เรียนต่อ ม.ปลาย ถ้าสู้ด้วยผลการเรียน “หนูว่าหนูไม่แพ้” แต่หนูกำลังสู้กับค่าใช้จ่ายที่ยิ่งเรียนสูงก็ยิ่งแพง

เรียนต่อ ม.ปลาย ถ้าสู้ด้วยผลการเรียน “หนูว่าหนูไม่แพ้” แต่หนูกำลังสู้กับค่าใช้จ่ายที่ยิ่งเรียนสูงก็ยิ่งแพง

“หนูคิดว่าตัวเองเรียนดีค่ะ เรื่องผลการเรียนไม่ใช่อุปสรรค แต่ยังคิดอยู่ว่าพอขึ้น ม.ปลายจะมีค่าใช้จ่ายตามมาแค่ไหน ทั้งชุดนักเรียนอุปกรณ์การเรียนก็ต้องซื้อใหม่เกือบหมด หรือค่าทำรายงานวิชาต่าง ๆ ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย”

ความในใจจาก ‘น้องยา – กัลยา มามุ’ นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนร่มเกล้า อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส เผยความรู้สึกไม่มั่นคงเมื่อพูดถึงการเรียนต่อระดับ ม.ปลาย จากการที่เราได้พบกันในกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ ‘นักเรียนทุนเสมอภาค’ เพื่อสำรวจมุมมองและถอดบทเรียนโครงการทุนรอยต่อ ก่อนนำมารวบรวมเป็นข้อเสนอแนวทางสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาให้เด็ก ๆ ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ

โครงการทุนรอยต่อ คือชื่อเรียกสั้น ๆ ของโครงการวิจัยต้นแบบการคัดกรองและการช่วยเหลือนักเรียนทุนเสมอภาคให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่สูงขึ้น เป็นการทำงานวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรม (Research & Innovation) ในการช่วยเหลือนักเรียนทุนเสมอภาคกลุ่มรอยต่อระดับชั้น ม.3 ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่สูงขึ้นในระดับชั้น ม.4 และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.1) ในเขตพื้นที่การศึกษา 30 เขต จาก 7 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ กาญจนบุรี เชียงราย ตาก แม่ฮ่องสอน ศรีสะเกษ นครศรีธรรมราช และนราธิวาส ซึ่งเป็นความร่วมมือ 4 ภาคส่วน ได้แก่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 ถึง 2567 โดย กสศ. จะจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการหารูปแบบการช่วยเหลือและทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการศึกษาต่อ ม.4 หรือเทียบเท่าที่เป็นภาพรวมของนักเรียนทั่วประเทศต่อไป

“กลัวว่าเรียนไปกลางทางแล้วไม่มีเงินเราต้องออกจากโรงเรียน เพราะครอบครัวเราไม่มีอะไรแน่นอน ถ้าไม่มีทางอื่นแล้วคงกู้เงินเรียน บอกเลยว่ากังวลที่จะเป็นหนี้มากค่ะ แต่ยังอยากเรียนมากกว่า …ลึก ๆ เรายังเชื่อว่าถ้าเรียนจบมีงานทำ ชีวิตน่าจะดีกว่าเดิม แต่ก็ไม่มีอะไรยืนยันว่าจะเป็นอย่างนั้น”

‘การเรียนต่อ’ เป็นสาระสำคัญในการสนทนาของเราครั้งนี้ กัลยาแตะถึงความประทับใจที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับเราว่าไม่ใช่แค่สนุกสนาน แต่สำหรับเธอนี่เป็นครั้งแรกที่ได้ทำแบบทดสอบประเมินตนเองว่าอยากเรียนหรือทำงานอะไรในอนาคต นอกจากนี้ยังได้สำรวจตำแหน่งแห่งที่ของ ‘ความรู้สึกภายใน’ ซึ่งเธอเองก็เพิ่งรู้ว่าตนเองอยู่ ณ จุดไหนบนแท่งกราฟดัชนีความสุข      

“หนูเพิ่งรู้ว่าเรามีความสุขบ้างไม่มีบ้าง เพราะที่ผ่านมาไม่เคยถามตัวเองเลย จนเราค่อย ๆ ให้คะแนนตัวเองแต่ละด้านว่าเรากินดี พักผ่อนดี ความสัมพันธ์กับเพื่อนหรือครอบครัวดี หรือเรามีสุขภาพหรือการเงินดีแค่ไหน เสร็จแล้วก็โยงเส้นต่อจุดที่จะแสดงภาพกราฟของแต่ละคนออกมา กราฟใครกลมมากก็หมายถึงความสุขมาก ส่วนของหนูออกมาหยัก ๆ แหลม ๆ ไปทุกด้าน ซึ่งมันบอกว่าเราไม่ค่อยมีความสุข และทำให้รู้ตัวเองว่าอาจมีปัญหาบางอย่างที่ไม่เคยคิดถึงมาก่อน …พอโยงเส้นเสร็จ หนูตกใจเหมือนกัน ว่าทำไมกราฟความสุขของเราออกมาแย่ขนาดนี้”

แล้วกราฟความสุขบนกระดาษแผ่นนั้น ก็พากัลยาเชื่อมโยงความคิดไปยังอีกหลายเรื่องรอบตัว ซึ่งเปิดให้เห็นสาเหตุของความกังวลในใจว่าเพราะเหตุใดแม้เธอจะเรียนได้เกรดเฉลี่ยสะสมถึง 3.60 แต่กลับไม่เคยมั่นใจเลยว่าจะได้เรียนจนจบการศึกษาชั้นมัธยมปลาย หรือจะมีโอกาสเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้อย่างที่ฝันไว้

“คือตั้งแต่ ม.1 แล้ว เรารู้สึกว่าไม่พร้อมกับการเรียนเลย ยิ่งช่วงโควิดที่บ้านไม่มีงานไม่มีเงิน แล้วเราต้องเรียนจากที่บ้าน โทรศัพท์ที่มีก็ใช้ได้บ้างไม่ได้บ้าง เรียนไปสักพักมาพังอีก ตอนนั้นแอบคิดว่าคงไม่ได้เรียนแล้ว แต่พอดีกับที่ครูมาบอกว่าหนูได้ทุนเสมอภาคนะ แล้วจะได้จนจบ ม.3 เลย เราก็ได้เอาทุนนี้มาช่วยจนผ่านมาถึง ม.3 ได้ค่ะ”      

พ่อของกัลยาเสียไปแล้ว ปัจจุบันเธออยู่กับแม่ที่ไม่มีอาชีพประจำในครอบครัวขนาดใหญ่ ที่มีทั้งญาติ ๆ และพี่สาวพี่ชายต่างพ่อแม่อีกหลายคน บางคนแยกออกไปอยู่ข้างนอกแล้ว และได้ส่งเงินมาให้แม่เลี้ยงดูน้อง ๆ ซึ่งกัลยาก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ได้รับ   

“บางทีที่จำเป็นต้องใช้เงินแล้วแม่ไม่มี หนูก็ยังอุ่นใจว่ามีทุนเสมอภาคอยู่ พูดได้เลยว่าถ้ายังมีทุนก้อนนี้ หนูมั่นใจว่าจะจบ ม.3 แน่ ๆ ส่วนหลังจากนี้รู้ว่ากำลังจะได้ทุนต่อ ม.4 อีกหนึ่งปี ก็ยิ่งแน่ใจว่าได้เรียนต่อแน่นอน แต่หนูแอบกังวลว่าถ้าหมดช่วงทุนไปแล้ว เราจะเรียนจนจบไหวไหม กลัวเรียนไปกลางทางแล้วไม่มีเงินจะต้องออกมาหางานทำหรือเปล่า”

กัลยาวางแผนเรียนต่อหลังจบ ม.3 ไว้แล้วว่าจะเรียนโรงเรียนร่มเกล้าที่เดิมในโปรแกรม SMTE (Science, Math, Technology and Environment) ซึ่งเป็นห้องเรียนพิเศษสำหรับเด็กสายวิทย์ที่เน้นเนื้อหาวิชาการเข้มข้น โดยเธอบอกว่าแม้จะคัดนักเรียนเพียง 20 คนต่อปี แต่ ‘ไม่น่ามีปัญหา’ สำหรับเธอ

“หนูคิดว่าตัวเองเรียนดีค่ะ เรื่องผลการเรียนไม่ใช่อุปสรรค ส่วนที่เลือกเรียนต่อโรงเรียนร่มเกล้าเหมือนเดิม เพราะที่นี่ไม่มีค่าเทอม ไม่ต้องจ่ายอะไรเลย ทุกอย่างฟรีหมด แต่ยังคิดอยู่ว่าพอขึ้น ม.ปลายจะมีค่าใช้จ่ายตามมาแค่ไหน ทั้งชุดนักเรียนอุปกรณ์การเรียนก็ต้องซื้อใหม่เกือบหมด หรือค่าทำรายงานวิชาต่าง ๆ ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย”

 สำรวจหมุดหมายอนาคต
“ยิ่งมีข้อมูลรอบด้าน ภาพอนาคตทางการศึกษาก็ยิ่งชัดขึ้น”

กัลยา มามุ นักเรียนทุนเสมอภาคชั้น ม.3

หนึ่งเป้าหมายของกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักเรียนทุนเสมอภาคครั้งนี้ คือการที่เราได้แนะแนวเส้นทางการศึกษาต่อให้กับน้อง ๆ และแนะนำเรื่องการเชื่อมโยงจากทุนเสมอภาค ไปยังแหล่งทุนต่าง ๆ เพื่อโอกาสการศึกษาที่เปิดกว้างขึ้น อย่างไรแล้ว ถ้าหากเป็น ‘ทุนกู้ยืม’ ย่อมหมายความถึงการ ‘ชำระคืน’ อันเป็นลักษณะของทุนซึ่งต่างจากทุนเสมอภาคที่เคยได้รับ ประเด็นนี้กัลยาสะท้อนว่า    

“ในจุดเริ่มต้นเราก็อยากมั่นใจว่าถ้ากู้เงินมาเรียนแล้ว จะไม่ต้องใช้หนี้ไปจนเป็นผู้ใหญ่ คือถ้ามีอะไรยืนยันได้ว่าเรียนจบมาจะหางานทำได้ ใช้หนี้ได้ มีชีวิตของตัวเองได้ หรือหากเจอวิกฤตเหมือนโควิดอีกเราจะเอาตัวรอดได้ ก็น่าจะทำให้กู้ได้อย่างสบายใจขึ้น”

กัลยาเล่าความหลังฝังใจถึงพี่สาวคนหนึ่งของเธอที่กัดฟันเรียนจนจบปริญญาตรี แต่ได้งานทำที่ค่าจ้างแทบไม่พอใช้จ่าย เรื่องนี้ทำให้กังวลว่าถ้าเธอเรียนจบออกมาแล้วต้องทำงานใช้หนี้การศึกษา ส่งเงินให้แม่ รวมถึงยังต้องดูแลตัวเอง รายได้กับรายจ่ายอาจไม่สัมพันธ์กัน ซึ่งอาจฉุดให้ชีวิตลำบากลงไปอีก

นอกจากนี้ระหว่างเส้นทางการศึกษา ที่เธอกำลังจะเดินต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้าซึ่ง ‘ไม่มีอะไรแน่นอน’ หากมี ‘ผู้รู้’ หรือแหล่งรวบรวมข้อมูลที่นักเรียนแต่ละระดับชั้นสามารถเข้าไปศึกษาหาความรู้ได้ ก็น่าจะทำให้เธอและนักเรียนแต่ละคนมองเห็น ‘เป้าหมาย’ ของการศึกษาที่ชัดยิ่งขึ้น

“หนูคิดว่าจำเป็นมาก ๆ ที่เราควรมีผู้แนะนำ มีคนชี้ทางให้ข้อมูล ทำให้เราเห็นเป็นภาพได้ชัดกว่านี้ ว่าเลือกเรียนอะไรแล้วจะพาไปไหน ต้องเตรียมรับความเสี่ยงอะไรบ้าง อย่างน้อยทำให้เรามั่นใจสักหน่อยว่าเรียนจบแล้วจะหางานทำได้ มีชีวิตที่ดีได้ หรือกับอีกหลาย ๆ คนที่เขาอาจตัดสินใจแล้วว่าจะไม่เรียนต่อ อยากออกไปทำงาน บางทีถ้าเขาได้รู้ก่อนว่าการเรียนต่อมันดียังไง หรือช่างน้ำหนักแล้วว่าออกไปทำงานดีกว่า เขาก็จะมีทางเลือกในชีวิตเยอะขึ้น เพราะพวกเราอยู่ตรงนี้ เห็นภาพกันน้อยมาก ๆ ค่ะ”

ท้ายที่สุดแล้ว กัลยายืนยันว่าถ้าไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายทางการศึกษา ระดับการศึกษาขั้นต่ำที่สุดที่เธอจะไปถึงแน่นอนคือปริญญาตรี ส่วนถ้ามี ‘ทุน’ มากกว่านั้น ก็ยิ่งมั่นใจว่าสามารถไปได้ไกลกว่านั้นอีก

…เพราะกัลยาเชื่อหมดใจว่า แม้เธอกับเพื่อน ๆ จะอยู่ห่างไกลจนเกือบสุดเขตแดนประเทศไทย แต่หาก ‘โอกาสทางการศึกษาที่เสมอภาค’ เดินทางมาถึง เธอและเพื่อน ๆ ทุกคนที่โรงเรียนร่มเกล้า ก็จะประสบความสำเร็จได้ไม่น้อยหน้าใคร ๆ เลย