‘เรียนต่อ ม.4 ปัญหาอุปสรรคจากเสียงเยาวชนและคุณครู’
ชวนทุกคนร่วมฟังเพื่อสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาก่อนจะสาย

‘เรียนต่อ ม.4 ปัญหาอุปสรรคจากเสียงเยาวชนและคุณครู’ ชวนทุกคนร่วมฟังเพื่อสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาก่อนจะสาย

“ช่วงชั้นรอยต่อทางการศึกษา” ถือเป็นช่วงเวลาวิกฤตที่เด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษามากที่สุด โดย “เด็กยากจนส่วนใหญ่” ตัดสินใจออกจากระบบการศึกษาในช่วงรอยต่อ ม.3 ขึ้น ม.4 มากที่สุด ยิ่งการศึกษาสูงขึ้น โอกาสที่เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้จะได้เรียนต่อก็ยิ่งลดลงเรื่อย ๆ นี่คือสถานการณ์ที่ กสศ. อยากชวนทุกคนมากดปุ่มสปอตไลต์ เพื่อหาคำตอบว่าเพราะอะไรที่ทำให้เด็กวัยเรียนเลือกหยุดการศึกษาสูงสุดที่ภาคบังคับ

ปลายกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กสศ. ลงพื้นที่ไปหาน้อง ๆ นักเรียนทุนเสมอภาค และคุณครู ที่โรงเรียนร่มเกล้า อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส หนึ่งในพื้นที่นำร่องโครงการวิจัยต้นแบบการคัดกรองและการช่วยเหลือนักเรียนทุนเสมอภาคให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่สูงขึ้น เพื่อสำรวจเหตุผลการตัดสินใจเรื่องการศึกษา ปัญหาอุปสรรค ไปจนถึงสวัสดิการและทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการศึกษาต่อชั้น ม.4 หรือเทียบเท่า ผ่านบทสนาในกิจกรรมที่ออกแบบมาให้ทุกคนได้ร่วม ‘เรียนรู้ เล่นเพลิน’ ซึ่งบทความนี้ได้เรียบเรียงบางส่วนมาให้ทุกคนได้ร่วมอ่าน

อ่านข่าว :  กสศ. จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ ‘นักเรียนทุนเสมอภาค’ สำรวจมุมมองและถอดบทเรียนโครงการทุนรอยต่อ เพื่อโอกาสการศึกษา ม.ปลาย ถึง ป.ตรี คลิก

อยากมีข้อมูลมากกว่านี้
…ว่าถ้าเรียนต่อแล้วชีวิตจะดียังไง?

“เราต้องการผู้แนะนำว่าเรียนต่อแล้วดียังไง ควรวางแผนอย่างไร อยากเห็นภาพร่างของอนาคตที่เราจะเลือก เพราะตรงจุดที่เราอยู่ มีภาพให้เห็นน้อยมากค่ะ

“หนูจึงคิดว่าจำเป็นมาก ๆ ที่เราควรมีผู้แนะนำ มีคนชี้ทางให้ข้อมูล ทำให้เราเห็นเป็นภาพได้ชัดกว่านี้ ว่าเลือกเรียนอะไรแล้วจะพาไปไหน ต้องเตรียมรับความเสี่ยงอะไรบ้าง อย่างน้อยทำให้เรามั่นใจสักหน่อยว่าเรียนจบแล้วจะหางานทำได้ มีชีวิตที่ดีได้”

กัลยา มามุ นักเรียนทุนเสมอภาคชั้น ม.3

‘น้องยา’ กัลยา มามุ นักเรียนทุนเสมอภาคชั้น ม.3 กล่าวถึง ‘อุปสรรค’ ที่ไม่ได้จำกัดเพียงเรื่องของ ‘ทุนที่เป็นเงิน’ แต่คือ ‘ความไม่รู้’ ที่คล้ายม่านบางกั้นขวางเธอไว้จากการเรียน ส่งผลให้เกิดความไม่แน่ใจ เพราะไม่รู้เลยว่าเส้นทางเบื้องหน้ามีสิ่งใดรออยู่ กัลยาจึงประทับใจที่ได้ร่วมกิจกรรมเรียนรู้ เล่นเพลิน โดยเฉพาะในช่วงสำรวจตนเอง และแนะแนวเส้นทางเรียนต่อหลังจบ ม.3

“หนูชอบตรงที่ได้ประเมินตัวเอง เหมือนเราไม่เคยถามตัวเอง ไม่เคยรู้ว่าตัวเองอยู่ตรงไหนของกราฟความสุข เพิ่งรู้ว่าที่ผ่านมาเรามีความสุขบ้างไม่มีบ้าง แล้วหนูก็รู้สึกดีที่ได้สำรวจตัวเองว่าอยากเรียนอะไร อยากทำงานอะไรในอนาคต”

สำหรับแผนการเรียนต่อหลังจบ ม.3 กัลยาตั้งใจจะเรียนสายวิทย์ที่โรงเรียนเดิม ในโปรแกรม SMTE (Science, Math, Technology and Environment) ซึ่งเป็นห้องเรียนพิเศษที่เน้นเนื้อหาวิชาการเข้มข้น ซึ่งกัลยาบอกว่า ‘ไม่น่ามีปัญหา’ เพราะเกรดเฉลี่ยสะสมอยู่ที่ 3.60  

“หนูคิดว่าตัวเองเรียนดีค่ะ เรื่องผลการเรียนไม่ใช่ปัญหา ที่เลือกเรียนต่อโรงเรียนร่มเกล้าเหมือนเดิม เพราะที่นี่ไม่มีค่าเทอม ไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรเลย ทุกอย่างฟรีหมด แต่มีเรื่องที่ยังกังวลคือพอขึ้น ม.ปลายจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามมา อย่างชุดนักเรียนอุปกรณ์การเรียนก็ต้องซื้อใหม่เกือบทั้งหมด หรือรายงานวิชาต่าง ๆ ก็มีมากขึ้นด้วย”

กัลยาได้รับทุนเสมอภาคตั้งแต่ชั้น ม.1 ซึ่งเธอยืนยันว่า “ทุนช่วยได้เยอะค่ะ” และการได้ทุนนี้เองที่ทำให้เธออุ่นใจว่าจะเรียนไปได้จนจบการศึกษา จึงมีสมาธิกับการเรียนเต็มที่

ณ ปัจจุบัน กัลยากำลังสมัคร ‘ทุนเสมอภาคช่วงชั้นรอยต่อ’ ที่ กสศ. จัดสรรเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข ช่วยเหลือนักเรียนทุนเสมอภาคกลุ่มรอยต่อระดับชั้น ม.3 ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่สูงขึ้นในระดับชั้น ม.4 และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.1) ในเขตพื้นที่การศึกษา 30 เขต จาก 7 จังหวัดนำร่องภายใต้โครงการวิจัยต้นแบบการคัดกรองและการช่วยเหลือนักเรียนทุนเสมอภาคให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่สูงขึ้น ได้แก่ กาญจนบุรี เชียงราย ตาก แม่ฮ่องสอน ศรีสะเกษ นครศรีธรรมราช และนราธิวาส

จะกู้เงินเรียนก็ไม่แน่ใจว่าเรียนจบแล้วรายได้จะพอใช้หนี้ไหม?

ซาลัมสุดีน เจ้ะมูซอแว นักเรียนทุนเสมอภาค ชั้นม.3

“ถ้าเรียนสูง ๆ แล้วไปมา ๆ ไม่มีงานทำ หรือได้งานที่เงินน้อยไม่คุ้มกับทุนกับเวลาที่ลงไป ไม่รู้เลยว่าถึงตอนนั้นครอบครัวเราจะแย่สักแค่ไหน”  

‘น้องดิง’ ซาลัมสุดีน เจ้ะมูซอแว นักเรียนทุนเสมอภาค ชั้นม.3 เผยถึงสภาวะจิตใจที่ยิ่งมีความกังวล เมื่อยิ่งเปลี่ยนผ่านระดับชั้นสูงขึ้น

“เราไม่เคยสำรวจตัวเองว่าเป็นยังไง เหมือนได้มาโรงเรียน ได้เจอเพื่อนก็นึกว่ามีความสุขดีไม่มีปัญหาอะไร แต่พอทำแบบทดสอบแล้วตกใจ ว่าเราค่อนข้างกังวลมากกับอนาคต กับการจะเรียนต่อ”    

ซาลัมสุดีนเป็นอีกคนหนึ่งที่ได้ทุนเสมอภาคตั้งแต่ชั้น ม.1 และวางแผนไว้แล้วว่าจะเรียนต่อในโปรแกรม SMTE หลังจบ ม.3 ที่พ่วงด้วยผลการเรียนเฉลี่ยสะสม 5 เทอม 3.70

“ที่ผ่านมาทุนเสมอภาคช่วยให้เราสบายใจว่าจะมีเงินมาโรงเรียน มีเงินกินข้าว หรือเวลามีรายงานเราก็ใช้เงินจากตรงนี้ได้ ตอนนี้กำลังจะจบ ม.3 ครูบอกว่ามีโอกาสได้ทุนรอยต่อ ม.4 หลังจากนั้นคิดเยอะเหมือนกันว่าถ้าไม่มีทุนจะเรียนจบไหม

“คือถ้าถึงตรงนั้นแล้วต้องออกคงเสียดาย เพราะเราก็เคยเห็นรุ่นพี่ที่เขาเจอปัญหามาบีบ ให้ต้องตัดสินใจเลือกระหว่างเรียนต่อกับออกไปทำงาน สุดท้ายเขาก็ยอมแพ้ไปหางานทำ ทั้งที่เหลือไม่กี่เดือนจะจบ ม.6 แล้ว ความรู้ที่เรียนมาก็เหมือนเสียเปล่าไปเลย แล้วใครลองได้หยุดเรียนไปแล้ว โอกาสจะได้กลับมาก็แทบไม่มีอีกเลย”

ซาลัมสุดีนบอกว่าแผนที่คิดไว้คือจะกู้ กยศ. เพื่อเป้าหมายระยะสั้นที่สุด คือเรียนให้จบชั้น ม.6 และอาจต้องกู้ต่อเพื่อเรียนมหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่แน่ใจเลยว่าถึงเรียนจบมีปริญญากลับมา งานที่ทำจะมีรายได้พอเลี้ยงตัวเอง ดูแลครอบครัว ไปจนถึงชำระหนี้การศึกษาไหวแค่ไหน

“เราตั้งความหวังกับการเรียนเอาไว้มาก แต่สุดท้ายถ้าเรียนจบมาต้องไปทำงานที่รายได้น้อย ทีนี้เราต้องมาแบกทั้งค่ากินอยู่ ดูแลพ่อแม่ ดูแลน้อง แล้วยังมีหนี้ กยศ. ที่ต้องจ่ายอีก ซึ่งก็ไม่รู้เลยด้วยว่าจะต้องเป็นหนี้ไปจนถึงอายุเท่าไหร่ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็คิดว่าเราเลือกทำงานก่อน แล้วเอาเรื่องเรียนไว้ทีหลังอาจจะดีกว่า”

หลังจากซาลัมสุดีน ได้รับการแนะแนวจากพี่ ๆ ในกิจกรรมว่าการเรียนต่อถึงจะมีความเสี่ยง แต่ก็มีโอกาสสำหรับเขามากกว่า เพราะจากข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2564 โดยสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ซึ่งคำนวณ “รายได้เฉลี่ยหลังสำเร็จการศึกษาของเยาวชนไทยตลอดช่วงชีวิตการทำงานถึงอายุ 60 ปี” ประมาณการโดยคำนวณมูลค่าปัจจุบัน (Present Value) โดยใช้สมมติฐานอัตราการคิดลด (Discount Rate) ที่ 3% พบว่านักเรียนที่ศึกษาต่อจนจบการศึกษาในระดับต่าง ๆ จะมีรายได้ตลอดช่วงชีวิตการทำงานเพิ่มขึ้นตามขั้นบันไดดังนี้ ซาลัมสุดีนและเพื่อน ๆ จึงรู้สึกมีหวังและมั่นใจในการเลือกเดินตามฝันต่อไปมากขึ้น

สร้างแรงบันดาลใจให้ค้นพบตัวเอง
เพื่อรู้เป้าหมายการศึกษา และเห็นภาพร่างของเส้นทางอนาคต

“ในพื้นที่โรงเรียนเรา การต้องเลือกเส้นทางอนาคตสำหรับเด็กชั้น ม.3 เป็นเรื่องยากครับ เพราะเขายังมีชุดข้อมูลน้อย ที่เป็นห่วงคือการเลือกของเขามันจะส่งผลกับ ม.ปลายทั้งสามปีเลย”

‘ครูอาตี’ อาตีกูลเลาะห์ สาตา ครูแนะแนวชั้น ม.3 โรงเรียนร่มเกล้า จ.นราธิวาส ระบุสถานการณ์ของนักเรียนช่วงชั้นรอยต่อการศึกษาภาคบังคับในพื้นที่บ้านบูเกะปาลัส ตำบลยี่งอ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ว่านักเรียนชั้น ม.3 ส่วนใหญ่ยังมองไม่เห็นภาพร่างเส้นทางการศึกษา เพราะยังหาตัวเองไม่พบว่า ‘อยากเป็นอะไร’   

“ประเด็นคือเด็กไม่รู้ว่าควรไปทางไหน ส่วนใหญ่เลยจะเทกันไปตามบริบทสังคมมากกว่า เราก็มาคิดว่าการค้นหาตัวเองให้เจอมันสำคัญและควรทำไปพร้อม ๆ กับการช่วยเหลือเรื่องปัจจัยรายได้ครอบครัว อันเป็นอุปสรรคที่ทำให้เด็กหลายคนไม่ได้เรียนในระดับสูง เพราะครอบครัวส่วนใหญ่มีพี่น้องเยอะ บางบ้านต้องส่งพี่ให้จบก่อนน้องถึงได้เรียน หรือบางทีพี่จบแล้วไม่ได้ไปต่อเพราะต้องส่งน้องอีกหลายคน บางคนต้องหยุดให้น้องได้เรียน ปัญหามันหลากหลายมาก

“การเริ่มวางแผนจากจุดที่ว่าตัวเองชอบ สนใจ หรือถนัดอะไร ผมว่ามันส่งผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนผ่านจากชั้น ม.3 ไป ม.4 คือถ้าเด็กมีกิจกรรมที่สอดแทรกแตะถึงมิติด้านสังคม อาชีพ มันก็สะท้อนกลับมาที่เป้าหมายและแรงบันดาลใจด้านการศึกษา แล้วเด็กจะรู้เป้าหมายที่แท้จริงของตัวเอง รู้ว่าควรเลือกแผนการเรียนอย่างไร แล้วจะส่งผลถึงอนาคตอย่างไร”

อาตีกูลเลาะห์ สาตา ครูแนะแนวชั้น ม.3
โรงเรียนร่มเกล้า จ.นราธิวาส

ครูอาตี กล่าวว่า นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนร่มเกล้านราธิวาส 100% ประสงค์อยากเรียนต่อ ซึ่งทางโรงเรียนพร้อมส่งเสริมผลักดันเด็กให้ได้รับทุนการศึกษาทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่มีอยู่ให้มากที่สุด อย่างไรก็ตามเส้นทางจาก ม.4 เป็นต้นไป หลายคนก็จำเป็นต้องกู้เงินผ่านกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้เรียนได้จนจบการศึกษา โดยสิ่งที่ครูแนะแนวต้องทำ คือให้ความรู้และช่วยวางแผนการกู้เงินเรียนอย่างรัดกุม        

“การกู้ กยศ. จะดีมาก ๆ สำหรับคนที่รู้ว่าตัวเองจะเรียนอะไร เรียนอย่างไร และเรียนไปเพื่ออะไร การรู้เป้าหมายตัวเองถึงสำคัญ เพราะเมื่อเด็กมองเห็นเส้นทางการเรียนหรือการประกอบอาชีพของตัวเองแล้ว เขาจะมีแผนในทุกขั้นตอน สามารถเก็บออมเงินสำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย มีชุดข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพ รายได้ ตลอดจนมีการวางแผนสำรองไว้เสมอเพื่อรับมือกับความเสี่ยงต่าง ๆ”

‘ข้อมูล’ ตัวแปรสำคัญช่วยส่งเด็กไปต่อได้ 100%

นินูรไอนี หะยีนิเลาะ ผู้อำนวยการโรงเรียนร่มเกล้า จ.นราธิวาส กล่าวถึงแนวทางส่งเสริมการเรียนต่อหลังพ้นการศึกษาภาคบังคับ ว่าที่นี่พยายามหาเส้นทางรองรับเด็กทุกคน โดยเด็กที่ด้อยโอกาสขาดแคลนเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา จะมีการส่งต่อไปที่โรงเรียนประชารัฐที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายการศึกษาในทุกกรณี หรือมี ‘โครงการสานฝัน’ ให้ทุนเด็กที่มีความสามารถด้านกีฬา และโครงการประชารัฐ สำหรับเด็กจากครอบครัวที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงทุนอื่น ๆ ที่เข้ามาช่วย นอกจากนี้ยังมีทุนเสมอภาคที่ช่วยให้เด็กมีโอกาสทางการศึกษามากขึ้น โดยเฉพาะ ‘ทุนรอยต่อ’ ที่ทางโรงเรียนได้รับ ทำให้เห็นว่านักเรียนมั่นใจเรื่องการข้ามช่วงชั้นจากชั้น ม.3 ปสู่ ม.4 มากขึ้น

“เราให้ความสำคัญกับการทำข้อมูลเด็ก เพราะมันคือความละเอียดอ่อนที่ถ้าเราใส่ใจ จะทำให้เรารู้จักนักเรียนมากขึ้นและจะทำให้เด็กไม่เสียผลประโยชน์ ดังนั้นครูเราจะเยี่ยมบ้านนักเรียน 100% และมากกว่าปีละหนึ่งครั้ง เพื่อให้รู้ว่านักเรียนเป็นยังไง มีความเสี่ยงใดที่จะทำให้เขาเรียนไม่จบหรือไม่ได้เรียนต่อ โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง ข้อมูลที่ละเอียดจะทำให้เราทราบถึงสภาพการณ์และข้อเท็จจริง ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีโอกาสได้ทุนมากขึ้น

“ถ้าพูดถึงโอกาสในการเรียนต่อ พูดได้ว่าเด็กที่นี่แทบไม่มีศักยภาพพอจะเรียนในโรงเรียนที่ต้องจ่ายค่าเทอมได้เลย ดังนั้นถ้าพ้นจากโรงเรียนเราไปแล้วไม่มีใครมารับช่วงต่อ ก็ยากที่เด็กจะได้เรียนในระดับที่สูงขึ้น”

นินูรไอนี หะยีนิเลาะ ผู้อำนวยการโรงเรียนร่มเกล้า จ.นราธิวาส

ผอ.นินูรไอนี กล่าวว่า โรงเรียนได้พยายามสร้างแนวทางแนะแนวการศึกษา โดยชวนมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มาสร้างแรงบันดาลใจ และแนะนำให้เด็กเห็นเส้นทางว่า ‘การเรียนจะพาไปได้ถึงไหน’

“เราตั้งต้นจากต้นทุนพื้นฐานที่เด็กมี ใครสนใจหรือมีแววทางไหนก็ส่งไปทางนั้น ในสายอาชีพก็มีวิทยาลัยเทคนิครองรับ เป็นเส้นทางที่ชัดเจนว่าถ้าเข้าลู่ได้เมื่อไหร่ก็ไปต่อได้ยาว ๆ หรือ วิทยาลัยชุมชนที่เปิดโอกาสให้เรียนและทำงานได้พร้อมกัน ส่วนเด็กที่มีศักยภาพสูง เราจะสนับสนุนและคุยกับผู้ปกครองว่าต้องช่วยกันดันให้ไปต่อ เพราะเขาพร้อมที่จะเป็นหรือทำอะไรได้มากกว่า ถ้ายิ่งมีโอกาสเรียนสูงขึ้น

“ส่วนจากนี้สิ่งที่คิดว่าจะมีประโยชน์มาก คืออยากให้มีแพลตฟอร์มหรือเครื่องมือแนะแนวที่จะช่วยชี้ช่องทางการศึกษาต่อ รวมถึงแนะนำเรื่องอาชีพหรือการพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับเด็กแต่ละช่วงชั้น เป็นแนวทางเชิงรุกให้เด็กเห็นข้อมูล มีคลังเส้นทางทุน เส้นทางการเรียน มีองค์ความรู้สำหรับการทำอาชีพเสริม หรือช่องทางที่จะเปิดให้เด็กเห็นอะไรใหม่ ๆ ซึ่งจะจุดประกายให้มองไปได้ไกลกว่าแค่กรอบเดิม ๆ ถ้าทำได้อย่างนั้น เชื่อว่าเด็กจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นอีกมาก”

จากเสียงสะท้อนของเด็ก ๆ และคุณครู สอดคล้องกับข้อมูลจากงานวิจัยของ กสศ. ผ่านการติดตามและให้ความช่วยเหลือกลุ่มนักเรียนทุนเสมอภาค ภายใต้โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข (Conditional Cash Transfer: CCT) ระบุว่า กลุ่มนักเรียนจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำสุด 15% ล่างสุด มีโอกาสศึกษาต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับหรือชั้น ม.3 ทั้งในสายสามัญและสายอาชีพร้อยละ 61.1 ขณะที่ข้อเท็จจริงอีกด้านชี้ว่า กลุ่มนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ มีอัตราการศึกษาต่อถึงร้อยละ 76.1

         โดยเมื่อถอดข้อมูลเชิงลึก พบว่าอุปสรรคสำคัญที่นักเรียนทุนเสมอภาคต้องเผชิญเกิดจาก ‘ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา’ ตั้งแต่ค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการศึกษาต่อ ค่าเครื่องแบบ อุปกรณ์การเรียน ค่ากินอยู่และเดินทาง ตลอดจนรายงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ อีกทั้งการเรียนเต็มเวลายังเบียดบังโอกาสในการหารายได้ดูแลตัวเองและครอบครัว ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำจึงยิ่งถ่างกว้างออกไป

“ทุนเสมอภาค” เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา “ระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา” ที่ช่วยให้ประเทศไทยมีระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลรายบุคคลและรายสถานศึกษาระยะยาว (Longitudinal Database) ครอบคลุมเด็กเยาวชนที่มาจากครัวเรือนซึ่งมีรายได้น้อยที่สุดของประเทศจำนวนมากกว่า 1.8 ล้านคนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสามารถช่วยเหลือสนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กเยาวชนเหล่านี้ไม่หลุดออกจากระบบการศึกษาและสามารถศึกษาต่อไปจนถึงระดับสูงสุดตามศักยภาพตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับอุดมศึกษา

ตลอดระยะเวลา 5 ปี กสศ. มีการทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ภายใต้การลงนามความร่วมมือเพื่อจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข (Conditional Cash Transfer: CCT) หรือทุนเสมอภาค ให้แก่นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์จากครัวเรือนซึ่งมีรายได้น้อยที่สุดร้อยละ 15 ของประเทศ โดยผ่านเกณฑ์การคัดกรองนักเรียนยากจนพิเศษด้วยวิธีวัดรายได้โดยอ้อม (Proxy Means Test : PMT) ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล – มัธยมศึกษาตอนต้น รวมจำนวนกว่า 1.2 ล้านคน

จากการติดตามการคงอยู่ในระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง พบเส้นทางการศึกษาของนักเรียนยากจน – ยากจนพิเศษ ชั้นรอยต่อที่จบ ม.3 เมื่อปีการศึกษา 2562 ไม่เรียนต่อ ม.4 หรือ ปวช.1 ในปีการศึกษา 2563 จำนวนร้อยละ 20 เมื่อติดตามไปถึงระดับอุดมศึกษาในปีการศึกษา 2566 พบว่ามีนักเรียนยากจน – ยากจนพิเศษที่จบชั้น ม.3 เมื่อปีการศึกษา 2562 เรียนต่อในระดับอุดมศึกษาผ่านระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือระบบ TCAS เพียงร้อยละ 12.46 เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันโอกาสการศึกษาต่อสำหรับน้อง ๆ กสศ. จึงสนับสนุนทุนเสมอภาคโครงการ ม.ปลาย ทั้งสายสามัญและสายอาชีพเพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาชั้น ม.4 และ ปวช.1 เป็นการนำร่องใน 7 จังหวัด

“เงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขหรือทุนเสมอภาคสำหรับนักเรียนระดับที่สูงกว่าภาคบังคับเป็นเรื่องสำคัญ กสศ. มีการติดตามนักเรียนทุนเสมอภาคทุกคนอย่างต่อเนื่องภายใต้โครงการวิจัยต้นแบบการคัดกรองและการช่วยเหลือนักเรียนทุนเสมอภาคให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่สูงขึ้น ตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 ถึง 2567 โดย กสศ. จะดำเนินการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาในช่วงชั้นรอยต่อ ซึ่งโครงการนี้เป็นการทำงานวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรม (Research & Innovation) ร่วมกับ สพฐ. ในพื้นที่นำร่อง โดยหลังจากนี้ กสศ. จะจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการหารูปแบบการช่วยเหลือและทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการศึกษาต่อ ม.4 หรือเทียบเท่าที่เป็นภาพรวมของนักเรียนทั่วประเทศต่อไป” นางสาวกนิษฐา คุณาวิศรุต รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กสศ. กล่าวในการประชุมชี้แจงการดำเนินงานช่วยเหลือนักเรียนทุนเสมอภาคให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่สูงขึ้นสำหรับสถานศึกษานำร่อง ปีการศึกษา 1/2567 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567

อ่านข่าว : กสศ. รับสมัครนักเรียนทุนเสมอภาคชั้น ม.3 ให้มีโอกาสเรียนต่อ ม.ปลาย – ปวช. นำร่อง 7 จังหวัด ระหว่างวันที่ 1-31 มีนาคม 2567 คลิก