไปทุกครั้ง ไม่เฉพาะชาวไทยเชื้อสายมอญ ชาวไทยพุทธยังห่มผ้าสไบมอญออกไปในงานสำคัญๆได้เช่นกัน ด้วยทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ สไบมอญยังคงถูก ‘ถัก’ และ ‘ปัก’ ร้อย ผ่านมือคนรุ่นแล้วเล่าจวบจนปัจจุบัน

 

‘สไบมอญ’ ลดความรุนแรงครอบครัว ช่วยคนตกงาน

เราพบข้อมูลชุดหนึ่งซึ่งเป็นตัวเลขความรุนแรงในครอบครัวของผู้หญิงในจังหวัดปทุมธานีจำนวนไม่น้อย สาเหตุทั้งความหึงหวง ฐานะเศรษฐกิจในครอบครัว การว่างงาน จึงคิดว่าโครงการยกระดับกลุ่มสตรีสร้างโอกาสผ่านการพัฒนาสไบมอญสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ จะเข้ามาหนุนเสริมความเปลี่ยนแปลงให้กับคน 3 กลุ่มที่บางคนเวียนอยู่กับวงจรความรุนแรงผ่านโครงการนี้ของ กสศ. คือ 1. แรงงานนอกระบบ 2. ผู้ว่างงาน และ 3. ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมกว่า 100 คน ทั้งหมดเป็นหญิงล้วน เฉลี่ยอายุตั้งแต่ 24-70 ปี ในพื้นที่นำร่องอำเภอสามโคก และอำเภอเมือง ได้รับโอกาสอบรมเรียนรู้การทำผ้าสไบมอญให้มีทักษะติดตัวประกอบอาชีพในอนาคต ผ่านการถ่ายทอดความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ และยังเสริมความรู้ด้านสื่อดิจิตอลขั้นพื้นฐาน การวางแผนทำธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ และการทำบัญชีครัวเรือนอย่างถูกต้อง

ข้อดีที่เราเห็นชัดเจนอีกด้านคือ แววตาพวกเขามีความหวังขึ้น เราเข้าไปเปลี่ยนแปลง Mind set คนกลุ่มนี้ เปิดพื้นที่ให้แสดงออก เพิ่มคุณค่าในตัวตน มีเพื่อน สังคม และรู้จักคุณค่าในชีวิตมากขึ้น ขณะเดียวกันยังลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวลงจนน่าพอใจ

“เพราะโครงการนี้เรามีผู้ใหญ่บ้าน ชุมชน จังหวัด เข้ามาช่วยสอดส่องดูแลลูกบ้านให้ บางครอบครัวไม่เข้าใจมักเกิดการหึงหวง แต่พอมีหน่วยงาน มีชุมชน เข้ามาช่วยดูแลทำให้เกิดบรรยายความไว้วางใจขึ้นในครอบครัว ข้อดีอีกด้านที่คาดไม่ถึงผู้ใหญ่บ้านแต่ละพื้นที่เกิดความสนิทสนมกลมเกลียวกัน ทำชุมชนแข็งแรงปัญหาอาชญากรรมลดลงเช่นกัน”

วรรธนสกล บอกด้วยว่า โครงการยกระดับกลุ่มสตรีสร้างโอกาสผ่านการพัฒนาสไบมอญสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ จังหวัดปทุมธานี ที่สนับสนุนโดยกสศ. มาจากความต้องการสร้างกลุ่มที่เข้มแข็งให้เกิดขึ้นภายในชุมชน โดยใช้วัฒนธรรมเป็นตัวกลางในการเชื่อมคนในชุมชนเข้าด้วยกัน ก่อนจะผลักดันให้กลายเป็นกลุ่มอาชีพทางวัฒนธรรมที่สำคัญในระดับจังหวัด ซึ่งกลุ่มอาชีพนี้จะเป็นโอกาสหนึ่งที่ช่วยลดจำนวนผู้ว่างงาน แรงงานนอกระบบ และคนจนในชุมชนให้น้อยลง

วรรธนสกล รักปทุม ผู้รับผิดชอบโครงการฯ

ตอนนี้เรากำลังพัฒนาช่องทางการกระจายสินค้าเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายของเราทุกคนได้ผลิตสินค้ามาออกจำหน่ายเกิดเป็นรายได้อย่างแท้จริง ตอนนี้เรากำลังพัฒนาทำถุงผ้า ผ้าคลุมโต๊ะ หน้ากากอนามัย ฯลฯ รวมถึงนิทรรศการการเรียนรู้การทำสไบมอญ เพื่อให้ผู้สนใจได้ศึกษาเรียนรู้และเข้าใจในอัตลักษณ์ของสไบมอญอย่างแท้จริง

“จังหวัดปทุมธานีถือเป็นแนวร่วมสำคัญที่ได้เข้ามาสนับสนุนการทำงานของโครงการให้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น ภายใต้การสนับสนุนจาก กสศ. ที่เล็งเห็นการให้โอกาสกับกลุ่มเป้าหมายต่อการเสริมสร้างศักยภาพการพัฒนาตนเองให้มีความรู้สำหรับประกอบอาชีพในอนาคตได้ โดยไม่จำเป็นต้องทำสไบมอญเพียงอย่างเดียว แต่สามารถประกอบอาชีพอื่นได้ภายใต้ความรู้ที่มี”

 

พ่อเมืองปทุมฯ หนุนชุมชนยกระดับคุณภาพชีวิต

สอดรับกับพ่อเมืองปทุมธานีอย่าง นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี บอกว่า โครงการฯ นี้ จะสามารถสร้างประโยชน์กับคนในชุมชนทั้งหมด 3 ด้านด้วยกัน คือ

  1. สร้างความสามัคคีของกลุ่มสตรี ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มรายได้ให้กับคนในครอบครัว
  2. สร้างความสำคัญของวัฒนธรรมประเพณีของคนไทยเชื้อสายมอญให้ยังคงอยู่กับชุมชน ผ่านการสืบสานการปักสไบมอญ ที่โครงการฯ ได้นำไปเป็นหลักสูตรการอบรม เพื่อสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน
  3. สร้างโอกาสทางการศึกษา ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญ ที่ประชาชนควรได้รับเพื่อนำไปสู่การพัฒนาและยกระดับชีวิตให้ดียิ่งขึ้น

จากสไบมอญสู่การช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายทำให้วันนี้เราเริ่มเห็นรอยยิ้มคนชุมชน ผู้คนในละแวกนั้นกลับมางดงามอีกครั้ง หรือแม้แต่ความรุนแรงในครอบครัวที่หลายคนเผชิญวันนี้พวกเขาไม่ถูกทอดทิ้ง และกำลังได้รับการฟูมฝักอย่างดี ผ่านขั้นตอนบ่มเพาะที่สร้างชีวิตด้วยตัวของตัวเอง