สมเกียรติ สาระ เรื่องของผู้นำการเปลี่ยนแปลงระดับหัวหอก ชายผู้ขับเคลื่อนการสร้างอาชีพและการศึกษา ที่ตอบโจทย์ชีวิตคนท้องถิ่น

สมเกียรติ สาระ เรื่องของผู้นำการเปลี่ยนแปลงระดับหัวหอก ชายผู้ขับเคลื่อนการสร้างอาชีพและการศึกษา ที่ตอบโจทย์ชีวิตคนท้องถิ่น

ในแวดวงขับเคลื่อนการเรียนรู้และสร้างอาชีพในท้องถิ่น ชื่อของสมเกียรติ สาระ หัวหน้าสำนักปลัด อบต. หนองสนิท เป็นชื่อที่ถูกยกมากล่าวถึงอย่างชื่นชมบ่อยครั้ง ในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงระดับหัวหอก

ความสำเร็จของสหกรณ์การเกษตรพืชผักอินทรีย์หนองสนิท อบต.หนองสนิท อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ มีส่วนช่วยสร้างอาชีพให้แก่ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส และเยาวชนนอกระบบ 

นอกจากสร้างอาชีพแล้ว เขายังมีส่วนร่วมพัฒนาเด็กและเยาวชนนอกระบบให้ได้รับโอกาสและพื้นที่แสดงความสามารถ รวมทั้งช่วยผลักดันให้ได้ค้นพบเส้นทางการศึกษาที่พวกเขาเลือกเองได้และยังตอบโจทย์ชีวิต – ซึ่งไม่จำเป็นต้องอยู่ในระบบเท่านั้น

สิ่งสำคัญมากในการทำงานกับเด็กและเยาวชนคือ เราต้องไม่มองเด็กเป็นเครื่องมือสร้างผลงานให้เรา แต่เราควรทำเพราะอยากดูแลเขา อยากช่วยเขา การทำเพราะอยากช่วยนั้นมันต่างจากการทำเพื่อผลงานที่ต้องมีตัวชี้วัด เพราะถ้าเราไปมองตรงนั้น เราจะเห็นเด็กเป็นเครื่องมือในการตอบสนองตัวชี้วัดของเรา แต่ถ้าเรามองเขาเป็นคนที่ควรจะพัฒนา และเชื่อมั่นว่าเขาจะพัฒนาได้มากกว่านี้ เราจะช่วยเขาโดยไม่มีเงื่อนไขฉุดรั้ง ทำให้คนทำงานก็สนุก พอเราสนุก มีความสุข มีความปรารถนาดีต่อเขา เขาจะเกิดความไว้วางใจ ไม่หวาดระแวง และพร้อมเปิดใจ ที่พูดด้านต้นนี่รวมถึงเด็กและเยาวชนทั่วไปด้วย ไม่ได้หมายถึงแค่การทำงานกับเด็กและเยาวชนนอกระบบเท่านั้น”

หัวใจของการขับเคลื่อนงานระดับพื้นที่

  1. ผู้บริหารที่เปิดกว้างและเอาจริงเอาจัง ให้ความสำคัญต่อคนทุกกลุ่มวัย สำหรับ อบต.หนองสนิท เรามีการทำงานร่วมกันภายใต้คำขวัญ “หนองสนิทฮักกันมั่นแกน” มั่นแกน หมายถึง สัญลักษณ์ของความแน่นแฟ้นแน่นเหนียว ซึ่งเราใช้คำขวัญตรงนี้ในการทำงาน โดยเราจะไม่ได้แบ่งแยกว่าเป็นหน่วยงานไหน โรงเรียน กศน. เกษตรตำบล อบต. ผู้นำชุมชน เราทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว จึงทำให้การทำงานขับเคลื่อนเป็นไปโดยธรรมชาติ ไม่มีโครงสร้างทางราชการมาเป็นกรอบ แม้แต่การประชุม การประสานงานต่างๆ ถ้าเร่งด่วนและไม่สามารถออกหนังสือราชการได้ ในพื้นที่ตำบลสามารถที่จะโทร.คุยกันได้ ไม่ต้องมีหนังสือราชการเป็นลายลักษณ์อักษร

    โครงการต่างๆ ที่เกิดได้จริงและยั่งยืนเป็นเพราะความเอาจริงเอาจังของผู้บริหาร โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ท่านให้ความสำคัญมาก เพราะท่านมองว่าการทำงานส่งเสริมเด็กและเยาวชนสามารถส่งเสริมท้องถิ่นของเราให้มีความมั่นคงยั่งยืนได้ในอนาคต ท่านจึงเกาะติดการทำงานกับเด็กและเยาวชนมาตลอด เช่น ในเรื่องของอาชีพ ท่านจะเน้นว่า อย่าลืมให้เด็กและเยาวชนมาร่วม แต่ทั้งนี้การเข้าร่วมจะต้องเป็นความต้องการของเด็กด้วย ไม่ใช่เป็นการกำหนดว่าเด็กต้องมา เราสนับสนุนว่าเด็กชอบแบบไหน ก็อยากให้เขาทำแบบนั้น
  2. กลไกผู้ใหญ่ใจดี  มีความสำคัญมาก ผู้ใหญ่ใจดีต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็ก ไม่ไปกำหนดกฎเกณฑ์ ตีตรา หรือพูดกับเด็กในทางที่ไม่ดี ผู้ใหญ่ใจดีจะสามารถเชื่อมโยงตัวเด็ก ตัวผู้ปกครอง และชุมชนได้

    เวลาเข้าร่วมกิจกรรมผู้ใหญ่ใจดีจะช่วยสนับสนุนและส่งเสริม ทำให้การจัดกิจกรรมราบรื่น โดยผู้ใหญ่ใจดีจะมาจากหมู่บ้านละ 2 คน เขาจะมาร่วมทำงานกับเรา ซึ่งผู้ใหญ่ใจดีจะมีในโรงเรียนด้วย เช่น ถ้าโรงเรียนมีปัญหาเรื่องเด็กท้องในวัยเรียน เราจะคุยและประชุมกันว่าเด็กสามารถกลับมาเรียนได้ไหม ถ้าไม่สามารถกลับมาเรียนได้ เอางานไปทำที่บ้านและส่งงานกลับคืนครูที่โรงเรียนได้ไหม หรือถ้าไม่สามารถมาพบครูได้เนื่องจากอาจจะอายเพื่อน เป็นไปได้ไหมที่เราจะส่งต่อไปที่ กศน. เคสไหนที่เด็กสามารถกลับมาเรียนในระบบได้ก็จะกลับมา เคสไหนที่เขาไม่สามารถกลับมาได้ก็จะเรียนต่อที่ กศน. ดังนั้นเด็กของเราจึงเป็นเด็กที่ถึงหลุดออกนอกระบบ อย่างน้อยเขาก็ได้อยู่ในส่วนการเรียนรู้แบบ กศน.

เมื่อได้เลือกทางเดินที่ชอบ เด็กยิ่งไปได้ไกล

การส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนนอกระบบ สามารถมีการศึกษาที่ตอบโจทย์ชีวิตเขาได้นั้นมีความสำคัญมาก  ความสุขของเด็กคือการอยากทำอะไรแล้วเขาได้ทำ เราคอยประคับประคอง คอยพูดคุยว่ามันดีหรือไม่ดีตรงไหน  ช่วยปรับเปลี่ยนให้เป็นประโยชน์ทั้งต่อเขาและผู้อื่น  และตัวเด็กจะต้องมีความสุข สนุกด้วย เพราะพอสนุก เด็กจะมีพลัง และเผยศักยภาพของเขาออกมา

ในปี 2562 ทาง อบต.หนองสนิทได้มีนโยบายในการพัฒนาเยาวชนนอกระบบ เรามีการสำรวจเด็กและเยาวชนนอกระบบในเวลานั้นได้ 71 คน อยู่ในพื้นที่ 40 คน เราจึงเริ่มจาก 40 คนนี้ก่อน โดยเริ่มต้นจัดเวทีสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กและเยาวชนนอกระบบ ให้เขารู้จักตนเอง รู้จักทุนในตัวเองที่มีอยู่ ทุกข์ที่ตนเองมีอยู่ ครอบครัวจะส่งเสริมอย่างไร 

เราจัดค่ายสร้างแรงบันดาลใจ 3 วัน ให้เขาเปิดใจว่าต้องการให้เราสนับสนุนอย่างไร หลังจากนั้นก็ส่งเสริมให้เขารู้คุณค่าในตัวเองผ่านการทำกิจกรรมกับจิตอาสาในพื้นที่ การสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กเป็นเรื่องสำคัญมาก ธรรมชาติของเด็กคือเป็นคนดีทุกคน แต่เขาอาจจะไม่มีคนคอยดูแล คอยเป็นผู้รับฟัง คอยสร้างเสริมพลังให้เขา

เวลาทำกิจกรรมเราจะให้เด็กเรียนรู้ประสบการณ์จากเกมต่างๆ โดยเราทำงานตามหลัก 3H โดย H ที่ 1 คือใจ Heart สร้างพลังใจข้างใน H ที่ 2 คือ Head ฐานสมองในเรื่องของความรู้ เติมเรื่องอาชีพหรือวิชาการเพิ่ม และ H ที่ 3 คือ Hand การฝึกให้เขาลงมือทำ รวมกันแล้วเป็นการทำงาน 3 ฐาน คือ ฐานใจ ฐานหัว และฐานกาย ทุกอย่างเกี่ยวพันร้อยเรียงกันไปหมด

บางคนคิดว่าการทำงานด้านเด็กเป็นภาระเพราะต้องทำต่อเนื่อง แต่เราเคยได้คุยหารือกับอาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้รู้ท่านหนึ่งที่ทำงานด้านเยาวชน ท่านบอกว่า การทำงานกับเด็กและเยาวชนก็เหมือนกับว่าถ้าเด็กเป็นคนไข้ แล้วเรารักษาเขาไม่ครบโดส เขาก็ไม่ดีขึ้นเต็มร้อย เหมือนกับเราทำค่ายเด็กและเยาวชน แล้วร้องไห้ตอนค่ายจบ แต่หลังจากนั้นเราไม่ดูแลหรือส่งเสริมอะไรต่อ เด็กและเยาวชนก็กลับเข้าสู่ภาวะเดิม แต่ถ้าเราทำงานแบบครบโดส คือหลังกลับจากค่ายเราควรต้องทำงานกับเขาต่อเนื่อง ให้เป็นวิถีชีวิตที่จะต้องดูแลเขา

เคสที่น่าสนใจคือเรื่องของน้องเกมส์ น้องเป็นคนที่ชอบทำกิจกรรม เช่น ซ่อมรถ และการตัดผม แต่เขาไม่ชอบเข้าห้องเรียน พอน้องเกมส์จะขึ้น ม.5 ก็หลุดออกนอกระบบการศึกษา เขาเลือกไม่ไปต่อ แต่ก็เข้าร่วมทำกิจกรรมต่างๆ กับจิตอาสาของเรา พอเรามีการพูดคุย เขาจึงเปิดใจว่าตอนเด็กๆ เขาชอบการตัดผมและชอบการซ่อมรถมอเตอร์ไซค์ เราจึงสอบถามว่าสนใจไปเรียนตัดผมกับศูนย์พัฒนาอาชีพไหม เขาตอบว่าอยากไป เราได้รับการสนับสนุนจาก อบจ.สุรินทร์ช่วยเรื่องที่พักของน้อง พอเรียนจบเขาก็เปิดร้านตัดผม มีลูกค้าเฉลี่ยวันละ 4-5 คน ทำรายได้วันละ 100-200 บาท การที่เขาเป็นช่างตัดผมถือเป็นการทำตามความชอบ เขาชอบสิ่งนี้จึงไปฝึกอบรมจนนำมาเป็นอาชีพได้ แตกต่างจากตอนอยู่ในรั้วโรงเรียนที่เขาไม่ชอบสิ่งที่ต้องเรียนในระบบการศึกษา จึงเลือกที่จะเดินออกมา

เมื่อเขาเรียนพื้นฐานจบหนึ่งหลักสูตร เขาบอกว่า “พี่สมเกียรติ ผมอยากต่อหลักสูตรระดับสูง” เราก็เลยสนับสนุนต่อ โดยมี อบจ. คอยช่วยเหลือ ตอนนี้เราเห็นแล้วว่าเขาสนุกกับสิ่งที่ได้ทำ เลยอยากพัฒนาตนเองไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีใครบังคับ เมื่อเขาได้ทำตามความฝัน ตัวเขาเองก็มีความสุข เราเองก็ได้มองเห็นการเติบโตของเขา ทำให้ตระหนักว่าการมอบทางเลือกให้กับเยาวชนนอกระบบแต่ละคนนั้นไม่จำเป็นต้องเหมือนกันหมด

ความสำคัญของโอกาสทางการศึกษา

การที่เด็กคนหนึ่งได้รับโอกาสทางการศึกษานั้นเป็นสิ่งที่ดี หมายรวมถึงเด็กทุกคน และรวมถึงการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย หากเด็กได้รับการดูแลและได้รับโอกาสทางการศึกษา ไม่ปล่อยปละละเลยเขา เขาจะสามารถพัฒนาตนเองได้ 

สิ่งที่ผมอยากชวนมองก็คือ สังคมปัจจุบันอาจจะให้ค่ากับเด็กเก่ง เด็กดี เด็กฉลาด แต่อาจลืมมองเด็กคนอื่นที่เหลือในชุมชนที่ยังต้องการความช่วยเหลือ ทั้งที่ในอนาคตเด็กที่เรียนเก่ง เรียนสูง ส่วนใหญ่จะออกไปนอกชุมชน แต่คนที่จะยังอยู่ในชุมชนคือกลุ่มเด็กที่อาจเติบโตมาแบบต้องการความช่วยเหลือ หากเราดูแลพวกเขาได้ดี ให้โอกาสพวกเขาได้เรียนรู้และเติบโต อนาคตเขาจะเป็นผู้ใหญ่บ้าน เป็นสมาชิก อบต. เป็นสมาชิกเทศบาล เป็นกำนัน เขาเหล่านี้แหละที่จะดูแลชุมชน ดังนั้นเราจึงไม่ควรมองข้ามเด็กแม้แต่สักคนเดียว เพราะเด็กกลุ่มนี้คือคนที่จะมาดูแลพวกเราในอนาคต

รัฐควรต้องส่งเสริมให้เกิดนโยบายการพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างรอบด้าน

ปัจจุบันที่มองเห็นคือการพัฒนาเด็กจะมองไปแค่ที่โรงเรียน หรือมองในแง่วิชาการอย่างเดียว แต่อยากให้รัฐมองว่าเด็กแต่ละคนอาจไม่สามารถไปรับราชการ ไปเรียนในโรงเรียน หรือมีมันสมองด้านวิชาการมากมาย ผมอยากให้มีการพัฒนาหลักสูตรต่างๆ ที่ตอบโจทย์เด็กหลายกลุ่มอย่างรอบด้าน ที่สำคัญคือควรให้ความสำคัญกับนโยบายการพัฒนาเด็กและเยาวชนนอกระบบโดยเฉพาะ บางทีภาคประชาสังคมก็เสนอโครงการไปเยอะ แต่ยอมรับว่า กสศ. ก็สามารถสนับสนุนได้ในงบประมาณที่จำกัด ถ้ารัฐเห็นความสำคัญอาจจะช่วยสนับสนุนส่งเสริม ให้มีองค์กรที่สร้างแรงกระเพื่อมให้ชุมชนได้อย่างเต็มที่เหมือนที่ กสศ.ทำ