“แว่นตาเด็ก” ความสุขในการเรียนที่ท้องถิ่นออกแบบได้
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช.

“แว่นตาเด็ก” ความสุขในการเรียนที่ท้องถิ่นออกแบบได้

ปัญหาด้านสายตา อาจกลายเป็นอุปสรรคสำคัญของการศึกษาที่ขวางกั้นโอกาสในการเรียนรู้ เป็นข้อจำกัดของร่างกายที่มีส่วนทำให้เด็กบางคนหลุดออกจากระบบการศึกษา หากไม่ได้รับการแก้ไขหรือดูแลอย่างเหมาะสม และปัญหานี้เป็นเรื่องที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตระหนักดี เราจึงริเริ่มโครงการ I SEE THE FUTURE แค่มองเห็นก็เปลี่ยนอนาคต เพื่อส่งเสริมการสร้างกลไกท้องถิ่นช่วยให้เด็กทุกคนเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพเกี่ยวกับบริการตรวจวัดสายตา ไปจนถึงระบบส่งต่อเด็กที่มีปัญหาให้ได้รับการรักษา ได้รับแว่นสายตาแบบไม่มีค่าใช้จ่าย และได้รับการดูแลอย่างถูกวิธี

กสศ. สนทนากับ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารีเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พบว่า ปัญหาสายตาบกพร่องในเด็ก เป็นปัญหาที่มีมานาน จากการศึกษาของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (Health Intervention and Technology Assessment Program) หรือ HITAP พบว่าเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก ๆ ที่มีปัญหาสายตาโดยเฉพาะยิ่งสายตาสั้น หากไม่ได้รับการดูแล ในอนาคตจะมีเด็กจำนวนหนึ่งที่ตาบอด นี่จึงเป็นปัญหาที่น่ากังวลมาก

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

“เชื่อว่าปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ โดยการจัดระบบการให้บริการสุขภาพกับเด็ก เมื่อเด็กกลุ่มนี้เข้าสู่วัยเรียนหรือการศึกษา เมื่อเขาไปเรียนหนังสือ บางครั้งจะสังเกตว่าเขาเรียนหนังสือไม่ค่อยดี สืบไปสืบมาบางทีจะพบว่าเป็นเพราะว่าเขามองไม่เห็น และไม่ทราบว่าภาวะการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับตัวเอง คือภาวะสายตาผิดปกติที่สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้แว่น ตรงนี้อาจจะต้องใช้ความร่วมมือของหลายหน่วยงานเข้ามาร่วมกัน อย่างเช่น คุณครูที่พบว่าเด็กเรียนไม่ดี ต้องดูว่าจะเป็นปัญหาเรื่องสายตาหรือไม่ ถ้าสามารถดูแลเรื่องปัญหาสายตาได้ เด็กส่วนหนึ่งก็กลับมาเรียนดีขึ้น สามารถดำรงชีวิตหรือว่าเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างมีความมั่นใจขึ้น”

นพ.จเด็จ กล่าวถึงสวัสดิการสุขภาพถ้วนหน้าที่มีอยู่ว่าทาง สปสช. เองก็ได้กำหนดเรื่องนี้เป็นสิทธิประโยชน์ตั้งแต่ปี 2564 ด้วยความที่อยากให้เด็กทุกคนที่อยู่ในวัยเรียนตั้งแต่อนุบาลและประถมศึกษาได้รับการตรวจคัดกรองเบื้องต้น ถ้าพบความผิดปกติหรือสงสัยว่าเป็นปัญหาสายตา ก็ให้ส่งไปตรวจอย่างละเอียดกับผู้เชี่ยวชาญอีกครั้ง 

สปสช. ทำงานร่วมกับราชวิทยาลัยจักษุ เพื่อให้หน่วยงานนี้เข้ามาช่วยในกรณีที่เด็กเล็กหรือเด็กที่มีความจำเป็นต้องใช้จักษุแพทย์ในการคัดกรอง ก็จะระดมจักษุแพทย์ทั่วประเทศเข้ามาช่วยเหลือ นั่นคือระบบดูแลสายตาของเด็กที่มี กับอีกส่วนหนึ่งคือใช้กลไกเข้าไปจัดระบบให้บริการผ่านกองทุนที่เรียกว่า “กองทุนสุขภาพตำบล” ซึ่งเป็นกองทุนที่เป็นเงินของ สปสช. กับเงินของท้องถิ่นเข้ามารวมกัน ซึ่งกลไกการบริหารที่ใช้กลไกท้องถิ่น ถือเป็นกลไกสำคัญที่เข้าไปช่วยค้นหาเด็กหรือคัดกรองได้ดี จึงกำหนดให้ส่วนหนึ่งใช้กองทุนสุขภาพตำบลเข้าไปดำเนินการ โดยที่ท้องถิ่นจะจัดระบบในการเข้าไปคัดกรอง จัดระบบในการหาแว่นตาให้หากเด็กมีความผิดปกติ มีการติดตามประเมินผล และเด็กเหล่านั้นต้องได้รับการตรวจสายตาทุกปี เพราะสายตาเปลี่ยนทุกปี 

“เท่าที่ทดลองระบบที่กล่าวมาก็เป็นไปได้ดี ทาง สปสช. พยายามจะสื่อสารกับท้องถิ่นที่อยากให้เน้นปัญหานี้เป็นปัญหาหนึ่งในการใช้งานกองทุนในการขับเคลื่อน นอกเหนือไปจากส่วนกลางที่เรากำหนดงบประมาณไว้ส่วนหนึ่งสำหรับลงไปปิดจุดอ่อนสำหรับบางพื้นที่ และเท่าที่ประเมินมา กองทุนสุขภาพระดับพื้นที่หรือกองทุนตำบลเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะว่าใกล้ชิดกับประชาชนที่สุด เข้าใจปัญหา มีกลไกการบริหารในลักษณะกรรมการ มีการทำโครงการเป็นเรื่องเป็นราว มีกลไกการติดตามประเมินผลอย่างดี ตรงนี้ก็คิดว่าทั้งในเรื่องกลไกการลงไปบริหารจัดการกับเรื่องปัญหาสุขภาพตาของเด็ก ก็จะได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพและได้ประสิทธิผล”

นพ.จเด็จย้ำว่าเด็กทุกคนควรได้รับการตรวจคัดกรองสายตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่อาจจะด้อยโอกาสจำเป็นต้องมีการดำเนินการเป็นพิเศษ เพราะว่าเด็กด้อยโอกาสไม่เพียงแค่ด้อยโอกาสทางการศึกษา แต่อาจจะรวมไปถึงการเข้าถึงบริการสุขภาพด้วย

แว่นตาที่ดีที่สุด คือแว่นที่เด็กมีความสุขในการสวมใส่

นพ.จเด็จบอกว่า สปสช. มีการกำชับกับหน่วยให้บริการตัดแว่นว่าให้ลงไปดูสินค้าที่มีคุณภาพ เมื่อซื้อจำนวนมากน่าจะมีการต่อรองราคาได้ ต้องได้ของคุณภาพดี และอยากให้เน้นในเรื่องของความสวยงามของแว่นด้วย เพราะว่าเด็กบางคน เมื่อยังเป็นเด็กเล็กอาจจะยังไม่สนใจเรื่องความสวยงามเท่าไหร่ แต่เมื่อเริ่มรู้หนังสือหรือเริ่มมีความเข้าใจว่าการใส่แว่นในวัยเด็กจะให้เขาถูกมองว่าแตกต่างจากคนอื่น ทำให้เด็กเขินอาย ดังนั้นอยากให้ทุกฝ่ายมองว่าแว่นตาที่มอบให้เด็ก เป็นสิ่งที่ช่วยเสริมความงามและเสริมศักยภาพความมั่นใจกับเด็กด้วย ไม่ให้เด็กที่มีปัญหาสายตา มองว่าเป็นความผิดปกติหรือเป็นจุดด้อยของชีวิต

“เคยมีประสบการณ์ตรงในการลงไปพูดคุยกับเด็ก บางครั้งกรอบแว่นที่ไม่สวย ทำให้เด็กไม่อยากใส่ แล้วก็เวลาเราคุยกับหน่วยบริการให้แว่นก็จะพูดเสมอว่าอยากให้มีกรอบแว่นให้เลือกอย่างหลากหลาย บางครั้งกรอบแว่นที่เด็กวัยรุ่นชอบก็อยากให้นำเข้ามาให้บริการกับเด็กด้วย อยากทำให้การใส่แว่นไม่ใช่เรื่องน่าอาย หรือไม่ใช่เรื่องที่เป็นความผิดปกติ แต่เป็นเรื่องปกติแล้วก็เป็นส่วนเสริมที่จะทำให้การเรียน การใช้ชีวิตของเด็กมีประสิทธิภาพสูงขึ้น หากเป็นอย่างนี้เชื่อว่าจะทำให้ในอนาคตจะมีเด็กเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง และใส่แว่นสายตาในการเรียนหนังสือจนเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าเด็กจะอยู่ส่วนไหน เด็กทุกกลุ่มจะได้ใช้บริการตรงนี้เพื่อเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำหรับการเรียน ทำให้การเรียนดีขึ้น”

“สายตา” ปัญหาสุขภาพที่ท้องถิ่นร่วมกันออกแบบการดูแลได้

นพ.จเด็จ ย้ำว่า ท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการดูแลเรื่องนี้ ด้วยการออกแบบระบบการเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เพื่อดูแลสุขภาพด้านนี้

งบประมาณที่ดูแลเรื่องนี้ ใช้งบประมาณที่ สปสช. ส่งไป แล้วท้องถิ่นจะใช้ระบบไหนนั้น สปสช. เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นออกแบบการดูแล เนื่องจากเด็กในชุมชน 90% อยู่ในโรงเรียน การจัดระบบเข้าไปคัดกรองในโรงเรียนไม่ยาก แต่อาจจะมีเด็กตกหล่น ต้องจัดระบบพิเศษในการดูแล เช่นประชาสัมพันธ์ว่าหากสมาชิกในชุมชนเห็นเด็กที่ตกสำรวจ ก็ติดต่อผ่านหน่วยบริการในระบบของเรา แล้วจัดงบประมาณพิเศษสำหรับเด็กกลุ่มนี้ในการเข้ารับบริการ ซึ่งเราก็ให้อำนาจท้องถิ่นออกแบบตรงนี้ อยากจะให้เกิดโมเดลการดูแล เช่น มีนักทัศนมาตรเข้ามาดูแล หรือให้ร้านแว่นช่วยเป็นกลไกกลางในการคัดกรอง

“เชื่อว่าการใช้กลไกที่ใกล้ชิดกับประชาชนที่สุดมาดูแล คือสิ่งที่มีประสิทธิภาพที่สุด เพราะเวลาเรากำหนดกลไกที่มาจากส่วนกลาง แล้วบอกให้ทุกคนปฏิบัติตาม ก็จะติดปัญหาว่าแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ร้านแว่นที่อยู่พื้นที่ทุรกันดาร จะให้บริการราคาเดียวกับร้านแว่นในพื้นที่เขตเมืองไม่ได้ อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ก็จะมีความแตกต่างกัน สปสช. จึงออกกติกาหลวม ๆ เพื่อให้ท้องถิ่นพื้นที่เข้าไปออกแบบโครงการเพราะเราไม่สามารถไปดูได้ 7,000 กว่าตำบลทั่วประเทศได้ แต่บอกกติกา ออกนโยบาย แล้วก็ให้แต่ละแห่งไปออกแบบการทำงานที่เหมาะสมกับตัวเอง”นพ.จเด็จทิ้งท้ายว่า ท้องถิ่นบวกกับ สปสช. มีงบประมาณที่ได้รับต่อปีประมาณ 3,000 กว่าล้านบาท เมื่อมีงบประมาณแล้ว ก็ต้องมีกรรมการเพื่อส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ซึ่งการทำงานอาจเกิดนวัตกรรมในพื้นที่หลากหลาย เรื่องนี้ต้องตามต่อด้วยงานวิจัย กสศ. เพื่อไปดูว่า หลังจากที่ได้ขยายการทำงานไประยะหนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็ก ๆ เป็นอย่างไรต่อไป