13 ห้องเรียนต้นแบบ Active Learning ความรู้ที่มาคู่ความสนุกและการแสวงหาด้วยตนเอง

13 ห้องเรียนต้นแบบ Active Learning ความรู้ที่มาคู่ความสนุกและการแสวงหาด้วยตนเอง

สํานักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดงาน ‘วันเปิดบ้านห้องเรียนต้นแบบ Active Learning’ ซึ่งในงานนี้มี 13 โรงเรียนที่เลือกหยิบ 8 หลักสูตรต้นแบบไปปรับใช้ในการเรียนการสอน สร้างห้องเรียน Active Learning ของตนเองขึ้นมาโดยยึดเอานักเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง : เปิดห้องเรียนต้นแบบ Active Learning เตรียมพร้อมทักษะในศตวรรษ 21 รับมือความผันผวนท้าทายของตลาดงานในอนาคต

โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมน้อมเกล้า

ศึกกะหมังกุหนิง แค่อ่านชื่อก็ยากแล้ว ยังไม่นับว่าในเนื้อเรื่องระหว่างการเรียนรู้วรรณคดีตอนนี้จะต้องเจอทั้งชื่อและเหตุการณ์ต่างๆอีกมากแค่ไหน แต่นี่ไม่ใช่ปัญหาแน่นอนสำหรับห้องเรียนห้องนี้ ที่สร้างสรรค์บอร์ดเกมศึกกะหมังกุหนิง มาเป็นนวัตกรรมการสอนให้เด็กๆทำความเข้าใจทั้งเนื้อหา ภาษาไม่คุ้นหู และเหตุการณ์ต่างๆในเรื่องอิเหนาได้อย่างย่อยง่ายและสนุกมากขึ้น เป็นวิชาภาษาไทยยุคใหม่ที่เกิดจากหลักสูตรการพัฒนานวัตกรรมบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้เชิงรุกสำหรับครูในศตวรรษที่ 21 ที่คุณครูและโรงเรียนเลือกหยิบมาใช้

โรงเรียนบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนีย์)

เพราะชีววิทยาและวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมปลายล้วนเต็มไปด้วยชื่อเฉพาะและกระบวนการต่างๆ ให้เรียนรู้มากมาย สำหรับเด็กสายวิทย์-คณิต อาจมีความคุ้นเคยมากกว่า เพราะคงได้เรียนกันบ่อยๆจนคุ้นเคย แต่สำหรับเด็กสายศิลป์-คำนวณ หรือศิลป์-ภาษา การเจอวิทยาศาสตร์คงเหมือนเป็นยาขม แม้ว่าหลักสูตรที่วางไว้จะไม่ใช่การเรียนแบบเชิงลึก แต่การเรียนรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเด็กจำนวนหนึ่งแน่ๆ นั่นจึงเป็นที่มาของบอร์ดเกมการลำเลียงสารเข้าสู่เซลชุดนี้ ที่จะช่วยให้เด็กๆเข้าใจกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ผ่านเกมมากขึ้น แถมยังมีนักเรียนบางคนชอบถึงขั้นอาสาเข้ามาแจมในการทำเกมเวอร์ชั่นใหม่ๆอีกด้วย

โรงเรียนบ้านแม่งอนขี้เหล็ก

โรงเรียนจากจังหวัดเชียงใหม่แห่งนี้เลือกนำหลักสูตรการจัดการเรียนรู้ในสถานการณ์โควิดโดยใช้บ้านแทนห้องเรียน มาปรับใช้ด้วยการนำชุมชนมาเป็นฐานการเรียนรู้ แนวคิดนี้ทำให้เด็กๆได้ทำความรู้จักชุมชนตนเองมากขึ้นด้วยการสำรวจเช่นการทำแผนที่เดินดินเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการเรียนรู้

โรงเรียนบ้านโคราช

จากการที่ต้องเจอกับสถานการณ์โควิด โรงเรียนบ้านโคราชจึงเลือกทำห้องเรียนแบบใหม่โดยนำหลักสูตรการจัดการเรียนรู้ในสถานการณ์โควิดโดยใช้บ้านแทนห้องเรียนมาปรับใช้ ซึ่งหลักสูตรนี้คือการให้เด็กๆมองหาสิ่งรอบๆบ้าน หรือเครื่องมือเครื่องใช้มาเป็นอุปกรณ์ในการศึกษาเรียนรู้ เช่น เครื่องมือทำครัวแปลงเป็นบัตรคำภาษาอังกฤษ หรือทำความรู้จักพืชผักรอบบ้าน และเมื่อโรงเรียนเปิดเรียนแล้ว โรงเรียนยังต่อยอดวิธีการนี้ด้วยการใช้ต้นไม้ใหญ่เอกลักษณ์ของโรงเรียนเพื่อออกแบบการเรียนรู้ของเด็กๆในทุกระดับชั้น

โรงเรียนภูผาม่าน

เป็นโรงเรียนเล็กๆในจังหวัดขอนแก่นที่ตั้งอยู่ใกล้ๆกับป่าบุ่งป่าทาม หรือในภาษาชาวบ้านแถวนั้นก็คือซุปเปอร์มาเก็ตที่มีอาหารจากธรรมชาติหลากชนิด รวมถึงเห็ดด้วย  อย่างไรก็ตาม จากบทเรียนของพื้นที่ที่มีเคยมีชาวบ้านการเก็บเห็ดพิษและรับประทานเข้าไปจนต้องรับรักษาอย่างเร่งด่วน จึงกลายเป็นที่มาของหัวข้อการศึกษาของเด็กๆว่าจะทำอย่างไรให้สามารถมีความรู้เรื่องเห็ดมากขึ้น นั่นจึงนำไปสู่การศึกษาเรื่องของเห็ดในพื้นที่ด้วยการลงไปเก็บตัวอย่างจริง แล้วนำข้อมูลใส่ลงไปในโปรแกรม CIRA CORE เพื่อบันทึกเป็นข้อมูลและจำแนกเห็ด โดยนวัตกรรมนี้เป็นเครื่องมือที่ทั่วโลกใช้ในการสร้างฐานข้อมูลทางชีวภาพ ที่สามารถดึงข้อมูลมาใช้หรือใส่ข้อมูลจากพื้นที่ลงไปเพื่อเป็นการแชร์ความรู้ระหว่างกันได้ทั้งโลก นอกจากนี้ ยังมีการนำองค์ความรู้จากปราชญ์ชุมชนมาทดสอบว่า วิธีดั้งเดิมนั้นสามารถแยกระหว่างเห็ดพิษกับเห็ดกินได้จริงหรือไม่ รวมถึงการหาวิธีการถนอมเห็ดและแปรรูปเป็นอาหารและสินค้า จึงเรียกได้ว่าโครงการนี้ในหลักสูตรโครงงานนวัตกรรมจากประสบการณ์โลกของโรงเรียนภูผาม่าน ได้ทั้งเปิดโลกและอิ่มอร่อยไปพร้อมกันเลยทีเดียว

โรงเรียนบ้านน้ำพาง

โรงเรียนจากจังหวัดน่านแห่งนี้ ได้นำเอาหลักสูตรจิตศึกษากับการพัฒนาสมองส่วนหน้ามาปรับใช้เพื่อพัฒนาปัญญาจากภายใน โดยเด็กๆจะได้เรียนรู้วิธีการพัฒนาทักษะสมอง EF มีการฝึกสมาธิ ฝึกสติ เรียนรู้จิตวิทยาเชิงบวกและการสร้างสนามพลังบวกเพื่อเปิดทางไปสู่การพัฒนาด้านอื่นๆต่อไปได้อย่างเหมาะสม

โรงเรียนบ้านคุ้ม

ตั้งอยู่ในจังหวัดยโสธร ได้ใช้หลักสูตรการเขียนเพื่อพัฒนาทักษะคิดในห้องเรียน ซึ่งจะมีการจดบันทึกในเรื่องที่สนใจและเล่าออกมา เมื่อทำเรื่อยๆทักษะการคิดก็จะพัฒนาตาม เพราะการเขียนคือการพัฒนาทักษะคิดโดยอัตโนมัติ โดยครั้งนี้เรื่องที่นักเรียนเลือกมาเขียนและเล่าออกมาเป็นเรื่องราวเอกลักษณ์ของชุมชนที่มีการทำมาลัยข้าวตอก เป็นภูมิปัญญาที่คนเก่าคนแก่เอาตกมาร้อยเป็นพวกสวยงามเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในวันสำคัญทางศาสนา ซึ่งนอกจากการบันทึกด้วยการเขียนแล้ว โครงการนี้ยังต่อยอดอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ดำรงค์อยู่ต่อไปด้วย

โรงเรียนอนุบาลตรัง

แม้น้องๆกลุ่มนี้จะเป็นนักเรียนชั้นประถมเท่านั้น แต่ผลงานต้องบอกว่าไม่ธรรมดา เมื่อพวกเธอและพวกเขาลงไปสำรวจค้นหาโบราณสถานและมรดกทางวัฒนธรรมในอำเภอทับเที่ยงมาจัดทำเป็นโครงการ ‘ทับเที่ยงโมเดล’ เพื่อสร้างแอปพลิเคชั่นนำเที่ยว ช่วยให้คนที่สนใจเรียนรู้เรื่องนี้ได้ง่ายขึ้น นักท่องเที่ยวเองก็จะสามารถค้นหาสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และมีคุณค่าได้ แอปนี้จะมีการแสดงทั้งแผนที่และคำอธิบายเอาไว้

โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ภายใต้หลักสูตรโครงการนวัตกรรมจากประสบการณ์โลกที่เชื่อมโลกทั้งใบเข้าด้วยกันผ่านนวัตกรรมที่ใครก็เข้าถึงได้ ส่วนเด็กๆก็ได้ทั้งการคิดออกแบบความรู้อย่างเป็นกระบวนการ ได้ออกแบบเพื่อการสื่อสาร ได้การทำงานร่วมกัน รวมถึงยังได้รู้จักท้องถิ่นของตัวเองมากขึ้นและได้บอกเล่าถึงความภูมิใจนี้ไปยังคนอื่นๆได้ทั้งโลก  

โรงเรียนเวียงเชียงรุ้งวิทยา

นิทานลูกหมูสามตัวถูกเล่ามาจากเด็กๆตัวน้อยและคุณครูที่ช่วยตั้งคำถามไปด้วยระหว่างการเล่าเรื่อง นี่เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการใช้คำถามเพื่อพัฒนาการคิด ที่โรงเรียนนี้นำมาใช้สร้างกระบวนการการคิดของเด็กๆได้อย่างสนุกสนาน เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่น่าสนใจโดยเฉพาะสำหรับวัยเด็กเล็กที่กระตุ้นความคึกคักอยากรู้ได้มากกว่าการสอนแบบเล่าหน้าชั้นที่มีครูเป็นผู้เล่าฝ่ายเดียว

โรงเรียนวัดวังเรือน

วิชาสังคมเคยเป็นยานอนหลับสำหรับใครหลายคนใช่ไหม แต่คงไม่ใช่สำหรับโรงเรียนวังเรือน จังหวัดพิจิตร ที่เปลี่ยนจากหลักสูตรทั่วไปให้กลายเป็นบอร์ดเกม The Disaster เพื่อสอนเด็กๆชั้นประถมให้เรียนรู้เรื่องสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศอย่างสนุกสนาน ซึ่งตัวเกมก็น่าสนใจไม่น้อยด้วยลูกเล่นจากบรรดาตุ๊กตาสัตว์หลายชนิกเพื่อให้เด็กๆได้แสดงบทบาทสมมติตามตัวละครที่เลือก เกมนี้ยังมีอุปกรณ์เสริมอื่นๆระหว่างเล่นทำให้รู้สึกจับต้องได้และอยากสนุกไปกับเกมเรื่อยๆ โดยเกมจะมีมหันตภัยแบบต่างๆสอดแทรกที่มาสาเหตุของความผันแปรของสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อนให้เด็กๆได้เรียนรู้ เป็นหนึ่งในหลักสูตรการพัฒนานวัตกรรมบอร์ดเกมเพื่อการพัฒนาเชิงรุกสำหรับครูในศตวรรษที่ 21 ที่น่าสนใจไม่น้อย

โรงเรียนบ้านดู่

โรงเรียนจากจังหวัดพะเยาแห่งนี้ เลือกสร้างห้องเรียนในหลักสูตรการจัดการเรียนรู้อิงสมรรถนะผู้เรียน ซึ่งคุณครูบอกว่า เด็กๆมีแรงบันดาลใจจากรายการมาสเตอร์เชฟ เลยอยากจะเป็นเชฟบ้านดู่กันดูบ้าง จึงได้ชวนกันขบคิดหาวัตถุดิบกระทั่งมาลงตัวที่กล้วยเพราะทั้งหาง่ายและอร่อย จากนั้นจึงมองหาเมนูที่จะทดลองทำ จนกลายมาเป็นขนมจากกล้วยหลากชนิดทั้งในรูปแบบขนมไทยและฝรั่ง และเด็กๆยังได้จัดทำคลิปของโครงการทั้งภาษาไทยและอังกฤษเพื่อโปรโมตสินค้า ไม่แน่ว่า ในอนาคตเราอาจได้เห็นนักท่องเที่ยวเดินทางมาชิมอาหารจากเชฟบ้านดู่ถึงจังหวัดพะเยาก็เป็นได้

โรงเรียนบ้านตาเปาว์

ห้องเรียนควรเป็นเซฟโซนและพื้นที่แสดงตัวตนของเด็กๆ ด้วยแนวคิดนี้ โรงเรียนบ้านตาเปาว์นี้จึงเลือกนำหลักสูตรหลักการจิตวิทยาเชิงบวกมาใช้ เพื่อสร้างให้เด็กๆได้เรียนรู้ภาวะทางอารมณ์แบบต่างๆแล้วรู้จักเปลี่ยนแปรให้กลายเป็นพลังบวก เพื่อผลักดันไปสู่การพัฒนาทักษะด้านอื่นๆอย่างมีความสุขและสนุกมากขึ้นแม้กระทั่งในเวลาที่จะต้องเรียนรู้เรื่องวิชาการก็ตาม นอกจากนี้ หลักสูตรนี้ยังจะสามารถช่วยให้เด็กๆรู้วิธีจัดการกับสถานการณ์หรือแรงกดดันที่ไม่พึงปรารถนาได้อย่างแข็งแรงในชีวิตประจำวันด้วย

วิทยาลัยเทคนิคลำพูน

ห้องเรียนนี้จะตั้งโจทย์สมมติขึ้นมาเพื่อให้เด็กๆได้เรียนรู้จากการลงมือทำจริง เช่น การสมมติให้ห้องเรียนเป็นบริษัทสตาร์ทอัพแล้วให้นักเรียนแบ่งกลุ่มสุ่มเลือกการ์ดว่าจะเป็นอาชีพใด จากนั้นจึงต้องทำกิจกรรมและสร้างนวัตกรรมตามโจทย์ปัญหา เช่น กลุ่มนี้ที่ต้องสร้างหุ่นยนตร์โมเดลขนาดเล็กขึ้น เพราะพวกเขาโจทย์ว่าจะเป็นบริษัทผลิตเครื่องจักรในอุตสาหกรรม เป็นต้น