พื้นที่อันตรายคือครอบครัวและโรงเรียน
สำหรับเด็กบางคน พื้นที่อันตรายของเค้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวที่ไม่เคยหมดไป รวมถึงการถูกด้อยค่าหรือบุลลี่ที่เกิดขึ้นในรั้วโรงเรียน
ความอันตรายเหล่านี้มากพอทำให้เด็กหลายคนหลุดออกนอกระบบ
ที่ตำบลม่วงกลวง อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง ก็ไม่ต่างจากที่อื่นๆ โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนที่มากขึ้นเรื่อยๆ
‘หนุ่ม’ นิพนธ์ มีชัย จากกลุ่มปัญญาชนสร้างสรรค์สังคม หัวหน้าโครงการพัฒนาการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เพื่อสร้างโอกาสให้กับเยาวชนนอกระบบการศึกษา จ.ระนอง 1 ใน 40 ของโครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) บอกว่าที่นี่เด็กๆ ถูกโอบล้อมด้วยพื้นที่อันตราย การจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยได้ต้องพาเค้าออกมาจากพื้นที่อันตรายก่อน และพื้นที่อันตรายคือโรงเรียนและครอบครัว
ในฐานะคนทำงานด้านเด็กและเยาวชนมานาน หนุ่มบอกว่า ต้องยอมรับว่าเด็กหลายคนที่หลุดออกนอกระบบการศึกษาไม่ใช่เด็กหน้าห้อง

“ถูกเพื่อนบูลลี่ โดนครูสั่งงานหรือตัดเกรดทำให้เขาอยู่กับระบบไม่ได้ หมายความว่าเด็กจะเจออันตรายสองชั้นเลยทั้งในครอบครัวและโรงเรียน ถ้าภูมิเขาไม่แข็งแรงพอก็จะติดยา นี่คือสภาวะความเสี่ยงของเด็กที่นี่ ”
พื้นที่อันตรายต่อมาคือครอบครัว มองด้วยตาเปล่าเราอาจไม่มีทางรู้ว่าบ้านหลังไหนใช้ความรุนแรง ไม่ว่าทางกาย คำพูด หรือทางใจ โดยเฉพาะถ้าบุคคลที่ใช้ความรุนแรงเป็นคนที่เด็กรัก การเอา ‘ความใน’ ออกมาไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะถ้าการเอาเรื่องในบ้านนั้นออกมาพูดจะเป็นการวกกลับมาทำร้ายพ่อแม่
แต่สุดท้าย เด็กก็คือตัวแสดงผลของทุกอย่าง
‘อิฐ’ อนุชา ขุนหวาง ที่ตัดสินใจออกจากโรงเรียนหลังจบม.3 มาทำงานดูแลน้อง 3 คน พ่อกับแม่แยกทาง ตอนนี้อิฐอายุ 21 ทำงานรับจ้างแทบทุกอย่าง เพื่อเป็นรายได้หลักของครอบครัว และอิฐถูกวินิจฉัยว่าเป็นซึมเศร้า เคยพยายามฆ่าตัวตายโดยการกินยาแต่ไม่สำเร็จ
แต่อิฐผ่านมันมาได้และอยู่มาจนถึงวันนี้ เพราะเจอ ‘คน’ นอกครอบครัวที่ทำให้เค้ารู้สึกไว้ใจและปลอดภัย หนึ่งในนั้นคือ ‘หมอแนน’ คนที่อิฐมักจะไลน์หาบ่อยๆ เมื่อรู้สึกว่าตัวเองดิ่ง และภาวะซึมเศร้าเข้าจู่โจม
สุรานีย์ สุวรรณเนาว์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลม่วงกลวง อ.กะเปอร์ จ.ระนอง หรือ ‘หมอแนน’ ที่คนม่วงกลวงเรียกติดปากรวมถึงอิฐด้วย
หมอแนนเป็นคนระนองโดยกำเนิดและไปเรียนต่อเฉพาะทางด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่นที่สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต การเป็นคนพื้นที่และมีความรู้เฉพาะทาง ทำให้การเข้ามาสร้างพื้นที่ปลอดภัยในพื้นที่นี้ มีทั้งความแตกต่าง ยากและเฉพาะตัว
หมอแนนเริ่มต้นจากการเปลี่ยนความน่ากลัวของโรงพยาบาลให้เป็นบ้านที่ใครๆ ก็อยากมา
“เวลาพามาโรงพยาบาลเด็กๆ ก็ร้องไห้ มาด้วยความเจ็บป่วย แม่ก็จะขู่ลูกอย่าร้องนะเดี๋ยวหมอฉีดยา เราก็จะเบรกตอนนั้นเลยและบอกว่าอย่าไปฝังหัวลูกแบบนั้น จริงๆ ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่ที่ปกป้องดูแลรักษานะไม่ใช่พื้นที่ที่จะเอาคุณมาฆ่าแกง แต่ให้เขาเรียนรู้ว่าเมื่อไหร่ที่ฉันรู้สึกตัวเองเจ็บปวด ไม่ปลอดภัยหรือไม่สบาย คุณต้องมาที่นี่ เพราะที่นี่มันเป็นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนที่ป่วยนะ ทั้งร่างกายและใจ”

วิธีที่หมอแนนใช้กับเด็กๆ เวลาต้องฉีดยาหรือฉีดวัคซีน คือ บอกว่าเดี๋ยวหมอจะเติมพลังให้หนูแต่ว่ามดมันจะกัดหนูนิดนึงนะตอนเติมพลัง
ด้วยหลักคิดเดียวกันนี้ หมอแนนเอามาใช้ทำงานในโครงการฯ ร่วมกับหนุ่ม แจง และทีมปัญญาชนสร้างสรรค์สังคม ที่เริ่มต้นจากการร่วมกันวินิจฉัยอาการของเด็กนอกระบบแต่ละคนก่อนว่า พวกเขาป่วยข้างในด้วยอาการอะไรหรือแวดล้อมด้วยความเสี่ยงอะไรบ้าง จากนั้น ดึงพวกเขาออกมา แล้วค่อยว่ากันในสเต็ปถัดไปเรื่องสร้างพื้นที่ปลอดภัย
วินิจฉัย อาการป่วยใจเบื้องต้น
รพ.สต.มีข้อมูลเบื้องต้นของคนเจ็บป่วย พิการ ด้อยโอกาส ผู้สูงวัย ไปจนถึงแม่วัยรุ่น (แม่วัยใส) อยู่แล้ว การค้นหาเด็กนอกระบบว่ามีจำนวนเท่าไหร่ จึงไม่ใช่เรื่องยาก เพราะสิ่งที่ยากกว่าคือการเข้าหาเด็กๆ กลุ่มนี้
“เยาวชนที่เสพส่วนใหญ่จะไปหลบอยู่ตามกระท่อมในสวน หรือไม่ก็แพ กระชังปลา จะไม่ออกมาวุ่นวายในชุมชนเหมือนพื้นที่อื่น ปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนในชุมชนอย่าง ขโมย หรือ ทำร้ายร่างกายเลยไม่ค่อยมี เพราะเค้าจะแยกตัวไป รู้อีกทีตอนอาละวาด ควบคุมตัวเองไม่ได้แล้ว ขั้นนั้นครอบครัวถึงจะพามา”
ปัญหายาเสพติดอยู่ใต้ร่มใหญ่อย่างความยากจนอีกที เฉพาะกรณีนี้แยกย่อยออกได้อีกว่าเด็กจำนวนไม่น้อยอยู่ในครอบครัวแตกแยก ยังไม่รวมอีกสองเรื่องใหญ่คือ พ่อแม่วัยรุ่นท้องไม่พร้อม และ เยาวชนกลุ่มเปราะบาง/พิการ
‘แจง’ ณัฐกานต์ ไท้สุวรรณ อีกหนึ่งกำลังสำคัญจากกลุ่มปัญญาชนสร้างสรรค์สังคม ที่คลุกคลีในพื้นที่มานาน บอกว่าเด็กคนหนึ่งแบกไว้มากกว่าหนึ่งปัญหา บางคนเหมาจบครบทุกเรื่องจนไม่รู้ว่าจะเริ่มแก้ยังไงก่อนดี
“เด็กเหมือนกับตัวแสดงผลที่มันเกิดมาจากปัญหาอื่นๆ ดังนั้นโครงการฯ นี้ถ้าทำแค่เด็กอย่างเดียวมันหนักและยากมาก ไปทำผู้ใหญ่อย่างเดียวมันก็ไม่ได้อีก เลยมองว่าจะต้องมีครอบครัวหรือชุมชนเข้ามาเกี่ยว ทำเป็นทีม ทีมเป็นกลไกสำคัญ”

ถึงแนนกับหนุ่มจะเป็นคนวางหมาก แต่คนเดินหมากสำคัญในเกมนี้คือหมอแนน ที่ใช้ความรู้ด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่นเป็นตัวรุก หากเป้าหมายไม่ได้อยู่ที่ชัยชนะแต่คือความไว้ใจจากเด็กๆ
“พอได้ไปเรียนเชิงลึก ทำให้มองปัญหาวัยรุ่นเปลี่ยนไป เราจะเห็นเลยว่าพื้นฐานที่ผ่านมาเค้าเจออะไรมาบ้าง ทำไมวันนี้เค้าดื้อ ก้าวร้าว และคาดเดาได้ว่าเกิดอะไรกับเค้า การรู้ลึกมากขึ้นช่วยปิดต้นตอกับแก้ไขปลายทางที่เกิดขึ้นแล้ว”
‘เราะห์’ อุไรรัตน์ หวันร่าหมาน หนึ่งในเด็กหลุดออกนอกระบบที่หมอแนนดูแล น้องเราะห์พิการ มาพร้อมภาวะพัฒนาการทางสมองช้าเพราะตอนเด็กเป็นลมชักแล้วไม่ได้รับการรักษาต่อเนื่อง เรียนจนถึงชั้นประถมจึงต้องลาออกและแม่ต้องเผชิญกับปัญหาการดูแลลูกที่มีพัฒนาการช้าทางด้านสมองและร่างกาย
ทั้งหมดนี้บาดแผลทางใจไม่ปราฏในลูกสาวที่พิการและพัฒนาการสมองช้า แต่กลับไปฝังในใจของคนเป็นแม่ หมอแนนเองก็ไม่เคยคุยกับแม่ตรงๆ แต่เห็นได้จากการไม่เคยปล่อยลูกให้คลาดสายตา
“แม่เก็บตัว ไม่เข้าสังคม กลัวสายตาคนอื่น ชุมชนไม่ได้มีใครรังเกียจแต่ตัวแม่อาจมีอคติต่อตัวเอง โทษตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรื่องเกิดขึ้น”
โครงการฯ จึงพาทั้งน้องเราะห์และคุณแม่กลับมาสู่ความเป็นปกติอีกครั้ง สำหรับน้องเราะห์ เริ่มต้นจากการฟื้นฟูและฝึกร่างกายให้ดูแลตัวเองได้ ช่วยงานบ้านได้ตามศักยภาพ ซึ่งนั่นเท่ากับการฟื้นฟูคุณแม่ไปในตัวด้วย
“แผลเป็นของแม่ อาจได้ทำหน้าที่เป็นประสบการณ์ให้แม่ว่าต่อไปต้องดูแลลูกอย่างไร ดังนั้นบาดแผลไม่จำเป็นต้องหายไป แต่การเลือกที่จะใช้ชีวิตบนบาดแผลยังไงให้ไม่เจ็บปวด อยู่กับมันให้ได้ ซึ่งการที่เห็นลูกสามารถดูแลตัวเองได้ก็สามารถทำให้เขาอยู่ต่อได้”

รักษาด้วยความไว้ใจและปลอดภัย
การอยู่ต่อได้ของเด็กคนหนึ่ง เราจำเป็นต้องรู้ว่าเค้าเจ็บป่วยด้วยสาเหตุอะไรไม่ว่าจะเป็นทางกาย ทางใจ และทางสังคม จากนั้นหาวิธีฟื้นฟู เยียวยา เพื่อพาเค้ากลับมาใช้ชีวิตตามศักยภาพ
“พอเค้ารู้สึกว่าตัวเองอยู่ในบ้านที่ปลอดภัยมากพอ ตอนนั้นการเรียนรู้ถึงจะเกิดขึ้น” หนุ่ม ย้ำ
หนุ่ม แจง สองหัวเรี่ยวหัวแรงจากกลุ่มปัญญาชนสร้างสรรค์สังคม จึงไม่ได้ตั้งต้นโครงการฯ ด้วยการพาเด็กกลับเข้าโรงเรียน 100 เปอร์เซ็นต์ แต่จะนับหนึ่งจากการค้นหาว่ามันจะมีการเรียนรู้แบบไหนบ้างที่เหมาะกับพวกเค้า
“ถ้าเด็กยังไม่พร้อม เราคิดว่าไม่ควรรีบให้เขากลับไปจุดนั้นถ้ามันยังไม่ใช่สำหรับเขา เพราะฉะนั้น ในคอนเซ็ปต์การสร้างพื้นที่ปลอดภัยคือถ้าเด็กไม่รู้สึกปลอดภัยก่อนเขาก็จะไม่มีเรี่ยวแรงที่อยากจะเรียนรู้”
ทั้งสามยอมรับว่า เด็กที่หลุดออกนอกระบบที่ดูแลอยู่มีศักยภาพไม่เท่ากัน บางคนทำได้เต็มที่คือดูแลและช่วยเหลือตัวเองอย่างน้องเราะห์ ส่วนอีกหลายคน ปากท้องของครอบครัวมาก่อนการเรียนอย่างอิฐที่ต้องเป็นทั้งพ่อ แม่ และพี่ ให้น้องๆ อีกสามคนได้กินอิ่ม นอนหลับและไปโรงเรียน
อย่างที่บอกไปในตอนต้นว่าอิฐเป็นซึมเศร้า ถึงอายุแค่ 21 แต่ทำหลายอย่างที่โตเกินตัว รวมถึงการอดทน แบกและเก็บทุกอย่างไว้ มีเรื่องอะไรก็ไม่เคยปรึกษาใคร
“กลัวไปรบกวนคนอื่น เพราะคิดว่าเรื่องของตัวเองไม่สำคัญ” อิฐบอกกับเราในตอนท้ายของการสนทนา

และการรับฟัง ค่อยๆ ทำให้อิฐวางใจและรู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญ นั่นเป็นวิธีการสร้างพื้นที่ปลอดภัยของหมอแนน คนที่อิฐกล้าโทรมาหาแล้วบอกว่า “ตอนนี้ผมเริ่มซึมแล้ว ผมต้องกินยามั้ย”
หมอแนนบอกว่า พื้นที่ปลอดภัย คือใครก็ได้ที่เค้าไว้วางใจมากที่สุด
“สถานที่อาจจะเป็นรองละ สำคัญกว่าคือคนที่มาเติมเต็มหรือมาทำให้เขามีความสุขได้และทำให้เขาปลอดภัย”
การเรียนรู้ที่โครงการฯ ออกแบบมาให้น้องเราะห์ อิฐ และเด็กๆ คนอื่น จึงแตกต่างกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้งหมดตั้งต้นที่ความสุข
“เรามองเห็นความสุขของเด็กที่มาทำกิจกรรม เลยเล็งไปที่ความสุข และเด็กกลุ่มนี้ไม่มีศักยภาพมากพอทำอาชีพเลี้ยงตัวเอง แต่คนที่ทำอาชีพเลี้ยงเค้าคือผู้ปกครอง ควรจะอยู่กับเค้าได้และมีรายได้ด้วย และเด็กเองก็มีศักยภาพในการช่วยเหลือตัวเอง ดูแลตัวเอง หลายคนช่วยแม่แกะเนื้อปู แกะสะตอ เค้าคงไม่สามารถทำเป็นอาชีพได้ร้อยเปอร์เซ็นต์แต่เป็นผู้ช่วยได้”
และความภูมิใจไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ก็คือความสุขอย่างนึง
“น้องกลุ่มพิการอย่างเราะห์ เราพูดคุยว่าอยู่บ้านทำอะไรได้บ้าง ดูแลตัวเองได้ในระดับนึง อาบน้ำ แต่งตัว พับผ้า มันเป็นความภูมิใจที่ได้ทำกิจวัตรประจำวันหลังตื่นนอนได้ เป็นความภูมิใจแรกในชีวิตที่ไม่ว่าเด็กปกติ หรือไม่ปกติควรมี ควรทำ”

ความสุขเกิดจากการวางใจกับใครสักคนได้ เลยเป็นแรงบันดาลใจของการสร้างพื้นที่ปลอดภัยและจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อการเรียนรู้โดยใช้นิเวศ ‘บ้าน’ ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญของโครงการนี้ และบ้านที่วางเอาไว้มี 4 แบบ คือ
1.บ้านฉัน : นิเวศที่เอื้อต่อการทํากิจกรรมของเด็ก สถานที่ไม่พลุกพล่าน เป็นส่วนตัว เป็นพื้นที่เปิดใจ เด็กแสดงความคิดเห็นได้
2.หน้าบ้านฉัน : พื้นที่หน้าบ้านแกนนําที่มีเด็กๆ เข้ามาร่วมกิจกรรมอย่างมีความสุข เป็นพื้นที่ปลดปล่อย มีอิสระ ค้นหาตัวเองค้นหาความฝัน
3.หลังบ้านฉัน : เป็นพื้นที่ ที่เด็กๆ สามารถมาร่วมทํากิจกรรม เด็กมานั่ง มานอน มาเล่น มาหาอะไรทํา มาหาอะไรกิน มาระบายความในใจ มาเรียนรู้อาชีพ มาเป็นที่พักผ่อน ไม่สบายใจก็สามารถมานอนเล่นได้ มาปรึกษาได้ทุกเรื่อง เป็นพื้นที่ส่งต่อความรู้ ส่งต่ออาชีพ
4.รอบบ้านฉัน : พื้นที่เรียนรู้ฉบับกระเป๋า ที่สามารถพกพาไปจัดกระบวนการเรียนรู้ ได้ทุกที รอบรั้วบ้าน รอบรั้วชุมชน โดยมีหมอแนนเป็นฝ่ายสวัสดิการคอยซัพพอร์ตใจตลอดทาง เพราะรู้ดีว่าเป็นเด็กสมัยนี้มันไม่ง่าย
“ไม่ใช่แค่เด็กระนอง แต่เด็กรุ่นนี้ถ้าเติบโตมาไม่ดี เขาจะมีความเข้มแข็งทางด้านจิตใจต่ำ ต่างจากเจนเรา (เจนเอ็กซ์) ที่ถูกหล่อหลอมจากทักษะชีวิต จากประสบการณ์ที่ทำให้เราเข้มแข็ง มันต้องเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ พอเจอปัญหาก็จะรับมือได้ แต่เด็กๆ สมัยนี้ไม่ใช่ พ่อแม่ไม่ใช่ฮีโร่สำหรับเขา”
ด้วยสื่อที่เข้าถึงง่ายแค่หน้าจอ เด็กๆ สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองผ่านสื่อโซเชียลต่างๆ แล้วเขาสามารถเรียนรู้ได้ดีกว่าพ่อแม่ หลายอย่างมันทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองเป็นฮีโร่มากกว่าพ่อแม่ หลายอย่างไม่ต้องพึ่งพาผู้ปกครอง
“เด็กสามารถดูแลตัวเองได้ พ่อแม่ไม่อยู่ไม่เป็นไรเอาตังค์วางไว้ให้หนูสั่งอาหารกินเอง เขาเลยรู้สึกว่าตัวเองเป็นฮีโร่ ฉันดูแลตัวเองได้ เด็กบางคนสามารถหาเงินได้ด้วยตัวเองโดยที่ไม่ต้องพึ่งพาพ่อแม่ตั้งแต่อายุยังน้อย เขาจึงไม่ได้ผ่านประสบการณ์ชีวิต เมื่อไหร่ที่เขาขึ้นสูงแล้วตกตุ๊บมันจึงเจ็บ แก้ปัญหาเองไม่ได้ เด็กไม่ได้เรียนรู้ประสบการณ์การแก้ไขปัญหา พ่อแม่ก็ไม่ปรึกษาเพราะว่าไม่ใช่ฮีโร่” หมอแนนชี้สาเหตุร่วม

‘บ้าน’ ในโครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา จ.ระนอง จึงให้เวลาและความสำคัญการวางรากฐานอย่างมาก นั่นคือความปลอดภัยและไว้ใจ ส่วนกลางทาง หรือ ปลายทาง จะออกหัวหรือก้อยที่การเรียนรู้แบบไหน ให้เด็กๆ ออกแบบเอง
“เราไม่ได้มองเชิงกายภาพอย่างเดียวแต่ต้องมีมิติทางทางใจ สามารถให้คำปรึกษาเด็กไว้วางใจ ผู้ปกครองไว้วางใจ ออกแบบกิจกรรมที่มาเรียนรู้ร่วมกัน แล้วในความคำว่าปลอดภัยมันต้องเปิดฟังความคิดเห็น ให้เด็กๆ มีโอกาสได้เป็นพื้นที่ของเขาจริงๆ ด้วย ให้เขาได้ค้นหาตัวเอง ที่สำคัญคือมันจะทำให้เขาได้เรียนรู้แล้วฉุกคิด ถ้าเขาผ่านกระบวนการแบบนี้ วันนึงเขาอาจไปเจอปัญหาแล้วเขาเอาตัวรอดได้ นั่นคือพอแล้ว”หนุ่มทิ้งท้าย