เจาะลึก พม. Smart แอปพลิเคชันแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพื่อให้ผู้ด้อยโอกาสเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของตนเอง นำไปสู่ ESS Thailand

เจาะลึก พม. Smart แอปพลิเคชันแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพื่อให้ผู้ด้อยโอกาสเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของตนเอง นำไปสู่ ESS Thailand

ในปัจจุบัน ประเทศไทยยังมีเด็กและเยาวชนจำนวนมากที่ขาดโอกาสทางการศึกษา โดยเฉพาะเด็กเยาวชนผู้ด้อยโอกาสที่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาไป ด้วยสาเหตุและปัจจัยต่างๆ เด็กและเยาวชนเหล่านี้ไม่เพียงเผชิญกับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเท่านั้น แต่ยังเผชิญกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้วย

ความเหลื่อมล้ำทางสังคมนำมาสู่ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ดังนั้น โจทย์สำคัญที่จะต้องแก้ให้ได้คือการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพื่อทำให้คนด้อยโอกาส สามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆ ที่พวกเขาพึงได้รับมากขึ้น

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ มูลนิธิศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ จึงร่วมกันดำเนินโครงการ ‘การพัฒนาระบบการขอรับการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์’ หรือ ‘พม. Smart’ เพื่อพัฒนาระบบช่วยเหลือเด็กเยาวชนผู้ด้อยโอกาส

ที่ผ่านมา มีการทดลองใช้ พม. Smart ใน 2 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลกและสุโขทัย และเป้าหมายต่อไปคือการขยายผลไปใช้ในจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ

สนทนากับ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. ถึงแนวคิดเบื้องหลังของการพัฒนาแอปพลิเคชัน พม. Smart เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคม และพูดคุยถึงปัญหาที่เด็กเยาวชนด้อยโอกาสต้องเผชิญ ตลอดจนมองเส้นทางข้างหน้าของแอปพลิเคชันตัวนี้ว่า จะพัฒนาไปในทิศทางใดเพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสได้มากขึ้น

จุดเริ่มต้นของ พม. Smart

ความตั้งใจแรกของการพัฒนาแอปพลิเคชันตัวนี้ เริ่มจากการที่ กสศ. อยากจะทำการวิจัยเรื่องของสิทธิประโยชน์ของเด็กและเยาวชนในประเทศไทย คำถามตั้งต้นคือ เยาวชนในไทยควรจะมีสิทธิประโยชน์ในด้านใดบ้าง แล้วตอนนี้พวกเขามีสิทธิประโยชน์อะไรอยู่บ้าง และสำรวจต่อไปว่า สิทธิประโยชน์ของเยาวชนในต่างประเทศมีลักษณะอย่างไร เพื่อตอบสิ่งที่เราสงสัยคือ ตั้งแต่เกิดจนโต เด็กหนึ่งคนต้องการสิทธิประโยชน์อะไรบ้างเพื่อให้เขาสามารถเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ 

โครงการดังกล่าวเริ่มทำระยะแรกในช่วงปี 2562 โดยความร่วมมือกับ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ศุภสิทธิ์ พรรณารุโนทัย เพื่อหาคำตอบว่า ชุดสวัสดิการของเด็กและเยาวชนไทยควรมีอะไรบ้าง ก็ได้ข้อมูลมาพอสมควร เป็นลักษณะของการทบทวนวรรณกรรม เพื่อสำรวจว่าที่ผ่านมาเราทำอะไรไปแล้วบ้าง และมีข้อมูลตรงไหนที่เป็นประโยชน์ กระบวนการนี้กินเวลาประมาณ 1 ปี

ต่อมาในระยะที่ 2 ช่วงปี 2563 เมื่อเราเริ่มก่อตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษาขึ้น ก็ทำให้เราพบว่า เวลาที่เด็กคนหนึ่งมีปัญหาหรือประสบภาวะด้อยโอกาส เขาไม่ได้เจอเพียงปัญหาใดปัญหาหนึ่ง แต่ต้องเผชิญปัญหาหลายๆ อย่างพร้อมกัน เช่น ความยากจน ความพิการ การถูกรังแก เร่ร่อน จนเป็นโจทย์ให้เราขบคิดว่า หากสถานการณ์เป็นแบบนี้ เราจะแก้ปัญหาที่จุดใดก่อน และถ้าแก้จุดไหนเรียบร้อยแล้ว ควรทำอะไรต่อไป เราสังเคราะห์ออกมาเป็นชุดความรู้ที่จะนำไปจัดการกับการศึกษาเชิงพื้นที่ ซึ่งมีปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษา 

แต่พอระยะที่ 2 จบลง ปัญหาที่ตามมาคือ แม้จะมีชุดความรู้ที่ใช้ในการจัดการกับปัญหาดังกล่าวแล้ว แต่กลับไม่มีใครเข้ามาสนับสนุนตัวระบบ ทำให้ปัญหาต่างๆ ไม่ถูกแก้ไขตามระบบที่วางแผนไว้ เพราะสวัสดิการจะต้องไปควบคู่กับระบบงบประมาณ แต่หลายครั้งงบประมาณในแต่ละพื้นที่ก็มีจำกัด และอาจไปไม่ถึงผู้ที่เดือดร้อนและด้อยโอกาส 

จึงนำมาสู่การทำงานในระยะที่ 3 ซึ่งก็คือการพัฒนาระบบ พม. Smart ที่ในระยะแรกยังไม่ได้เป็นแอปพลิเคชันแต่อย่างใด โจทย์ในครั้งนี้คือ เมื่อนำงานวิจัยที่เราทำมาทั้งหมดไปใช้จริงในพื้นที่ มันได้ผลไหม แล้วต้องใช้ในลักษณะไหนจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด แต่ทางโครงการ พม. Smart ที่จะทำในจุดนี้ ก็มีข้อจำกัดว่า ต้องการให้นำระบบไปทดลองใช้ในพื้นที่ที่มีฐานงานของ กสศ. อยู่บ้างแล้ว เพราะการเข้าถึงหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบมันง่ายกว่า เมื่อเทียบกับการให้ทีมงานลงพื้นที่เข้าไปแนะนำตัวในพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคยกับ กสศ. หรือโครงการในลักษณะดังกล่าวเลย 

เราทดลองใช้ใน 4-5 จังหวัด แต่ระบบดังกล่าวไปจุดติดในจังหวัดพิษณุโลก เนื่องจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (สนง.พมจ.) ที่พิษณุโลกทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก ประกอบกับทีมวิจัยที่ลงพื้นที่ได้นำวิธีวิจัยแบบการประเมินเชิงพัฒนา (developmental evaluation) หรือ DE เข้ามาใช้ ทำให้เราสามารถเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งว่าในพื้นที่ต้องการอะไร 

ปัญหาที่ทีมพบจากการลงพื้นที่และใช้วิธีแบบ DE คือ หนึ่ง เอกสารเยอะ เอกสารประมาณ 10 หน้าต่อเด็กหนึ่งคน เมื่อต้องส่งต่อเคส ก็ต้องเอาเอกสารทั้งหมดส่งไปให้หน่วยงานอื่น ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็มีรูปแบบในการบันทึกเอกสารที่แตกต่างกันอีก และหากกระบวนการทำงานมีหลายทอด มีหลายหน่วยงานรับผิดชอบ ก็จะเสียเวลารอให้หน่วยงานต่างๆ กรอกเอกสารใหม่ เพื่อปรับให้เข้ากับรูปแบบที่หน่วยงานของตนกำหนดไว้ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่กินเวลามาก และทำให้กระบวนการให้ความช่วยเหลือล่าช้า

ทาง กสศ. และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จึงพัฒนาระบบ พม. Smart ขึ้นเพื่อลดปัญหาความล่าช้าและยุ่งยากจากขั้นตอนการส่งเอกสารดังกล่าว และเพื่อทำให้การให้ความช่วยเหลือเด็กเยาวชนที่ด้อยโอกาสมีความรวดเร็วมากขึ้น 

ระบบ พม. Smart เข้ามาช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสอย่างไร

ประการแรกคือโอกาส เพราะเมื่อประสบปัญหา เด็กคนนั้นจะถูกแยกตัวออกมา และพาไปอยู่ที่บ้านพักเด็ก เขาต้องกรอกแบบฟอร์มกว่า 20 หน้า หลังจากนั้นหากเป็นกรณีที่เด็กถูกละเมิดสิทธิ เด็กก็จะถูกส่งให้ทางตำรวจ ซึ่งแบบฟอร์ม 20 หน้าที่กรอกไป ก็ต้องกรอกกันใหม่เพื่อให้เข้ากับสำนวนของตำรวจอีก พอตำรวจสืบเสร็จสิ้น แล้วจะส่งตัวเด็กกลับไปให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เขาก็ต้องมาทำเอกสารให้เหมาะสมกับหน่วยงานนั้นอีก มันจึงเกิดความล่าช้า แต่พอใช้ระบบ พม. Smart มันก็ลดขั้นตอนลงไปเยอะ และดำเนินการผ่านระบบได้เลย 

ในช่วงแรก ระบบ พม. Smart ดำเนินการผ่าน LINE เป็นหลัก แต่เพื่อความสะดวกมากขึ้น เพื่อรองรับระบบที่ขยายใหญ่ขึ้น และเพื่อให้รองรับและใช้ระบบดังกล่าวได้ทั่วประเทศ จึงมีการพัฒนาแอปพลิเคชัน พม. Smart ขึ้นมาในภายหลัง

ระบบที่ดำเนินการบนแอปพลิเคชัน พม. Smart มีความแตกต่างจากตอนที่ระบบดำเนินการบน LINE อย่างไร

โจทย์คือระบบต้องเหมาะกับคนทำงานในระดับพื้นที่ ซึ่งก็คือ อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เพราะงั้นเราต้องทำให้ระบบมันสะดวกที่สุด ลดขั้นตอนลงให้มากที่สุด เพื่อให้พวกเขาสามารถทำงานได้ง่าย ซึ่งแอปพลิเคชันก็ตอบโจทย์ในจุดนี้

เมื่อพัฒนาเป็นแอปพลิเคชัน จุดยืนของ พม. Smart ก็ชัดเจนขึ้น ว่าเป็นระบบให้ความช่วยเหลือ โดยเริ่มใช้ที่จังหวัดสุโขทัย ขณะเดียวกันระบบแจ้งเหตุและการรับมือเหตุด่วนเหตุร้าย เช่น เด็กถูกทำร้าย จะถูกพัฒนาเป็นแอปพลิเคชันอีกตัวคือ ‘พิษณุโลกพร้อมช่วย’ ซึ่งใช้งานครั้งแรกที่จังหวัดพิษณุโลก และในเวลาต่อมาก็จะถูกพัฒนาต่อเป็น ‘ESS Thailand’ 

การแตกออกมาเป็นแอปพลิเคชัน 2 ตัว คือ พม. Smart และ ESS Thailand ก็ทำให้การแบ่งประเภทของการให้ความช่วยเหลือชัดเจนยิ่งขึ้น

การเก็บข้อมูลเด็กเยาวชนที่ด้อยโอกาสของ พม. Smart มีลักษณะอย่างไร และช่วยทำให้พวกเขาเข้าถึงสิทธิได้อย่างไร

เดิมทีแต่ละกรมก็มีการเก็บข้อมูลเป็นส่วนๆ เช่น เด็กและเยาวชนก้อนหนึ่ง ผู้พิการก็อีกก้อนหนึ่ง ในแต่ละก้อนก็จะแยกย่อยลงไปอีก แต่ละกรมก็มีฐานข้อมูลของตัวเอง แต่เมื่อดูในระดับพื้นที่ เด็กแต่ละคนไม่ได้เผชิญแค่ปัญหาเดียว ดังนั้น ถ้าเราเป็น อพม. เราไม่สามารถเปิดแอปพลิเคชัน 4-5 แอป เพื่อที่จะเข้าถึงข้อมูลในแต่ละส่วนได้

ดังนั้น พม. Smart จึงนำข้อมูลในแต่ละส่วนมาบูรณาการ เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก และลดความทับซ้อนในการทำงานลง ในอนาคตเมื่อเด็กและเยาวชนเข้าถึงระบบนี้ เขาก็จะสามารถกรอกข้อมูลทีเดียวทุกด้าน และจะลดปัญหาการไม่เข้าถึงสิทธิด้านต่างๆ ของตัวเด็กด้วย

ยกตัวอย่างเช่นกรณีผู้พิการ เขาไม่สามารถไปที่ พม. และให้ พม. ดำเนินการออกบัตรคนพิการได้ด้วยตัวเอง แต่จะต้องได้รับการรับรองจากแพทย์ ดังนั้น ขั้นตอนก็คือผู้พิการจะต้องไปพบแพทย์ เพื่อขอใบรับรองว่ามีความพิการจริง จากนั้นจึงค่อยมายื่นเรื่องเพื่อขอรับบัตรคนพิการ เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิได้ แต่ปัญหาคือหากผู้พิการคนนั้นอยู่ในพื้นที่ห่างไกล การจะไปพบแพทย์ก็ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย และอาจมีค่าใช้จ่ายสูงในการเข้าถึงสิทธิ เช่น ต้องขายวัวสักตัวเพื่อให้ได้เงินค่าเดินทางไปพบแพทย์ให้ออกใบรับรอง 

ในอนาคต เราจึงมีความตั้งใจว่า จะพัฒนาระบบให้สะดวกเพื่อช่วยให้คนเข้าถึงสิทธิมากยิ่งขึ้น เช่น หากไปพบแพทย์แล้ว แพทย์รับรองว่าพิการจริง แพทย์คนนั้นก็จะสามารถกดยืนยันในระบบผ่านแอปพลิเคชันได้เลยว่าบุคคลผู้นี้มีความพิการ และจะต้องได้รับสิทธิประโยช์ที่ควรจะได้รับ ไม่ต้องเอาบัตรรับรองจากแพทย์ ไปขอรับบัตรคนพิการให้ยุ่งยาก

เมื่อนำแอปพลิเคชันมาใช้ อพม. ที่ทำงานในพื้นที่มีปัญหาในการใช้แอปพลิเคชันดังกล่าวหรือเปล่า

ไม่มีปัญหา ส่วนหนึ่งก็เพราะว่า เราก็มีการจัดอบรมเรื่องการใช้งานแอปพลิเคชัน พม. Smart ให้แก่ อพม. อยู่เสมอ ที่ผ่านมา เมื่อมีการอบรมที่กรุงเทพฯ เราก็พา อพม. ในแต่ละจังหวัดมาร่วมอบรม และหลังจากอบรมเสร็จสิ้น พอพวกเขากลับไป ด้วยความที่ อพม. ในพื้นที่แม้จะไม่ใช่วัยรุ่นหนุ่มสาว แต่ก็มีความรู้เรื่องเทคโนโลยี ทำให้การจัดการอบรมในรอบต่อๆ ไปสามารถทำผ่านช่องทางออนไลน์ได้ด้วย 

ขณะเดียวกันในการออกแบบแอปพลิเคชัน พม. Smart ทีมวิจัยและพัฒนาก็ต้องลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจคนทำงานอย่าง อพม. ให้มากที่สุด เพราะหมุดหมายปลายทางคือเมื่อแอปพลิเคชันออกมาแล้ว พวกเขาต้องนำไปใช้งานได้จริง เพราะฉะนั้นแอปพลิเคชันจึงต้องถูกออกแบบบนพื้นฐานของความเข้าใจ อพม. และมีความเป็นมิตรกับผู้ใช้พอสมควร 

ดังนั้น หลังนำแอปพลิเคชันมาใช้งาน เราจึงไม่พบปัญหาเรื่องการขาดความรู้ความเข้าใจทางเทคโนโลยีแต่อย่างใด

พม. Smart มีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างไร

พม. Smart ไม่ได้ช่วยลดเพียงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้วย เพราะช่วยให้เด็กเยาวชนกลุ่มที่ด้อยโอกาสเข้าถึงสิทธิได้ พอเขาพึงพาตัวเองได้ในระดับหนึ่ง ก็จะถูกส่งเข้ารับการศึกษาขั้นพื้นฐานแบบที่เด็กเยาวชนทุกคนพึงได้รับ

เพราะงั้นการจะลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จึงต้องลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้วย ซึ่งตัวระบบ พม. Smart ก็แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำดังกล่าว บนพื้นฐานของการทำให้เด็กเยาวชนด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงสิทธิของตนเองได้

ตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบัน การเดินทางของ พม. Smart เป็นอย่างไร

มันโตเร็วมาก ตอนแรกสุดเรากะว่า เราจะค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้ตั้งใจจะขยายพื้นที่ไปมากขนาดนี้ เราหวังแค่ให้เกิดการทำงานในระดับพื้นที่ โดยใช้องค์ความรู้ของเรามาช่วยเหลือเด็กเยาวชนที่ด้อยโอกาส และครอบครัวที่มีความเปราะบาง พม. Smart เป็นเพียงเครื่องมือ แต่กลายเป็นว่าเครื่องมือตัวนี้มันก็ประสบความสำเร็จมาก ไปไกลกว่าตัวองค์ความรู้ด้วยซ้ำ

แม้จะโตไวแบบนี้ เป้าหมายของเราก็ยังเหมือนเดิม เพียงแต่เราอาจต้องแบ่งกำลังคนเพื่อมาช่วยทำให้ระบบ พม. Smart ดำเนินต่อไปได้อย่างเข้มแข็งและมีเสถียรภาพ ส่วนในด้านการพัฒนาองค์ความรู้ เราก็ต้องทำต่อไปเหมือนเดิม ไม่งั้นสุดท้ายแอปพลิเคชันตัวนี้ก็จะเป็นแอปพลิเคชันที่ตาย มันจะต้องมีองค์ความรู้ควบคู่กันไป ไม่ใช่เป็นแค่แอปพลิเคชันเปล่าๆ

จุดต่อไปคือต้องแก้โจทย์เรื่องความทับซ้อนของสิทธิ ไม่ให้ระบบการจ่ายเงินจากสิทธิต่างๆ มันทับซ้อนกัน ซึ่งการจะพัฒนาตรงนี้ได้ เราจะต้องพัฒนาองค์ความรู้ต่อไป 

อนาคตของ พม. Smart จะเดินไปในทิศทางไหน

อยากให้พัฒนาไปถึงจุดที่สามารถเชื่อมโยงระบบช่วยเหลือเด็กเข้าด้วยกันได้อย่างแท้จริง เพราะว่าตอนนี้มีหลายโครงการที่เราทำอยู่ แต่ยังไม่ได้เชื่อมถึงกัน ปัญหาบางอย่างของเด็กและเยาวชนอาจมีผู้เกี่ยวข้องมากกว่าหนึ่งหน่วยงาน แต่ถ้าในอนาคตเราทำให้ระบบต่างๆ สามารถเชื่อมกันได้ ก็จะทำให้ปัญหาด้านสิทธิหลายอย่างของเด็กเยาวชนที่ด้อยโอกาสได้รับการแก้ไขมากขึ้น

และจากข้อมูลที่เรารวบรวมไว้มาหลายปี เราคิดว่าหากสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาประมวลผลและแปรข้อมูลให้ออกมาในรูปแบบของชุดสถิติด้านต่างๆ ก็จะทำให้หน่วยงานอื่นๆ สามารถนำข้อมูลสถิติตรงนี้ไปใช้เพื่อแก้ปัญหาเรื่องสิทธิของเด็กเยาวชนได้อีกทางหนึ่ง