ตามติดชีวิตครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1 ก้าวแรกสู่สนามจริง บททดสอบครูนักพัฒนา

ตามติดชีวิตครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1 ก้าวแรกสู่สนามจริง บททดสอบครูนักพัฒนา

สุดขอบชายแดนไทย ณ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย คือจุดเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจที่สำคัญริมฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งยังคงบรรยากาศของเมืองค้าขายเก่าแก่ และพอมีนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เห็นประปราย

ห่างออกไปไม่ไกลนักยังมีชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ม้งซ่อนตัวอยู่กลางหุบเขา และเป็นที่ตั้งของโรงเรียนบ้านทุ่งนาน้อย ที่นี่คือเป้าหมายที่เราจะได้พบกับ (ว่าที่) ครูคนใหม่จากโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1 ประจำปี 2563 โดยการสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นั่นหมายความว่าในปี 2566 นี้ เหล่านักศึกษาในโครงการจะมีโอกาสลงสนามทดลองฝึกสอนเป็นรุ่นแรก จากเป้าหมายในการผลิตครูนักพัฒนาชุมชนรุ่นใหม่ 1,500 คน

อาจนับได้ว่า นี่คือก้าวเล็กๆ ของครูรัก(ษ์)ถิ่น แต่จะเป็นก้าวย่างที่ยิ่งใหญ่ที่ช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ

โรงเรียนและชุมชนต้องพัฒนาไปด้วยกัน

ที่บ้านทุ่งนาน้อย ตำบลเวียง ไต่ขึ้นไปสู่เนินเขาสูงชันจะพบกับโรงเรียนบนยอดดอย คณะครูให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น นำโดย ครูสมศักดิ์ ปันทะยม ครูฝ่ายวิชาการประจำโรงเรียน มาช่วยแนะนำพร้อมบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของโรงเรียนแห่งนี้ รวมถึงข้อมูลพื้นฐานที่ผู้มาเยือนควรรับรู้

แต่เดิมนั้นโรงเรียนบ้านทุ่งนาน้อยตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาด้านล่าง แต่เมื่อถึงฤดูฝนก็มักประสบปัญหาน้ำหลาก ทำให้อาคารเรียนได้รับความเสียหายอยู่บ่อยครั้ง ในที่สุดจึงได้ย้ายขึ้นมาอยู่บนดอย ซึ่งเป็นพื้นที่ทำสวนทำไร่ของชาวบ้านที่อุทิศให้แก่โรงเรียน และนั่นคือจุดเริ่มต้นของความผูกพันระหว่างชุมชนและโรงเรียน

ก่อนหน้านี้สถานะของโรงเรียนบ้านทุ่งนาน้อยจัดเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และมีจำนวนนักเรียนไม่มากนัก โดยเปิดสอนถึงระดับชั้น ป.6 แต่ด้วยฐานะผู้ปกครองที่ยากจนและการเดินทางที่ยากลำบาก ทำให้เด็กที่เรียนจบจากที่นี่ไม่มีโอกาสที่จะไปเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาในเมืองได้

ด้วยเหตุนี้ ครูธานินทร์ ธราพร ผู้อำนวยการโรงเรียน จึงเล็งเห็นว่า โรงเรียนต้องให้การช่วยเหลือนักเรียนที่ขาดโอกาสในการศึกษาต่อชั้นมัธยม จึงดำเนินการขออนุญาตจัดตั้งเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาตั้งแต่ปี 2545 จนสามารถเปิดสอนได้ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3

ปัจจุบันโรงเรียนบ้านทุ่งนาน้อยจัดเป็นโรงเรียนขนาดกลาง มีนักเรียนทั้งสิ้น 326 คน มีครูและบุคลากรรวม 19 คน

ครูสมศักดิ์เล่าต่อถึงสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนแห่งนี้ว่า ประชากรที่นี่ทั้งหมดล้วนเป็นชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ซึ่งมีวัฒนธรรมประเพณีเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ดังนั้นทางโรงเรียนจึงพยายามจัดการเรียนการสอนที่เอื้ออำนวยต่อวัฒนธรรมชนเผ่าด้วย เพื่อเป็นการอนุรักษ์วิถีชุมชน

“ทางผู้อำนวยการโรงเรียนของเรามีนโยบายชัดเจนว่า ทั้งโรงเรียนและชุมชนจะต้องพัฒนาไปด้วยกัน”

อุปสรรคที่ผ่านมาในด้านการศึกษา แต่เดิมนั้นผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังจำเป็นต้องอาศัยแรงงานจากบุตรหลานของตนเอง เมื่อถึงฤดูเกษตรกรรม ผู้ปกครองมักขอให้บุตรหลานไปช่วยงานในไร่ ทำให้เด็กขาดเรียนบ่อย แต่ทุกวันนี้ผู้ปกครองที่เป็นคนรุ่นใหม่เริ่มมองเห็นความสำคัญของการศึกษา จึงสนับสนุนให้บุตรหลานเข้ามาเรียนหนังสือกันมากขึ้น

“เรียกได้ว่าโรงเรียนเป็นหน่วยงานราชการเดียวที่อยู่ใกล้ชิดกับชุมชนนี้ ถ้าชาวบ้านติดขัดเรื่องอะไรก็จะเข้ามาปรึกษากับทางโรงเรียนเสมอ พอมีการประชุมหมู่บ้าน ผู้บริหารโรงเรียนก็จะเข้าร่วมประชุมด้วย ทำให้โรงเรียนของเรามีความใกล้ชิดกับชุมชนและชาวบ้านสามารถเข้ามาพึ่งพาได้”

ครูสมศักดิ์เล่าอีกว่า อีกหนึ่งปัญหาที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือ กำแพงภาษาซึ่งเป็นอุปสรรคในการสื่อสารอย่างมาก เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่สามารถพูดภาษาไทยหรือฟังภาษาไทยไม่เข้าใจ เช่นเดียวกับเด็กส่วนใหญ่ก็มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ ซึ่งครูพื้นราบก็อาจไม่สามารถสื่อสารกับเด็กได้

“เรามีครู 2 คนที่เป็นชนเผ่าม้ง ทำให้สามารถสื่อสารกับผู้ปกครองอีกทางหนึ่งได้ ท่าน ผอ. จึงเล็งเห็นว่า ถ้าได้ครูที่เป็นคนชนเผ่ามาช่วยสอนและดูแลเด็กๆ ก็จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการจัดการเรียนการสอนของคณะครูได้”

เมื่อทางโรงเรียนได้รับการประสานจากโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะได้อุดช่องว่างระหว่างครูและนักเรียน ซึ่งครูสมศักดิ์มองว่า นักศึกษาในโครงการนี้ถือเป็นคนในท้องถิ่นที่เข้าใจในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนที่นี่เป็นอย่างดี และคาดหวังว่าจะช่วยให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้

“ถ้าเรามีครูที่เป็นคนในท้องถิ่นมาช่วยสอน อย่างน้อยเด็กนักเรียนของเราก็จะมองเห็นเป้าหมายได้ชัดขึ้นจากครูที่เป็นต้นแบบให้แก่เขา มากกว่านั้นคือ ครูเหล่านี้ก็จะได้กลับมาช่วยพัฒนาชุมชนของตนเองให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเป็นชุมชนเข้มแข็งในที่สุด” ครูสมศักดิ์กล่าว

ค้นหา คัดกรอง คัดเลือก เยาวชนที่มีจิตวิญญาณความเป็นครู

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาที่พบมากของโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลคือ ปัญหาขาดแคลนครู เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีการบรรจุครูในพื้นที่หนึ่งๆ แล้วก็มักจะอยู่ไม่ได้นาน เพราะไม่มีความผูกพันลึกซึ้งกับคนในชุมชนมากพอ จึงมีการโอนย้ายครูอยู่เสมอ ทำให้การจัดกระบวนการเรียนการสอนไม่ต่อเนื่อง และไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชุมชน โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นของ กสศ. จึงพยายามเฟ้นหาเยาวชนในชุมชนที่ประสงค์จะเป็นครู เพื่อเป็นหลักประกันได้ว่า ครูเหล่านี้จะไม่ทอดทิ้งชุมชน เพราะหากเป็นครูที่เกิดและเติบโตในชุมชนนั้นก็จะรู้บริบทชุมชน เข้าใจในวิถีชีวิตวัฒนธรรม และสามารถปรับตัวเข้ากับชุมชนได้ไม่ยาก

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ. เล่าย้อนถึงความเป็นมาของโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นที่เริ่มจากการศึกษาสภาพปัญหาของโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลซึ่งมักประสบภาวะขาดแคลนครู ทำให้เด็กขาดการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ กสศ. จึงมีแนวคิดที่จะผลิตครูรุ่นใหม่ที่พร้อมจะกลับไปทำหน้าที่พัฒนาโรงเรียนในชุมชนบ้านเกิดของตน

“ในฐานะที่ กสศ. มีภารกิจสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสทางการศึกษา เรามองว่าเรื่องนี้เป็นโจทย์สำคัญ และเรามีข้อมูลด้วยว่าโรงเรียนที่ตั้งอยู่พื้นที่ห่างไกล ผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็กมักจะสู้โรงเรียนในเมืองไม่ได้ อันนี้คือสภาพข้อเท็จจริงที่เรารับรู้ได้แบบตรงไปตรงมา

“กสศ. จึงมีแนวคิดว่า เราจะผลิตและพัฒนาครูที่เป็นคนในชุมชนเองให้เข้ามาสู่ระบบที่เราเตรียมเอาไว้อย่างดีพอสมควร ตั้งแต่ระบบการค้นหามหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการ การเฟ้นหาเด็กที่มีใจรักอยากเป็นครู รวมถึงคัดเลือกโรงเรียนที่มีปัญหาขาดแคลนครูและพร้อมจะเข้ามาช่วยกันผลิตครูในระบบใหม่” ดร.อุดม กล่าว

กระบวนการผลิตและพัฒนาครูในโครงการนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นมิติใหม่ของวงการศึกษา ทั้งในแง่การพัฒนาจิตวิญญาณความเป็นครู และการเป็นครูนักพัฒนา เริ่มจากการค้นหา คัดกรอง และคัดเลือกอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อหาบุคลากรที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุด

ภาษาและการสื่อสาร ต้นทุนสำคัญของการเรียนรู้

อีกหนึ่งโครงการย่อยที่ช่วยเติมเต็มศักยภาพให้กับครูรัก(ษ์)ถิ่น ได้แก่ โครงการพัฒนาทักษะการสื่อสาร โดยมี รศ.ดร.ดารณี ศักดิ์ศิริผล หัวหน้าศูนย์พัฒนาศักยภาพมนุษย์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบหลัก ซึ่งได้นำกิจกรรมส่งเสริมทักษะการสื่อสารมาปรับใช้กับเด็กนักเรียน กิจกรรมของโครงการนี้จะเน้นเรื่องการพูดและการออกเสียงให้ชัดเจน สามารถสื่อสารได้อย่างถูกต้อง ทั้งตัวของนักศึกษาไปจนถึงเด็กนักเรียนเอง

“เราพบว่า นักศึกษาในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ซึ่งอาจประสบปัญหาเรื่องการพูดและการออกเสียงที่ไม่ชัดเจน โดยเฉพาะนักศึกษาหลักสูตรปฐมวัยและประถมศึกษา เมื่อถึงเวลาฝึกสอนหรือต้องพูดหน้าชั้นเรียน หากพูดไม่ชัดเจนก็อาจทำให้ไม่มั่นใจ เราจึงคำนึงถึงเรื่องนี้ว่าต้องพัฒนาครูรัก(ษ์)ถิ่นอย่างรอบด้าน มากกว่านั้นคือ นอกจากจะเป็นการพัฒนาตนเองแล้ว เรายังหวังว่านักศึกษาจะนำความรู้นี้ไปพัฒนาเด็กๆ ในท้องถิ่นด้วย

“การฝึกทักษะการสื่อสารจึงถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะครูจะต้องเป็นต้นแบบให้แก่เด็กนักเรียน ซึ่งการเป็นครูสัมพันธ์กับการพูด เพราะต้องเป็นผู้สอน ผู้อธิบายเนื้อหาต่างๆ แก่เด็ก หากครูพูดไม่ชัดเจน เด็กก็จะเลียนแบบ และยังส่งผลต่อการเขียนด้วย”

ผลจากการจัดกิจกรรมและการใช้แบบทดสอบสำหรับเด็กชาติพันธุ์ม้ง รศ.ดร.ดารณี พบข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า การออกเสียงคำบางคำในภาษาชาวม้งไม่มีในภาษาไทย และการออกเสียงคำบางคำในภาษาไทยก็ไม่มีในภาษาม้ง รวมถึงตัวสะกดบางตัวในภาษาไทยก็ไม่มีในภาษาม้ง เป็นต้น เพราะฉะนั้นโครงการนี้จึงเป็นนวัตกรรมหนึ่งในการพัฒนาเด็กให้มีความพร้อม โดยเฉพาะระดับปฐมวัยและประถมศึกษา

“ถ้าเด็กได้ฝึกฝนตั้งแต่ยังเล็ก ก็จะสามารถพัฒนาได้รวดเร็ว ยิ่งเร็วเท่าไรก็ยิ่งได้รับโอกาสในการพัฒนามากขึ้นเท่านั้น และนี่คือส่วนหนึ่งของการสร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และช่วยให้เกิดการศึกษาที่ดี มีคุณภาพ และเท่าเทียม”

จากรั้วมหาวิทยาลัยสู่ชุมชนบ้านเกิดของ (ว่าที่) ครูรุ่นใหม่

ที่อาคารเรียนระดับชั้นอนุบาล เสียงเจื้อยแจ้วและความซุกซนของน้องๆ หนูๆ ทำให้บรรยากาศในชั้นเรียนสดใสขึ้นมาทันที เราได้พบกับนักศึกษาโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1 กำลังสวมบทบาทครูฝึกสอนในโรงเรียนบ้านทุ่งนาน้อยอย่างขะมักเขม้น อีกมุมหนึ่งก็คล้ายกำลังจับปูใส่กระด้ง

‘ทราย’ – จุฑามณี สุขจางเจริญ ครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1 จากคณะครุศาสตร์ สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย วางมือจากการสอนมาพูดคุยกับเรา ก่อนจะบอกเล่าประสบการณ์ที่เธอได้รับว่า อาชีพครูนั้นเหนื่อยจริง แต่ก็มีความสุขไม่น้อย

ในครั้งนี้เธอได้เข้ามาทดลองฝึกสอนเป็นเวลา 3 สัปดาห์ หลังจากนั้นจึงค่อยกลับไปเรียนต่อ ก่อนจะเริ่มฝึกงานจริงเทอมหน้าอีกครั้ง

ทรายเกิดและโตในอีกหมู่บ้านถัดไปซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน ครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกร ทำไร่ทำสวนตามประสาชาวไทยภูเขาโดยทั่วไป ทั้งปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และผลไม้ต่างๆ ตามฤดูกาล รายได้ครอบครัวไม่สูงมากนัก

พ่อของเธอทำทุกวิถีทางเพื่อหารายได้ส่งเสียให้ลูกเรียน ทั้งเคยเป็นลูกจ้างของเทศบาล ตำแหน่งพนักงานเก็บขนขยะ รวมถึงงานรับจ้างทั่วไป ตัวของทรายเองจึงหาช่องทางแบ่งเบาภาระครอบครัว เมื่อครูแนะแนวแนะนำให้รู้จักโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เธอจึงสมัครเข้ารับการคัดเลือก

“เหตุผลที่สมัครเข้าร่วมโครงการนี้ เพราะโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น สามารถช่วยเหลือเราได้ทุกอย่างเลย ทั้งค่าเทอม ค่าหอพัก และค่าใช้จ่ายส่วนตัว ก็เลยทำให้สนใจ อีกอย่างหนึ่งก็คือ โครงการนี้ตอบโจทย์กับเราที่อยากจะเป็นครู และเราก็อยากทำงานในพื้นที่บ้านเกิดตัวเอง”

เมื่อพ่อทราบข่าวว่า ทรายได้รับทุนในโครงการนี้ พ่อเอ่ยเพียงว่า “ขอให้ลูกตั้งใจเรียนให้ดีที่สุด ชีวิตจะได้ไม่ลำบากเหมือนพ่อ เพราะพ่อเป็นคนไม่รู้หนังสือ”

ทรายเล่าว่า เธอมีความใฝ่ฝันอยากเป็นครูตั้งแต่เด็กๆ เพราะเคยทำงานอาสาในโบสถ์คริสต์ของชุมชนตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ม.2 ทำให้มีประสบการณ์การสอนเด็กๆ ในชุมชนด้วย ซึ่งเด็กส่วนใหญ่ไม่มีสัญชาติ และขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา เธอจึงเชื่อมั่นว่าหากได้มาเป็นครูที่นี่ก็อาจช่วยสร้างโอกาสให้เด็กได้มากขึ้น

“ปกติวันอาทิตย์ที่โบสถ์จะมีกิจกรรมร้องเพลง อธิษฐาน ฟังเทศนา ช่วงกลางคืนเราก็จะนัดเจอกัน 1-2 ชั่วโมง เราก็จะสอนดนตรีให้กับเด็กๆ เรียนพระคัมภีร์ด้วยกัน หรือถ้าหากมีเนื้อหาวิชาไหนที่เราพอจะสอนได้ก็จะช่วยสอนเด็กๆ ไปด้วย” ทรายเล่า

เมื่อถามว่าทำไมเธอจึงไม่คิดอยากไปทำงานในเมืองใหญ่ๆ ที่มีความเจริญมากกว่า และอาจมีช่องทางสร้างรายได้มากขึ้น ทรายตอบกลับว่า “เหตุผลที่อยากกลับมาเป็นครูดอย เพราะคิดว่าเด็กที่นี่ต้องการเรามากกว่า อย่างกรุงเทพฯ หรือที่อื่นๆ เขามีบุคลากรพร้อมอยู่แล้ว แต่สำหรับเด็กบนดอย เขาต้องการครูที่จะดูแลเขาได้จริงๆ และเป็นคนในท้องถิ่นที่เด็กๆ สามารถขอความช่วยเหลือได้”

ทรายทิ้งท้ายด้วยว่า โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ได้มอบโอกาสดีๆ ให้กับเธอ มอบโอกาสให้กับเพื่อนๆ และรุ่นน้องอีกหลายคน หากเรียนจบเมื่อไหร่ เธอจะได้กลับมาพัฒนาโรงเรียนและชุมชนให้ดียิ่งขึ้น เธอเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะไม่สูญเปล่า

เช่นเดียวกับ ‘รัตน์’ – รัตนา แซ่เท่า นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1 จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน เธอมองว่า โครงการนี้ช่วยเปิดโอกาสให้นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ได้เข้าสู่อาชีพครูที่สามารถทำประโยชน์กลับคืนสู่ชุมชนได้

พื้นฐานครอบครัวของรัตน์ไม่ต่างจากทรายเท่าไรนัก เธอมาจากหมู่บ้านเดียวกัน และเป็นเพื่อนกับทรายมาตั้งแต่วัยประถม การได้กลับมาเป็นครูที่โรงเรียนใกล้บ้าน

“โดยส่วนตัวเรารู้สึกผูกพันกับชุมชนแห่งนี้ เพราะเราเกิดที่นี่ เติบโตที่นี่ เรามีความสุขที่จะอยู่ที่นี่มากกว่า” รัตน์เล่าว่า แม้อาชีพครูจะไม่ใช่อาชีพในฝันเสียทีเดียว แต่อย่างน้อยก็เป็นอาชีพที่มั่นคง มีเกียรติ และเป็นที่ยอมรับในสังคม “ถามว่าเป็นครูเหนื่อยไหม ก็เหนื่อยค่ะ แต่ก็ถือเป็นอาชีพที่สุจริตและยังมีโอกาสได้ช่วยเหลือชุมชนของเราเองด้วย”

รัตน์สะท้อนข้อมูลให้ฟังว่า คนชนเผ่าส่วนใหญ่ไม่มีเงินส่งลูกเรียน บางคนเรียนถึงแค่ ป.6 หรือ ม.3 ก็ต้องออกมาทำไร่ทำสวน ซึ่งถ้าใช้วุฒิการศึกษานี้ไปสมัครงานก็อาจได้รับค่าตอบแทนที่ค่อนข้างน้อย เธอจึงมองว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ

“โครงการนี้ช่วยเปิดโอกาสให้คนได้มีการศึกษาที่เท่าเทียมกันมากขึ้น ถ้าได้รับการศึกษาแล้วก็จะช่วยให้มีงานทำ มีอาชีพที่ดี และมีชีวิตที่ดีขึ้นได้”

เสียงสะท้อนจากครูในพื้นที่

ในมุมมองของครูพี่เลี้ยง ครูวาสนา แซ่เล่า ครูประจำชั้นอนุบาล 3 โรงเรียนบ้านทุ่งนาน้อย ซึ่งมีหน้าที่ดูแลการฝึกสอนของนักศึกษา รวมถึงตรวจแผนการสอนและการทำสื่อการสอนในระดับชั้นอนุบาล สะท้อนปัญหาให้ฟังว่า โรงเรียนในเขตพื้นที่ห่างไกลมักประสบปัญหาขาดแคลนครู เพราะหากเป็นครูจากต่างถิ่นเข้ามาก็อาจไม่เข้าใจบริบทชุมชน ทำให้อยู่ได้ไม่นาน สุดท้ายก็ขอโอนย้ายออกไป

“เด็กที่นี่เป็นคนชาติพันธุ์ม้ง 100 เปอร์เซ็นต์ ที่ผ่านมาโรงเรียนเราค่อนข้างขาดแคลนครูที่สอนได้ทั้งภาษาไทยและภาษาม้ง ถ้ามีครูที่เป็นคนในท้องถิ่นมาช่วยสอนก็จะช่วยพัฒนาเด็กได้ดียิ่งขึ้น เพราะเป็นลูกหลานของชุมชนเราเอง”

ครูวาสนาเล่าเพิ่มว่า ทางโรงเรียนบ้านทุ่งนาน้อยปรับกิจกรรมให้เข้ากับบริบทท้องถิ่น โดยการสอนในระดับปฐมวัยจะสอดแทรกทั้ง 2 ภาษา อย่างแรกคือภาษาไทย หากเด็กไม่เข้าใจก็ต้องสอนภาษาม้งอีก 1 รอบ

“น้องนักศึกษาจากโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ทั้งสองคนต่างก็เป็นคนชนเผ่าเหมือนกัน ถือเป็นคุณสมบัติสำคัญมากที่จะช่วยปูพื้นฐานด้านภาษาให้กับเด็กชั้นอนุบาลของเรา คนในชุมชนเองจะมีความเชื่อใจมากขึ้น เพราะเขาก็เห็นเรา เราก็เห็นเขา เพราะในชุมชนเรารู้จักใกล้ชิดกันดี”

ทั้งหมดนี้คือเสียงสะท้อนจากครูในพื้นที่ ซึ่งเชื่อมั่นว่าครูรุ่นใหม่จากโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นจะสามารถช่วยเติมเต็มในสิ่งที่ขาด เพิ่มโอกาสให้เด็กในพื้นที่ห่างไกล และท้ายสุดจะสามารถคืนบุคลากรที่มีคุณภาพกลับสู่ท้องถิ่น สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตต่อไป

ก้าวต่อไปของครูรัก(ษ์)ถิ่น ขยายผลครูต้นแบบทั่วประเทศ

กระบวนการหล่อหลอมนักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่นเริ่มใกล้เข้าสู่จุดหมาย โดยนักศึกษารุ่นที่ 1 กำลังเตรียมตัวที่จะบรรจุเป็นครูในปี 2567 ที่จะถึงนี้ ดร.อุดม วงษ์สิงห์ กล่าวเสริมทิ้งท้ายว่า ทาง กสศ. เองยังได้มองไปถึงอีก 6 ปีข้างหน้า โดยจะติดตามข้อมูลของครูรุ่นใหม่ต่อไปว่าจะมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนและพัฒนาชุมชนได้ตามเป้าหมายมากน้อยเพียงใด ซึ่งเป็นโจทย์ที่ต้องวิจัยต่อไปในอนาคต

“ความจริงแล้วบทบาทการเป็นครูกับนักพัฒนาชุมชนคือสิ่งเดียวกัน น้องๆ นักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่นทุกคนล้วนเป็นความหวังของชุมชน เป็นความหวังของหมู่บ้าน ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการเข้าไปช่วยแก้ปัญหาชุมชน ไปให้ความรู้ หรือไปทำงานในมิติของการพัฒนาชุมชน

“ปี 2567 จะเป็นปีที่สำคัญ เมื่อเด็กเหล่านี้กลับไปสอนหนังสือที่โรงเรียนปลายทางในพื้นที่ห่างไกล เราก็คาดหวังว่าโรงเรียนเหล่านี้จะมีคุณภาพการเรียนรู้ที่ดีขึ้น รวมถึงผลลัพธ์ปลายทางของเด็กนักเรียนที่สามารถมองเห็นคุณค่าในตัวเอง มีทักษะที่ดีพร้อม และมีเจตคติที่ดีในการใช้ชีวิต และคาดหวังว่าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นจะสามารถเป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป” ดร.อุดม กล่าว

รายชื่อโรงเรียน พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

จังหวัด นราธิวาส จำนวน 4 โรงเรียน

  • โรงเรียนผดุงมาตร
  • โรงเรียนสวนพระยาวิทยา
  • โรงเรียนราชพัฒนา
  • โรงเรียนนราสิกขาลัย

จังหวัดยะลา จำนวน 15 โรงเรียน

  • โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 94 (บ้านบ่อน้ำร้อน)
  • โรงเรียนคุรุชนพัฒนา
  • โรงเรียนบ้านตาเซะ
  • โรงเรียนบ้านราโมง
  • โรงเรียนบ้านกาตอง
  • โรงเรียนบ้านหลักเขต
  • โรงเรียนพัฒนาบาลอ
  • โรงเรียนบ้านโกตาบารู
  • โรงเรียนบ้านตะโละหะลอ
  • โรงเรียนบ้านเยาะ
  • โรงเรียนบ้านโต
  • โรงเรียนบ้านลูโบ๊ะปันยัง
  • โรงเรียนบ้านคลองน้ำใส
  • โรงเรียนบ้านสะเอะ
  • โรงเรียนกาบังพิทยาคม

จังหวัดปัตตานี จำนวน 16 โรงเรียน

  • โรงเรียนวุฒิชัยวิทยา
  • โรงเรียนนิคมสร้างตนเองโคกโพธิ์ มิตรภาพที่ 148
  • โรงเรียนบ้านบางมะรวด
  • โรงเรียนบ้านท่าน้ำตะวันออก
  • โรงเรียนบ้านน้ำบ่อ
  • โรงเรียนบ้านปาลัส
  • โรงเรียนบ้านตรัง
  • โรงเรียนบ้านกระเสาะ
  • โรงเรียนบ้านบูดี
  • โรงเรียนบ้านฝาง
  • โรงเรียนบ้านตะโละไกรทอง
  • โรงเรียนบ้านน้ำดำ
  • โรงเรียนบ้านโลทู
  • โรงเรียนบ้านวังกว้าง
  • โรงเรียนสะนอพิทยาคม
  • โรงเรียนวังกะพ้อพิทยาคม

รายชื่อโรงเรียน ภาคตะวันตก

จังหวัดตาก จำนวน 1 โรงเรียน

  • โรงเรียนบ้านร่มเกล้า 2

รายชื่อโรงเรียนที่ได้รับทุนการศึกษาผ่านโครงการ Million Gift Million Smiles

จังหวัดเชียงราย จำนวน 1 โรงเรียน

  • โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15
    (เวียงเก่าแสนภูวิทยาประสาท)

จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 3 โรงเรียน

  • โรงเรียนชลประทาน
    เขื่อนแม่กวงจิราธิวัฒน์อุปถัมภ์
  • โรงเรียนบ้านโป่งน้อย
  • โรงเรียนวัดสันคะยอม

จังหวัดลำปาง จำนวน 1 โรงเรียน

  • โรงเรียนวัดเสด็จ

จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 1 โรงเรียน

  • โรงเรียนบ้านท่าข้าม

จังหวัดตาก จำนวน 3 โรงเรียน

  • โรงเรียนบ้านร่มเกล้า 2
  • โรงเรียนบ้านร่มเกล้า 4
  • โรงเรียนบ้านห้วยไม้แป้น

จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 4 โรงเรียน

  • โรงเรียนบ้านควนเงิน
  • โรงเรียนบ้านท่าไทร
  • โรงเรียนวัดชะอวด
  • โรงเรียนวัดไม้เสียบ

จังหวัดตรัง จำนวน 11 โรงเรียน

  • โรงเรียนท่างิ้ว (ต.ช.ด.อุปถัมภ์)
  • โรงเรียนบ้านเกาะเคี่ยม
  • โรงเรียนบ้านคลองคุ้ย
  • โรงเรียนบ้านช่องลม
  • โรงเรียนบ้านทอนเหรียน
  • โรงเรียนบ้านท่าส้ม
  • โรงเรียนบ้านบางสัก
  • โรงเรียนบ้านวังลำ
  • โรงเรียนวัดทุ่งหินผุด
  • โรงเรียนวัดวารีวง
  • โรงเรียนหาดทรายทอง

จังหวัดนราธิวาส จำนวน 6 โรงเรียน

  • โรงเรียนนราสิกขาลัย
  • โรงเรียนบ้านบูเก๊ะตาโมงมิตรภาพที่ 128
  • โรงเรียนผดุงมาตร
  • โรงเรียนพิทักษ์วิยากุมุง
  • โรงเรียนราชพัฒนา
  • โรงเรียนสวนพระยาวิทยา

จังหวัดพังงา จำนวน 2 โรงเรียน

  • โรงเรียนวัดนิโครธาราม
  • โรงเรียนวัดสุวรรณาวาส

จังหวัดปัตตานี จำนวน 8 โรงเรียน

  • โรงเรียนบ้านกระเสาะ
  • โรงเรียนบ้านตะโละไกรทอง
  • โรงเรียนบ้านน้ำดำ
  • โรงเรียนบ้านบางทัน
  • โรงเรียนบ้านโลทู
  • โรงเรียนบ้านวังกว้าง
  • โรงเรียนวังกะพ้อพิทยาคม
  • โรงเรียนวุฒิชัยวิทยา

จังหวัดยะลา จำนวน 10 โรงเรียน

  • โรงเรียนกาบังพิทยาคม
  • โรงเรียนบ้านโกตาบารู
  • โรงเรียนบ้านคลองน้ำใส
  • โรงเรียนบ้านจุโป
  • โรงเรียนบ้านด่านสันติราษฎร์
  • โรงเรียนบ้านตะโละหะลอ
  • โรงเรียนบ้านราโมง
  • โรงเรียนบ้านสะเอะ
  • โรงเรียนพัฒนาบาลอ
  • โรงเรียนอัยเยอร์เวง

จังหวัดสงขลา จำนวน 18 โรงเรียน

  • โรงเรียนเขาแดงกุศลวิทยา
  • โรงเรียนจะนะชนูปถัมภ์
  • โรงเรียนชุมชนนิคมสร้างตนเองเทพา
  • โรงเรียนชุมชนบ้านนากัน
  • โรงเรียนทับช้างวิทยาคม
  • โรงเรียนเทพา
  • โรงเรียนบ้านเขาพระ
  • โรงเรียนบ้านคอลอมุดอ
  • โรงเรียนบ้านคูนายสังข์
  • โรงเรียนบ้านโคกตก
  • โรงเรียนบ้านนาปรัง
  • โรงเรียนบ้านบาโหย
  • โรงเรียนบ้านปากบางนาทับ
  • โรงเรียนบ้านป่าเร็ด
  • โรงเรียนบ้านพระพุทธ
  • โรงเรียนบ้านม้างอน
  • โรงเรียนบ้านม้างอน
  • โรงเรียนวัดประจ่า