ไม่ใช่พ่อไม่ใช่แม่ แต่ทำให้สบายใจ เปิด ‘บ้านที่รู้กัน ณ เชียงดาว’ พื้นที่ที่ให้เด็กกองผักปิ้งกลับมาเป็น ‘เด็กในสายตา’

ไม่ใช่พ่อไม่ใช่แม่ แต่ทำให้สบายใจ เปิด ‘บ้านที่รู้กัน ณ เชียงดาว’ พื้นที่ที่ให้เด็กกองผักปิ้งกลับมาเป็น ‘เด็กในสายตา’

“เวลาเด็กมาที่นี่ เขาจะมาพูดระบายให้เราฟัง”

ในช่วงแรกที่เริ่มเปิดบ้าน เด็กที่เข้ามามักไม่ค่อยเล่าอะไรให้ยุพินและไมตรีฟัง ซึ่งพวกเขาก็ไม่ได้คาดหวัง บีบบังคับ หรือสั่งสอน แต่ใช้วิธีการพูดคุยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวัน อย่างการชวนเด็กกินข้าวด้วยกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน จนถึงวันหนึ่งเด็กคนนั้นก็จะเปิดใจเล่าทุกอย่างให้ฟังโดยที่พวกเขาไม่ต้องถาม ทำให้ไมตรีและยุพินรู้ว่าจะต้องช่วยเหลือเด็กคนนี้อย่างไร

วิธีการของไมตรีและยุพิน เริ่มจากการสอนให้เด็กสร้างเป้าหมายในชีวิตว่าตัวเองอยากทำอะไร อยากพัฒนาไปด้านไหน และเมื่อเด็กมีเป้าหมาย พวกเขาก็จะหาวิธีส่งเสริมและชี้นำไปในเส้นทางที่สามารถเข้าใกล้ฝันได้มากขึ้น แต่จะไม่ได้บังคับตายตัว ขึ้นอยู่กับว่าเด็กต้องการทำหรือเปล่า

สิ่งที่สำคัญที่ทำให้บ้านของไมตรีและยุพินเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชนชาวลาหู่จึงอาจไม่ใช่พื้นที่ของบ้านที่เป็นพื้นที่เดียวในชุมชนที่ห่างจากยาเสพติด แต่เป็นตัวของไมตรีและยุพินเองที่คอยรับฟังเรื่องราวของเด็กทุกคนด้วยความเข้าใจ และไม่ตัดสินมากกว่า

บางชุมชนอาจมีลานกิจกรรมของหมู่บ้านให้คนในชุมชนออกไปใช้สอย มีสนามกีฬาให้ไปออกกำลังกายด้วยกัน แต่สำหรับเด็กๆ ชุมชนกองผักปิ้ง พวกเขาไม่มีพื้นที่แบบนั้น หากไปใช้สนามฟุตบอลของโรงเรียนก็กลัวว่าจะเกิดเหตุทะเลาะวิวาทกับเด็กกลุ่มอื่น

เก้าอี้พลาสติกและลานดินหน้าบ้านของไมตรีและยุพินจึงเป็นพื้นที่กิจกรรมของเด็กในชุมชนที่แวะเวียนเข้ามา

“เด็กเล่นฟุตบอลกันตรงนี้แล้วก็เตะเข้าบ้านเราด้วยนะ ตอนมีลูกเปตองที่อาจารย์คนหนึ่งเอามาให้ เด็กก็เล่นกันอยู่ตรงนี้ ถ้าที่ตรงนี้ปิด เด็กๆ เขาก็ไม่มีที่ให้ไปเล่น”

แน่นอนว่าเมื่อเด็กๆ แวะเวียนมาที่นี่บ่อยครั้ง ย่อมเกิดสายตาที่มองอย่างไม่เข้าใจ ซึ่งไมตรีเล่าว่าในช่วงแรกบ้านของเขาถูกมองว่าเป็นแหล่งมั่วสุม เพราะเด็กหลายคนมีพื้นเพที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและบุหรี่ บ้างก็เป็นเด็กดมกาว แต่การที่ไมตรีเปิดบ้านให้เด็กๆ กลุ่มนี้เข้ามาทำให้เขารู้ว่าเด็กเหล่านี้ต้องการการเปลี่ยนแปลง ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด

ในตอนนี้กิจกรรมที่เด็กๆ อยากทำจึงไม่ใช่การรวมตัวกันเพื่อดมกาว แต่เป็นการเล่นกีฬา พูดคุย และร้องเพลง เหมือนกับเด็กคนอื่นๆ เกิดสังคมภายในรั้วบ้านที่ปลอดภัย ไม่มียาเสพติด

“คอกไก่เราให้เด็กเขาสร้างกันเองนะ”

ยุพินชี้ให้เราดูว่าคอกไก่บริเวณนี้เป็นฝีมือของเด็กๆ ภายใต้โครงการที่เธอและไมตรีเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งยุพินอธิบายว่าโครงการจะจัดหาอุปกรณ์สำหรับทำคอกไก่ และจัดหาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มาให้เด็กๆ เลี้ยง โดยเด็กๆ จะมีหน้าที่เวียนกันมาให้น้ำ เติมข้าว และเมื่อไก่โตเต็มวัยก็จะถูกขายให้กับคนที่สนใจ สร้างรายได้ให้กับเด็กๆ ในโครงการ

การเลี้ยงไก่เป็นหนึ่งในการเรียนรู้ที่ไมตรีและยุพินจัดสรรไว้ให้กับเด็กที่นี่ เพราะพวกเขามองว่าหากเด็กกลุ่มนี้มีรายได้จากการเลี้ยงไก่ พวกเขาจะถอยห่างจากยาเสพติดมาได้ก้าวหนึ่ง

“ผมเข้าใจในฐานะที่เป็นนักกิจกรรมว่า เรื่องปากท้องไม่ควรเป็นเรื่องหลักที่จะส่งเสริมให้กับเด็ก แต่แนวคิดนี้ อาจเหมาะกับเด็กพื้นที่อื่น แต่เด็กๆ ที่นี่ พวกเขาต้องเอาปากท้องให้รอดก่อน”

ไมตรีวางแผนว่าเขาอยากให้มีปลา มีหมู ให้เด็กกลุ่มนี้เลี้ยงและพัฒนาไปเป็นอาชีพของตัวเอง ซึ่งไมตรีมองว่ากิจกรรมสามารถเป็นตัวชี้นำความสนใจ การเรียนรู้ และอนาคตของเด็กๆ ได้ แต่มันจะมีประสิทธิภาพต่อเมื่อพวกเขามีอันจะกิน ไม่ต้องกังวลเรื่องปากท้อง

“การมีกินเพื่อปากท้องของเขาสำคัญกว่าอย่างอื่น ถ้าเขามีปากท้องได้ มีอาหารได้ เราค่อยๆ เพิ่มอย่างอื่นเข้าไปได้ ประเด็นคือ เขาอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีข้าวกิน แค่นั้นเอง”

ถังน้ำมะขามป้อมภายในบ้านของไมตรีและยุพินเป็นอีกหนึ่งการเรียนรู้เพื่อสร้างอาชีพให้กับเด็กและเยาวชนในโครงการ ซึ่งน้ำมะขามป้อมที่เราได้ลองชิมเป็นฝีมือของเด็กๆ ที่พวกเขาเริ่มจากการเก็บมะขามป้อมในป่ามาหมักเป็นระยะเวลาร่วมปี

“เราใช้อาหารเป็นฐานการเรียนรู้ วิธีคือเอาอาหารที่เราเคยทํามาสร้างคอนเทนต์ มีการถ่ายทำ ให้เขาออกแบบแพ็กเกจเพื่อขาย”

อาจารย์กริ่งกาญจน์อธิบายว่า การส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านกระบวนการทำสื่อนั้นตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า ‘ต้องเป็นสื่อที่กินได้’ เพื่อตอบสนองกับปัญหาปากท้องที่เด็กๆ กำลังเผชิญ โดยที่ผ่านมาทางโครงการได้หยิบเอาความรู้ด้านอาหารชาติพันธุ์มาเป็นบทเรียนให้เด็กและเยาวชนในโครงการเรียนรู้ที่จะทำ เรียนรู้ที่จะทำสื่อประกอบการขาย และเมื่อจบชั่วโมงเรียน เด็กและเยาวชนในโครงการก็สามารถนำสิ่งที่พวกเขาทำกลับไปกินที่บ้านได้

“บางคนนอนที่นี่ประจำนะ ส่วนมากจะเป็นเด็กผู้ชายที่มานอน”

ห้องนอนของเด็กๆ กลุ่มนี้เป็นห้องนอนที่ไม่ได้มีเฟอร์นิเจอร์อะไรมากนัก นอกจากเตียง โต๊ะตัวเล็ก และพัดลม ซึ่งกองผ้าบนเตียงทำให้เราเห็นว่ามีคนเข้ามานอนที่นี่จริงๆ ส่วนผนังด้านในและกระจกถูกวาดเป็นตัวการ์ตูนเด็กผู้หญิงตาหวาน สลับกับการเขียนข้อความบางอย่างลงไป บ้างก็เป็นชื่อของตัวเอง บ้างก็เป็นคำที่เราอ่านไม่ออก ซึ่งยุพินบอกว่าบางครั้งคำที่เขียนบนกระจกก็เป็นคำหยาบที่เด็กเขียนด่ากัน ถึงจะมีใครลบไป แต่สุดท้ายเด็กที่มานอนค้างที่นี่ก็จะเขียนใหม่อยู่ดี

ยุพินเล่าว่า โดยปกติแล้วถ้ามีเด็กหลายคนมานอนที่บ้าน เด็กๆ จะพากันเอาผ้าปูพื้นเพื่อนอน ไม่ได้มีการเกี่ยงกันว่าใครจะนอนตรงไหน ซึ่งเป็นธรรมชาติของเด็กๆ ที่สบายใจเมื่ออยู่กับเพื่อน และถ้าเป็นหน้าร้อน พวกเด็กๆ จะพากันออกไปปูเสื่อนอนข้างนอก หากหนาวก็จะช่วยกันก่อไฟ

ความตั้งใจของไมตรีและยุพิน คือ การมีพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กมาพักพิงชั่วคราว เพื่อคอยดูแล คอยสอนเรื่องที่จำเป็นให้กับพวกเขา เพราะมีเด็กหลายคนที่ถูกครอบครัวทอดทิ้ง ไม่มีบ้านอยู่ ต้องไปอาศัยอยู่กับญาติที่ไม่ได้เอาใจใส่อะไรมากนัก ซึ่งที่ผ่านมามีเด็กบางคนที่ต้องนอนในป่า และประทังชีวิตด้วยการแอบมาขโมยไก่ชาวบ้านไปกิน

“ตอนแรกที่เปิดบ้าน ไม่ว่าของกินอะไรก็หายหมด ผมไม่ได้ว่าอะไรเขาเพราะเข้าใจว่าหิว อยู่ไม่ได้ เลยต้องขโมย แต่ผมนั่งคุยกับเขา ปรับความคิดให้เขาใหม่ว่าจะเอาอะไรให้มาขออนุญาตก่อน ตอนนี้ไม่ว่าเขาจะหยิบจับอะไรในบ้านก็จะมาขอก่อนเสมอ ”

ในตอนนี้ การเข้าออกที่นี่แทบจะเป็นกิจวัตรของเด็กๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีการบอกล่วงหน้า ไม่จำเป็นต้องมีบัตรผ่าน หรือมีการลงชื่อจอง เพราะถ้าเด็กคนไหนอยากเดินเข้ามาก็สามารถเข้ามาได้ทุกเมื่อ อยากนอนค้างก็นอนค้างได้ หรือถ้าไม่มีอะไรกินก็เข้ามากินข้าวที่บ้านแห่งนี้ได้

แม้วันที่เราเข้าไปนั่งคุยกับพี่เลี้ยงทั้งสองจะไม่มีเด็กคนไหนเดินเข้ามาในพื้นที่บ้าน แต่ก็มีมอเตอร์ไซต์ 2-3 คัน ที่ชะลอเมื่อผ่านรั้วบ้านของไมตรี-ยุพินเพราะอยากเข้ามาตามปกติ เพียงแต่เพราะมีคนแปลกหน้าอย่างเรานั่งอยู่พวกเขาจึงไม่ได้เข้ามา