‘1 โรงเรียน 3 ระบบ’ โรงเรียนเนกขัมวิทยากับโมเดลการจัดการศึกษาที่มีทางเลือก “เพราะมองเป้าหมายไกลกว่าแค่ตามเด็กกลับมาเรียน”

‘1 โรงเรียน 3 ระบบ’ โรงเรียนเนกขัมวิทยากับโมเดลการจัดการศึกษาที่มีทางเลือก “เพราะมองเป้าหมายไกลกว่าแค่ตามเด็กกลับมาเรียน”

“ทุกเทอมมีเด็กกลุ่มหนึ่งติด 0 ร. มส. เยอะมาก เพราะส่งงานไม่ครบหรือมีเวลาเรียนไม่พอ นี่คือปัจจัยเริ่มต้นที่จะลุกลามต่อเนื่องไปถึงการหลุดจากระบบการศึกษา …ข้อมูลนี้บอกอะไรบ้าง มันกำลังบอกให้เราย้อนกลับไปดู ‘เหตุ’ ที่นำไปสู่ ‘ผล’ ว่ามีเด็กจำนวนหนึ่งซึ่งเขาอาจ ‘ไม่พร้อม’ หรือ ‘เหมาะสม’ กับวิธีการเรียนรู้และประเมินผลในรูปแบบเดิมแบบเดียวที่เคยทำกันมาตลอด”

สุทิสา สุธาบูรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเนกขัมวิทยา จังหวัดราชบุรี หนึ่งในโรงเรียนต้นแบบการจัดการศึกษาที่มีทางเลือกในโครงการ ‘Thailand Zero Dropout’ เล่าถึงที่มาของความร่วมมือกับ กสศ. สมัชชาการศึกษาจังหวัดราชบุรี และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ในการพัฒนาโมเดล ‘1 โรงเรียน 3 ระบบ’ เพื่อลดความเสี่ยงเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา พร้อมวางแนวทางให้เด็กที่หลุดออกไปแล้ว สามารถกลับเข้าสู่เส้นทางพัฒนาตนเองได้ โดยไม่ย้อนกลับสู่วงจรเดิมซ้ำอีก 

ผอ.สุทิสา เล่าว่า ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้เห็นปัญหาชัดเจน เมื่อนโยบายตามเด็กกลับมาเรียนสะท้อนว่า เด็กราว 7 ใน 10 คนที่หลุดไป อยู่กับครอบครัวที่เผชิญปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ส่วนเปอร์เซ็นต์ที่เหลือปะปนกันไปด้วยเหตุอื่น ๆ เช่นมีปัญหาสุขภาพ การเดินทาง หรือตั้งครรภ์ในวัยเรียน

“ใจความสำคัญคือเด็กทุกคนที่เสี่ยงหลุดหรือหลุดไปแล้ว วิถีชีวิตของเขาจะพลัดไปในอีกเส้นทางหนึ่ง บ้างไปทำงานหารายได้ บ้างติดตามผู้ปกครองไปอยู่ที่อื่น บ้างก็มีภาระเต็มเวลาจนกลับมาเรียนเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว เราจึงเริ่มคิดว่าแม้จะตามเด็กจนพบ แต่ถ้าจะพาเขากลับมาในขณะที่องค์ประกอบทุกอย่างไม่มีอะไรเปลี่ยน เชื่อเถอะว่าสุดท้ายผลลัพธ์ก็จะพาเราไปที่ตอนจบแบบเดิม ซึ่งคาดเดาได้เลยว่าเด็กจะหลุดซ้ำ …ดังนั้นโรงเรียนต้องเปลี่ยน”

คำถามสำคัญคือ ‘จะเปลี่ยนอย่างไร?’         

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 15 ระบุว่า การจัดการศึกษามี 3 รูปแบบ คือ (1)การศึกษาในระบบ (2)การศึกษานอกระบบ และ (3)การศึกษาตามอัธยาศัย โดยสถานศึกษาสามารถจัดการศึกษารูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือจัดทั้ง 3 รูปแบบพร้อมกัน โดยให้มีการเทียบโอนผลการเรียนสะสมระหว่างการศึกษาต่างรูปแบบและต่างสถานศึกษา รวมถึงเทียบโอนผลการเรียนจากการฝึกอาชีพหรือประสบการณ์การทำงาน นอกจากนี้ยังมีการขยายความ ‘การศึกษานอกระบบ’ ว่าเป็นการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบ วิธีการจัดการศึกษา ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขการสำเร็จการศึกษา โดย ‘เนื้อหาและหลักสูตรต้องมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของบุคคลแต่ละกลุ่ม’

สุทิสา สุธาบูรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเนกขัมวิทยา จังหวัดราชบุรี

เนื้อหาจาก พ.ร.บ. นี้จุดประกายให้ ผอ.สุทิสา พบกุญแจดอกสำคัญซึ่งทำให้โรงเรียนเนกขัมวิทยาสามารถออกแบบการจัดการศึกษาแบบองค์รวมที่มีความยืดหยุ่นเหมาะสม รองรับข้อจำกัดของเด็กรายคน โดยบูรณาการการจัดการศึกษาได้ทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ด้วยความร่วมมือของเครือข่าย ‘บ้าน วัด โรงเรียน’ กลายเป็นกลไกการบริหารจัดการศึกษา เพื่อตอบสนองความจำเป็นและความต้องการของนักเรียนทุกกลุ่ม ทั้งการเรียนผ่านเว็บไซต์ที่โรงเรียนจัดทำขึ้น รวมถึงการเรียนผ่านศูนย์การเรียนรู้ ที่มีการกำหนดให้เด็กได้เสนอหัวข้อการเรียนรู้ที่สนใจเพื่อนำมาเทียบโอนเป็นหน่วยกิต เพิ่มโอกาสการค้นพบและพัฒนาทักษะเฉพาะบุคคล เป็นแนวทางสำคัญของการป้องกันนักเรียนกลุ่มเสี่ยงไม่ให้หลุดจากการศึกษากลางคัน ทั้งยังมีพื้นที่รองรับกลุ่มที่หลุดไปแล้วให้กลับมา และอยู่ในระบบต่อไปได้จนจบการศึกษา

“พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ทำให้เราจัดการศึกษากว้างออกไปได้มากกว่าแค่ในห้องเรียน โดยเอาการเรียนนอกระบบกับการศึกษาตามอัธยาศัย มาออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับชีวิตสำหรับเด็กที่ไม่สามารถมาโรงเรียนได้ทุกวันด้วยวิธีการหลากหลาย อาทิ การทำเว็บไซต์ให้เรียนผ่านทางออนไลน์ ซึ่งมีบทเรียนที่บูรณาการเนื้อหาวิชาและตัวชี้วัดแบ่งเป็น 6 ระดับชั้น โดยข้อดีของการเรียนออนไลน์คือช่วยลดภาระงานลง เด็กจึงสามารถบริหารจัดการเวลาการเรียนรู้กับการใช้ชีวิตได้สมดุลขึ้น 

“นอกจากออนไลน์ เรายังจัดการเรียนรู้ในรูปแบบ ‘ศูนย์การเรียน’ ร่วมด้วย เพื่อเอื้อให้กลุ่มที่ต้องไปทำงานหารายได้ นำประสบการณ์ความรู้มาต่อยอด เพราะบางคนพอไปทำงานก็เริ่มมองเห็นเส้นทางชีวิตและเป้าหมายการประกอบอาชีพที่เป็นรูปเป็นร่างขึ้น กลายเป็นความสนใจหรือความถนัด ซึ่งเมื่อพ้นไปจากเนื้อหาวิชาในโรงเรียน เขาก็สามารถเขียนแผนการเรียนเฉพาะตัวขึ้นมา เพื่อให้โรงเรียนช่วยปรับหลักสูตรและเทียบโอนเป็นหน่วยกิตได้”

ทลายกำแพงความเหลื่อมล้ำ ด้วย ‘การศึกษาที่มีทางเลือก’

ผู้อำนวยการโรงเรียนเนกขัมวิทยา กล่าวว่าการจัดการศึกษาที่มีทางเลือก ไม่ใช่เพียงเป็นการแก้ปัญหา หากยังเป็นการเปิดช่องทางใหม่ ๆ ให้ระบบการศึกษามีความคล่องตัว เลื่อนไหลไปได้ตามกระแสโลกเปลี่ยน โดยทุกวันนี้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้จากทุกที่และทุกเรื่องราว ซึ่งหมายถึงว่า แม้การศึกษาในโรงเรียนเองก็ต้องเปิดช่องว่างให้เด็กได้เรียนรู้จากข้างนอกด้วย เพราะทิศทางของการศึกษาในปัจจุบันและอนาคต มีแนวโน้มว่าจะแยกการเรียนในระบบหรือนอกระบบไม่ออกแล้ว โรงเรียนจึงยิ่งต้องคำนึงถึงการจัดการศึกษาที่เหมาะกับคุณลักษณะของผู้เรียนรายคน ที่ไม่เพียงทำให้เด็กจะได้ค้นพบข้อดีข้อเสียและความถนัดของตัวเอง แต่ยังเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะช่วยรั้งเด็กไว้ในระบบการศึกษา เพราะเมื่อได้เรียนรู้ในสิ่งที่สนใจ เด็กจะเห็นประโยชน์ มีเส้นทางไปต่อ ด้วยความเชื่อมั่นว่าการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเองจะพาไปถึงการประกอบอาชีพได้จริง  

นวัตกรรม 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ จึงอาจเป็นหนทางหนึ่งของการทลายกำแพงความเหลื่อมล้ำ เมื่อดูจากผลลัพธ์ของการตามเด็กกลุ่มที่หลุดกลับมาได้ บทเรียนได้บอกว่า “การส่งเด็กกลับห้องเรียนแล้วบอกให้เขาพยายามอีกครั้ง โดยบริบทรอบตัวของเด็กไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเลย มันมีแต่โอกาสที่เด็กจะหลุดซ้ำในเวลาไม่นาน และยังเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา” ซึ่งบทเรียนนี้ยืนยันได้ว่า ‘การเรียนในระบบไม่ได้เหมาะกับเด็กทุกคน’

“ถึงเวลาแล้วที่เราจะมองไปให้ไกลกว่าการ ‘ตามเด็กกลับมาเรียน’ โดยผลักดันให้การจัดการศึกษาที่มีทางเลือกมีที่ทางในสังคมมากขึ้น ส่วนครูกับโรงเรียนก็ต้องเรียนรู้ปรับตัวให้ทัน เช่น หากข้อตกลงบอกว่าการเรียนนอกระบบหรือตามอัธยาศัยต้องมีการพบกันสัปดาห์ละครั้ง มีการส่งงาน การสอบ หรือติดตามความคืบหน้าของบทเรียน กรณีนี้ถ้าเด็กหายไปครูต้องเอาใจใส่และตามได้ทันที  เพราะอย่าลืมว่าแม้ตามความหมายของการศึกษาที่มีทางเลือก ผู้เรียนควรสามารถยกระดับความรับผิดชอบและดูแลตัวเองได้ดีกว่าการเรียนในระบบ แต่อยากให้ทุกท่านพึงระลึกว่า ใจความสำคัญที่เราปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาให้มีความยืดหยุ่น ณ วันนี้ เพราะต้องการให้เด็กเยาวชนที่ต้องการโอกาส ได้เข้าถึงการศึกษาที่เสมอภาคและมีคุณภาพ เช่นเดียวกับเด็กเยาวชนทุกคนในเจเนอเรชันเดียวกัน ไม่ว่าแต่ละคนจะแตกต่างกันด้วยฐานะเศรษฐกิจ ความพร้อมของครอบครัว สติปัญญา หรือสุขภาพร่างกายก็ตาม”