“สำหรับเด็กๆ ที่นี่ ทุนการศึกษา ความช่วยเหลือ หรือเงินสนับสนุนในด้านต่าง ๆ คือสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเด็กส่วนใหญ่มาจากครอบครัวยากจน ‘ทุนเสมอภาค’ ได้ช่วยหลายอย่าง ทั้งแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ผู้ปกครอง และช่วยสร้างกำลังใจให้เด็ก ๆ อยากมาโรงเรียน”
ครูฟารีดา สลีมิน ครูประจำชั้น ป.2 โรงเรียนบ้านตันหยงกลิง ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เล่าด้วยน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความเข้าใจและห่วงใยลูก ๆ นักเรียน
ด้วยฐานะของครอบครัวเด็ก ๆ ที่อาศัยอยู่บนเกาะและทำอาชีพประมงพื้นบ้าน เด็ก ๆ จึงรู้ดีว่า “เงินทุกบาทมีความหมาย” เพราะกว่าจะได้มาสักบาท พ่อแม่ต้องออกเรือตั้งแต่เช้ามืด ฝ่าสายลมคลื่นทะเลไปหาปลา ปู ซึ่งบางวันจับได้มาก แต่บางวันก็ออกเรือไม่ได้เลย
“ทุนเสมอภาค” ภายใต้โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข (Conditional Cash Transfer: CCT) จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงกลายเป็นมากกว่าแค่เงินช่วยเหลือ แต่มันคือพลังใจสำคัญที่ทำให้เด็ก ๆ มีโอกาสได้เรียนรู้ต่อ
โดยในปีการศึกษา 2568 นี้ เด็กที่อยู่ในครัวเรือนยากจนพิเศษ จะได้รับทุนเสมอภาคจาก กสศ. คนละ 3,840 บาทต่อปี และได้รับเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจนจาก สพฐ. เพิ่มเติมอีกคนละ 1,000 บาทต่อปี

ครูฟารีดาบอกว่า โรงเรียนจะมอบเงินทุนเสมอภาคให้กับครอบครัวเด็กโดยตรง ส่วนใหญ่ผู้ปกครองจะนำไปใช้จ่ายกับของจำเป็นต่อชีวิตความเป็นอยู่ เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง หรืออุปกรณ์การเรียน
“ครอบครัวบนเกาะตันหยงกลิงหลายครอบครัว ต้องเดินทางไกลไปทำงานรับจ้างในร้านอาหาร โรงแรมในตัวจังหวัด หรือข้ามไปทำงานบนเกาะหลีเป๊ะซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว บางรายข้ามไปทำงานถึงประเทศมาเลเซีย ผู้ปกครองส่วนหนึ่งทำประมงพื้นบ้าน มีรายได้ไม่แน่นอน จึงต้องฝากลูกไว้ให้ปู่ย่าตายายดูแล”

โรงเรียนบ้านตันหยงกลิงเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ที่ครูทุกคนร่วมแรงร่วมใจ ออกเยี่ยมบ้านเด็กครบ 100% สิ่งที่พบคือสภาพความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายและลำบาก บ้านส่วนใหญ่ปลูกสร้างจากไม้โกงกางและวัสดุที่หาได้จากธรรมชาติบนเกาะ
เงินจากทุนเสมอภาคจึงช่วยให้เด็ก ๆ มีโอกาสซื้ออุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียน หรือค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาโรงเรียน ส่วนใหญ่ใช้เงินกันตามอัตภาพ ได้มาจากบ้านไม่เยอะ วันละประมาณ 20–25 บาท สำหรับซื้อขนมจากร้านค้าสหกรณ์ของโรงเรียน หรือร้านค้าบนเกาะซึ่งมีอยู่ไม่กี่แห่ง
“เด็ก ๆ ที่นี่ชอบมาโรงเรียนมาก เกาะของเราเป็นเกาะที่เล็ก แทบไม่มีพื้นที่ทำกิจกรรมอื่นนอกจากเรียนที่โรงเรียน และโรงเรียนสอนศาสนา โรงเรียนจึงกลายเป็นเหมือนทุกอย่างในชีวิตของพวกเขา”

ครูฟารีดาเล่าว่า โรงเรียนพยายามจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ให้มากที่สุด ใช้สภาพแวดล้อมรอบโรงเรียนเป็นห้องเรียนธรรมชาติ พานักเรียนลงมือปฏิบัติจริง ทดลอง ค้นคว้า และเรียนรู้จากผู้ใหญ่ในชุมชนที่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน
“แม้เราจะเป็นโรงเรียนเล็ก ๆ ที่ยังขาดแคลนในหลายด้าน แต่เด็ก ๆ ที่นี่ก็ยังตื่นเช้าและอยากมาเรียนทุกวัน ครูทุกคนจึงอยากให้มีความช่วยเหลือมาถึงที่นี่เยอะ ๆ โดยเฉพาะทุนต่าง ๆ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้รู้ว่า ยังมีคนอีกมากมายที่คิดถึง และห่วงใยพวกเขา”
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ร่วมส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาแก่โรงเรียนบ้านตันหยงกลิง โรงเรียนขนาดเล็กบนเกาะตันหยงกลิง ตำบลเกาะสาหร่าย จังหวัดสตูล มาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการสนับสนุนหลายมิติที่มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ
หนึ่งในนั้นคือการจัดสรร “ทุนเสมอภาค” ให้แก่นักเรียนเกือบทั้งโรงเรียนที่อยู่ในเกณฑ์ยากจนพิเศษ ภายใต้โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข (Conditional Cash Transfer: CCT) ซึ่งไม่เพียงช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว แต่ยังเป็นพลังใจสำคัญที่ทำให้เด็ก ๆ ได้มาเรียนต่อเนื่อง ไม่หลุดออกจากระบบการศึกษา
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาศักยภาพครูและสถานศึกษา ผ่านโครงการ “ครูรัก(ษ์)ถิ่น” เพื่อสร้างครูจากเด็กในชุมชนให้กลับมาสอนในบ้านเกิด เสริมสร้างโอกาส ลดอัตราการโยกย้ายครูในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล และสนับสนุนนวัตกรรมการผลิตและพัฒนาครูแบบมุ่งเป้าตอบโจทย์ปัญหาเชิงพื้นที่และในโอกาสครบรอบ 50 ปี ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับ กสศ. ดำเนินโครงการ “คอมพิวเตอร์เพื่อเด็กไทย ใส่ใจเรื่องการเงิน” มอบคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการเรียนรู้ พร้อมสื่อสร้างความรู้ด้านการเงินให้กับนักเรียนโรงเรียนบ้านตันหยงกลิง เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เสริมสร้างโอกาส และเปิดโลกการเรียนรู้ให้เด็ก ๆ บนเกาะเล็ก ๆ แห่งนี้ได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ พร้อมเปล่งประกายศักยภาพในระยะยาว