สองสัปดาห์แรกร้องไห้ทุกวัน แต่หลังจากนั้น “เราสนุกไปกับมันดีกว่า”
เรื่องเล่าหน้ากระดานดำจาก ‘นุช’ ปรียานุช ปกรณ์ชุติวงศ์ ว่าที่ครูรัก(ษ์)ถิ่น จากโรงเรียนในหุบเขา

สองสัปดาห์แรกร้องไห้ทุกวัน แต่หลังจากนั้น “เราสนุกไปกับมันดีกว่า”

“แม่เคยให้น้องขับรถขึ้นมาตามหาที่นี่ เพราะติดต่อหนูไม่ได้สองอาทิตย์”

ความไม่เสถียรของสัญญาณโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต และกระแสไฟฟ้าบนภูเขา คือเรื่องที่ ‘นุช’ ปรียานุช ปกรณ์ชุติวงศ์ เจอจนเป็นปกติ ระหว่างการเป็นครูฝึกสอนในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล ในฐานะว่าที่ครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นแรก ที่กำลังเตรียมบรรจุเต็มตัวกลางปีนี้

เท้าความก่อนว่า โรงเรียนที่นุชกำลังฝึกสอนอยู่ คือ โรงเรียนบ้านทุ่งเสือโทน ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ละแวกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร กลางอุทยานแห่งชาติเขาแหลม อำเภอทองผาภูมิ บริเวณหมู่บ้านคลิตี้ล่าง จังหวัดกาญจนบุรี

หากเดินทางจากตัวเมืองทองผาภูมิ ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมงในการขับรถขึ้นภูเขา ผ่านถนนลูกรังเป็นระยะทางเกือบร้อยกิโลเมตร ยังไม่นับรวมเวลาที่อาจหลงระหว่างทาง เพราะแผนที่บนจอมือถือก็ช่วยไม่ได้ตลอดเส้นทาง เมื่อต้องขับผ่านพื้นที่ที่อับสัญญาณอินเทอร์เน็ตเป็นบางช่วง

โรงเรียนบ้านทุ่งเสือโทน กาญจนบุรี

นั่นทำให้ที่ รร.บ้านทุ่งเสือโทน ถูกจัดอยู่ในหมวด ‘โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล’ ที่ส่วนใหญ่ไม่ใช่เป้าหมายในฝันของครูกำลังบรรจุ และมักจะไม่ใช่ปลายทางที่ครูในโรงเรียนเลือกจะอยู่อย่างถาวร จนนำไปสู่ปัญหาการขอย้ายบ่อยและครูขาดแคลน

โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น โดยกองทุนเพื่อความความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงเข้ามาแก้ไขปัญหาจุดนี้ ด้วยการมอบทุนการศึกษาเต็มจำนวน 4 ปี ให้แก่เด็กในท้องถิ่นที่อยากเป็นครู โดยมีเงื่อนไขว่าต้องบรรจุในโรงเรียนในถิ่นเกิด (ที่เข้าร่วมโครงการ) เป็นระยะเวลา 6 ปีหลังเรียนจบ โดยมองว่า ‘ใจรักชุมชน’ ของคนในพื้นที่ จะเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาโรงเรียนในชุมชนของตัวเอง

สำหรับนุช ลูกสาวจากครอบครัวชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ที่เรียนจบ ม.6 มาด้วยเงินส่งเสียของพี่ชายคนโต ทุนนี้ถือเป็นโอกาสที่ทำให้ความฝันอยากเป็นครูเข้าใกล้ความจริง จึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการ จนผ่านการคัดเลือกได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี คณะครุศาสตร์ เอกปฐมวัย โดยมีโรงเรียนบ้านทุ่งเสือโทนเป็นปลายทางตั้งแต่วันแรกที่สมัครรับทุน 

“วันที่สมัครทุน หนูยังไม่เข้าใจในวิชาชีพความเป็นครู หรือความรักในอาชีพครูตั้งแต่แรก หนูคิดว่าเป็นสิ่งที่ต้องไปเรียนรู้เอาในอนาคต ถ้าหนูใช้ความขยันอดทนที่ตัวเองมีมาตลอด ยังไงก็คิดว่าตัวเองเรียนไหว”

‘นุช’ ปรียานุช ปกรณ์ชุติวงศ์ ว่าที่ครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นแรก

เป็นครูบนเขาไม่ง่าย แต่เอาชนะความท้าทายด้วยรอยยิ้ม

ความท้าทายที่นุชต้องเจอ เริ่มตั้งแต่ในห้องเรียนมหาวิทยาลัย นอกจากวิชาที่ได้เรียนเหมือนกับเพื่อนๆ ภาคปกติทั้งหมด ที่เสริมขึ้นมาคือเนื้อหาในหลักสูตรการผลิตครูพัฒนาชุมชน Enrichment Program ซึ่งคิดขึ้นมาให้นักศึกษาในโครงการเป็นพิเศษ

“เปรียบเทียบกับเพื่อนในหลักสูตรปกติ สมมติพวกเขาทำงาน 4 ชิ้น แต่พวกหนูอาจจะมี 12 ชิ้น มันทวีคูณไปอีก ซึ่งมันเยอะกว่ามากๆ แต่ว่าทั้งหมดนี้มันให้ประโยชน์กับตัวพวกหนูเองทั้งหมด”

สิ่งที่หลักสูตรเน้นเพิ่มเติมขึ้นมาคือ โจทย์และบทเรียนสำหรับการผลิตครูที่พร้อมเป็น ‘นักพัฒนาชุมชน’ ที่สอดคล้องกับแต่ละบริบทของโรงเรียนและชุมชนในพื้นที่ห่างไกล ตามเป้าหมายของครูรัก(ษ์)ถิ่น 

“พวกหนูไม่ใช่แค่ครูที่กลับมาสอนที่บ้านเกิด แต่ต้องเป็นครูที่สร้างประโยชน์และเข้ากับชุมชนได้ รวมถึงทำให้เด็กในโรงเรียนรักในความเป็นชุมชนของตัวเองด้วย มันคือการปลูกฝังให้เด็ก ชุมชน โรงเรียนอยู่ร่วมกัน และทำงานร่วมกัน”

“การที่ครู ชุมชน และผู้ปกครองเด็กเข้ากันได้ คุยกันได้ มันจะง่ายต่อการทำงานของครูมากขึ้น เพราะเด็กเองก็จะรู้สึกอยากเรียน พร้อมที่จะรับความรู้มากกว่าตอนเรียนกับครูที่เขารู้สึกว่าไม่ได้เข้าใจเขาจริงๆ และเมื่อครูเข้ากับชุมชนได้ ผู้ปกครองเด็กก็จะช่วยซัพพอร์ตในหลายๆ ด้าน ที่ช่วยพัฒนาเด็กไปพร้อมๆ กันได้” นุชเสริม

สิ่งที่ท้าทายยิ่งกว่า จึงเป็นภาคปฏิบัติที่นุชและเพื่อนๆ จะต้องลงพื้นที่ฝึกสอนจริงในโรงเรียนปลายทาง ไปพร้อมๆ กับภารกิจพัฒนาชุมชน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย 

“สองอาทิตย์แรกหนูร้องไห้ทุกวัน วันละครั้ง ส่วนหนึ่งก็เพราะคิดถึงบ้าน อีกส่วนคือความลำบากของที่นี่ ติดต่อเพื่อนแต่ละครั้ง ต้องรอสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ไม่แน่นอน ไฟฟ้าก็ไม่พอใช้ บางทีหายไปสามวัน เพื่อนและครอบครัวติดต่อไม่ได้” นุชเล่าประสบการณ์ฝึกสอนครั้งแรกสมัยเรียนปี 3 ให้ฟัง

แม้ที่นี่จะเป็นโรงเรียนในตำบลบ้านเกิดนุช แต่ระดับความสูงบนภูเขาและการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกก็ต่างกัน โรงเรียนจะใช้พลังงานไฟฟ้ามาจากแผงโซลาร์เซลล์เป็นหลัก และใช้สัญญาณโทรศัพท์-อินเทอร์เน็ตที่ไม่ค่อยเสถียรจากเสาสัญญาณเพียงต้นเดียว

เทียนพรรษาและถังน้ำแข็ง คือสิ่งที่จำเป็นยิ่งกว่าโคมไฟและตู้เย็น และบางวันนุชต้องตื่นมาตีสาม เพื่อส่งรายงานออนไลน์ในช่วงเวลาที่สัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่มีใครแย่งใช้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกวันที่จะมีไฟฟ้ามากพอให้ชาร์ตแบตเตอรี่โน้ตบุ๊กให้เต็มพร้อมทำงาน

“มีครั้งหนึ่งในช่วงหน้าฝน วันที่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต โน้ตบุ๊กหนูแบตหมด แต่พอวันที่มีไฟฟ้าหนูชาร์ตโน้ตบุ๊กจนเต็มแล้ว สัญญาณกลับไม่มี โน้ตบุ๊กมันก็รวน หนูกลับไปบ้านพัก หนูร้องไห้เลย”

“แกจะมานั่งร้องไห้แบบนี้ตลอด 6 ปีเลยหรอ” เป็นคำถามที่นุชคุยกับตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าในช่วงเวลานั้น จนได้คำตอบกลับมาว่า “เราสนุกไปกับมันดีกว่า มันไม่มีความสุขที่ต้องมานั่งร้องไห้แล้วคิดว่าเมื่อไหร่จะหมดเวลา” 

การกลับมาฝึกสอนอีกครั้งในชั้นปีที่ 4 ข้อจำกัดของการเป็นโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลยังเหมือนเดิม แต่นุชอยู่กับมันอีกครั้งด้วยรอยยิ้ม อาจเหงาบ้างเป็นบางครั้ง แต่ก็เอาชนะมันมาได้ทุกครั้งด้วยกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ต้องง้อไฟฟ้า หรือเทคโนโลยีใดๆ

ในเวลาคาบเรียนปกติ นุชจะฝึกสอนคละชั้นอนุบาล 1-3 เวลานอกเหนือจากนั้นคือ การช่วยงานยิบย่อยครูรุ่นพี่ ดูแลความสะอาดในชั้นเรียน เคลียร์งานของมหาวิทยาลัย และทุกสัปดาห์จะต้องแบ่งเวลาไว้สำหรับลงพื้นที่ชุมชน

“ส่วนที่ทำให้หนูสนุกกับที่นี่ คือ การได้พูดภาษากะเหรี่ยงกับคนในชุมชน เวลาหนูเหงาๆ ก็เดินไปคุยเล่นกับลุงๆ ป้าๆ แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว บางวันหนูก็จะเอาหนังสือมาอ่าน นั่งทำงาน ทำสื่อที่ทำมือ หรือวันไหนมีงานวัด ก็ไปสนุกเต็มที่จนลืมไปเลยว่าตัวเองก็มีโทรศัพท์ใช้”

สำหรับเด็ก ‘ครูคนเดิม’ ดีกว่า ‘ครูคนใหม่’

ระยะเวลา 6 ปีจะว่านานหรือไว ก็คงแล้วแต่คนมอง แต่ที่แน่ๆ คนที่จะดีใจและได้รับผลประโยชน์จากเวลากว่า 2,000 วันหลังจากนี้ คือเด็กๆ โรงเรียนบ้านทุ่งเสือโทน ซึ่งที่ผ่านมาส่งท้ายครูเก่าและต้อนรับครูใหม่กันทุกปี

“การที่เด็กได้เรียนกับครูคนเดิมนานๆ พวกเขาจะเกิดความเคยชิน รักษามาตรฐานการเรียนรู้ไว้ได้ และรู้สึกไว้วางใจ ในขณะที่การเจอครูคนใหม่จะทำให้พวกเขาต้องเปลี่ยนการเรียนการสอนตาม มันมีผลทำให้เด็กสับสนได้”

นอกจากนุชจะเป็นครูที่เด็กๆ คุ้นชินเพราะต้องอยู่อีกสักพักใหญ่ สิ่งที่ทำให้เธอได้รับความไว้วางใจจากเด็กๆ คือการเป็นคนจากชุมชนเดียวกัน ที่บางครั้งก็คุยกันด้วยภาษากะเหรี่ยงและมีวัฒนธรรมร่วมกัน ทำให้ความสัมพันธ์ของพวกเขาเข้าถึงกันได้ง่ายกว่าครูต่างถิ่น 

“ส่วนใหญ่คนชาติพันธุ์ที่นี่เป็นคนกะเหรี่ยงกันแทบจะ 100% แล้วหนูก็เป็นคนที่พูดกะเหรี่ยงได้เหมือนกับพวกเขา หนูใช้ความได้เปรียบเรื่องภาษาของหนูนี่แหละในการเข้าหาเด็ก เข้าหาชุมชน บางคนอาจจะยังไม่ได้รู้จักหนูมาก แต่ว่าการที่หนูได้พาตัวเองเข้าไปอยู่ในชุมชนทุกอาทิตย์ ไม่ว่าจะไปทำงานหรือแค่ไปซื้อของ พูดคุยกับพวกเขาที่ไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ แค่นี้เขาก็จะรู้สึกสบายใจที่จะคุยกับหนู แล้วหลังจากนี้ถ้าหนูจะเป็นตัวกลางที่คอยเป็นกระบอกเสียงระหว่างชุมชนกับโรงเรียนมันก็จะง่ายขึ้น”

ณ วันนี้บางครั้งเด็กๆ ก็เรียกครูนุชว่า ‘พี่’ หรือ ‘แม่’ เพราะการเป็นครูที่นี่ไม่ได้มีแค่การให้ความรู้ แต่มันรวมถึงการดูแลเด็กๆ ให้เหมือนเป็นคนในครอบครัว สร้างบรรยากาศในโรงเรียนให้เหมือนกับอยู่บ้าน และที่สำคัญคือการเป็นคนที่จะเข้าใจคนในชุมชนที่สุด

“หนูไม่ได้อยากให้ลูกศิษย์คนไหนรู้สึกว่าตัวเองเก่งกว่าคนอื่น แต่อยากให้เขาได้รับความรู้ ได้ดูแบบอย่างจากหนูไปแล้วโตไปเขารู้สึกว่าตัวเขาเองเอาตัวรอดได้ จดจำหนูในรูปแบบที่โตมาแล้วเด็กเขาทำตัวดี ไม่สร้างความเดือดร้อน ไม่ต้องเป็นคนดีของสังคมก็ได้ แต่เขาใช้หลักของความเป็นคนดีใช้ดำเนินชีวิตของเขาไปได้”

“ครูที่เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก” ที่นุชอยากเป็น คงไม่ได้อยู่ไกลเกินจริง

การเดินทางในฐานะครูรัก(ษ์)ถิ่นนี้ยังอีกยาวนาน บางวันที่ทำงานเหนื่อยๆ นุชยอมรับว่าอาจมีท้อบ้าง แต่คงไม่ได้นั่งนับเคาท์ดาวน์ รอวันใช้ทุนครบอีกต่อไป 

“อีกไม่นานจะได้มาอยู่ที่นี่อีก 6 ปี มีการเตรียมตัวเตรียมใจไว้ยังไงบ้าง” เราถามทิ้งท้าย

“ไม่ต้องเตรียมใจแล้วค่ะ เพราะตอนนี้หนูเริ่มปรับตัวกับที่นี่ได้แล้ว” นุชตอบด้วยรอยยิ้ม