นโยบายเรียนฟรี 15 ปี ช่วยได้จริงหรือ? เสนอใช้สูตรจัดสรรทรัพยากรอย่างเสมอภาค
โดย : ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.)

นโยบายเรียนฟรี 15 ปี ช่วยได้จริงหรือ? เสนอใช้สูตรจัดสรรทรัพยากรอย่างเสมอภาค

ตัวเลขของนักเรียนยากจนพิเศษจากรายงานประจำปีของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เวลาไม่ถึง 5 ปีตัวเลขเพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่งจากในปีการศึกษา 1/2560 มีอยู่ 569,767 คน มาในปีการศึกษา 1/2564 เพิ่มขึ้นเป็น 1,244,591 คน

แต่เมื่อดูถึงงบประมาณที่ถูกจัดสรรยังไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่เข้ามามีส่วนทำให้ตัวเลขนักเรียนยากจนพิเศษพุ่งขึ้นทุกๆปีอย่างมากนี้กำลังทำให้ยอดรวมเด็กเสี่ยงหลุดระบบการศึกษาเข้าหลักล้าน! 

จากการสำรวจข้อมูลโดยการสำรวจของกสศ. พบว่า สถานการณ์เด็กหลุดจากระบบการศึกษาในปัจจุบัน มีตัวเลขนักเรียนยากจนทั่วประเทศที่มีความเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษาถึง 1.9 ล้านคน มาจากปัญหาด้านเศรษฐกิจเป็นหนึ่งในสาเหตุหลัก สังเกตได้จากรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของนักเรียนยากจนพิเศษลดต่ำลงมากจาก 1,289 บาทช่วงก่อนโควิด มาเป็น 1,094 บาทต่อครัวเรือนเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าน้อยมาก 

ผู้ปกครองแบกรับภาระมากเกินไป?

ตัวเลขนี้มีนัยสำคัญบ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่ามีผู้ปกครองอีกมากไม่สามารถจัดการให้ลูกหลานของตนเข้าเรียนได้ ไม่เพียงเพราะค่าเล่าเรียนที่ปกติก็มีส่วนต่างที่ต้องจ่าย บวกด้วยพิษโควิด 19 ที่ทำให้หลายๆครอบครัวต้องอยู่ในภาวะถังแตก ยิ่งทำให้ปัญหานี้ดูเหมือนจะลุกลามรุนแรงไปทุกหย่อมหญ้า

นโยบายเรียนฟรี 15 ปี ตามที่รัฐประกาศ แต่ทำไมยังมีเสียงสะท้อนว่าเป็นนโยบายที่ยังไม่ครอบคลุม หลายๆฝ่ายยังยืนยันไม่มีของฟรีอยู่จริง ตลอดระยะเวลาหลายปีที่นโยบายนี้ดำเนินมากลับพบว่าผู้ปกครองยังคงต้องรับภาระอันหนักอึ้งจากค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของลูกๆ โดยเฉพาะใน กทม. ที่มีค่าเฉลี่ย ภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสูงกว่าจังหวัดอื่นทั่วประเทศถึง 2 เท่าตัว! 

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) เปิดเผยตัวเลข ค่าใช้จ่ายทางการศึกษา และความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษา ออกมาเสนอเรื่องถึงว่าที่ผู้ว่ากทม. คนต่อไป ให้เห็นคุณค่าต้นทุนทางการศึกษาของครอบครัวที่รายได้น้อย ที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาที่แทบจะเป็นรายจ่ายหลักในครัวเรือน และช่วยพัฒนาบุคลากร สนับสนุนโรงเรียนที่ขาดแคลนจริงๆอย่างเท่าเทียม เพราะขณะนี้ครัวเรือนยากจนต้องแบกรับรายจ่ายด้านการศึกษาเมื่อเทียบกับรายได้ สูงกว่าครัวเรือนที่ร่ำรวยถึง  4 เท่า ! 

ตัวเลขที่ ดร.ภูมิศรัณย์พบคือ แม้มีนโยบายเรียนฟรีทั่วประเทศ 15 ปี แต่ในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่า เด็กกรุงเทพฯมีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาเฉลี่ย 37,257 บาทต่อคนต่อปี ในจำนวนนี้เป็นค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาสูงถึง 26,247 บาท ที่เหลือเป็นค่าเสื้อผ้าและเครื่องแบบ 2,072 บาท ค่าหนังสือ เครื่องเขียน และอุปกรณ์ 2,175 บาท และค่าเดินทาง 6,763 บาท ตัวเลขเฉลี่ยเหล่านี้สูงกว่าทุกพื้นที่ในประเทศไทย สูงกว่าเฉลี่ยของทั้งประเทศซึ่งมีค่าใช้จ่าย 17,832 บาทต่อคนต่อปี ถึง 2 เท่า

ซ้ำเติมด้วยค่าครองชีพของ กทม. ที่แทบสูงที่สุดของประเทศ

คนกรุงเทพฯ กำลังเผชิญกับปัญหาค่าครองชีพที่สูงกว่าจังหวัดอื่นๆ ในแทบทุกมิติ ทั้งด้านค่าใช้จ่ายครัวเรือน รวมถึงค่าใช้จ่ายทางการศึกษา  และแม้ประเทศไทยจะมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี แต่พบว่ายังไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทางการศึกษาอย่างเพียงพอ  โดยเฉพาะสำหรับครัวเรือนยากจน ยิ่งคำนึงถึงสถานการณ์เงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมา อาจต้องถึงเวลาปรับสูตรการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษาอีกครั้งเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ที่ครอบคลุมไม่ถึงค่าใช้จ่ายแฝงที่พ่อแม่ผู้ปกครองใน กทม.  ต่างต้องประสบปัญหาในการหาเงิน ยิ่งในสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาโรงเรียนในกรุงเทพฯปิดเทอมไป 2 ปี   ค่าเทอมจ่ายเหมือนเดิม ไม่ได้ไปโรงเรียน ทั้งยังต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มจากค่าอาหาร หรือใบงานกิจกรรมต่างๆ อีกด้วย

“ปัจจุบันโรงเรียนที่มีคุณภาพก็มีการเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษ ค่ากิจกรรมต่างๆที่มีคุณภาพให้โรงเรียน มันสะท้อนว่า อยากให้โรงเรียนมีคุณภาพก็ต้องมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มจากผู้ปกครอง” 

“จากที่ฟังเสียงสะท้อนจากผู้ปกครอง แสดงให้เห็นว่าโรงเรียนต้องการเงินไปพัฒนาคุณภาพในโรงเรียน ซึ่งนโยบายกระทรวงก็อนุญาตให้โรงเรียนเก็บค่าบำรุงเพิ่มเติมได้ แต่ละโรงเรียนเลยไม่ได้มีการเรียนฟรีจริงๆ อย่างที่กล่าวอ้างกันมาตลอด 10 กว่าปี เรียกว่าแทบจะไม่ปรับเลยจากสถิติที่ผ่านมา หากเปรียบเทียบ ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของเด็กที่มาจากครัวเรือนยากจน 10% ล่างสุดของกรุงเทพฯ จะอยู่ที่ 6,600 บาทต่อคนต่อปี ในขณะที่เด็กที่มาจากครัวเรือนที่รวยที่สุด 10% แรกของกรุงเทพฯ มีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาที่สูงถึง 78,200 บาทต่อคนต่อปี ตัวเลขห่างกันถึง 12 เท่า ค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมที่แตกต่างกันอย่างมากบ่งบอกถึงคุณภาพการศึกษาที่นักเรียนกลุ่มยากจนและกลุ่มที่มีฐานะดี มีโอกาสได้รับแตกต่างกัน”  ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าว

ดร.ภูมิศรัณย์ ส่งเสียงไปยังว่าที่ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครคนใหม่ ที่กำลังจะเข้ามาช่วยยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรใน กรุงเทพมหานครว่าสิ่งที่ควรทำคือปรับการอุดหนุนครอบครัวยากจน แม้ว่าค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของครอบครัวยากจนจะไม่สูงนัก แต่จากข้อมูลบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ( National Education Account : NEA) พบว่า โดยเฉลี่ยครัวเรือนยากจนต้องแบกรับรายจ่ายด้านการศึกษาเมื่อเทียบกับรายได้ สูงกว่าครัวเรือนที่ร่ำรวยถึง  4 เท่า ! 

ผนึกกำลัง วสศ. ร่วมกับสำนักการศึกษาทางกทม. ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายการศึกษาเด็กนักเรียนยากจน

“การเสนอให้จัดสรรโรงเรียนและครอบครัวที่ลำบากจริงๆ ขาดแคลนจริงๆ ทางภาครัฐก็ควรให้มากกว่าโรงเรียนที่มีความพร้อมอยู่แล้ว ใช้สูตรจัดสรรทรัพยากรอย่างเท่าเทียม ตัดค่าใช้จ่ายแฝงต่างๆ อาจจะมีบัตรสวัสดิการนักเรียนที่ครอบคลุมไปยัง การนั่งรถฟรี ค่าอาหารในโรงเรียน ที่เป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนจะได้ลดภาระที่ต้องเจอตรงนั้น น่าจะเป็นทางออกที่ดี” 

“และช่วยมองให้ครอบคลุมไปถึงศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ปฐมวัย ในกรุงเทพมหานคร ว่าจริงๆแล้วส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้มีรายได้น้อย ตัวบุคลากรเองก็ไม่ได้มั่นคงในอาชีพเพราะจ้างแบบปีต่อปี เลยอยากให้นโยบายนี้ได้รับการอุดหนุนและยกระดับศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนให้มีศักยภาพพอ จะได้มีคุณภาพมากขึ้นกว่าตอนนี้ เพื่อเด็กจะได้เติบโตมาเป็นผู้ให้อย่างมีคุณภาพ “  ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าวเสนอแนวทาง

ความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษาอาจนำไปสู่การหลุดออกนอกระบบการศึกษาของเด็กยากจน รวมถึงคุณภาพการศึกษาที่พวกเขาได้รับภายใต้ทรัพยากรอันจำกัด ซึ่งทำให้พวกเขามิอาจหลุดพ้นออกจากวงจรของความยากจนแบบข้ามรุ่นได้ นั่นสะท้อนได้ชัดว่าควรใช้หลักของความเสมอภาคด้วย  เพราแต่ละครอบครัวรายได้ไม่เท่ากัน  

“หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง กทม. ควรจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมตามโลกที่เปลี่ยนไป และตรงความต้องการของเด็กๆมากที่สุด เพื่อกันไม่ให้อนาคตของชาติต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาไปมากกว่านี้” ดร.ภูมิศรัณย์ทิ้งท้าย