ปัญหาในห้องเรียน แก้ด้วยเทคนิค ปัญหานอกห้องเรียน ต้องใช้เครือข่ายทั้งชีวิตช่วยกันแก้ : บทสัมภาษณ์​ อุกฤษฎ์ ยศปัญญา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเนินมะปราง

ปัญหาในห้องเรียน แก้ด้วยเทคนิค ปัญหานอกห้องเรียน ต้องใช้เครือข่ายทั้งชีวิตช่วยกันแก้ : บทสัมภาษณ์​ อุกฤษฎ์ ยศปัญญา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเนินมะปราง

เช้าวันหมอกลง เด็กชายวัยสิบสามเดินเข้าโรงเรียนพร้อมกระเป๋าที่ไม่ได้ใหม่มากนัก เขาไม่ได้มากับพ่อแม่ แต่มากับยายที่เคยผ่านช่วงชีวิตหลากหลายยิ่งกว่าบทเรียนในห้องเรียน เด็กคนนี้คือหนึ่งใน 1,334 ชีวิตที่โรงเรียนบ้านเนินมะปราง อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก กำลังพยายามประคับประคองให้เติบโตอย่างไม่หล่นหายจากระบบ

ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งนี้เคยเป็นเด็กชายคนหนึ่งในอำเภอเนินมะปรางเช่นเดียวกัน เคยนั่งอยู่ในห้องเรียนเก่าที่มีแค่ผนังวัด เคยเห็นเพื่อนหลายคนหยุดเรียนตั้งแต่ ป.6 เพื่อไปเป็นแรงงานรับจ้างในเมืองหลวง

เด็กคนนั้นที่เติบโตมาเป็นนักการศึกษาในวันนี้ ผอ.อุกฤษฏ์ ยศปัญญา จึงไม่ได้มอง “การสอน” ว่าเป็นเป้าหมาย แต่เห็น “ชีวิต” ของเด็กเป็นระบบที่ต้องช่วยกันรับผิดชอบอย่างจริงจัง 

ไม่ใช่ผู้อำนวยการที่เปลี่ยนโรงเรียน แต่โรงเรียนที่เปลี่ยนผู้อำนวยการ 

ผอ.อุกฤษฏ์ เติบโตจากโรงเรียนบ้านเนินมะปราง เริ่มเรียนตั้งแต่อนุบาลในปี 2522 จนจบ ป.6 ในปี 2528 พื้นที่ที่เขาอยู่เคยเป็นดินแดนสีชมพู เป็นจุดอพยพของคนจากด่านซ้าย จังหวัดเลย มีความกันดาร มีความฝัน มีความกล้า และมีความไม่แน่นอนเป็นพื้นฐานของชีวิต

ในยุคที่เขาเป็นนักเรียน คนในชุมชนยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษามากนัก ไม่ใช่เพราะไม่อยากเรียน แต่เพราะไม่เห็นหนทางที่จะไปต่อ เมื่อเรียนจบ ป.6 เด็กส่วนใหญ่ก็ออกไปทำงาน มีจำนวนเพียง 30–40% ที่ได้เรียนต่อ

เมื่อกลับมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ผอ.อุกฤษฏ์ไม่ได้มองโรงเรียนเหมือน “องค์กร” ที่ต้องบริหาร แต่เหมือน “บ้านหลังเดิม” ที่ต้องดูแลให้ดีกว่าตอนที่จากมา เขาเริ่มฟื้นฟูทั้งกายภาพของโรงเรียนและระบบดูแลเด็ก เปลี่ยนจากโรงเรียนที่เคยเป็นทางผ่านให้กลายเป็นรากฐานของชีวิตเด็ก ๆ ในพื้นที่แห่งนี้

เย็บรูรั่วที่บ้าน ก่อนสอนในห้องเรียน

“ครูไม่ใช่แค่คนสอนหนังสือ แต่ต้องเป็นคนดูแลชีวิตเด็กให้เดินต่อได้”

ระบบ “เยี่ยมบ้าน 100%” จึงไม่ใช่แค่นโยบาย แต่เป็นสายตาที่เข้าใจที่มาของพฤติกรรมของเด็กทุกคน เด็กที่ดื้อ เด็กที่เงียบ เด็กที่เก่งผิดคาด เด็กที่มีปัญหา ล้วนมีเบื้องหลังที่ควรได้รับการรับฟัง และการมองเห็นจากผู้ใหญ่ 

หนึ่งในกรณีที่สำคัญคือ  เด็กนักเรียนผู้หญิงคนหนึ่งที่อาศัยอยู่กับแม่ที่ป่วยหนัก การเยี่ยมบ้านช่วยให้ครูได้เห็นถึงปัญหาที่นักเรียนต้องเผชิญหลังเลิกเรียน และใช้โอกาสนี้ส่งต่อข้อมูลเพื่อประสานความร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.)​ ผู้ว่าราชการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และโรงเรียน ปัจจุบันนี้บ้านของเธอกำลังได้รับการซ่อมแซม และเธอได้รับทุนเรียนต่ออย่างมั่นคง

ในหลายครอบครัว เด็ก ๆ ไม่ได้ขาดศักยภาพในการเรียนรู้ แต่ขาด “เงื่อนไขพื้นฐานของการมีชีวิตที่มั่นคง” ครูจึงกลายเป็นเหมือนผู้วินิจฉัยทางสังคม เพราะเป็นคนที่ใกล้ชิดเด็กที่สุดรองจากครอบครัว ครูและโรงเรียนจึงจำเป็นที่ต้องรู้ให้ได้ว่าช่องโหว่ของครอบครัวอยู่ตรงไหน เพื่อประสานผู้เล่นที่ใช่มาอุดรูรั่วนั้นก่อนที่เด็กจะจม

ห้องเรียนวัดไซส์ กับเด็กคนละขนาดที่ต้องการการเรียนคนละแบบ

ผอ.อุกฤษฏ์ใช้การจำแนกนักเรียนออกเป็น 4 กลุ่ม:

  1. เด็กที่มีความสามารถพิเศษ (อัจฉริยะ/มีทักษะเฉพาะ)
  2. เด็กกลุ่มปกติ
  3. เด็กกลุ่มเสี่ยง
  4. เด็กกลุ่มที่มีปัญหา

แต่ละกลุ่มได้รับการออกแบบ “เสื้อผ้า” ที่พอดีกับไซส์ของเขา มีห้อง SMT (Science, Mathematics, and Technology) ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี , ห้องศิลปะ-ดนตรี, ทีมดูแลเด็กกลุ่มเสี่ยงโดยโรงเรียนประสานงานร่วมกับตำรวจ ปลัดอำเภอ และครูที่เข้าใจว่าการสอนแบบเดียวกันไม่เหมาะกับทุกคน

เพราะในโลกจริง ไม่มีเด็กคนไหนตรงตาม “มาตรฐาน” ครูที่เข้าใจเด็กจึงต้องออกแบบการสอนแบบเฉพาะตัว (individualized) มากกว่าการอิงจากหลักสูตรส่วนกลางล้วน ๆ และเมื่อลงลึกไปถึงบริบทครอบครัว เด็กกลุ่มเดียวกันก็อาจต้องการวิธีดูแลที่แตกต่าง ครูจึงกลายเป็นนักสังเกต นักฟัง และนักประสานงานในคนเดียวกัน

การศึกษาไม่ได้หยุดแค่ในห้องเรียน และครูก็ไม่ควรเดินลำพัง

เด็กหนึ่งคน ต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน  คำสุภาษิตนี้ไม่ใช่เพียงคำพูด แต่คือรูปธรรมที่โรงเรียนบ้านเนินมะปรางพยายามสร้าง

ด้วยนักเรียนกว่า 1,300 คน โรงเรียนจึงสร้าง “ระบบเครือข่าย” กับทั้ง สพฐ.(สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน) , อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) , โรงพยาบาล, สถานีตำรวจ, สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.)​ และชุมชน ให้เป็น “ระบบช่วยเหลือแบบไขว้” คือระบบที่ไม่พึ่งพาเพียงเส้นทางเดียว แต่มีทางเลือกสำรองและเครือข่ายที่ไขว้กันอยู่เสมอ ถ้าครูไม่เห็นปัญหา โรงพยาบาลอาจเจอ ถ้าครูเข้าไม่ถึง พี่เลี้ยงจากท้องถิ่นอาจเข้าไปถึง  ผู้ปกครองไม่สามารถสื่อสารกับโรงเรียนได้จะมีเจ้าหน้าที่ รพ.สต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) ที่ไปตรวจสุขภาพตามบ้านจะสังเกตเห็น ระบบนี้เกิดจากการ “รู้จักกันจริง” ไม่ใช่แค่ในนามหน่วยงาน แต่เป็นการรู้ว่าใครถนัดเรื่องไหน ใครมีใจเรื่องอะไร และ ใครคือคนที่จะยื่นมือได้เร็วที่สุดในเวลาจำเป็น

“ระบบช่วยเหลือแบบไขว้” นี้ไม่ใช่ลำดับขั้น ไม่ใช่สายบังคับบัญชา แต่คือ “ตาข่ายของคน” ที่ช่วยกันรับน้ำหนักเด็กแต่ละคนไว้ไม่ให้พวกเขาร่วงหล่นไปจากชีวิต

ระบบนี้ไม่ได้สร้างขึ้นเพราะมีงบหรือมีตำรา แต่เกิดจากประสบการณ์จริงของครูในพื้นที่ที่รู้ว่า “ไม่มีใครทำได้คนเดียว” เด็กบางคนต้องพาไปพบจิตแพทย์ เด็กบางคนต้องปรับแผนครอบครัวใหม่ ซึ่งไม่มีในวิชาการสอน แต่มีกับครูที่มีสายสัมพันธ์กับผู้ว่าฯ และ พม. แบบครูยกหูโทรหาได้เลย

ความท้าทายของครู 2025 ไม่ใช่ความท้าทายแค่ในห้องเรียน

“ปัญหาในห้องเรียน แก้ด้วยเทคนิค ปัญหานอกห้องเรียน ต้องใช้เครือข่ายทั้งชีวิต” ผอ.อุกฤษฏ์เล่าอย่างหนักแน่น

เด็กบางคนไม่ได้กลับบ้านตอน 4 ทุ่ม ผู้ปกครองคือยายที่ใช้ไลน์ไม่เป็น แม่โทรหาครู และครูคือตัวกลางในการตามเด็กกลับบ้านในยามดึก นี่คือชีวิตจริงของครูในอำเภอเนินมะปราง

เมื่อการสื่อสารภายในครอบครัวไม่สมบูรณ์ ครูก็ต้องเป็นเหมือน “สะพานกลาง” ที่เชื่อมใจเด็กกับผู้ใหญ่ และในบางกรณี ครูก็ต้องเป็นคนที่สวมบทตำรวจ ที่ปรึกษา และแม้กระทั่งผู้ประสานกับหน่วยกู้ภัย ครูในโรงเรียนแบบนี้จึงไม่ใช่แค่ครูในระบบ แต่เป็นครูของชีวิต

หน้าที่ของครูคือเอาชีวิตรอดในระบบ พร้อมกับรักษา ‘ชีวิต’ ของเด็กไว้ให้ได้

ผอ.อุกฤษฏ์เริ่มต้นเส้นทางครูจากโรงเรียนชายแดนที่แม่ฮ่องสอน  ที่นั่น เขาไม่ได้เห็นแค่เด็กที่ไม่มีสัญชาติ แต่เห็นเด็กที่ไม่มีโอกาส ไม่มีบ้านที่มั่นคง ไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎร ไม่มีใครไปรับกลับบ้าน แต่มี “ดวงตา” ที่ยังอยากเรียนรู้

ในพื้นที่ที่การศึกษาแทบไม่มีความหมายกับโอกาสในชีวิตจริงของเด็กเหล่านี้ ผอ.อุกฤษฏ์กลับเชื่อว่าหน้าที่ของครูไม่ใช่แค่ “สอนตามหลักสูตร” แต่คือการ สร้างการศึกษาที่มีความหมายกับชีวิตจริงของเด็กคนนั้น เพราะในโลกของเด็กชายไร้สัญชาติคนหนึ่ง การรู้จัก a-b-c อาจไม่สำคัญเท่ากับการมีครูที่เชื่อว่าเขาควรมีที่ยืนในสังคม

เขาบอกว่า “หากเด็กมีความพร้อมอยู่แล้ว ครูก็แค่สอนให้ดี แต่ถ้าเด็กยังขาดแคลน ครูต้องเป็นพ่อแม่ ต้องเติมเต็ม และต้องทำให้เด็กคนนั้นถึงฝั่งให้ได้”

และในระหว่างที่พาเด็กถึงฝั่ง ครูเองก็ต้องลอยคอไปด้วย ต้องซึมซับความเหนื่อยของระบบและแบกชีวิตบางส่วนของเด็กไว้ในใจ นี่คือความจริงที่ไม่ได้อยู่ในคู่มือครู แต่อยู่ในความเงียบของการเฝ้ามองเด็กทุกวันไม่ให้หล่น

เด็กทุกคนคือฟันเฟือง ครูจึงต้องเป็นรากฐาน

“ถ้าเราอยากให้เด็กมีอนาคต เราก็ต้องเป็นคนแรกที่อยู่ตรงนั้น”

โรงเรียนบ้านเนินมะปรางคือหลักฐานว่า ระบบดูแลเด็กให้ไม่หล่น ไม่ได้เริ่มจากนโยบาย แต่เริ่มจากหัวใจที่เข้าใจว่า…

ไม่มีเด็กคนไหนควรถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เพียงเพราะบ้านไกล หรือไม่มีเงินค่ารถ

และไม่มีครูคนไหนควรถูกปล่อยให้ยืนอยู่คนเดียว ถ้าสังคมยังเชื่อว่าการศึกษาคือความหวัง