‘ครูไม่ปรับ เด็กไม่เปลี่ยน’ โจทย์ใหญ่ในการปั้นนักเรียนให้มีสมรรถนะ: โรงเรียนชุมชนวัดอ่าวช่อ จังหวัดตราด

‘ครูไม่ปรับ เด็กไม่เปลี่ยน’ โจทย์ใหญ่ในการปั้นนักเรียนให้มีสมรรถนะ: โรงเรียนชุมชนวัดอ่าวช่อ จังหวัดตราด

“เด็กของเราไม่ได้พร้อมด้วยต้นทุนชีวิต เราไม่หวังปั้นเด็กเหลือคัดให้แข่งกับเด็กในเมือง แต่เราปั้นให้เขามีทักษะชีวิต ได้เห็นสมรรถนะตัวเอง เด็กที่นี่จากไม่กล้าพูด กลายเป็นกล้าพูดทุกคน” 

เสียงสะท้อนถึงความงอกงามที่เกิดจากปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนที่เป็นความภูมิใจของ ผอ.เทอดศักดิ์ แสบงบาล ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนวัดอ่าวช่อ จังหวัดตราด หลังจากรับเอานวัตกรรมจิตศึกษาจาก ‘มูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา’ รวมถึงกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ได้จากการเข้าร่วม ‘โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง’ (Teacher and School Quality Program: TSQP) ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มาใช้เป็นเข็มทิศในการพัฒนาโรงเรียน

แต่กว่าจะเห็นแสงสว่างที่ปลายทาง จุดเริ่มต้นของการพัฒนายากลำบากถึงขั้นที่เรียกว่า ‘ติดลบ’ 

ผอ.เทอดศักดิ์ เล่าว่า ปลายปี 2559 ได้บรรจุเป็นผู้อำนวยการ ก็มาอยู่ที่โรงเรียนชุมชนวัดอ่าวช่อ ซึ่งก่อนหน้านั้นโรงเรียนมีปัญหาจนแทบไม่มีผู้บริหารอยากมาอยู่ ส่วนครูยังขาดในเรื่องของหลักวิชาการ ไม่มีอะไรให้พึ่งพา ครูสอนตามรายวิชา ส่วนวิธีการจัดการเรียนรู้ขึ้นอยู่กับครูแต่ละคนเลย เด็กก็มีผลสัมฤทธิ์ต่ำเกือบทุกรายวิชา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ตกค่าเฉลี่ยทั้งระดับเขต จังหวัด และประเทศ ที่สำคัญคือความสัมพันธ์ของครูแทบไม่มีใครฟังใคร เป็นโจทย์ใหญ่ว่าจะทำอย่างไรที่จะกู้ภาพพจน์โรงเรียน สร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันของครู และสร้างความเชื่อมั่นให้ชุมชนได้

“ด้วยความเป็นผู้บริหารมือใหม่ที่ยังไร้ประสบการณ์ และขาดความรู้ด้านวิชาการ เป็นจังหวะที่ดีมากที่ได้รู้จักกับนวัตกรรมจิตศึกษาของมูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา และได้เข้าร่วมโครงการ TSQP เพราะทำให้โรงเรียนมีแนวทางในการพัฒนาการเรียนรู้เด็กให้ไปในทิศทางเดียวกัน”

‘ครูไม่ปรับ เด็กไม่เปลี่ยน’ โจทย์แรกเปลี่ยนมายด์เซ็ตครู

หลังจากตัดสินใจนำนวัตกรรมจิตศึกษามาปรับใช้ในการบ่มเพาะเด็ก ผอ.เทอดศักดิ์ ได้เข้าร่วมอบรมที่โรงเรียนลำปลายมาศ และค่อยๆ นำหลักการมาแนะนำให้คุณครูในโรงเรียนทดลองใช้ ทว่าผลลัพธ์ที่ได้กลายเป็นครูนำไปใช้เพียงแค่กระบวนการ แต่ไม่เข้าใจถึงเป้าหมายแก่นแท้ 

ผอ.เทอดศักดิ์ เล่าว่าเวลาแลกเปลี่ยนกัน ครูจะบอกว่าทำแล้วนะ แต่เด็กก็ไม่นิ่ง ยังซน ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย เราก็เลยย้อนถามว่า ขั้นที่ 1 ของการทำจิตศึกษาก่อนเข้าชั้นเรียน เด็กเป็นอย่างไร เขาบอกว่าเด็กสนใจ แต่ตอบคำถามไม่ได้ ซึ่งจริงๆ นั่นคือบรรลุเป้าหมายแล้ว เพราะโจทย์เพียงต้องการให้เด็กสนใจ ครูเอาของมาตั้ง แล้วเด็กมองหรือตอบโต้สิ่งนั้นถือว่าสำเร็จแล้ว ดังนั้นอย่าเพิ่งไปคาดหวังว่าเด็กจะเข้าใจสิ่งนั้น มันก็เริ่มสะท้อนว่าสิ่งที่เราทำ เราใช้เพียงกระบวนการ แต่ไม่เข้าใจถึงเป้าหมายจริงๆ 

“ครูจะคาดหวัง พอเห็นสิ่งที่ตรงข้ามกับความรู้สึกตัวเองจะตัดสินใจไปแล้วว่าเด็กไม่เปลี่ยน ที่แท้ทำให้ผมเข้าใจว่าจริงๆ แล้วครูเองที่ไม่เปลี่ยน ไม่เปลี่ยนที่จะพลิกตัวเองไปฟังหรือเข้าใจเด็ก ดังนั้นโจทย์ใหญ่ คือ เปลี่ยนครู ครูต้องใจกว้างพอที่จะเข้าใจพฤติกรรมเด็กที่มีความหลากหลายและแตกต่าง ซึ่งเป็นทุนตั้งต้นในการจัดการเรียนรู้ ถ้าครูเข้าใจเด็ก การเรียนรู้ของเด็กจะเป็นไปตามศักยภาพของแต่ละคน”

เมื่ออุปสรรคด่านแรกคือ ‘กรอบความคิดครู’ ในช่วงปีแรกของการดำเนินงาน ผอ.เทอดศักดิ์ มุ่งไปที่การนำกิจกรรมจิตศึกษามาสร้างความเข้าใจกับครู ผ่านเครื่องมือชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ PLC (Professional Learning Community) เพื่อให้ครูได้ร่วมวงสะท้อนคิดแลกเปลี่ยนความเห็นกัน รวมทั้งการพาไปศึกษาดูงานที่โรงเรียนลำปลายมาศและเครือข่าย จนกระทั่งครูเริ่มเปิดใจ มีความเข้าใจ มีแรงบันดาลใจ และพร้อมนำกระบวนการมาปรับใช้จริงจังในปีที่สอง

“ผลสัมฤทธิ์แรกที่เกิดขึ้นจากโครงการ TSQP โดยใช้นวัตกรรมจากมูลนิธิลำปลายมาศฯ คือการเปลี่ยนความคิดครู พลิกจากการเห็นแก่ตัวเอง ไปเห็นแก่เด็กมากขึ้น” 

สำหรับนวัตกรรมจิตศึกษา ที่โรงเรียนชุมชนวัดอ่าวช่อนำมาใช้ประกอบด้วย 3 กระบวนการสำคัญ คือ สนามพลังบวก จิตวิทยาเชิงบวก และกิจกรรมจิตศึกษา

ผอ.เทอดศักดิ์ เล่าว่า ‘สนามพลังบวก’ คือ การสร้างบริบทต่างๆ ทั้งสภาพแวดล้อม ห้องเรียน นักเรียน และครูให้เป็นสนามพลังบวกต่อกัน ไม่มีคำพูดบั่นทอนจิตใจกัน ส่วน ‘จิตวิทยาเชิงบวก’ เป็นการปฏิบัติต่อเด็กอย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ไม่มีการว่าร้าย ทำโทษ ส่งเสริมให้เด็กๆ รู้หน้าที่ของตัวเอง เช่น ทุกเช้าพอเด็กมาโรงเรียนจะช่วยกันทำความสะอาด เพราะเขารู้สึกเคารพกับสถานที่ที่ให้ความรู้ การเข้าแถวหน้าเสาธงจะไม่มีเสียงออด ไม่มีการอบรม เด็กสามารถกำกับตัวเองให้ตรงเวลา โดยไม่ต้องมีใครบังคับ

ในส่วนของ ‘กิจกรรมจิตศึกษา’ จะปฏิบัติช่วงเวลาก่อนเข้าเรียน เช่น Brain Gym กิจกรรมบริหารสมอง ช่วยฝึกสมาธิและกระตุ้นสร้างความจดจ่อให้เด็ก หรือ Body Scan ช่วยให้เด็กๆ รู้สึกผ่อนคลาย ลดความกังวลและพร้อมต่อการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังกิจกรรมหลัก คือ ‘ชง เชื่อม ใช้’ กระบวนการที่ทำให้เด็กรู้จักตัวเอง และคิดวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผล

ผอ.เทอดศักดิ์ เล่าว่า ในกิจกรรมครูจะให้เด็กนั่งล้อมวง เพื่อสร้างความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ทำให้เด็กกล้าพูดอย่างสบายใจ จากนั้นครูจะเริ่ม ‘ชงประเด็น’ ที่จะเรียนรู้ โดยนำสิ่งของ ภาพ หรือวิดีโอมาให้ดู หรือเล่าให้เด็กฟัง เช่น นำข่าวเด็กถูกรังแกมาเล่า และตั้งคำถามเชิงสังเกตว่า ได้ฟังเรื่องนี้แล้วรู้สึกอย่างไร เป็นการดึงสมาธิและความจดจ่อเด็ก เมื่อเด็กตอบได้ ครูจะ ‘เชื่อมคำถาม’ และ ‘ใช้การจำลองสถานการณ์’ พลิกประเด็นเชื่อมไปสู่ตัวเด็ก เช่น ถ้าหนูอยู่ในเหตุการณ์แบบนี้จะทำอย่างไร หรือเคยพบเหตุการณ์คล้ายๆ แบบนี้มั้ย เด็กก็จะเล่า เช่น หนูเคยหนีพ่อแม่จนเกือบเจออุบัติเหตุ ครูจะถามต่อไปว่า แล้วตอนนั้นหนูคิดว่าทำถูกหรือไม่ หรือจะทำอีกไหม เด็กก็จะสอนตัวเองว่าต่อไปจะไม่ทำอย่างนั้นอีก

“กระบวนการเหล่านี้สอนให้เด็กคิดอย่างเป็นเหตุผล เป็นการสั่งสมให้เด็ก ‘บ่มเพาะคุณธรรม’ จากตัวเอง เพราะเราใช้คำถามช้อนให้เด็กคิดเอง ไม่ใช่การมานั่งอบรมกันเหมือนแต่ก่อน ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของกระบวนการคือ การนำไปใช้ เราหวังให้เด็กนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้เมื่อเจอเหตุการณ์แบบนี้

‘เรียนรู้จากปัญหา’ บูรณาการทุกวิชา สร้างการเรียนรู้เชิงรุก

ไม่เพียงการนำจิตศึกษามาปรับกาย-ใจ เพื่อให้เด็กมีความพร้อมต่อการเรียนรู้แล้ว โรงเรียนชุมชนวัดอ่าวช่อ ยังนำการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ‘PBL’ (Project Based Learning) และกระบวนการชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ ‘PLC’ (Professional Learning Community) มาเป็นเครื่องมือปรับรูปแบบการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้เชิงรุก เพื่อเพิ่มสมรรถนะการเรียนรู้เด็ก

ผอ.เทอดศักดิ์ เล่าว่าทุกวันในช่วงเช้าเด็กจะได้เรียนวิชาหลัก เช่น ภาษาไทย คณิตศาสตร์ อังกฤษ วิทยาศาสตร์ แต่ช่วงบ่ายจะเป็นหน่วยบูรณาการ ครูแต่ละระดับชั้นจะนำตัวชี้วัดมาตรฐานมาวิเคราะห์ปัญหาของแต่ละรายวิชาก่อนว่าขาดอะไร แล้วจึงออกแบบการเรียนการสอน โดยบูรณาการวิชาต่างๆ ตามแนวทางของ Project Based Learning ซึ่งเด็กๆ จะมีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนการสอน และมีการนำปัญหาใกล้ตัวในชุมชน หรือสิ่งที่เด็กสนใจอยากเรียนรู้มาจัดทำเป็นหน่วยการเรียนรู้ด้วย 

“การออกแบบหน่วยการเรียนรู้ ครูกับเด็กจะทำ ‘ปฏิทิน 10 สัปดาห์’ ร่วมกัน เด็กๆ จะช่วยกันวางแผนและคิดหัวข้อที่จะเรียนรู้ในแต่ละสัปดาห์ทั้ง 10 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีการกำหนด ‘หน่วยท้องถิ่น’ เพิ่มขึ้นมา เนื่องจากเราเจอปัญหาว่าเด็กไม่เห็นความสำคัญ มองข้ามอาชีพหรือแหล่งทรัพยากรในชุมชนตัวเอง ติดไปกับความหรูหรา หรือกระแสการศึกษาทั่วไป เราจึงพยายามเชื่อมความรู้ภูมิปัญญาในท้องถิ่น เช่น นักเรียนชั้น ป.6 มีวิชา ‘เสียงกระซิบจากชายฝั่ง’ ครูจะพาไปเรียนรู้เรื่องอาชีพชายฝั่ง ทรัพยากรชายทะเลของท้องถิ่น ลงไปในพื้นที่จริง ปฏิบัติจริง ซึ่งจะทำให้เขาเกิดความเข้าใจ และตระหนักถึงคุณค่าในท้องถิ่นตนเอง นอกจากนี้เด็กๆ ยังสามารถนำทรัพยากรมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ด้วย” 

อย่างไรก็ดีต้องยอมรับว่ารูปแบบการสอนไม่ว่าจิตศึกษา และ PBL ต้องอาศัยการออกแบบการเรียนรู้ และการสร้างชุดคำถามอันแยบยล ซึ่งถือเป็นงานยากและเป็นภาระที่หนักสำหรับครูผู้สอน 

ผอ.เทอดศักดิ์ บอกว่าแรงจูงใจและสิ่งที่เกื้อหนุนให้ครูเปลี่ยนการสอนได้สำเร็จมี 3 ส่วนสำคัญ อันดับแรกคือเราได้ต้นแบบแผนการสอนจากมูลนิธิลำปลายมาศฯ มาอำนวยความสะดวกให้ครู แต่แน่นอนว่าไม่สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ ครูต้องศึกษาและปรับแผน เช่น แผนการเรียนรู้เป็นเรื่องป่า เราไม่มีป่า ต้องปรับมาสู่ทะเล ส่วนที่สองคือ การทำ PLC หลักๆ มีอยู่ 3 ประเด็น คือ ประเด็นเชิงระบบ กรณีศึกษาพฤติกรรมของเด็ก และปัญหาการจัดการเรียนการสอน สุดท้ายคือ ระบบประกันคุณภาพ ซึ่งโรงเรียนเรามีความเข้มแข็งมาก เรามีนิเทศการสอน ทำทุกขั้นตอนตั้งแต่การวิพากษ์แผน สาธิตการสอน สังเกตชั้นเรียน การสอนจริงในห้องเรียน การถอดบทเรียน ร่วมกันวิเคราะห์ และช่วยกันปรับ กระทั่งได้แผนการสอนที่สมบูรณ์

กระบวนเหล่านี้ค่อยๆ หล่อหลอมและเพิ่มสมรรถนะครู ทั้งในด้านความรู้ และความสัมพันธ์ การทำ PLC หรือการวิพากษ์แผนการสอน มีประโยชน์อย่างมาก เพราะคนทำแผนมีเพื่อนช่วยกลั่นกรอง คนที่ช่วยวิพากษ์ได้ร่วมเรียนรู้กัน และที่สำคัญคือช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ ครูเกิดการยอมรับกันและกัน ไม่มีใครสูงกว่าใคร ฟังกันหมด ทุกวันนี้จากที่ครูไม่เห็นด้วย กลายเป็นนำกระบวนการเหล่านี้มาปรับใช้จนเป็นวิถีในการเรียนการสอนไปแล้ว ซึ่งสิ่งที่ครูทำทั้งหมด สุดท้ายจะเป็นผลงานที่ช่วยต่อยอดในเรื่องของวิชาชีพทั้ง PDPA และวิทยฐานะได้ ครูไม่ต้องกลัวอะไรแล้ว เพราะทำมาทุกขั้นตอนอย่างละเอียด”

ผลจากการร่วมมือกันในการนำนวัตกรรมการศึกษามาขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเอง ทำให้โรงเรียนชุมชนวัดอ่าวช่อผ่านเกณฑ์การประเมินจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา รวมทั้งยังได้รับรางวัลชนะเลิศ ในระดับโรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็ก จากการประกวด IQA Award  ซึ่งถือเป็นระดับโรงเรียนที่มีโรงเรียนส่งเข้าประกวดเยอะที่สุด

‘เด็กสังเคราะห์ความคิดได้’ ผลลัพธ์ที่น่าพอใจมากกว่าการวัดด้วยคะแนน

ผอ.เทิดศักดิ์ บอกว่า หลังจากเข้าร่วมโครงการ TSQP เห็นชัดว่า 3 ปีให้หลังตั้งแต่ ปี 2563-2565 ผลการเรียนรู้ของเด็กดีขึ้น เริ่มไต่ระดับขึ้นมาและเป็นไปตามเกณฑ์ชี้วัดมาตรฐานการศึกษาชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ผลลัพธ์ที่โรงเรียนคาดหวังมากกว่านั้น คือ ‘ทักษะชีวิต ของนักเรียนที่เพิ่มขึ้น 

“เด็กของเราไม่ได้พร้อมด้วยต้นทุนชีวิต เราไม่หวังปั้นเด็กเหลือคัดให้แข่งกับเด็กในเมือง เราไม่ตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นที่หนึ่ง O-NET หรือต้องได้โควต้าเข้าโรงเรียนใหญ่ แต่เราให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะชีวิตของเขามากกว่า สิ่งที่เราหวังคือเด็กสามารถบรรลุเป้าตามนัยยะของนวัตกรรมที่เราใช้ สะท้อนความงอกงามในตัวเองออกมาบนความเป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุด และสามารถแสดงศักยภาพตามเวทีต่างๆ ได้ ซึ่งวันนี้เด็กที่นี่จากไม่กล้าพูด กลายเป็นกล้าพูดทุกคน” 

ไม่ใช่แค่กล้าพูดหรือพูดเก่งเท่านั้น ผอ.เทิดศักดิ์ ยังบอกว่า หลังจากพาเด็กๆ โรงเรียนชุมชนวัดอ่าวช่อเข้าร่วมกิจกรรมประเมินสถานศึกษาพอเพียงเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา ทำให้พวกเขาพบว่า เด็กๆ สามารถสังเคราะห์ความรู้และถ่ายทอดออกมาได้อย่างน่าทึ่ง 

“เวทีนี้เด็กต้องนำเสนอผลงานเอง ปรากฏว่าพอกรรมการสอบถาม เด็กคิดและพูดนำเสนอออกมานอกเหนือจากสิ่งที่คุณครูสอนหรือซักซ้อมไว้ พอกรรมการทดสอบให้ลองอธิบายถอดบทเรียนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนอื่นๆ ที่มาออกบูทร่วมกิจกรรม เด็กแสดงศักยภาพ อธิบายได้อย่างมีเหตุและผล ทำให้พวกเราได้เห็นสมรรถนะของเด็กที่สั่งสมมาตลอดจากการเข้าร่วมโครงการ เด็กกล้าพูด คิดเป็น กล้าแสดงความคิดเห็น และพูดอย่างมีวิจารณญาณ มันเป็นเป้าหมายที่เราใช้นวัตกรรมจิตศึกษาและบูรณาการผ่าน PBL สุดท้ายกรรมการประเมินว่าเด็กของเรามีความสามารถเกินเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งเราก็เห็นเป็นอย่างนั้นจริงๆ เป็นสิ่งที่เราภูมิใจและการันตีได้ว่าเราเดินมาถูกทาง”

ไม่เพียงครูที่เห็นถึงมิติการเปลี่ยนแปลง แต่ ‘ผู้ปกครอง’ ได้รับรู้ถึงพัฒนาการของลูกหลาน รวมทั้งยังได้ร่วมลงมือปฏิบัติ เพื่อให้เข้าใจถึงกระบวนการที่นำมาใช้ยกกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน

“ช่วงแรกที่นำจิตศึกษามาใช้ ผู้ปกครองก็สงสัยว่าให้ลูกหลานเขาทำอะไร ผอ.ไปเอาลัทธิอะไรมา (หัวเราะ) เราก็เลยพาผู้ปกครองลองทำกิจกรรมจิตศึกษาบ้าง ให้ไปนั่งทำกับลูกด้วย ทำให้เข้าใจกระบวนมากขึ้นจากการลงมือทำด้วยตนเอง ขณะเดียวกันเขาก็ได้เห็นถึงผลลัพธ์จากการเปลี่ยนแปลงของลูกเขาเอง ว่าเดี๋ยวนี้ลูกเขากล้าพูด และพูดอย่างมีเหตุมีผล”

ผอ.ต้องเป็น ‘นักสื่อสาร’ สร้างพลังขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเอง

ตลอดเส้นทางการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนของโรงเรียนชุมชนวัดอ่าวช่อ นอกจากครูผู้สอนจะเป็นกำลังหลักในการผลักดันนวัตกรรมไปสู่เด็กแล้ว ผู้อำนวยการเองเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญทั้งในฐานะผู้บริหาร ผู้นำวิชาการ รวมทั้งยังเป็นผู้อำนวยความสะดวกในเรื่องต่างๆ ในการพัฒนาห้องเรียน แต่ ผอ.เทอดศักดิ์ บอกว่า ยังมีอีกบทบาทหนึ่งที่มีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนงานอย่างมาก นั่นคือ ‘นักสื่อสาร’

“ต่อให้ผู้อำนวยการเก่งแค่ไหน ถ้าขาดทักษะสารสื่อสาร ซึ่งหมายถึงการสื่อสารทั้งทางกายและใจ อาจจะไม่สำเร็จ เพราะเมื่อเราได้ศาสตร์มาแล้ว ก็ต้องมีศิลป์ที่จะปรับครู เช่น ในกระบวนการเราต้องมีส่วนร่วมในการ PLC หรือการวิพากษ์ เราต้องมีมิติมุมมองที่ครูยอมรับ ขณะเดียวกันต้องมีเทคนิคในการสื่อสารให้ครูเห็นจุดอ่อน โดยที่เขามีความเข้าใจ และมีแรงบันดาลใจที่จะพัฒนาตนเองด้วย”

ผอ.เทอดศักดิ์ บอกว่า ทุกวันนี้ทักษะการสื่อสารได้กลายมาเป็นจุดแข็งที่นำพาให้เขาก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านวิชาการที่ได้รับการยอมรับ โดยได้รับคัดเลือกให้เป็นคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลและนิเทศการศึกษา รวมทั้งยังเป็นหนึ่งในคอร์ทีมของการทำพื้นที่นวัตกรรม ซึ่งผลความสำเร็จเหล่านี้ล้วนมาจากการเข้าร่วมโครงการ TSQP

“เมื่อก่อนเราเป็นคนไม่มั่นใจ แต่การนำนวัตกรรมจิตศึกษา PBL และ PLC เข้ามาใช้ได้ช่วยบ่มเพาะให้เราเปิดใจ มีหลักคิด พูดจามีเหตุมีผล และมั่นใจมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้ไปพร้อมกันครูและนักเรียน”

อย่างไรก็ดีสุดท้ายทุกการเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลลัพธ์ความสำเร็จจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่เริ่มต้นเปลี่ยนจากจุดสำคัญ นั่นคือ ‘วิสัยทัศน์ของผู้อำนวยการ’ “เหมือนกับที่ครูมองเด็กว่าทำไมเด็กยังไม่เปลี่ยน ผมก็มองย้อนกลับมาอีกว่าที่ครูยังไม่เปลี่ยนก็เพราะ ผอ. ยังไม่เปลี่ยนหรือเปล่า ดังนั้นการที่จะทำให้โรงเรียนพัฒนาตนเองสำเร็จได้ ต้องเริ่มจากที่ตัวเราต้องเปลี่ยนก่อนเป็นอันดับแรก” ผอ.เทอดศักดิ์ กล่าวทิ้งทาย