หลากมิติความเหลื่อมล้ำ: สิ่งที่ฐานข้อมูล iSEE 3.0  เผยให้สังคมเห็น
โดย : ปวรินทร์ พันธุ์ติเวช
นักวิชาการข้อมูลและติดตามสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำ สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ.

หลากมิติความเหลื่อมล้ำ: สิ่งที่ฐานข้อมูล iSEE 3.0  เผยให้สังคมเห็น

“จากการคลุกคลีกับฐานข้อมูล iSEE ผมคิดว่า iSEE ช่วยเผยให้เราเห็นว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำมันมีความซับซ้อนในหลายมิติ ชัดเจนว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีความเชื่อมโยงกับเรื่องทางเศรษฐกิจ แต่นอกจากนี้เรายังพบด้วยว่าหลายครั้งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังเป็นเรื่องทางสังคม เป็นเรื่องของครอบครัวแหว่งกลาง เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม เช่น บางบริบทเด็กๆ ต้องออกจากระบบการศึกษาเพื่อไปทำงานช่วยครอบครัว หรือว่าไปแต่งงานตามประเพณี เป็นต้น 

“มิติความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาค่อนข้างซับซ้อน ดังนั้นการที่จะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา กสศ. จึงไม่สามารถทำเรื่องนี้คนเดียวได้ แต่ต้องทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ทั้งหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่นต่างๆ รวมถึงองค์กรเอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อที่จะช่วยกันดูมิติต่างๆ ของความเหลื่อมล้ำให้รอบด้าน และสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น ซึ่งการบูรณาการภาคส่วนต่างๆ เข้าด้วยกันนี้ เป็นทิศทางที่ กสศ.​ กำลังดำเนินการอยู่เช่นกัน”

ปวรินทร์ พันธุ์ติเวช นักวิชาการข้อมูลและติดตามสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำ
สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ.

รู้จัก iSEE  3.0

iSEE หรือระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Information System for Equitable Education) ถือเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้การศึกษาไทยได้

ทั้งนี้ ระบบ iSEE เวอร์ชั่นล่าสุด คือ iSEE 3.0 จะมีการแสดงผลข้อมูลครอบคลุมโครงการต่างๆ ของ กสศ. อย่างหลากหลายมากขึ้น โดยเวอร์ชั่นก่อนหน้านี้คือ iSEE 2.0 จะเน้นนำเสนอข้อมูลนักเรียนยากจน/ยากจนพิเศษ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ กสศ. คัดกรองเพื่อรับทุนเสมอภาค และจะมีบางส่วนที่ส่งข้อมูลต่อเพื่อรับเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนจากกระทรวงศึกษาธิการ

แต่ใน iSEE 3.0 ตัวระบบจะแสดงผลมากกว่าชุดข้อมูลของนักเรียนยากจน/ยากจนพิเศษที่คัดกรองทุนเสมอภาคแล้ว แต่ยังแสดงชุดข้อมูลโครงการอื่นๆ เช่น โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง, โครงการทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น, โครงการทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอข้อมูลนวัตกรรมต่างๆ เช่น การทำงานเรื่อง TSQP, การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่, รวมไปถึงข้อมูลวิจัยทั้ง PISA for Schools, ​บัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ (National Education Accounts of Thailand), และมาตรฐานคุณภาพขั้นต่ำของโรงเรียน : Fundamental School Quality Level (FSQL) ก็จะมีการแสดงผลข้อมูลไว้ด้วยเช่นกัน

สรุปคือ ข้อมูลที่อยู่ใน iSEE 3.0 จะมีมากกว่าชุดข้อมูลของความเสมอภาค แต่ยังขยายพรมแดนไปถึงเรื่องของทุนสร้างโอกาส ข้อมูลนวัตกรรมต้นแบบ รวมถึงงานวิจัย

ข้อมูลด้านล่างนี้เป็นข้อมูลที่สาธารณชนทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงได้จากฐานข้อมูล iSEE 3.0
-ข้อมูลทุนสร้างโอกาสและนวัตกรรมต้นแบบทั้งหมดของ กสศ.
-ข้อมูลจำนวนนักเรียน นักศึกษาที่ได้รับประโยชน์
-ข้อมูลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา
-ข้อมูลงานวิจัย กสศ.

นอกจากนี้ สำหรับภาคีเครือข่าย หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ยังสามารถติดต่อผ่านแบบฟอร์มในระบบ iSEE หรือผ่านอีเมล isee@eef.or.th เพื่อขอเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกสำหรับนำไปดำเนินงานต่อได้

การนำ iSEE ไปใช้สร้างความเปลี่ยนแปลง

กสศ. ได้จัดทำเวิร์กชอปเกี่ยวกับ iSEE 3.0 ไปช่วงเดือนตุลาคม 2566 ในงาน Equity Forum ซึ่งหน่วยงานที่เข้าร่วมจะมีทั้งภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานระดับท้องถิ่น เช่น เทศบาล อบต. รวมถึงหน่วยงานอื่น เช่น ศึกษาธิการจังหวัด นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานกึ่งเอกชนเข้าร่วมด้วย เช่นเอ็นจีโอ และมูลนิธิต่างๆ ผลจากการเวิร์คชอป หน่วยงานที่เข้าร่วมฟีดแบ็กว่า ชุดข้อมูลใน iSEE มีประโยชน์มาก เป็นเหมือนแว่นขยายที่ช่วยให้เขาสามารถชี้เป้ากลุ่มเป้าหมายได้ และทำงานได้อย่างตรงจุดมากขึ้น 

เช่น เอ็นจีโอต้องการทำงานกับกลุ่มเป้าหมายระดับ ปวช. ปวส. หรือมีกลุ่มเป้าหมายที่อยากช่วยอยู่ในพิกัดต่างๆ หากไม่มีชุดข้อมูลตั้งต้นอาจจะยากในการค้นหากลุ่มเป้าหมาย แต่พอมี iSEE แล้ว หน่วยงานเหล่านี้ก็เหมือนมีเครื่องมือที่ช่วยให้ทำงานได้ตรงเป้า สร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างตรงจุด นี่คือจุดเด่นของการมีดาต้าแพลตฟอร์มอย่าง iSEE

ความสำคัญของ iSEE ในฐานะดาต้าแพลตฟอร์ม

iSEE 3.0 เป็นดาต้าแพลตฟอร์มที่ช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศได้ โดยฐานข้อมูลใน iSEE 3.0 นี้เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่จากหน่วยจัดการศึกษา 6 สังกัด และข้อมูลจากระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) รวมถึงยังนำข้อมูลโครงการต่างๆ ของ กสศ. ทั้งโครงการให้ทุน โครงการต้นแบบ หรือโครงการวิจัยต่างๆ มาจัดแสดงและนำเสนอเป็นชุดข้อมูลที่สามารถหยิบใช้ได้ต่อ เพื่อให้สาธารณชน และภาคีที่ร่วมดำเนินงาน สามารถใช้ประโยชน์จากดาต้าแพลตฟอร์มนี้ได้ในรูบแบบที่ง่ายที่สุด เพื่อตอบโจทย์การทำงานในการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายได้

ในปัจจุบัน iSEE ถือว่าเป็นแพลตฟอร์มที่มีข้อมูลเด็กยากจนพิเศษเยอะและน่าจะครบที่สุดในประเทศ โดยข้อมูลเด็กกลุ่มเป้าหมายในฐานข้อมูล iSEE จะมีทั้งกลุ่มที่อยู่ในระบบการศึกษาและอยู่นอกระบบการศึกษา

iSEE ช่วยฉายให้เห็นภาพสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทั้งประเทศ-ชัดเจนขึ้น

ใน iSEE 3.0 จะมีชุดข้อมูลสำหรับให้สาธารณชนเข้าถึงได้ และชุดข้อมูลสำหรับภาคีโดยเฉพาะ ซึ่งสำหรับภาคีเครือข่ายนั้น จะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เชิงลึกขึ้น เช่น เห็นสถิติว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีความเข้มข้นของนักเรียนยากจน/ยากจนพิเศษมากที่สุดในประเทศ 5 ปีซ้อน, เช็คได้ว่า 10 จังหวัดไหนที่มีความเข้มข้นนักเรียนยากจน/ยากจนพิเศษมากที่สุด, หรือเช็คได้ว่า ในแต่ละภาคเรียน มีเด็กยากจน/ยากจนพิเศษคิดเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ของนักเรียนกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ 77 จังหวัด เป็นต้น

ดาต้าแพลตฟอร์มอย่าง iSEE จะช่วยให้เราเห็นหน้าตาของความเหลื่อมล้ำในประเทศได้ชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในแง่การทำงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพราะทำให้เราสามารถวิเคราะห์ปัญหาได้ละเอียดและลึกซึ้งมากขึ้น เช่น หากดูพื้นที่ซึ่งมีความเข้มข้นนักเรียนยากจน/ยากจนพิเศษมากที่สุด จะพบว่าโดยมากเป็นบริเวณชายขอบทางเหนือและทางอีสาน ซึ่งพอจะทำให้ประเมินและวิเคราะห์ได้ว่า ปัญหาความยากจนที่ก่อให้เกิดนักเรียนยากจน/ยากจนพิเศษในพื้นที่นั้น อาจเกี่ยวข้องกับสภาพเศรษฐกิจหรือการอยู่ในพื้นที่ห่างไกลของครัวเรือนเหล่านั้น ซึ่งอาจทำให้เกิดการหารือเรื่องการจัดสรรทรัพยากร หรือมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพิ่มเติมให้กับกลุ่มเหล่านี้ได้ เป็นต้น

ในแง่หน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่ การเข้าถึงฐานข้อมูลใน iSEE อาจช่วยทำให้เขาเห็นภาพว่า ปัจจุบันพื้นที่ของเขามีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอยู่ในระดับใด หากความเหลื่อมล้ำค่อนข้างรุนแรง ข้อมูลที่ตรงเป้าและชัดเจน ก็อาจเร่งให้เกิดการทำงานที่เข้มข้นมากขึ้น เกิดการร่วมมือกันทั้งจากหน่วยงานส่วนกลาง ท้องถิ่น เอกชน รวมถึง กสศ. เพื่อเร่งบรรเทาปัญหานักเรียนยากจน/ยากจนพิเศษตรงนี้ให้ได้มากที่สุด เป็นต้น

ทดลองใช้ https://isee.eef.or.th