‘โรงเรียนบ้านตันหยงกลิง’ โรงเรียนขนาดเล็ก… แต่เปรียบได้กับลมหายใจของชุมชน

‘โรงเรียนบ้านตันหยงกลิง’ โรงเรียนขนาดเล็ก… แต่เปรียบได้กับลมหายใจของชุมชน

นาฬิกาชีวิตของที่นี่เริ่มต้นตั้งแต่เช้ามืด ราวตี 3 ของทุกวัน ชาวเกาะส่วนใหญ่ซึ่งประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ประมงขนาดเล็ก ใช้เรือลำน้อยและเครื่องมือทำกินแบบดั้งเดิม เริ่มออกเรือไปจับสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่งเพื่อบริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายเป็นรายได้เลี้ยงชีพ

พื้นที่ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เป็นเกาะเล็ก ๆ ที่มีประชากรเพียง 433 คน จาก 234 ครัวเรือน ที่นี่เองคือที่ตั้งของโรงเรียนบ้านตันหยงกลิง ที่ผอ.สมาน หวังผล เล่าว่า เด็ก ๆ จะมาโรงเรียนตั้งแต่เช้าตรู่ ภาพที่ทุกคนบนเกาะคุ้นเคยกันดี คือประมาณ 6 โมงเช้า เด็ก ๆ จะเริ่มทยอยมาถึงโรงเรียนกันอย่างพร้อมเพรียง

“ตอนเช้า เด็กส่วนใหญ่เดินมาโรงเรียนเองเพราะบ้านอยู่ใกล้โรงเรียนมาก บางคนก็มีแม่มาส่งเพราะส่วนใหญ่พ่อจะไปออกเรือ โรงเรียนจึงเป็นพื้นที่สำคัญมากของเด็ก ๆ ที่นี่ เป็นเสมือนบ้านอีกหลังหนึ่ง มาเรียนแต่เช้า หลังเลิกเรียนก็เดินกลับบ้าน เปลี่ยนชุดนักเรียนแล้วก็กลับมาวิ่งเล่นกันที่โรงเรียน”

ชีวิตประจำวันของเด็ก ๆ บนเกาะ ซึ่งเป็นชาวมุสลิม 100% ในวันธรรมดาจันทร์–ศุกร์ เด็กจะมาเรียนที่โรงเรียน ส่วนวันเสาร์–อาทิตย์ ก็ไปเรียนด้านศาสนาในโรงเรียนตาดีกา เมื่อลงจากเรือหรือเดินมาถึงโรงเรียน เด็ก ๆ จะช่วยกันแบ่งกลุ่มทำความสะอาด ซึ่งเป็นนโยบายของโรงเรียนในการปลูกฝังเรื่องการรักความสะอาด ที่ไม่ใช่เพียงเรื่องภายนอก แต่รวมถึงการดูแลจิตใจและสิ่งแวดล้อมตามหลักศาสนาอิสลาม

“แม้เด็กส่วนใหญ่จะมาจากครอบครัวยากจน แต่เราพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้เด็กทุกคนได้เรียนจนจบภาคบังคับโดยไม่ลาออกกลางคัน เด็กที่นี่ต้องได้เรียนหนังสือทุกคน 100% ใครที่ประสบปัญหามาเรียนไม่ได้ ผมจะไปติดตามถึงบ้านในทันทีว่าเกิดอะไรขึ้น ไปดูให้เห็นถึงบ้าน ไปถามพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ต้องไปนั่งคุยกับผู้ปกครองว่าติดขัดอะไร ติดขัดเรื่องไหน แล้วค่อยมาหาทางคิดกันว่า จะหาทางออกอย่างไร 

“ต้องบอกให้เขาเข้าใจว่า การส่งลูกหลานมาเรียนนั้นสำคัญมาก การเรียนคือรากฐานสำคัญในการพัฒนาชุมชน สามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ช่วยให้คนในพื้นที่มีความรู้ ทักษะ และโอกาสในการพัฒนาตนเอง เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน”

ผอ.สมาน หวังผล

เยี่ยมบ้าน: โอกาสสำคัญในการรู้จักชีวิตเด็กและครอบครัว

ผอ.สมาน เล่าว่า หลักการสำคัญที่โรงเรียนบ้านตันหยงกลิงใช้ดูแลนักเรียนคือ “การเยี่ยมบ้านเด็กทุกคน” ครูทุกคนจะแบ่งสายกันเดินเท้าไปหาเด็ก ๆ ถึงบ้านเพื่อให้ได้ข้อมูลทุกครัวเรือน หากพบว่าเด็กคนใดมีปัญหาก็จะให้ครูเข้าไปติดตาม มีปัญหาเรื่องของอะไรบ้าง ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจของครอบครัว ปัญหาเรื่องปากท้อง ไปช่วยกันดูว่ามีอะไรบ้างที่เป็นอุปสรรคในการมาเรียนของเด็ก ๆ  

ข้อมูลที่ได้จากการเยี่ยมบ้านจะถูกนำเข้าสู่กระบวนการ PLC (Professional Learning Community) หรือ “ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ” ที่คุณครูและผู้บริหารร่วมกันวิเคราะห์ พัฒนาแนวทางการเรียนรู้ สร้างบรรยากาศที่ดีและหาแนวทางช่วยเหลือเด็กอย่างเป็นระบบ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในระยะยาว

“การไปเยี่ยมบ้านทำให้เห็นปัญหา บางครั้งเราไปเห็นกับตาว่าเด็กบางคนลำบากมาก บางคนจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน บางคนต้องการทุนการศึกษา เราก็จะประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่นปีที่ผ่านมา เราได้ประสานกับ อบจ. เพื่อขอทุนช่วยเหลือเด็ก อบจ. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงมาดูสภาพจริง ก็จัดสรรงบประมาณมาให้ เราพยายามประสานความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ นอกเหนือจากงบประมาณที่รัฐจัดสรรให้โรงเรียน”

โรงเรียนบ้านตันหยงกลิงเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรตามจำนวนเด็กทำให้ ผอ.สมาน ต้องบริหารจัดการภายใต้ข้อจำกัด และเมื่อโรงเรียนตั้งอยู่บนเกาะ ค่าใช้จ่ายก็ยิ่งสูงกว่าพื้นที่อื่น ที่เกิดขึ้นจริงเมื่อเร็ว ๆ นี้ คือการเปลี่ยนกระเบื้องหลังคาเพียงแค่ 2 แผ่น ต้องเดินทางขึ้นฝั่งไปซื้อและขนกลับมา ยกขึ้น ยกลง ด้วยแรงคนอย่างน้อย 5 ครั้ง

“ประเด็นท้าทายในการทำงานสำหรับผม คือการบริหารบนความขาดแคลน”

“ผมบอกกับครูทุกคนว่าทำงานให้เต็มที่ ผมไม่อยากให้ครูทำงานอื่นนอกจากการสอน ถ้ามีงานเดินเอกสารหรืองานติดต่อราชการส่วนกลางของจังหวัดที่ผมทำแทนครูได้ ผมจะไปดำเนินการแทนทั้งหมด 

“ผมบอกน้องนักการภารโรงว่า ถ้าติดภาระงานที่ช่วยสนับสนุนการเรียนของลูก ๆ เช่น งานเซ็ตคอมพิวเตอร์ เซ็ตอุปกรณ์เพื่อการเรียนรู้ งานที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญที่เขามีและผมไม่มี ผมจะไปตัดหญ้า กวาดโรงเรียนแทนเขาเอง 

“ครู บุคลากรทุกคนของโรงเรียนเรา รวมทั้งตัวผม ทราบดีว่ามาอยู่ที่นี่ จะต้องอดทนเสียสละมากกว่าที่อื่น เพื่อให้ลูก ๆ ทุกคนได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกับนักเรียนที่อยู่บนฝั่งให้ได้มากที่สุด”

โรงเรียนเล็กที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

บ้านตันหยงกลิงเป็นชุมชนขนาดเล็ก ที่นี่มีร้านอาหารเพียงแห่งเดียว ร้านขายของชำเล็ก ๆ ไม่กี่ร้าน และโรงเรียนบ้านตันหยงกลิงก็เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่เปิดสอนตั้งแต่อนุบาล 2 ถึง ป.6 มีนักเรียนทั้งหมด 46 คน ครูรวมบุคลากรทางการศึกษา 11 คน

“ที่นี่ เรามีเด็กที่เรียนคนเดียวตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนตอนนี้อยู่ ป.2 การเรียนคนเดียวเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก เราต้องดูแลไม่ให้เขาเหงา หรือเครียด เราจึงจัดบางวิชาให้ไปเรียนรวมกับชั้นอื่น เพื่อให้เขารู้สึกว่ามีเพื่อน”

แม้ฐานะครอบครัวของเด็กจะลำบาก แต่เด็กที่นี่แทบไม่เคยขาดเรียน ปีที่ผ่านมา เด็ก ป.6 ทั้ง 7 คน ได้เรียนต่อมัธยมต้นครบถ้วน โดย 5 คนเรียนต่อที่โรงเรียนบ้านตันหยงอุมาชัยพัฒนาบนเกาะเดียวกันนี้ อีก 2 คน เดินทางไปเรียนในเมือง

“เราเป็นโรงเรียนเล็ก เด็กทุกคนเป็นเสมือนสมาชิกของครอบครัว เราจะทอดทิ้งใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้”

ชุมชน คือโรงเรียนขนาดใหญ่ที่ขยายขอบเขตออกไปไม่จำกัด

ผอ.สมานมองว่า จุดแข็งของเกาะบ้านตันหยงกลิงคือมี “ชุมชนที่เข้มแข็ง” ทุกคนที่นี่รู้จักกันหมดทั้งเกาะ ความใกล้ชิดนี้ จึงควรนำมาใช้เป็นพลังในการพัฒนาโรงเรียน

“ความเป็นชุมชนที่เรามีน่าจะถูกนำมาเป็นหัวใจสำคัญในการทำงาน ผมพยายามผลักดันให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เป็นเหมือนหุ้นส่วนของโรงเรียน เพราะถ้าไม่มีความร่วมมือจากชุมชน ก็ยากที่ครูกับผู้อำนวยการจะพัฒนาโรงเรียนได้เต็มที่”

คนในชุมชนที่นี่ เป็นทั้งผู้ช่วยสอดส่องดูแลเด็ก เป็นแหล่งเรียนรู้ทั้งด้านวิชาการและภูมิปัญญาที่สำคัญสำหรับนักเรียน ซึ่งโรงเรียนจะจัดกิจกรรมเชื่อมโยงกับชุมชนอยู่สม่ำเสมอ เช่น พาเด็กไปเรียนรู้การถักอวน ซ่อมอวน ดูแปลงเกษตรของเกษตรกรบนเกาะ ความร่วมมือเช่นนี้ทำให้ผู้ปกครองใส่ใจเรื่องการเรียนของลูกมากขึ้น ประชุมผู้ปกครองก็มาเกือบครบทุกคน และร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อพัฒนาโรงเรียน

“พ่อแม่ผู้ปกครองที่นี่ตื่นตัวเรื่องการดูแลโรงเรียนมาก เวลาที่โรงเรียนเรียกประชุมผู้ปกครอง ทุกคนจะมากันอย่างพร้อมเพรียง ใครมองเห็นจุดบกพร่องอะไร ก็ช่วยกันเสนอความคิดเห็นและทางออกในการปรับปรุงและพัฒนา 

“สิ่งที่เกิดขึ้นคือการได้เห็นว่า ชุมชนคือโรงเรียนที่ขยายขอบเขตออกไป บางครั้งโรงเรียนก็เหมือนกลายเป็นพื้นที่ที่ไม่มีรั้วกั้น คนบนเกาะทำให้ทั้งชุมชนกลายเป็นโรงเรียน เกาะทั้งเกาะก็คือโรงเรียน” – ผอ.สมาน หวังผล โรงเรียนบ้านตันหยงกลิง ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล


กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ร่วมส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาแก่โรงเรียนบ้านตันหยงกลิง โรงเรียนขนาดเล็กบนเกาะตันหยงกลิง ตำบลเกาะสาหร่าย จังหวัดสตูล มาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการสนับสนุนหลายมิติที่มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ

หนึ่งในนั้นคือการจัดสรร “ทุนเสมอภาค” ให้แก่นักเรียนเกือบทั้งโรงเรียนที่อยู่ในเกณฑ์ยากจนพิเศษ ภายใต้โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข (Conditional Cash Transfer: CCT) ซึ่งไม่เพียงช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว แต่ยังเป็นพลังใจสำคัญที่ทำให้เด็ก ๆ ได้มาเรียนต่อเนื่อง ไม่หลุดออกจากระบบการศึกษา

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาศักยภาพครูและสถานศึกษา ผ่านโครงการ “ครูรัก(ษ์)ถิ่น” เพื่อสร้างครูจากเด็กในชุมชนให้กลับมาสอนในบ้านเกิด เสริมสร้างโอกาส ลดอัตราการโยกย้ายครูในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล และสนับสนุนนวัตกรรมการผลิตและพัฒนาครูแบบมุ่งเป้าตอบโจทย์ปัญหาเชิงพื้นที่

และในโอกาสครบรอบ 50 ปี ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับ กสศ. ดำเนินโครงการ “คอมพิวเตอร์เพื่อเด็กไทย ใส่ใจเรื่องการเงิน” มอบคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการเรียนรู้ พร้อมสื่อสร้างความรู้ด้านการเงินให้กับนักเรียนโรงเรียนบ้านตันหยงกลิง เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เสริมสร้างโอกาส และเปิดโลกการเรียนรู้ให้เด็ก ๆ บนเกาะเล็ก ๆ แห่งนี้ได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ พร้อมเปล่งประกายศักยภาพในระยะยาว