นิวัฒน์ เงินงามมีสุข : ครูนอกโรงเรียน ผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีจากการบุกเบิกการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ชีวิตศิษย์บนดอยสูง

นิวัฒน์ เงินงามมีสุข : ครูนอกโรงเรียน ผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีจากการบุกเบิกการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ชีวิตศิษย์บนดอยสูง

ภูเขาเรียงรายหลายสิบลูก ณ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ชายแดนประเทศไทย-เมียนมา รถโฟร์วีลลัดเลาะไปตามภูมิทัศน์ บ้างลาดชัน บ้างหักศอก เป็นทางลูกรังสลับกับถนนคอนกรีตเป็นบางช่วง ระยะทางรวม 56 กิโลเมตร ใช้เวลาราว 3-4 ชั่วโมง จากตัวอำเภอท่าสองยางสู่จุดหมายปลายทาง

ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงตั้งถิ่นฐานสลับแทรกกับผืนป่า และเป็นที่ตั้งของศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยภูเขา แม่ฟ้าหลวง (ศศช.) บ้านมอโก้คี ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จากการบุกเบิกการศึกษาที่มีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิตให้กับกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง โดย นิวัฒน์ เงินงามมีสุข ครูศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยภูเขา แม่ฟ้าหลวง บ้านมอโก้คี

ร่วมทำความรู้จักการเรียนรู้ ณ ศศช. บ้านมอโก้คี พร้อมถอดประสบการณ์ทำงานบนดอยสูงกว่า 22 ปี ของครูนิวัฒน์ ด้วยความทุ่มเทในการทำงานจนได้รับการเชิดชูเกียรติและรางวัลต่างๆ มาโดยตลอด ซึ่งรางวัลล่าสุด คือ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 เพื่อเชิดชูเกียรติให้กับครูนิวัฒน์ ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของลูกศิษย์และมีคุณูปการต่อการศึกษา

 ครูนิวัฒน์ เงินงามมีสุข

สร้างโอกาสทางการศึกษา บุกเบิกการเรียนรู้บนพื้นที่สูง

“10 กว่าปีที่ผ่านมา กลุ่มบ้านมอโก้คีไม่มีโรงเรียน เด็กๆ ไม่ได้เรียนหนังสือ พวกเขาหาของป่า ยิงนกตกปลาอยู่แถวบ้าน หรือกรณีที่ไปเรียนในเมือง สักพักเด็กก็หนีกลับมาบ้าน ด้วยความที่เขาไม่คุ้นเคยสภาพแวดล้อมแบบนั้น และยังเป็นวัยที่ต้องการความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่”

ท่ามกลางชุมชนบ้านมอโก้คี 65 หลังคาเรือน ประชากร 227 คน มีศูนย์การเรียนฯ 5 แห่ง ได้แก่ ศศช.บ้านมอโก้คี ศศช.บ้านมอโก้โพคี ศศช.บ้านคะแนจื้อคี ศศช.บ้านทีกอโกล ศศช.บ้านเซหนะเดอลู่ และ 1 ห้องเรียนสาขาบ้านมอโก้ใหม่ ซึ่งครูนิวัฒน์เป็นผู้ขออนุญาตจัดตั้งศูนย์การเรียนฯ เหล่านั้น เพื่อให้เด็กบนพื้นที่สูงเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา โดยไม่ต้องไปเรียนไกลบ้าน ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชน ผ่านกระบวนการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ของอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก

“ศูนย์การเรียนฯ ของเราใช้หลักสูตรการจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงของ กศน.อำเภอท่าสองยาง คือใช้บริบท สิ่งแวดล้อม และสื่อในชุมชนมาจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อเด็กจะได้มองเห็นภาพชุมชนของตนเองที่ชัดเจน โดยไม่ได้เอาภาพจากในเมืองมาให้เด็กมอง หลักสูตรของเราเป็นการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่อนุบาลไปจนถึง ป.6 รวมถึงผู้ใหญ่ที่อยากจะเรียนต่อในระดับ ม.1-3 และ ม.4-6”

ครูนิวัฒน์ยังบอกเล่ากิจวัตรของนักเรียนที่นี่ โดยเริ่มวันจากการช่วยพ่อแม่หุงข้าว ล้างจาน หรือการขนฟืนขึ้นบ้านสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิง ก่อนที่จะเดินมาเรียนช่วง 7 โมง ซึ่งแต่ละวันจะมีเวรทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ทำความสะอาด ให้อาหารหมู ให้อาหารปลา ให้อาหารไก่ ดูแลเห็ด และบางส่วนช่วยผู้ปกครองเตรียมอาหารกลางวัน แล้วมาเข้าแถวเคารพธงชาติตอน 8 โมง ก่อนจะเข้าสู่ชั้นเรียนต่างๆ

ส่วนช่วงบ่าย หนึ่งชั่วโมงแรกเป็นการเรียนรู้ในห้องเรียน ด้วยบรรยากาศที่ไม่เคร่งเครียดจนเกินไป จากนั้นให้นักเรียนลงมือปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมลงแปลงเกษตรหรือกิจกรรมกีฬา และตอน 5 โมงเย็น เด็กๆ ก็จะทำเวรอีกครั้งก่อนจะกลับบ้านไปพบกับพ่อแม่ที่ทำไร่ทำสวนเสร็จในเวลาไล่เลี่ยกัน

“เด็กๆ ที่นี่ส่วนใหญ่ตอนเย็นไม่ค่อยอยากกลับบ้าน เพราะเราให้เด็กทำกิจกรรมที่เขาชอบ เช่น เล่นกีฬา ทำเกษตร เด็กชอบวิ่งเล่น ชอบตั้งตารอคอยผลผลิตที่จะออก เพื่อดูว่าตัวเองจะขายให้กับสหกรณ์โรงเรียนได้กี่กิโลกรัมและได้ราคาเท่าไร”

‘กระบวนการคิดเป็น’ การเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ชีวิตชาวมอโก้คี

“การเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ คือชาวบ้านได้ลงมือปฏิบัติและรู้ผลลัพธ์ของการแก้ไขปัญหา ถ้าปฏิบัติแล้วผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ ก็ต้องกลับไปวิเคราะห์สาเหตุ จัดกระบวนการเรียนรู้ใหม่ จากนั้นลองปฏิบัติ แก้ไขปัญหาอีกครั้ง แล้วสรุปผล ทำซ้ำๆ จนกว่าจะแก้ไขปัญหาได้ถูกต้อง นี่คือกระบวนการคิดเป็นของ กศน.

“การจัดการเรียนการสอนสำหรับผู้ใหญ่ เรามีการสำรวจสภาพปัญหา ทำเวทีประชาคม แล้ววิเคราะห์ปัญหา โดยจัดกระบวนการเรียนรู้ตามสภาพปัญหาและตามความต้องการของชาวบ้าน ไม่ใช่การจัดการเรียนรู้ตามความต้องการหรือความตั้งใจของครูเอง”

ครูนิวัฒน์อธิบายถึงใจความสำคัญสำหรับการจัดกระบวนการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจของครูที่ ศศช. โดยสามารถแบ่งการจัดการศึกษาให้คนทุกวัยในชุมชนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประชาชนในพื้นที่ เป็น 3 กลุ่มกิจกรรมหลัก

  • การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งเน้นการศึกษานอกระบบระดับประถมศึกษา และส่งเสริมการรู้หนังสือไทยสำหรับผู้ใหญ่ที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ สื่อสารไม่ได้ โดยครูเป็นผู้เข้าไปจัดกระบวนการเรียนรู้ และมีนักเรียนชั้น ป.4-6 เป็นผู้ช่วยครู
  • การจัดการศึกษาต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาอาชีพ คุณภาพชีวิต สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนทักษะชีวิตที่จำเป็น
  • การจัดการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ตามความสนใจ ไม่มีหลักสูตร และไม่มีการกำหนดเวลาเรียนที่แน่นอน แต่เปิดโอกาสให้คนได้เรียนรู้ผ่านการพูดคุย กิจกรรมเสียงตามสาย สื่อโทรทัศน์ หรือวิดีโอเพื่อการศึกษา

“หนึ่งในงานการจัดการศึกษานอกระบบ คือการศึกษาเพื่อพัฒนาความรู้ของชาวบ้าน เช่น ความรู้เรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความรู้เรื่องโรคมะเร็ง ความรู้เรื่องสารเคมีในการเกษตรที่เขาผสมใช้ทุกวัน ความรู้เรื่องการบริหารจัดการขยะ รวมถึงการพัฒนาอาชีพต่างๆ ในชุมชน เพื่อสร้างรายได้ ลดรายจ่าย และสามารถพึ่งตนเองได้ ยกตัวอย่างเช่น ส่งเสริมการปลูกบุก การปลูกกาแฟ และการแปรรูปกาแฟมอโก้คีให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย”

นอกจากนี้ ครูนิวัฒน์ยังเสริมถึงความสนใจและการเข้ามามีส่วนร่วมของคนในชุมชน

“กิจกรรมที่ชาวบ้านให้ความสนใจที่สุด คือกิจกรรมพัฒนาสังคมและชุมชน เพราะสิ่งที่ชาวบ้านได้รับหลังจากเข้าร่วมกิจกรรม เขาสามารถนำไปใช้ประโยชน์กับหมู่บ้านของตัวเองได้ เช่น การบวชป่า ทำฝายชะลอน้ำ เพื่อรักษาต้นน้ำให้มีใช้ถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน เป็นโครงการที่ชาวบ้านให้ความร่วมมือดีมาก เพราะว่าเขาเป็นห่วงว่าต้นน้ำจะหมดไป

“รวมถึงกิจกรรมปรับปรุงซ่อมแซมถนน หรือการทำถนนคอนกรีตสองเลน เพราะชาวบ้านจะได้ใช้ในวันข้างหน้า ส่งคนเจ็บ ส่งคนไข้ไปโรงพยาบาล นี่เป็นการศึกษาที่ชาวบ้านให้ความร่วมมือเยอะที่สุดในการจัดกระบวนการเรียนรู้หลายๆ กิจกรรม”

22 ปีของความทุ่มเท พัฒนาพื้นที่ พัฒนาชีวิต

“การศึกษาทางเลือกในรูปแบบของศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยภูเขา แม่ฟ้าหลวง ทำให้นักเรียนและประชาชนเข้าถึงระบบการศึกษา มีสิทธิทางการศึกษา ที่สำคัญที่สุดคือองค์ความรู้ ต่อมาเป็นเรื่องวัสดุการเรียนการสอนต่างๆ ที่เราจะได้ฟรี เรียนฟรี และมีทุนการศึกษา

“สิทธิการเข้าถึงการศึกษาใน ศศช. ของเราจะจัดความรู้หลายอย่างให้กับชาวบ้าน โดยเฉพาะเรื่องการศึกษานอกระบบ การให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ ที่เป็นปัญหาและความต้องการของชุมชน เพื่อชาวบ้านได้รับความรู้และนำไปแก้ไขปัญหาในชุมชน

“ยกตัวอย่าง แต่ก่อนมีปัญหาไข้มาลาเรียระบาด เราก็จัดการศึกษาโดยให้ความรู้เรื่องการดูแลรักษา การนอน การรับประทานอาหาร การคว่ำน้ำ เพื่อไม่ก่อให้เกิดยุงในพื้นที่ พอชาวบ้านนำไปปฏิบัติ ยุงก็ลดลง หลังจากนั้นโรคไข้ป่าหรือไข้มาลาเรียก็น้อยลง”

นี่คือความสำคัญของการศึกษาทางเลือกจากมุมมองของครูนิวัฒน์ ซึ่งการบุกเบิก ศศช. กลุ่มบ้านมอโก้คี ไม่ใช่แค่การสร้างศูนย์การเรียนฯ แต่เป็นการให้ความรู้ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการลดปัญหายาเสพติด การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน หรือการสร้างถนนคอนกรีตเพื่อส่งคนเจ็บไปโรงพยาบาล

หากย้อนไปราว 21 ปีก่อน วิธีการเดินทางที่จะขึ้นมายังบ้านมอโก้คี มีเพียงการเดินเท้าด้วยระยะทางประมาณ 42 กิโลโมตร ใช้เวลา 1 วันครึ่ง ผ่านป่าและข้ามภูเขาสูงชัน ครูนิวัฒน์เล่าเหตุการณ์เมื่อครั้งที่การเดินทางยังไม่สะดวกเท่าปัจจุบัน

“ที่นี่เคยมีกรณีครูเป็นไส้ติ่งอักเสบ ชาวบ้านต้องช่วยกันแบกลงทางตำบลแม่ตื่น แล้วจากแม่ตื่นส่งต่อให้อำเภออมก๋อย แต่อมก๋อยก็ไม่มีแพทย์เฉพาะทาง ทำให้ต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ถ้าแบกลงไปไม่ทัน ก็อาจจะเสียชีวิต”

นอกจากนี้ ครูนิวัฒน์ยังชี้ชวนให้เห็นว่านักเรียนที่เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จาก ศศช. บ้านมอโก้คี สามารถค้นหาเส้นทางชีวิต เส้นทางอาชีพของตัวเอง เช่น พระปรีชาพล ปภสูสโร (สำนักอารี) บวชเรียนต่อที่วัดปัญญาวุธาราม และจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยมหามงกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันยังคงจัดกิจกรรมค่ายคุณธรรมให้กับนักเรียนทุกปี รวมถึงนำงบประมาณ สิ่งของต่างๆ กลับมาพัฒนาบ้านเกิด

อีกตัวอย่างคือ พันธุ์ศักดิ์ ชีวิอิสระ ไปเรียนต่อด้านเกษตรที่จังหวัดเชียงใหม่ จนจบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง จากนั้นกลับมาพัฒนากาแฟมอโก้คีตั้งแต่การเพาะปลูกไปถึงการแปรรูปร่วมกับกลุ่มกาแฟมอโก้คี ทำให้เกิดรายได้ในชุมชน รวมถึงช่วยเหลือกิจกรรมใน ศศช. อาทิ กรรมการประกวดแปลงผัก กรรมการแข่งขันทักษะวิชาการ เป็นต้น

“มอโก้คีมีการปลูกกาแฟก่อนหน้านั้นอยู่แล้ว ส่วนพันธ์ศักดิ์กลับมาพัฒนาเรื่องของการเพิ่มผลผลิต โดยการบำรุงต้น การตัดแต่งกิ่ง การเอาอินทรีย์วัตถุ มูลสัตว์ต่างๆ ใส่ให้กับต้นไม้เพื่อการเจริญเติบโตที่ดี และมีผลผลิตของกาแฟที่เพิ่มมากขึ้น

“กระบวนการเรียนรู้ถือเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อมีความรู้ความเข้าใจ สามารถนำไปประกอบอาชีพที่ตัวเองชื่นชอบ มุ่งตามสายอาชีพของชาวบ้านได้ กลุ่มมอโก้คีทั้ง 5 บ้าน วันนี้เกิดองค์ความรู้ต่างๆ มีการติดต่อประสานงาน มีการหาตลาดในเมือง มีการพัฒนาการแปรผลผลิตต่างๆ ทำให้มีผลผลิตเพิ่มมากขึ้น มีรายได้ดีขึ้น”

ข้างต้นเป็นตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงชีวิตลูกศิษย์ของครูนิวัฒน์ที่เรียนจบจาก ศศช. บ้านมอโก้คี ซึ่งมีทั้งคนที่เรียนจบแล้วไปทำงานนอกพื้นที่และคนที่กลับมาทำงานในพื้นที่ แต่จุดร่วมกันของทุกคน คือ การพัฒนาบ้านเกิด และสะท้อนให้เห็นว่า

“แม้ช่วงวัยเด็กเขาจะงอแง ไม่อยากไปจากหมู่บ้าน แต่เมื่อเขาโตขึ้นในระยะเวลาหนึ่ง ก็สามารถปรับตัว ไปเรียนต่อในเมือง และอยู่กับสังคมข้างนอกได้”

รางวัลแห่งความสำเร็จของชีวิตความเป็นครู

การทำงานตลอด 22 ปีที่ผ่านมาของครูนิวัฒน์ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ พร้อมทั้งได้รับการเชิดชูเกียรติและรางวัลต่างๆ ตามความอุตสาหะที่ครูนิวัฒน์อุทิศตัวเองสร้างโอกาสทางการศึกษานอกระบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนพื้นที่สูง อาทิ

  • การปฏิบัติงานโดยมิได้คำนึงถึงภัยอันตรายของตนเองมากกว่าการช่วยเหลือผู้ป่วย ปี 2550 จากมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 
  • การปฏิบัติงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอย่างต่อเนื่อง ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ ปี 2556 และปี 2560 จากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย 
  • รางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ปี 2565 จากโครงการพระเมตตาสมเด็จย่า

รางวัลล่าสุดที่ครูนิวัฒน์ได้รับ คือ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2566 ที่เชิดชูเกียรติครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์และมีคุณูปการต่อการศึกษาไทย โดยเข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า

กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 17 ตุลาคม 2566 พร้อมกับสุดยอดครู 11 ประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เป็นรางวัลนานาชาติ เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้มีผลงานดีเด่น สร้างคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ รวม 11 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ลาว กัมพูชา พม่า บรูไน และติมอร์-เลสเต ประเทศละ 1 รางวัล โดยจะมีการสรรหาในทุก 2 ปีครั้ง จากความร่วมมือของกระทรวงศึกษาธิการทั้ง 11 ประเทศ เริ่มครั้งแรกในปี 2558

“เราเป็นครูดอย เป็นครูในถิ่นทุรกันดาร ไม่คิดไม่ฝันว่าจะได้รางวัลนี้ ซึ่งเป็นรางวัลสูงที่สุดของประเทศไทย ทำให้ภูมิใจในตัวเอง ภูมิใจทั้งครอบครัว แล้วก็ต้องทำงานให้มากขึ้น ขยันเพิ่มขึ้น เพื่อให้รางวัลตรงนี้การันตีว่าเราทำคุณงามความดีไว้และยังคงต้องทำต่อไป

“ที่ดีที่สุดคือเรารู้สึกว่าค้นหาตัวเองเจอ โดยการให้กับคนอื่นและเกิดผล เกิดประโยชน์ ทำให้เรามองเห็นคุณค่าตัวเองมากขึ้น ซึ่งแต่ก่อนเราไม่ค่อยมองถึงจุดนี้ มองไม่ออกว่าตัวเองมีประโยชน์อะไร ตัวเองทำอะไรต่างๆ ให้ใครหรือเปล่า แต่วันนี้เห็นผลที่ออกมา ไม่ว่าจะเรื่องการแก้ปัญหายาเสพติด ถนนสองเลน กาแฟ เรารู้สึกตัวเองมีประโยชน์ ช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือชุมชนได้บ้าง นี่คือสิ่งที่ภูมิใจ

“ที่ผ่านมา เราขออนุญาตจัดตั้งศูนย์การเรียนฯ ให้กับหลายหมู่บ้านที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ทำให้เด็กหลายร้อยคนได้เรียนหนังสือ สร้างโอกาสทางการเรียนการสอนให้กับคนในถิ่นทุรกันดาร จุดนี้เป็นผลงานที่ทางคณะกรรมการกลางได้เห็นว่า การให้โอกาสทางการศึกษากับคนที่เข้าไม่ถึงทางการศึกษา เป็นการสร้างโอกาสของชีวิต เพื่อที่เขาจะได้กลับไปพัฒนาตนเอง พัฒนาหมู่บ้าน และส่งผลให้ประเทศพัฒนาในทางที่ดีขึ้น”