‘เด็ก ๆ ของหมู่บ้าน’ ความร่วมมือที่เผยให้เห็น ‘พลังการทำงาน’ ของเครือข่ายจังหวัด

‘เด็ก ๆ ของหมู่บ้าน’ ความร่วมมือที่เผยให้เห็น ‘พลังการทำงาน’ ของเครือข่ายจังหวัด

“ตอนเจอสองคนครั้งแรกคือตัวเล็กมาก ผอมซูบ ตัวมีแต่ผื่นเต็มไปหมด เห็นแล้วก็สงสาร รู้สึกว่าต้องดูแลเขา คิดว่าเขามาพึ่งเรา”

‘แม่ชีหนู’ ย้อนถึงวันที่เจอกับ ‘ทิว’ และ ‘อชิ’ สองพี่น้องต่างพ่อ ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในวัดสว่างศรีบุญเรือง บ้านหนองบัว ตำบลโนนสะอาด อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น เมื่อ 5 ปีก่อน

วันนี้ เด็กทั้งคู่อายุ 11 กับ 8 ขวบ ได้รับการดูแลโดยศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา จังหวัดขอนแก่น โดยร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในการค้นหาและวางแนวทางดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา ทั้งจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 และอยู่ในสภาวะฉุกเฉินทางคุณภาพชีวิต        

แม่ชีหนูเผยว่าเข้ามาอยู่ที่วัดก่อนเด็ก ๆ ไม่นาน ตั้งใจจะใช้เวลาสักเดือนในบรรยากาศสงบ ให้ธรรมะเป็นโอสถเยียวยาตนเอง หลังผ่านการทำเคมีบำบัดเพื่อรักษาตัวจากโรคมะเร็ง แต่พอเริ่มดูแลทิวและอชิ ระยะเวลาที่กำหนดไว้ก็ค่อย ๆ ขยายออกไป จนทิวที่เรียนชั้น ป.2 กับอชิในชั้นอนุบาล 3 วันนั้น เติบโตขึ้นเป็นนักเรียน ป.6 และ ป.4 ในปัจจุบัน

“สังคมเรามีเรื่องให้ประหลาดใจมากมาย แต่ไม่คิดมาก่อนว่าจะได้ประสบเอง จากภาพแรกพบชวนสงสาร พอเราได้ฟังภูมิหลังของเขา ก็ยิ่งทำให้อยากทุ่มเทเอาใจใส่ทั้งคู่ขึ้นไปอีก อย่างน้อยที่สุดให้เขาขาดพร่องน้อยลง พาตัวเองผ่านพ้นจากความบอบช้ำไปได้ เราก็พอใจแล้ว”

วัดคือที่พึ่งของผู้ไร้ทางไป

เรื่องราวของทิวกับอชิ ตั้งต้นที่แม่ของเด็กนำสองคนไปฝากไว้กับเพื่อนบ้าน แต่ด้วยความไม่พร้อมในการดูแล ทำให้เด็กต้องอยู่กันแบบกินไม่ครบมื้อ นอนไม่เต็มตื่นในพื้นที่เปิดโล่งไม่มีมุ้ง อีกทั้งไม่เคยได้กินนมกินขนมเหมือนเด็กคนอื่น ๆ

จนเวลาผ่านไปโดยแม่ของเด็ก ๆ ไม่เคยย้อนกลับมา ทั้งสองคนจึงไม่ได้ไปโรงเรียนอีก

“ก่อนมาอยู่วัดเด็กหลุดจากโรงเรียนไปปีนึง เหมือนบ้านที่รับฝากเขาไม่ไหวแล้ว ตั้งใจจะพาเด็กไปอยู่สถานสงเคราะห์ ทางผู้ใหญ่บ้านเลยมาปรึกษาหลวงพ่อ ขอให้ที่วัดรับไว้ ท่านก็ตกลง

“พอสองคนมาอยู่ใกล้ เราก็เลยช่วยดูแลตั้งแต่นั้น ใหม่ ๆ ก็ดื้อบ้างซนบ้างเหมือนเด็กทั่วไป แต่พอคุ้นเคยกันเขาก็ฟังเรา บอกได้สอนได้ กลายเป็นแม่เป็นลูกกันไปแล้ว“

เดี๋ยวนี้เขาร่าเริง คุยเก่ง ไม่ซึมเหมือนก่อน เวลาไปโรงเรียนเจออะไรก็มาเล่าให้ฟัง เราดีใจที่เห็นพัฒนาการเขา เรื่องทักษะชีวิตก็ค่อยปรับค่อยฝึกกันไป สอนให้ล้างถ้วยล้างชาม ซักเสื้อผ้า ทำกับข้าวง่าย ๆ อยากให้เขาทำเป็นไว้ หรือจะกินอะไรเราทำได้ก็ทำให้ บางทีลูกเรามารับไปไหนก็เอาเขาไปด้วย พาไปเที่ยวไปกิน มันก็พอเติมเต็มส่วนที่เขาขาดได้บ้าง ที่เน้นเป็นพิเศษคือเรื่องการดูแลตัวเอง เราจะบอกเขาตลอดว่าแม่คงไม่ได้อยู่ด้วยตลอด วันใดโตขึ้นไปอยู่ที่อื่นแล้ว ต้องช่วยเหลือตัวเองได้ทุกอย่าง”

อย่างไรก็ตาม ชีวิตที่คล้ายจะดีขึ้นกลับสะดุด เมื่ออชิล้มป่วยเข้าโรงพยาบาล และตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน

ไม่มีปัญหาใดหนักหนาเกินกำลังคนทั้งชุมชน

พระอาจารย์สุขสันต์ เจ้าอาวาสวัดสว่างศรีบุญเรือง เล่าว่า เด็กสองคนมาอยู่วัดแล้วสดชื่นสดใสขึ้นมาก เพราะได้หลายคนช่วยกันดูแล แต่วันหนึ่งอชิรู้สึกปวดหัว อาเจียน ไข้สูง จึงรีบพาไปโรงพยาบาล ซึ่งผลที่ตามมาก็ทำให้หลวงพ่อเริ่มคิด ว่าลำพังการดูแลของวัดอย่างเดียวนั้น เริ่มไม่เพียงพอกับเด็ก ๆ แล้ว

“ตอนที่คนเล็กป่วยเขาเรียนอยู่ ป.2 ต้องไปนอนโรงพยาบาลเป็นเดือน ออกมาแล้วก็ยังไป ๆ มา ๆ ทุกเดือน มีทำคีโมด้วย ค่าใช้จ่ายสูงมาก เริ่มเกินกำลังวัด เลยปรึกษากับผู้ใหญ่บ้าน เขาก็เอาเรื่องไปประชุมกัน จนเกิดกองผ้าป่าใหญ่หมู่บ้าน คนในชุมชนเขายินดีช่วยลงขันค่ารักษาค่าเดินทาง พอเด็กจะไปโรงพยาบาลทีหนึ่งก็รวมเงินกันให้มา ช่วงนั้นไปเดือนละสองครั้ง ตอนนี้เหลือเดือนละครั้ง นี่ก็ทำคีโมเสร็จแล้ว แต่ยังต้องคอยไปเจาะตรวจเชื้อ รับยา ติดตามอาการกันอยู่”

อีกหนึ่งพลังจาก ‘ครู’ ที่ไม่ได้ทำเพียงสอนหนังสือ

เราได้เห็นภาพของบ้านหนองบัว ที่เข้มแข็งด้วยวัดและชุมชน ซึ่งช่วยเยียวยาอดีตและเติมเต็มปัจจุบันให้กับเด็ก ๆ ไปแล้ว พลังสำคัญอีกขาหนึ่งที่ไม่อาจกล่าวข้ามได้ คือ ‘โรงเรียน’ อันเป็นสถานที่เพาะบ่มสร้างอนาคตให้น้อง ๆ ได้เติบโตก้าวไปข้างหน้า

ครูเค้ก’ ชลวัลย์ นาคนชม ครูธุรการโรงเรียนเหมือดแอ่หนองบัว เล่าว่า ทิวและอชิเข้ามาเรียนตั้งแต่ยังตัวน้อย ๆ จนตอนนี้คนพี่กำลังจะจบ ป.6 แล้ว โดยรวมเด็กทั้งคู่สนใจการเรียนดี แต่ทิวนั้นไม่ค่อยถนัดทางวิชาการ มีปัญหาการเรียนรู้อยู่บ้าง ซึ่งสำหรับโรงเรียนเหมือดแอ่หนองบัวแม้มีนักเรียนแค่ 56 คน แต่ในจำนวนนั้นเป็นเด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้ 15 คน จึงมีครูพี่เลี้ยงสำหรับจัดการศึกษาพิเศษ 1 คน คอยช่วยพัฒนาการอ่านการเขียนและการเรียนรู้เฉพาะทางให้เด็กได้

“เราใช้ประโยชน์จากขนาดที่เล็ก ทำให้ครูใกล้ชิดกับนักเรียนในทุกด้านโดยไม่ได้มองว่าเป็นภาระเพิ่มขึ้น เพราะเรารู้ว่าสำหรับเด็กกลุ่มนี้ ครูคือคนสำคัญที่มีส่วนช่วยให้เขาอยู่ในระบบ เรียนจนจบ และรอดผ่านช่วงชั้นรอยต่อไปได้ ด้วยขั้นตอนดูแลที่ไม่ได้มีแค่เรื่องเรียน แต่เราต้องดูแลสุขภาพร่างกาย จิตใจ มองหาส่วนที่ขาดแล้วหาทางเติมให้อย่างดีที่สุด”

ครูเค้กพูดในฐานะตัวแทนของครูอัตราจ้างตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง ที่ใช้ดวงตาและจิตใจอันเมตตานำทางในการทำงานกับเด็ก ๆ ซึ่งเปรียบไปแล้วก็คือลูกหลานของชุมชน ที่วันหนึ่งจะก้าวมาเป็นกำลังหลักในการดูแลหมู่บ้านของทุกคนต่อไป

“เราเป็นคนบ้านหนองบัว โตมาตรงนี้ รู้เห็นว่าเด็กจำนวนมากในหมู่บ้านยังขาดโอกาส ส่วนใหญ่อยู่กับปู่ย่าตายาย พ่อแม่แยกทาง บ้างไปทำงานที่อื่น เราเลือกเป็นครูที่นี่เพราะคิดว่าถ้าไม่มีใครช่วยพวกเขา มันก็ยากที่เด็กจะเติบโตไปอย่างมีคุณภาพได้

“สำหรับทิวกับอชิ ครูทุกคนเราหาทางช่วยดูแลกัน ตัวเราเองทุกวันเลิกเรียนก็จะรับน้องขึ้นรถกลับมาส่งที่วัด คือไม่ใช่แค่น้องสองคน แต่เด็กคนไหนในหมู่บ้านไม่มีคนรับส่งเราเก็บให้หมด ถึงจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่เราในฐานะบุคลากรทางการศึกษาคนหนึ่ง อยากให้เขามีคุณภาพชีวิตนอกห้องเรียนที่ดี อย่างน้อยคิดว่าช่วยเสริมเด็กให้มีสมาธิกับการเรียนได้มากขึ้น”

รอยต่อการศึกษา ภารกิจที่กลไกจังหวัดเข้ามารับช่วง

ปีการศึกษาหน้าทิวจะขึ้นชั้นมัธยม และอีกสองปีก็ถึงคราวของอชิ บนรอยต่อทางการศึกษานี้ ครอบครัวใหญ่ของเด็ก ๆ กำลังเฝ้าดูว่าเด็กทั้งสองคนจะข้ามผ่านไปทางไหน อย่างไร

แม่ชีหนูกล่าวว่าโรงเรียนเหมือดแอ่หนองบัวเป็นโรงเรียนขยายโอกาส เปิดสอนถึง ม.3 ทิวสามารถเรียนต่อได้เลย นอกจากนี้ยังมีทางเลือกอื่น ๆ รองรับ ไม่ว่าจะบวชเรียนในโรงเรียนปริยัติธรรม หรือในจังหวัดขอนแก่นเองก็มีมูลนิธิบอยส์ทาวน์ ซึ่งพร้อมรับเด็กเยาวชนตั้งแต่ชั้น ม.1 เข้าอยู่ในพำนัก ช่วยส่งเสียค่าเล่าเรียน และมีผู้ดูแลตลอด 24 ชม. จนเด็กจบ ม.3 หรือ ม.6 อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนั้นขึ้นอยู่กับความตั้งใจของทิวและอชิ ว่าจะเลือกทางเดินชีวิตต่อไปอย่างไร

“ตอนนี้ไม่ห่วงแล้วนะว่าเขาจะไม่ได้เรียนต่อ ทีแรกกังวลกันมาก เพราะตั้งแต่ปีก่อนมีทางศูนย์ช่วยเหลือเด็ก ฯ ในภาวะวิกฤตทางการศึกษา จังหวัดขอนแก่น ลงมาเก็บข้อมูลเด็ก แล้วรับทิวกับอชิเข้าไปอยู่ในความดูแล เราก็มั่นใจกันแล้วว่ายังไงเขาก็ไปต่อได้ จะขาดเหลือติดขัดอะไรทางศูนย์เขาพร้อมช่วย ก็เหลือแต่ขึ้นอยู่ว่าอยากไปทางไหน เรากับหลวงพ่อคุยกันแล้วก็เห็นตรงกันว่าแล้วแต่เขา”

ครูเค้กกล่าวเสริมว่า “ทุนที่เด็กได้รับตั้งแต่ทุนเสมอภาคที่ กสศ. มอบให้ หรือทุนอะไรก็ตามที่เข้ามาเติม ทุกบาททุกสตางค์นับว่ามีค่ากับเด็ก ๆ มาก โดยเฉพาะในสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างนี้ ค่าชุดนักเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเดินทาง ทุกอย่างมันเป็นอุปสรรคที่ดึงให้เด็กเสี่ยงหลุดได้ตลอดเวลา ยิ่งคนไหนครอบครัวไม่สมบูรณ์ เงินส่วนนี้ยังสามารถช่วยเหลือเขาในเรื่องอื่น ๆ ได้อีก”

ขณะที่พระอาจารย์สุขสันต์ กล่าวทิ้งท้ายถึงทิวและอชิว่า “ส่วนของวัดเอง เราจะส่งเสียดูแลเด็กไปจนสุดความสามารถ จนถึงวันที่เขารับผิดชอบตัวเองได้ จากนั้นจะเลือกเดินทางไหนก็ขึ้นอยู่กับเขา

“เด็กสองคนนี้สะท้อนภาพของชุมชนที่เปรียบเสมือนครอบครัวขนาดใหญ่ อย่างที่เราเห็นว่าเมื่อทุกคนช่วยกันคนละไม้ละมือยื่นมาประคองรองรับเด็กไว้ เมื่อนั้นเด็กที่ไม่มีที่พึ่ง ขาดแคลนโอกาส เขาจะเหมือนกับได้รับชีวิตใหม่ ได้รับความรักความเอาใจใส่ ซึ่งท้ายที่สุดมันไม่ใช่แค่เปลี่ยนชีวิตเด็ก แต่มันคือการเปลี่ยนสังคมที่ยั่งยืนที่สุด”