หยั่งราก Active Learning สู่ห้องเรียนต้นแบบ : “เพราะไม่มีห้องเรียนที่ดีที่สุด แต่เราพัฒนาทุกห้องเรียนให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ได้ในทุกวัน”

หยั่งราก Active Learning สู่ห้องเรียนต้นแบบ : “เพราะไม่มีห้องเรียนที่ดีที่สุด แต่เราพัฒนาทุกห้องเรียนให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ได้ในทุกวัน”

“การจะหยั่งรากการเรียนรู้เชิงรุกลงสู่โรงเรียนต้นแบบ บางกิจกรรมต้องอาศัยครูที่เชี่ยวชาญเพื่อต่อยอด ขณะเดียวกันการลงทุนกับครูที่ไม่มีพื้นฐานมาก่อน แต่มุ่งมั่นพร้อมเรียนรู้ ก็อาจทำให้เราพบครูท่านใหม่ ๆ ที่จะเป็นเรี่ยวแรงสำคัญช่วยขับเคลื่อนงานต่อไป เพราะจุดเด่นของครูกลุ่มนี้ คือสงสัยใคร่รู้ กล้าคิดกล้าทำ อยากสร้างสรรค์สิ่งใหม่ โดยไม่มีประสบการณ์เดิมมาปิดกั้นให้กลัวความล้มเหลวหรือกลัวเสียชื่อ และเมื่อไม่กลัวก็ไม่เกร็ง กล้าลองทำกิจกรรมที่ต่างออกไปด้วยแรงใจแรงกายที่ไม่มีวันหมด”

แวดวงการศึกษาทราบกันดีว่า ‘การเรียนรู้เชิงรุก’ หรือ ‘Active Learning’ คือทักษะสำคัญของการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่จะพลิกโฉมการศึกษาแบบเดิมที่มุ่งถ่ายทอดความรู้จากครูถึงศิษย์แบบ ‘สื่อสารทางเดียว’ มาเป็นการยกระดับให้นักเรียนได้เป็น ‘ศูนย์กลางการเรียนรู้’ ผ่านการคิด การร่วมออกแบบวิธีการ และเน้นเก็บเกี่ยวประสบการณ์ผ่านการลงมือทำ เพื่อให้องค์ความรู้และทักษะงอกงามขึ้นจากภายในตัวผู้เรียน

ทว่าผลสัมฤทธิ์ของการเรียนการสอนแบบ Active Learning จะเกิดขึ้นได้จริงตามแนวคิดและทฤษฎี ก็ต่อเมื่อนำไปสู่กระบวนการปฏิบัติจนปรากฏผลลัพธ์เชิงประจักษ์

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ชวนถอดบทเรียน ‘การพัฒนาครูนักจัดการเรียนรู้สู่โรงเรียนในพื้นที่’ จากเวทีเปิดบ้านห้องเรียนต้นแบบ Active Learning ซึ่งเป็นการบอกเล่าประสบการณ์จากผู้มีส่วนร่วมใน ‘โครงการพัฒนานักจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สู่การขยายผลพื้นที่ต้นแบบ’ ในบทบาทที่แตกต่างกัน ตั้งแต่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ และครู 

โดยความร่วมมือครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อหยั่งรากการเรียนรู้เชิงรุกลงสู่โรงเรียนต้นแบบด้วย 8 หลักสูตร อาทิ โครงงานนวัตกรรมจากประสบการณ์โลก การออกแบบบอร์ดเกมสำหรับห้องเรียน Active Learning การจัดการเรียนรู้อิงสมรรถนะผู้เรียน หรือจิตศึกษากับการพัฒนาหลักการจิตวิทยาเชิงบวกเพื่อการเสริมสร้างอุปนิสัยนักจัดการเรียนรู้ ที่ได้ออกแบบให้รองรับความแตกต่างหลากหลายของผู้เรียน เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ สอดรับปัญหา และการพัฒนาตามคุณลักษณะของโรงเรียนสังกัด สพฐ. ใน 21 เขตพื้นที่การศึกษาจาก 10 จังหวัดนำร่อง

ถึงแม้ว่าวิธีจัดการศึกษาจะไม่มีคำตอบตายตัว ว่านวัตกรรมการศึกษาใดจะจับคู่กับสถานศึกษาแต่ละแห่งได้อย่างลงตัว อย่างไรก็ตามผลสะท้อนจากที่คณะทำงานในโครงการฯ นำเสนอ จะเป็นเหมือนใบเบิกทางให้เห็นว่า โลกการศึกษาในศตวรรษที่ 21 นั้นกว้างใหญ่หลากหลายเพียงใด ทั้งยังอาจช่วยบันดาลใจและเป็น ‘How- to’ ให้กับโรงเรียนในพื้นที่อื่น ๆ ที่สนใจนำการเรียนรู้รูปแบบนี้ไปใช้ ทั้งในแง่หลักการ กิจกรรม หรือแม้แต่การพัฒนาเครือข่าย ‘เพื่อนคู่คิด’ ที่จะเดินไปพร้อมกันเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย คือ เปลี่ยนระบบนิเวศการเรียนรู้ และพัฒนาผู้เรียนให้เป็น ‘Active Learner’ ในวันข้างหน้า

คัดสรรโรงเรียนให้สอดคล้องกับหลักสูตร

ดร.ชุลีกร ทองด้วง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ตรัง เขต 1 พูดถึงบทบาทของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่เป็นหัวขบวนในการขับเคลื่อนภารกิจ ว่าเขตพื้นที่ฯ คือฝ่ายวางแผนและผลักดันนโยบาย เพื่อเชื่อมโยงโครงการเข้าสู่แผนปฏิบัติในภาพรวม ดังนั้นเมื่อ กสศ. สนับสนุนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก อันเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาของชาติ ก็ถือว่าเป็นโอกาสดีในการนำนวัตกรรม เครื่องมือ และองค์ความรู้ใหม่ ๆ มาทดลองใช้จริง

ดร.ชุลีกร ทองด้วง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ตรัง เขต 1

“เพราะเรารู้ว่าความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ทางการศึกษาไม่ได้ใช้เวลาแค่ 1-2 เดือน แต่การจะเปลี่ยนความคุ้นชินเดิมที่ทำกันมาหรือไปให้ถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ เราต้องวางแผนงานที่ตั้งอยู่บนฐานของความยั่งยืน ดังนั้นก่อนไปถึงการลงรากของนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ เขตพื้นที่ฯ ต้องทำงานร่วมกับโรงเรียน เพื่อมองหาความเป็นไปได้ในการคัดสรรโรงเรียนให้สอดคล้องกับหลักสูตร เช่น โรงเรียนที่มีปัญหาเรื่องการปรับพฤติกรรมนักเรียนอาจเหมาะกับจิตศึกษากับการพัฒนาจิตวิทยาเชิงบวก หรือห้องเรียนที่ต้องการริเริ่มกระบวนการมีส่วนร่วมก็อาจนำบอร์ดเกมไปใช้

“การจัดการเรียนรู้ให้เป็นระบบ เราต้องมองให้เห็นทิศทางระยะยาว เข้าใจการจับคู่นวัตกรรมกับปัญหาเฉพาะด้าน เราจึงจะสามารถ ‘ปลุกยักษ์ในตัวครู’ เพื่อส่งผลลัพธ์ไปถึงนักเรียนได้”

ผู้อำนวยการ สพป. ตรัง เขต 1 กล่าวว่า เขตพื้นที่ฯ ยังมีหน้าที่ติดตาม เสริมกำลังใจ เติมเต็ม และอุดช่องว่างให้ครู รวมถึงสนับสนุนให้ศึกษานิเทศก์ทำหน้าที่ ‘พี่เลี้ยง’ ของครูอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากหลายโรงเรียนยังใหม่มากต่อการรับเอาแนวทางการเรียนรู้เชิงรุกไปบูรณาการข้ามกลุ่มสาระวิชา จึงต้องมีการทำความเข้าใจร่วมกันก่อน ว่าจะประยุกต์และถ่ายทอดอย่างไรให้เนื้อหาลงไปถึงเด็ก ๆ ได้ครอบคลุมทุกกลุ่มสาระ 

“หลักการสำคัญคือ เขตพื้นที่ฯ ต้องเป็นเหมือนข้อต่อที่ช่วยปลุกพลังให้คนและหน่วยงานมาร่วมมือกัน มองไปยังภาพเดียวกัน ซึ่งถ้าจุดประกายสำเร็จ การพัฒนามาตรฐานครูนักจัดการเรียนรู้ในพื้นที่หนึ่ง ๆ ก็จะส่งต่อกันได้เร็วขึ้น”

เลือกคนจากความมุ่งมั่น

นุตประวีณ์ ทัศนสุวรรณ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สพป. พิจิตร เขต 2

นุตประวีณ์ ทัศนสุวรรณ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สพป. พิจิตร เขต 2 กล่าวว่า ศึกษานิเทศก์ หรือ ศน. มีหน้าที่นำหลักสูตรไปถ่ายทอดให้กับครูโดยตรง จึงต้องหา ‘ครูแกนนำ’ ให้พบ และวิธีการที่จะพบครูคนนั้นได้ดีที่สุดก็คือ เลือกคนที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ

“คนที่จะพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้ ต้องมีคุณสมบัติพื้นฐานสำคัญคือ มุ่งมั่นตั้งใจและพร้อมลงมือทำ สำหรับพื้นที่ของเราที่เลือกเรียนรู้เรื่องการออกแบบบอร์ดเกม แน่นอนว่าใครก็ตามที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องล้วนต้องเริ่มจากศูนย์เหมือนกันทั้งหมด การรับครูของเราจึงใช้วิธีเลือกอาสาสมัครจากครูที่เข้าใจเด็ก จากครูที่มองเห็นภาพปลายทางในการเปลี่ยนแปลง จากครูที่พร้อมลงมือปฏิบัติ พร้อมเรียนรู้จากความล้มเหลวและพร้อมเริ่มต้นใหม่ ครูของเราต้องเข้าใจว่างานครั้งนี้อาจกินเวลายาวนาน ซึ่งระหว่างนั้น ศน. จะคอยเป็นพี่เลี้ยงช่วยผลักดันไปด้วยกัน

“หลักการของเราคือ ‘รู้หรือไม่ ไม่ใช่ปัญหา’ ประเด็นคือครูต้องไม่กลัวที่จะลองทำ และต้องรักษาพลังความกระตือรือร้น อยากรู้อยากทำให้ได้ตลอดกระบวนการ เช่น ครูท่านหนึ่งของเราที่เป็นครูสอนคณิตศาสตร์ชั้นมัธยม ซึ่งไม่มีพื้นฐานเรื่องบอร์ดเกม และไม่ชำนาญทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ แต่ด้วยจุดเด่นของการเป็นครูคณิตศาสตร์ที่เปี่ยมด้วยทักษะการคลี่คลายปัญหา เขาจึงสามารถพัฒนาบอร์ดเกมที่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องบวกลบคูณหารในเด็กระดับชั้น ม.1 ได้ โดยดัดแปลงกฎกติกาจากเกมบิงโก ผลคือเมื่อนำมาใช้ก็ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในห้องเรียน ทั้งปัญหาหลักเรื่องบวกลบคูณหาร ไปจนเรื่องอื่น ๆ อย่างทักษะการทำงานเป็นทีมของเด็ก นอกจากนี้บรรยากาศในห้องเรียนโดยรวมก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น แล้วการค้นพบนี้ก็ไม่เพียงส่งผลต่อห้องเรียนหนึ่งเท่านั้น แต่หลังจากนั้นครูท่านนี้ยังได้พัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็นครูเลี้ยงและช่วยถ่ายทอดความรู้ต่อไปยังครูคนอื่น ๆ ในพื้นที่ได้อีกด้วย”

‘Set Zero’ ขุดถึงรากปัญหา เพื่อให้พบ ‘วิธีการเฉพาะ’

วรัญญา สมัครเขตวิทย์ ครูโรงเรียนบ้านน้ำพาง สพป.น่าน เขต 1

วรัญญา สมัครเขตวิทย์ ครูโรงเรียนบ้านน้ำพาง สพป.น่าน เขต 1 ผู้เข้าร่วมโครงการฯ จากความสงสัยเมื่อครั้งเป็นครูใหม่เพิ่งย้ายมาที่บ้านน้ำพาง ว่าทำไมเด็กโรงเรียนนี้มีทักษะการกำกับตัวเองสูง ทั้งที่ครูไม่ต้องใช้พลังเยอะและทำไมโรงเรียนที่ไร้กริ่งสัญญาณ ไม่มีครูคอยควบคุม แต่เด็กทุกคนต่างรู้ตัวว่า เวลาไหนควรทำอะไร

“ความสงสัยทำให้เราสนใจ จนมี ศน. ชวนเข้าอบรมในหลักสูตรจิตศึกษา จึงตัดสินใจเข้าร่วมทันที นั่นคือสิ่งแรกที่ประทับใจ ว่าโรงเรียนนี้เปิดโอกาสให้ครูที่ยังไม่มีความรู้เข้ามาทำ โดยให้เราไปเรียนรู้จากโรงเรียนแม่แบบจนเข้าใจมากขึ้น จากนั้นเมื่อกลับมาที่โรงเรียนก็ยิ่งประทับใจมากขึ้น เมื่อได้เห็นการพัฒนาโรงเรียนเชิงลึก โดยไม่มีครูท่านใดเลยที่ยึดติดว่าการทำมาก่อนจะหมายถึงความชำนาญที่มากกว่า เพราะเมื่อครูทุกท่านเห็นว่าเราเพิ่งได้รับการอบรม ก็มั่นใจในตัวเรา พร้อมคุย รับฟัง และตั้งเป้าหมายว่าเราจะ Set Zero ร่วมกัน เพื่อ Restart หลักสูตรจิตศึกษาใหม่ ซึ่งครั้งนี้จะทำให้เป็นต้นแบบของโรงเรียนบ้านน้ำพางจริง ๆ

“แม้โรงเรียนเราจะเคยทำมาก่อนแล้ว แต่การที่ยังอิงกับโรงเรียนเจ้าของหลักสูตรอยู่เยอะ คล้ายการลอกแบบแล้วนำมาวาง (Copy & Paste) ไปเฉย ๆ ทั้งที่เด็กแต่ละโรงเรียนก็มีบริบทต่างกัน เราจึงมุ่งมั่นว่าจะรีเซ็ตใหม่ ช่วยกันขุดรากปัญหาของบ้านน้ำพาง แล้วหาวิธีการพัฒนาเฉพาะของโรงเรียนเราให้พบ”

ครูวรัญญา บอกว่า วิธีที่ดีที่สุดของการปรับหลักสูตรให้เข้ากับบริบทของโรงเรียน คือต้องสื่อสารและทำงานร่วมกับท้องถิ่น ชุมชน ผู้ปกครอง เพื่อวางลำดับเป้าหมายร่วมกัน ว่าจะพัฒนาเด็กไปในทางใดและกำหนดกรอบเวลาจำกัด โดยสิ่งที่เห็นชัดหลังการเดินหน้าไปพร้อมกันคือ โรงเรียนสามารถแก้ปัญหาได้เร็ว ตรงจุด และพัฒนาจุดแข็งเดิมที่มีไปได้พร้อมกัน และผลที่เกิดขึ้นก็ทำให้โรงเรียนบ้านน้ำพางได้รับเลือกจาก สพฐ. และ กสศ. ให้เป็นโรงเรียนแกนนำในการขยายผลในพื้นที่ สพป. น่าน เขต 1 และ สพป. น่าน เขต 2 ต่อไป ขณะที่โรงเรียนบ้านน้ำพางเองก็ยังคงไม่หยุดที่จะพัฒนาตามบริบทต่อไป

ไปพบความรู้ใหม่ที่นอกห้องเรียน

ภณิดา ชูช่วยสุวรรณ ครูโรงเรียนบ้านแหลมไทร สพป.ตรัง เขต 2 กล่าวว่า ก่อนร่วมโครงการ โรงเรียนได้นำ Active Learning มาทำผ่านกิจกรรมในห้องเรียนอยู่แล้ว โดยเน้นให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการคิดและลงมือทำ แต่เมื่อโรงเรียนรับเอาหลักสูตรโครงงานนวัตกรรมจากประสบการณ์โลกเข้ามา ความพิเศษที่เพิ่มขึ้นคือนักเรียนจะได้เรียนรู้จากสภาพปัญหาและเรื่องราวในชุมชน ดังนั้นความรู้ที่เกิดขึ้นจึงเกิดจากประสบการณ์เชิงพื้นที่และตามความสนใจของเด็กแต่ละคน แล้วเมื่อนั้นห้องเรียนก็มีความหลากหลายในตัวเอง โดยมีจุดร่วมคือ การประเมินระดับการคิด การสะท้อนปัญหา การวางแผนแก้ไขปัญหา การลงมือปฏิบัติ การทดลองทำ และ การนำเสนอและแบ่งปัน (Show & Share) อันเป็นขั้นตอนที่ผู้เรียนทุกคนต้องทำผ่านบทเรียนหนึ่ง ๆ

ภณิดา ชูช่วยสุวรรณ ครูโรงเรียนบ้านแหลมไทร สพป.ตรัง เขต 2

“เราพบว่าถ้าห้องเรียนกว้างออกไปกว่าห้องสี่เหลี่ยมแบบเดิม เด็กจะเรียนรู้อย่างสนุกยิ่งขึ้น วันนี้แหลมไทรได้ขยายห้องเรียนเพื่อเปิดให้เห็นทรัพยากรการเรียนรู้ที่หลากหลาย โดยทลายกำแพงสี่เหลี่ยมออกจนทอดยาวไปติดชายทะเล กินพื้นที่สองหมู่บ้าน และแม้ว่าสิ่งที่ตามมาคือครูต้องเตรียมตัวกับบทเรียนมากขึ้น เพราะในแต่ละวันที่ออกไป ก็เหมือนเราเหวี่ยงแหไปในมหาสมุทร เพื่อจะหาให้เจอว่าอะไรคือบทเรียนของเด็ก ๆ แต่ท้ายที่สุดผลลัพธ์ก็คุ้มค่า เพราะนอกจากหัวข้อหลักของการเรียนรู้ เด็ก ๆ จะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์น่าสนใจอื่น ๆ กลับมาด้วย ซึ่งหลายครั้งก็เป็นบทเรียนที่มากไปกว่าความคาดหวังที่ตั้งไว้ในตอนต้นเสียอีก

“อย่างกิจกรรมอนุบาลพันธุ์ปูม้าพลังงานแสงอาทิตย์ เราเอาจุดเด่นของแหลมไทรคือปูม้า มาปักหมุดให้นักเรียนลงสำรวจพื้นที่ 

เมื่อทุกคนพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือปูม้ามีจำนวนลดลงมาก ปฏิบัติการคิดค้นวิธีแก้ไขปัญหาจึงเริ่มขึ้น พร้อม ๆ กับการเรียนรู้ประสบการณ์อื่น ๆ ในท้องถิ่นของตน ซึ่งเมื่อลงพื้นที่จริง ความคาดหวังเรื่องหนึ่งก็ได้ต่อยอดไปยังอีกเรื่องหนึ่ง หรือจากเรื่องจำนวนปูม้า ก็ไปสู่ปัญหาขยะชายฝั่งทะเล เต่าทะเล หญ้าทะเล จนถึงพะยูน กลายเป็นการทำความเข้าใจและมองระบบนิเวศอย่างเป็นองค์รวม และนี่คือเสน่ห์ของการเรียนรู้นอกห้องเรียน ที่ทั้งครูและเด็กได้ค้นพบความรู้ใหม่ ๆ ไปด้วยกัน”

โรงเรียนต้นแบบทำให้เห็นว่า ตัวอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอน

(ซ้าย) ดร.พรนับพัน วงศ์ตระกูล ผู้จัดการโครงการ ฯ

ดร.พรนับพัน วงศ์ตระกูล ผู้จัดการโครงการพัฒนานักจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สู่การขยายผลพื้นที่ต้นแบบ กล่าวสรุปว่า หัวใจของโครงการฯ จะเริ่มจากการแก้ปัญหา (Pain Point) ที่เป็นแรงขับจากภายในให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีพลัง และอยากทำเป้าหมายให้สำเร็จโดยเร็ว แต่ผลที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนต้นแบบใน 10 จังหวัด ทำให้เห็นว่าแม้ในห้องเรียนที่ไม่มีปัญหา ก็ยังมีประเด็นท้าทายให้ต้องพัฒนาต่อ เพราะห้องเรียนนั้นไม่มีคำว่าดีที่สุด แต่สามารถทำให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ได้ในทุกวัน 

“การถอดบทเรียนครั้งนี้ทำให้เห็นว่า การจะหยั่งรากการเรียนรู้เชิงรุกลงสู่โรงเรียนต้นแบบ บางกิจกรรมต้องอาศัยครูที่เชี่ยวชาญเพื่อต่อยอด ขณะเดียวกันการลงทุนกับครูที่ไม่มีพื้นฐานมาก่อน แต่มุ่งมั่นพร้อมเรียนรู้ ก็อาจทำให้เราพบครูท่านใหม่ ๆ ที่จะเป็นเรี่ยวแรงสำคัญช่วยขับเคลื่อนงานต่อไป เพราะจุดเด่นของครูกลุ่มนี้ คือสงสัยใคร่รู้ กล้าคิดกล้าทำ อยากสร้างสรรค์สิ่งใหม่ โดยไม่มีประสบการณ์เดิมมาปิดกั้นให้กลัวความล้มเหลวหรือกลัวเสียชื่อ และเมื่อไม่กลัวก็ไม่เกร็ง กล้าลองกิจกรรมที่ต่างออกไปด้วยแรงใจแรงกายที่ไม่มีวันหมด

“แล้วหลายโรงเรียนยังทำให้เห็นว่า ตัวอย่างที่ดีมีค่ายิ่งกว่าคำสอน เพราะการที่ครูคนหนึ่งเปลี่ยนแปลงตัวเองแล้ว เขาจะพร้อมพัฒนาต่อไปไม่หยุด ประหนึ่งว่าตนเป็นนักเรียนคนหนึ่ง แล้วครูท่านนั้นจะพบว่าจุดไหนที่นักเรียนไม่เข้าใจ รู้ว่าจะสื่อสารและช่วยนักเรียนให้ผ่านพ้นอุปสรรคไปอย่างไร ซึ่งตรงตามหลักการว่า เราต้องเจ็บปวดเสียก่อน ถึงจะช่วยบ่งหนามให้คนอื่นได้ …ถึงจะถ่ายทอดประสบการณ์สู่คนอื่นได้”