เปลี่ยน ‘เด็กกลุ่มเสี่ยง’ ให้เป็น ‘นักเรียนรู้’ ด้วยนวัตกรรมจิตศึกษา: โรงเรียนวัดสลักเพชร จังหวัดตราด

เปลี่ยน ‘เด็กกลุ่มเสี่ยง’ ให้เป็น ‘นักเรียนรู้’ ด้วยนวัตกรรมจิตศึกษา: โรงเรียนวัดสลักเพชร จังหวัดตราด

“เด็กของเรากลายเป็นนักเรียนรู้กันหมดแล้ว เวลาที่เด็กเจอปัญหา เขารู้ว่าต้องมีการกระบวนการคิดอย่างไร โครงสร้างปัญหาเกิดจากอะไร เมื่อรู้แล้วก็ปรับเปลี่ยนความคิด ถ้าปรับได้เมื่อไหร่ โครงสร้างแบบแผนพฤติกรรมก็เปลี่ยน”

เสียงสะท้อนของ ผอ.นันทิยา บัวตรี ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสลักเพชร จังหวัดตราด บอกเล่าถึงความสำเร็จอันน่าภาคภูมิใจในการฝ่าฟันปัญหาจนพลิกสถานการณ์พา ‘เด็กกลุ่มเสี่ยง’ ที่เคยถูกสังคมตีตราว่าเลวร้ายให้หวนสู่เส้นทางการศึกษาและได้รับการหล่อหลอมพัฒนาจนกลายเป็น ‘นักเรียนรู้’ ผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการใช้นวัตกรรมจิตศึกษาจากมูลนิธิลำปลายมาศพัฒนาและการได้รับโอกาสเข้าร่วมโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (Teacher and School Quality Program: TSQP) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) 

ผอ.นันทิยา เล่าย้อนถึงสภาพปัญหาของโรงเรียนก่อนเข้าร่วมโครงการ  TSQP ว่า หลังจากที่ได้มาบรรจุเป็นผู้อำนวยการ พบปัญหาแทบทุกด้าน สภาพอาคารทรุดโทรม ไฟฟ้าไม่มี อาคารโรงกรองน้ำพัง น้ำบาดาลใช้ไม่ได้ ครูไม่มีขวัญกำลังใจในการทำงาน สอนไปวันๆ เพราะเด็กไม่ได้ตั้งใจ ส่วนเด็กก็ไม่มีแรงบันดาลใจที่จะเรียน ไปซ่องสุมกัน ติดยาเสพติด แล้วยังมีเรื่องท้องก่อนวัยอันควร พอพฤติกรรมเด็กสื่อออกมาในเชิงลบ คนภายนอกก็ขาดศรัทธา ชุมชน ผู้นำชุมชนก็ไม่เอาโรงเรียน เพราะไม่รู้จะช่วยยังไง การมีส่วนร่วมในการพัฒนาน้อยลง ก็ยิ่งทำให้คุณภาพการศึกษาของเด็กลดลง”

“คำพูดที่ได้ยินเสมอตั้งแต่อำเภอจนถึงชาวบ้าน คือ เด็กโรงเรียนนี้ติดยาเสพติด ไม่ใช่แค่ติดยา แต่ค้ายาด้วย ตำรวจเข้ามาโรงเรียนตลอด มาจับเด็ก พาเด็กไปอบรมพฤติกรรม แต่สุดท้ายต่อให้จับเด็กทั้งโรงเรียน เด็กก็ไม่เปลี่ยน พอเรามองจริงๆ เด็กน่าสงสารมาก เขาไม่มีใครให้พึ่งได้เลย เกิดมาก็ต้องเจอสภาพแบบนี้ บริบทรอบข้างมีแต่โทษเด็ก ความผิดอยู่ที่เขาคนเดียว แต่ไม่มีใครชี้ทางออกให้ เคยถามเด็กว่าเป็นอย่างนี้แล้ว จบออกไปจะทำอะไร เด็กบอกไม่ทำอะไร รอคนมาตามไปเป็นลูกจ้าง ฟังแล้วรู้สึกว่ามันขาดแม้กระทั่งความหวัง ความฝันก็ไม่มี”

จุดเปลี่ยนโรงเรียนขยับ เริ่มปรับมายด์เซ็ตที่ ผอ.

พื้นเพของ ผอ.นันทิยา เรียกได้ว่าเป็น ‘เด็กเรียน’ เพราะเธอสามารถคว้าปริญญาบัตรมาถึง 4 ใบ ก่อนจะมารับบทบาทผู้อำนวยการโรงเรียน อีกทั้งยังบ่มเพาะการเรียนรู้ของลูกชายจนประสบความสำเร็จ ได้รับคัดเลือกเป็นนักเรียนทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ฉะนั้นเป้าหมายแรกในการพัฒนาโรงเรียนวัดสลักเพชรที่วาดฝันไว้ หนีไม่พ้น ‘ความเป็นเลิศด้านวิชาการ’

“เราเรียนมาหนักหน่วงมาก จบวิทยาศาสตร์ สาขาเคมี ต่อด้วยวิศวกรรมศาสตร์ บางมด และศึกษาต่อด้านบริหารการศึกษา ตอนแรกตั้งเป้ามาเลยว่าจะมุ่งเน้นเรื่องการเรียน ต้องแก้ที่การศึกษา ต้องเรียนวิทย์-คณิต พาเด็กเข้าโครงการ สสวท. มีแต่ภาพแบบนี้ เพราะเราใส่ไปกับลูก ลูกยังเป็นได้เลย แต่พอลงมาเจอกับสภาพบริบทปัญหาของโรงเรียนก็รู้ทันทีว่าไม่ใช่”

แม้โจทย์เปลี่ยน ใจอยากปรับ แต่ด้วยสภาพปัญหาที่รุมเร้า ทำให้ยากต่อการควานหาทางออก กระทั่งได้มารู้จักแนวคิด โรงเรียนนอกกะลา’ ของมูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา กลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่นำพา ผอ.นันทิยา มาพบต้นตอของปัญหา นั่นคือ ‘กรอบความคิด’ ของตนเอง 

ผอ.นันทิยา เล่าว่าครั้งแรกที่ไปอบรมที่โรงเรียนลำปลายมาศ ด้วยใจที่ยังหมกมุ่นแต่ปัญหา ก็เลยมองว่าสิ่งที่ครูใหญ่วิเชียรพูดแก้ปัญหาเราไม่ได้หรอก 

“อบรมครั้งนั้นได้มาคำเดียว คือ ‘ฉันคือใคร’ มันก็วนอยู่ในหัวตลอดเวลา พอมานั่งทบทวนดูก็พบว่าคงต้องเริ่มที่ตัวฉันจริงๆ นั่นคือ ‘ปรับมายด์เซ็ตตัวเราก่อน’ คุณจะไปเปลี่ยนคนนั้นคนนี้ แต่คุณยังไม่เปลี่ยน เดิมเราไม่ได้สนใจว่าเขาต้องการอะไร สนใจแต่ว่าสิ่งที่เราเห็นวันนี้ ไม่เหมือนกับที่เห็นในเมือง สิ่งที่เห็นคือไม่ใช่ ในเมืองคือใช่ คิดแต่เป้าหมายว่าอยากให้เด็กเรียนจบมหาวิทยาลัย ต้องมีอาชีพ แต่เราลืมไปว่าจริงๆ แต่ละคนเขาก็มีเป้าหมายเล็กๆ ในชีวิตเขา เด็กที่นี่ต้องการแค่มีข้าวกิน มีที่นอน มีงานทำ เขาต้องการแค่นี้ เขาไม่ได้ต้องการเป็นหมอ เป็นวิศวกร 

ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องปรับ คือเปลี่ยนความคิดตัวเองก่อนว่า การมุ่งให้แต่การศึกษาอาจไม่ได้ตอบโจทย์คุณภาพชีวิต หรือว่าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กทีนี่ได้”

รับนวัตกรรม ‘จิตศึกษา’ พัฒนาใจครูและเด็ก

เมื่อผู้อำนวยการมีโจทย์ในการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนชัด โจทย์แรกที่ต้องแก้ให้ได้คือการปรับมายด์เซ็ตของครู เพราะเมื่อครูมีเป้าหมายเดียวกัน ครูย่อมพัฒนาศักยภาพเด็กได้สำเร็จ

“ผู้อำนวยการไม่สามารถลงไปคุยกับเด็ก 200 กว่าคนได้ทุกวัน ฉะนั้นเราต้องสร้างครู ก็เลยส่งครูไปอบรมที่โรงเรียนลำปลายมาศ ต้องขอบคุณโรงเรียนลำปลายมาศที่ให้เครื่องมือ กระบวนการ พอเอามาลองทำก็ได้ผล เริ่มจากเปลี่ยนที่ตัวเราก่อนเลย รู้สึกเลยว่าตัวเราเปลี่ยน ครูไปอบรมไม่กี่ครั้ง มายด์เซ็ตเขาเริ่มเปลี่ยน บรรยากาศเปลี่ยน จากเดิมที่ประชุมกันมีแต่ความโมโห กลับบ้านน้ำตาไหลทุกครั้ง บรรยากาศแย่มาก แต่ทุกวันนี้เปลี่ยนไปแล้ว ซึ่งเราก็เข้าใจสิ่งที่ครูใหญ่วิเชียรนำเสนอมากขึ้นว่า มันเป็นเรื่องของสมอง พฤติกรรมมาจากกระบวนการคิด ดังนั้นถ้าเปลี่ยนความคิดได้เมื่อไหร่ พฤติกรรมก็ต้องเปลี่ยน”

จากบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความตึงเครียดเริ่มคลี่คลายเผยให้เห็นรอยยิ้มของคุณครูมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่ยืนยันได้ถึงการเปลี่ยนแปลงภายในโรงเรียนอย่างชัดเจน คือ ‘เสียงสะท้อนของเด็กๆ’

“มีวันหนึ่งเด็กเดินมาบอกเราว่า คุณครูดีจังเลยค่ะ ยิ่งแก่ยิ่งใจดี เพราะว่าเทอมที่แล้วครูยังดุอยู่เลย” ผอ.นันทิยา เล่าพร้อมเสียงหัวเราะ

สำหรับนวัตกรรมการศึกษาที่โรงเรียนวัดสลักเพชรนำมาใช้ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนอันดับแรก คือ ‘จิตศึกษา’ เน้นสร้างการตระหนักรู้ของเด็ก ให้เด็กเห็นคุณค่าของตนเองและสรรพสิ่ง มุ่งพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนให้สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ ผ่านกิจกรรมสนามพลังบวก จิตวิทยาเชิงบวก และกิจกรรมจิตศึกษา เช่น การยกเลิกออด และการอบรมหน้าเสาธง การใช้กิจกรรมชง เชื่อม ใช้ ซึ่งหลังจากใช้กระบวนการจิตศึกษาปรับกาย-ใจ พบว่า ‘เด็กมีความสุขกับเรียนรู้มากขึ้น’ 

“เราเห็นแววตาเด็กที่มีความสุข นักเรียนอยากมาเรียนมากขึ้น ไม่มีเด็กนักเรียนโดดเรียนในตอนเช้า ผู้ปกครองยังมาบ่นว่า ผอ.ทำยังไง วุ่นวายมากเลยตอนเช้าๆ ลูกก็เร่งแต่อยากจะมาแต่โรงเรียน บอกเดี๋ยวไม่ทันกอดครูก่อนเข้าห้องเรียน ก็เป็นสัญญาณที่ดีที่ผู้ปกครองเห็นการเปลี่ยนแปลง”

‘พรานทะเล’ บูรณาการหน่วยเรียนรู้เชื่อมภูมิปัญญาท้องถิ่น

นอกจากการใช้ ‘จิตศึกษา’ เปิดใจเด็กให้เปิดรับต่อการเรียนรู้แล้ว ผอ.นันทิยา ยังนำกระบวนการ  ‘Project-based Learning หรือ PBL’ มาปรับใช้ในหน่วยบูรณาการ เพื่อให้เด็กรู้จักตั้งคำถาม เพิ่มทักษะการคิดและการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยมีครูเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ ซึ่งในช่วงแรกได้ใช้ต้นแบบแผนการเรียนรู้จากมูลนิธิลำปลายมาศ จากนั้นค่อยๆ ปรับให้เข้ากับบริบทของท้องถิ่นชุมชน  ดังเช่น ‘หน่วยการเรียรู้พรานทะเล’

ผอ.นันทิยา เล่าว่า หน่วยเรียนรู้ PBL จะบูรณาการกันใน 5 กลุ่มสาระวิชา คือ วิทยาศาสตร์ สังคม การงาน ศิลปะ พละและสุขศึกษา ซึ่งการออกแบบหน่วยเรียนรู้ต้องตอบโจทย์ตัวชี้วัดของเด็กแต่ละระดับชั้นด้วย สิ่งสำคัญคือเราจะเน้นเป้าหมายก่อนว่าอยากให้เด็กเรียนรู้เรื่องอะไร ซึ่งการจะตั้งเป้าหมายได้ต้องรู้ปัญหาก่อน เช่น เด็กเรามีปัญหารักถิ่นฐานไม่มากพอ จึงร่วมกันคิดหน่วยเรียนรู้พรานทะเลขึ้นมา 

“หน่วยพรานทะเล ครูจะพาเด็กไปเรียนรู้ลงมือปฏิบัติในสถานที่จริง เช่น สะพานปลา จากนั้นครูจะกระตุ้นความอยากรู้ด้วยคำถาม เช่น รู้มั้ยว่าปลานี้เอาไปทำอาหารได้ หรือปลาเหล่านี้ขายกันราคาเท่าไหร่ พยายามใช้คำถามสร้างแรงบันดาลใจจนกว่าเด็กจะถามว่า ‘เขาจับปลากันยังไง’ เมื่อเด็กกระหายที่จะเรียนรู้ ครูจะใช้วิธีตั้งคำถามเชื่อมโยงไปที่สาระการเรียนรู้ต่างๆ เช่น ออกไปจับปลาแล้วอาจจะเจอลม พายุ เชื่อมไปที่ความรู้เรื่องลมฟ้าอากาศ แล้วเราจะจับสัตว์น้ำยังไง เราไม่มีเงินซื้ออวน แต่ชุมชนเรามีไม้ไผ่เยอะมาก ก็ไปเรียนรู้การทำเครื่องมือประมง แล้วรู้มั้ยว่าบางพื้นที่ห้ามจับสัตว์ทะเล ก็เชิญวิทยากรจากรมอุทยานฯ มาสอน ได้ความรู้ด้านกฎหมาย แถมตามมาด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและหน้าที่พลเมือง ยังไม่พอนะ เด็กต้องทำอาหารด้วยและต้องครบ 5 หมู่ วิชาสุขศึกษาและการคำนวณโภชนาการก็เพิ่มเข้ามาอีก”

ไม่เพียงเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนสอนให้เชื่อมโยงไปสู่ห้องเรียนธรรมชาติ แต่ยังเชื่อมชาวบ้านในชุมชนมาสู่ห้องเรียนรู้ในโรงเรียนด้วย 

ผอ.นันทิยา เล่าว่า เราเชิญปราชญ์ชาวบ้านมาสอนเด็กๆ ว่าเขาจับปลาได้ยังไง คนสมัยก่อนดูลมฟ้าอากาศอย่างไร เช่น เห็นเมฆหน้าตาแบบนี้ ฝนมาแน่ แล้วต้องไปหลบตรงไหนถึงจะปลอดภัย สิ่งเรานี้เป็นความรู้ภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดสืบกันมาจากบรรพบุรุษ ไม่มีในบทเรียนที่ไหน 

“เวลาที่ปราชญ์ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนการสอน เขาจะภูมิใจตัวเอง และเมื่อคนในชุมชนได้เห็นเด็ก เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโรงเรียน เขาก็จะเป็นกระบอกเสียงไปสู่ชุมชนภายนอก ทำให้เกิดแรงสนับสนุนกลับเข้ามาในโรงเรียน และเมื่อชุมชนยอมรับ เขาก็จะมาเป็นเจ้าของโรงเรียนร่วมกับเรา ก็จะทำให้โรงเรียนพัฒนาไปได้เร็ว และเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน”

ติดอาวุธทางปัญญาเด็กด้วย ‘กระบวนการ’ ไม่ใช่ ‘ความรู้’

การปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนด้วยนวัตกรรมจิตศึกษา และการจัดการเรียนรู้แบบ PBL ทำให้เด็กสนุกต่อการเรียนรู้ ครูสนุกกับการสอน ทุกวันนี้โรงเรียนวัดสลักเพชรหันมาสร้างสรรค์แผนการสอนด้วยตนเอง ผ่านกระบวนการ Professional Learning Community หรือ PLC ทำให้ได้แผนการสอนที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของเด็กทั้งในด้านกระบวนการคิดวิเคราะห์ การตั้งคำถาม และทักษะการแก้ไขปัญหา จนสามารถพัฒนาเด็กที่อาจเสี่ยงพลาดพลั้งสู่เส้นทางอบายมุขให้ก้าวสู่การเป็น ‘นักเรียนรู้’ 

ผอ.นันทิยา เล่าว่า เด็กของเรากลายเป็นนักเรียนรู้กันหมดแล้ว เวลาที่เด็กเจอปัญหา เขารู้ว่าต้องมีการกระบวนการคิดอย่างไร โครงสร้างปัญหาเกิดจากอะไร เมื่อรู้แล้วก็ปรับเปลี่ยนความคิด ถ้าปรับได้เมื่อไหร่ โครงสร้างแบบแผนพฤติกรรมก็เปลี่ยน ยกตัวอย่าง การจัดกีฬาสี ทุกวันนี้ถ้าเด็กไม่เดินมาบอกว่าอยากจัด เราก็ไม่จัด ถ้าเด็กอยากมีกีฬาสี เขาจะเดินมาบอก มันเกิดจากกระบวนการที่เราใส่ให้เขาไป หล่อหลอมให้เขาเป็นแบบนี้ กล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็น และไม่ใช่แค่นั้น เด็กต้องกลับไปคิดด้วยว่า อยากจัดกีฬาสีกี่วัน แบ่งกี่สี แข่งกีฬาอะไรบ้าง ค่าใช้จ่ายทั้งเสื้อกีฬาสี เครื่องเสียง เต็นท์ ค่าอาหารตลอดกิจกรรมจะบริหารจัดการอย่างไร เด็กต้องช่วยกันคิดแล้วมานำเสนอและต้องลงมือดำเนินการด้วยตัวเอง

“เราต้องฝึกให้เด็กเขาคิด เพราะเป้าหมายการจัดกีฬาสี เราไม่ได้ต้องการแค่ให้เด็กออกกำลังกาย แต่เราอยากให้เด็กเรียนรู้ มีกระบวนการคิด การวางแผน การช่วยเหลือกัน การทำงานเป็นทีม การเรียนรู้ที่จะยอมรับซึ่งกันและกัน สามัคคีกัน สิ่งนี้ต่างหากที่เราอยากเห็น” 

การพัฒนาเด็กให้เป็น ‘นักเรียนรู้’ ที่มีกระบวนการคิดและกระหายอยากเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ได้สำเร็จได้ภายในปีเดียว ผอ.นันทิยา บอกว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นล้วนมาจากความตั้งใจและเป้าหมายของโรงเรียนที่มุ่งติดอาวุธทางปัญญาให้เด็กด้วย กระบวนการ’ ไม่ใช่ ‘ความรู้’

“ถ้าเราติดอาวุธทางปัญญาให้เด็กด้วยความรู้ เด็กไปไหนไม่รอดหรอก ความรู้ที่ให้ในวันนี้ ไม่กี่ปีข้างหน้าก็ล้าสมัยแล้ว เราวิ่งตามไม่ทันหรอก แต่ถ้าเราติดอาวุธให้เด็กด้วยกระบวนการ เขาจะรู้จักกระบวนการคิด การแก้ไขปัญหา สามารถตั้งคำถามและหาคำตอบเพื่อเพิ่มความรู้ใหม่ๆ ให้ตัวเองอยู่ตลอดเวลา ซึ่งกระบวนการเหล่านี้มาด้วยจิตศึกษา และ PBL” 

จากการเข้าร่วมโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงพัฒนาเด็กให้คิดวิเคราะห์เป็น แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ  ‘เด็กมีความสุขกับการเรียนรู้ เห็นคุณค่าในตัวเอง และเคารพผู้อื่นมากขึ้น’

“หลังๆ เด็กก็ไม่ทะเลาะกันเลย กระบวนการที่เราใส่เข้าไป ทำเขาเห็นคุณค่าและเคารพตัวเอง มีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น แล้วเด็กเขามีอะไรทำ มีความสุขกับการดำเนินชีวิต มีอะไรที่น่าสนใจที่โรงเรียน เขาก็ไม่ไปซ่องสุมกัน กระทั่งวันหนึ่งจากตำรวจที่เคยเข้ามาขอพบ มาจับเด็ก กลายเป็นบอกว่าอยากมาถอดบทเรียนว่าทำไมเด็กจึงเลิกบุหรี่ได้ ทำไมเด็กที่นี่จึงไม่มีปัญหายาเสพติดอีกเลย ทั้งที่เมื่อก่อนเด็กทั้งเสพยาและค้ายา” 

ขณะที่ผู้ปกครองต่างก็ยอมรับถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ผอ.นันทิยา เล่าว่า มีวันหนึ่ง โรงเรียนมีการประเมินโรงเรียนพระราชทาน ระดับประถม ผู้ปกครองเข้ามาร่วมกิจกรรมด้วย กรรมการถามผู้ปกครองว่าเด็กๆ เป็นอย่างไร  เขาก็บอกว่า แรกๆ รู้สึกว่าลูกเถียง แต่ตอนนี้รู้สึกว่าลูกพูดจาแบบมีเหตุผล จนหลังๆ เขาก็ยอม ไม่ใช่เขาผิด แต่เขายอมรับ เข้าใจ คือมีความเข้าอกเข้าใจกัน ไม่มีการทะเลาะกัน ครอบครัวก็อบอุ่นขึ้น

ปรับทัศนคติ ตั้งเป้าหมายชัด ผลักดันโรงเรียนพัฒนาตนเองได้สำเร็จ

สุดท้ายเมื่อถามถึง ‘ปัจจัยความสำเร็จ’ ในฐานะผู้อำนวยการที่สามารถขับเคลื่อนโรงเรียนวัดสลักเพชรให้พัฒนาตนเองจนเห็นผลการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดเช่นทุกวันนี้ ผอ.นันทิยา บอกว่า หัวใจสำคัญ คือ ‘การปรับทัศนคติและตั้งเป้าหมายให้ชัดร่วมกันทั้งองค์กร’ 

“การขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเองให้สำเร็จได้ ต้องเปลี่ยนความคิดผู้บริหารก่อนเลย แต่เดิมที่เคยทำมา การสั่งการ การควบคุม การบังคับ การคาดโทษ คุณต้องค่อยๆ เปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ ผอ.เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ครูกับเด็กหรือยัง ทำอย่างไรให้ครูกล้าเข้ามาหา มาพูดคุยกับเรา ทำอย่างไรที่เมื่อเด็กมีปัญหาแล้วกล้าเดินเข้ามาหาเรา และที่สำคัญคือการตั้งเป้าหมาย เป้าหมายต้องชัดเจน และเป็นเป้าหมายเดียวกันทั้งองค์กร และเป้าหมายต้องไม่ได้มาจากพื้นที่ นโยบาย หรือจากตัวคุณ แต่คือเด็ก ถ้าเมื่อไหร่ที่ผู้อำนวยการและครูมองเห็นโจทย์เดียวกัน โรงเรียนก็จะทำได้สำเร็จ”

สำหรับเป้าหมายการพัฒนาต่อจากนี้ ผอ.นันทิยา บอกว่า อยากเน้นไปที่การพัฒนา ‘คุณภาพชีวิตเด็กและชุมชน’ รวมทั้งทำงานตอบโจทย์เป้าหมายใหญ่ที่วาดฝันไว้ คือ ‘พัฒนาระบบการศึกษาไทย’ 

“เราเห็นเด็ก ม.3 ของเราเรียนจบไป เรียนดีแค่ไหนก็ไม่มีงานทำ เลยไปของบประมาณจนได้มาสร้างห้องเรียนอาชีพเรียบร้อยแล้ว และได้ดำเนินการทำ MOU ร่วมกับวิทยาลัยอาชีพ 3 แห่ง เพื่อให้เขาลงมาสอนทักษะอาชีพกับเด็กๆ ทั้งนี้จะมีการดึงผู้ประกอบการในพื้นที่ลงมาคุยด้วย เพื่อพัฒนาเด็กให้มีทักษะแรงงานตรงกับความต้องการปลายทาง รวมทั้งสร้างองค์ความรู้ที่จะนำไปใช้ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดมากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสให้เขามีอาชีพและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

สิ่งที่เราทำทั้งหมดไม่ได้มุ่งหวังพัฒนาแค่เด็กโรงเรียนวัดสลักเพชรเท่านั้น แต่เจตนาคือต้องการพัฒนาวงการศึกษาทั้งหมด ตราบใดที่เราพัฒนาโรงเรียนนี้สำเร็จ คนก็จะมาศึกษาดูงาน เราสามารถเป็นต้นแบบและกระบอกเสียงเพื่อขยายผลความสำเร็จไปสู่โรงเรียนอื่นๆ” ผอ.นันทิยา กล่าวทิ้งท้าย