ส่องเส้นทาง ‘สายอาชีพ’ กับโอกาสทางการศึกษาที่มากขึ้น

ส่องเส้นทาง ‘สายอาชีพ’ กับโอกาสทางการศึกษาที่มากขึ้น

คงยากปฏิเสธว่า ‘เศรษฐกิจ’ คือปัจจัยสำคัญของความเหลื่อมล้ำในหลายมิติรวมถึงการศึกษา และเป็นหนึ่งสาเหตุทำให้ความยากจนส่งต่อกันไปรุ่นต่อรุ่นหมุนวนจนกลายเป็นวัฏจักรความยากจน

ในครอบครัวหนึ่งอาจกัดฟันส่งลูกเรียนได้จนจบการศึกษาภาคบังคับก็จริง แต่เมื่อเข้าสู่ระดับมัธยม เราจะเริ่มเห็นเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้นเพราะครอบครัวไม่สามารถที่จะส่งเรียนต่อได้ และจะยิ่งชัดขึ้นอีกเมื่อเข้าสู่ระดับมัธยมปลาย กลุ่มเด็กที่ยากมากจะหลุดออกไปเกือบทั้งหมดและยิ่งมีสัดส่วนที่น้อยมากในการได้เรียนต่อไปจนจบระดับมหาวิทยาลัย สิ่งที่ตามมาเมื่อต้องหลุดจากระบบการศึกษากลางคัน คืองานที่เลือกไม่ได้ ไม่ว่าตามความชอบ ความฝัน หรือด้านรายได้ ที่มักเป็นงานไม่ต้องใช้ทักษะและมีรายได้น้อย รวมถึงง่ายต่อการถูกกดขี่ค่าแรง

ด้วยเหตุนี้ ครอบครัวที่มีรายได้น้อยจึงยังคงมีรายได้น้อยอยู่ร่ำไป จนแทบไม่มีโอกาสขยับสถานะรายได้ของตนเองขึ้นมา ไม่มีโอกาสใช้การศึกษาเป็นสะพานเชื่อมตัวเองไปสู่ทักษะงานใหม่ๆ ที่เพิ่มรายได้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์หลังโควิด เราพบว่าสถานการณ์ลักษณะนี้ยิ่งรุนแรงขึ้นอีก

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาการศึกษา ‘สายอาชีพ’ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับเด็กกลุ่มนี้มากขึ้น ทั้งในด้านการสนับสนุนทุนการศึกษาและสวัสดิการด้านต่างๆ เพื่อหนุนเสริมให้ยังสามารถอยู่ในระบบการศึกษาได้ด้วยเวลาที่สั้นลง มีงานทำและรายได้พร้อมกับการเรียน รวมถึงการออกแบบหลักสูตรให้สอดคล้องกับผู้เรียนมากขึ้น เช่น ประกาศนียบัตรระยะสั้น หรือหลักสูตรการเรียนรู้ได้ไม่ว่าช่วงวัยใดเพื่อให้ทุกคนสามารถเดินกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ง่ายขึ้นในจังหวะที่พร้อมต่อช่วงชีวิต

เส้นทาง ‘สายอาชีพ’ เป็นหนึ่งในทิศทางการศึษาที่กองทุนเสมอภาคเพื่อการศึกษา (กสศ.) ให้ความสำคัญและสนับสนุน ลองไปดูกันว่า ขณะนี้มีแนวคิดและการพัฒนาอย่างไร เพื่อให้ตอบโจทย์สำหรับการเพิ่มโอกาสให้เด็กๆสามารถอยู่ในระบบการศึกษาได้ต่อไป แม้จะมีข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจของครอบครัวหรือปัญหาอื่นๆมากมายที่รายล้อมก็ตาม

สถาบันอาชีวศึกษา ต้องมีสร้างสวัสดิการครอบคลุม

“สถานศึกษาต้องสามารถจัดการสวัสดิการได้ สำคัญกว่าการได้รับทุนคือการที่เขาไม่ออกกลางคัน เป็นหน้าที่ผู้บริหารและอาจารย์ที่ปรึกษา เพื่อให้เขาจบและมีงานทำได้”

ราตรีสวัสดิ์ ธนานันต์ ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวในช่วงหนึ่งของเวทีเสวนา นโยบายการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาสำหรับเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสสายอาชีวศึกษา ในงานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงข้อเสนอ โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปี 2565 เมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา 

ราตรีสวัสดิ์ ธนานันต์ ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือ
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

“การดูแลนักเรียนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเปราะบาง เขาพร้อมหลุดออกจากระบบได้ทุกเมื่อ ขั้นแรกคือจะต้องคัดกรองให้ได้เพื่อให้มองเห็นกลุ่มปัญหาที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือตามความเร่งด่วน จากนั้นคือการสร้างคนที่จะต้องดูแลเพื่อไม่ให้เขาหลุดออกไปออก เพราะถ้าหลุดออกไปก็จะยาว คนจะหายไปจำนวนมาก ซึ่งพวกเขาเหล่านี้คือคนที่จะเข้าไปตอบโจทย์ประเทศได้”

ราตรีสวัสดิ์ ยังกล่าวว่า เรื่องสำคัญคือผู้บริหารต้องกำกับดูแลให้เกิดสมดุล เพราะนักเรียนบางคนแม้ได้ทุนการเรียน แต่หลายกรณีเราพบว่าเขาต้องแบ่งเงินกลับไปให้ผู้ปกครองด้วย ดังนั้น ต้องแก้ปัญหาที่ไกลกว่าตัวเขา เช่น การหาหลักสูตรที่เขาสามารถหารายได้ระหว่างเรียนไปพร้อมกันได้ด้วย ตรงนี้จะเกิดผลในระยะยาวขึ้น เหมือนที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีหลายแห่งมีหลักสูตรแบบนี้ คือกินอยู่เรียนฟรีและมีรายได้เพิ่มจากการทำเกษตร เช่น ปลูกผัก เลี้ยงไก่ หรืออีกส่วนหนึ่งคือการจัดหลักสูตรแบบทวิภาคีที่เรียนและฝึกในสถานประกอบการ เมื่อเรียนจบเขาสามารถทำงานได้เลยพร้อมกับมีรายได้ตามวุฒิการศึกษารองรับ

“ความคาดหวังของผม อยากเห็นภาวะผู้นำในสถานศึกษาที่จะรวมกำลังใจครูอาจารย์ทำงานเป็นทีม ทำงานร่วมกับสถานประกอบการและชุมชนท้องถิ่น เหล่านี้คือปัจจัยที่จะผลิตกำลังคนที่รองรับแผนยุทธศาสตร์และความต้องการประเทศได้”

วิทยาลัยชุมชน พื้นที่แห่งโอกาสในทุกช่วงวัยของชีวิต

“เราให้ความสำคัญและเน้นย้ำนโยบายโอกาสการเข้าถึงการศึกษาของทุกอาชีพในทุกกลุ่มวัย รวมถึงผู้ที่พลาดการศึกษาในวัยเรียนให้ได้มาเพิ่มเติมความรู้และคุณวุฒิในการศึกษา”

รองศาสตราจารย์สิตา ทิศาดลดิลก รองผู้อำนวยการสถาบันวิทยาลัยชุมชน ย้ำว่า ปัจจุบันวิทยาลัยชุมชนมีแผนชัดเจนในการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาสในทุกพื้นที่ที่วิทยาลัยตั้งอยู่ ซึ่งการจะไปถึงเป้าหมายได้ ต้องมีการศึกษาที่ยืดหยุ่นและหลากหลาย ดังนั้น นักศึกษาของเรา เด็กวัยรุ่นก็มี อายุ 70 ก็มี ต้องมีค่าเรียนไม่แพงและเข้าถึงง่าย

รองศาสตราจารย์สิตา ทิศาดลดิลก
รองผู้อำนวยการสถาบันวิทยาลัยชุมชน

“ค่าเรียนของเราอยู่ในหลักร้อยเท่านั้นและมีทางเลือกให้กับผู้เรียน มีทั้งหลักสูตรระยะยาวและสั้น มีวุฒิตั้งแต่อนุปริญญาเพื่อไปต่อที่สูงขึ้น ปวช., ปวส. ประกาศนียบัตร และปริญญาตรีในสาขาที่ไปประกอบอาชีพและเป็นที่พึ่งของชุมชนในอนาคตได้ได้ นอกจากนี้ยังได้พัฒนาดิจิทัลเทคโนโลยี เพื่อให้ผู้เรียนรู้เข้าถึงได้สะดวกขึ้น”

รองศาสตราจารย์สิตา กล่าวต่อไปว่า นอกจากเรื่องการพัฒนากรอบคุณภาพความเป็นอยู่ หลักสูตร และการส่งเสริมการมีงานทำ อีกเรื่องที่สำคัญคือต้องให้คำปรึกษาได้ ไม่ว่าเรื่องเรียน ชีวิตส่วนตัว การเงิน เพราะเด็กกลุ่มนี้มีความเปราะบางทั้งเศรษฐกิจและครอบครัว ทางวิทยาลัยจะแต่งตั้งผู้รับผิดชอบชัดเจนและมีทีมงานดูแล บางสถานศึกษาอาจมีสวัสดิการที่พักให้ ครูที่ปรึกษาสำคัญมากต้องดูแลใกล้ชิดเหมือนพ่อและแม่

“อีกเรื่องหนึ่งสำคัญมากสำหรับเด็กสายอาชีพคือ การเตรียมความพร้อม เราไม่รู้ว่าพื้นฐานการเรียนของเขาว่าดีหรือไม่ จะต้องมีวิธีเพิ่มเติมพื้นฐานการเรียน เช่น สอนเสริมหรืออื่นๆจนเขาบรรลุผลสำเร็จทางการศึกษาได้”

นี่คือมุมเล็กๆของผู้บริหารการศึกษา ‘สายอาชีพ’ ที่กำลังร่วมคิด ร่วมทำอย่างเต็มที่ เพื่อเปลี่ยนภูมิทัศน์การศึกษาใหม่ โดยมุ่งหวังให้สายอาชีวศึกษา เป็นอีกหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะลดความเหลื่อมล้ำการศึกษาเพื่อตัดวงจรวัฏจักรความยากจนออกไปให้ได้โดยเร็วที่สุด