ปิดช่องว่างพื้นที่ห่างไกล สร้างเสริมการเรียนรู้ได้ ทุกที่เวลา

ปิดช่องว่างพื้นที่ห่างไกล สร้างเสริมการเรียนรู้ได้ ทุกที่เวลา

การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ระลอกใหม่ ทำให้โรงเรียนจำนวนมากต้องปิดการสอนลงชั่วคราว ส่งผลให้การเรียนรู้ของนักเรียนต้องหยุดชะงัก และยังไม่มีความชัดเจนว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติได้เมื่อไหร่  Learning Box จึงเป็นอีกเครื่องช่วยเสริมการเรียนรู้ในวันที่เด็กต้องหยุดอยู่กับบ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลสัญญาณดาวเทียมเข้าไม่ถึง หรือผู้ปกครองฐานะไม่ดี​ไม่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

จากการออกแบบของ Starfish Academy ซึ่งทำงานร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้สร้างต้นแบบเพื่อให้เป็นตัวอย่างสำหรับโรงเรียนต่างๆ ที่จะสามารถนำไปประยุกต์ ออกแบบกล่องการเรียนรู้ของตัวเองที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักเรียนในระดับชั้นต่างๆ และสอดรับกับสภาพบริบทของแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกันไป

โรงเรียนบ้านดง จ.ลำพูน ถือเป็นอีกตัวอย่างความสำเร็จในการใช้ Learning Box ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 รอบที่ผ่านมา วันเพ็ญ อินต๊ะขัติย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านดง เล่าให้ฟังว่า ช่วงที่ต้องหยุดเรียนเพราะโควิดได้แจก Learning Box ให้เด็กทุกคนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึง ป.6 โดยรวม 3 วิชาหลัก  ภาษาไทย คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ

ภายใน Learning Box จะประกอบไปด้วย อุปกรณ์เครื่องเขียน ปากกา สมุด ดินสอ สี​ ไม้บรรทัด ยางลบ ​แบบฝึกหัดของทางกระทรวง ประยุกต์รวมกับแผ่นใบงาน ที่เคยไปฝึกอบรมกับทาง Starfish Academy  ที่ให้เด็กได้คิดด้วยตัวเองว่าอยากจะหาความรู้เรื่องอะไร แล้วไปทดลองเขียนหาสาเหตุเกิดจากอะไร วิธีการค้นคว้า ค้นคว้าอย่างไร ​รวม 30-40 ชุด แบ่งออกเป็นช่วงชั้นต่างๆ อนุบาล ป.1-3 และ ป.4-6

 

ครูประจำชั้นลงติดตามผลพื้นที่ทุกสัปดาห์
ปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกับความสามารถของเด็ก

สำหรับปัญหาที่พบคือผู้ปกครองส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์อ่านเขียนภาษาไทยได้น้อย ทำให้ต้องใช้กลไกให้ครูประจำชั้นลงไปช่วยติดตามผล ให้คำแนะนำสัปดาห์ละครั้ง โดยรวมกลุ่มเด็กบ้านที่อยู่ในละแวกเดียวกันมาอธิบายพร้อมกัน 5-6 คน ส่วนบ้านเด็กที่แยกห่างไกลออกไปครูจะไปเยี่ยมบ้านเป็นรายบุคคล โดยมีครู 10 คน ดูแลนักเรียนทั้งหมด 197 คน

การเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนจะไม่เหมือนกันอยู่ที่การออกแบบของคุณครู เช่น เด็กบางคนเรียนรู้ไว ก็จะได้ปรับชุดการเรียนเพิ่ม ส่วนเด็กที่เรียนช้าครูก็จะปรับให้ง่ายขึ้นในรอบสัปดาห์ถัดไป​และในส่วนของ Steam Design Process เด็กจะได้เรียนรู้เรื่องที่อยากเรียนเช่น ในพื้นที่เด็กอยากรู้เรื่องปลูกลำไย ทอผ้ากระเหรี่ยง ก็จะไปสอบถามจากผู้ปกครอง คนในชุมชนและออกแบบการเรียนรู้ของตัวเองนอกจากวิชาปกติ

 

อุดช่องทางพื้นที่ไกลสัญญาณดาวเทียม
กลไกรุ่นพี่สอนน้องในหมู่บ้าน

“Learning Box ที่นำมาใช้ถือว่าได้ผลดีทีเดียว เพราะในพื้นที่ไม่สามารถเรียนแบบออนแอร์ได้ ผู้ปกครองไม่มีจานดาวเทียมที่บ้าน มีโทรศัพท์มือถือแต่ไม่มีเงินเติมอินเตอร์เน็ต กล่องนี้ก็ได้เข้าไปช่วยทำให้การเรียนรู้ของเด็กไม่ขาดช่วง อาจไม่ได้ผลเท่ากับมาเรียนที่โรงเรียนแต่ก็ถือว่ามีความก้าวหน้า จากการสำรวจกว่า 60% การเรียนรู้ดีขึ้น โดยนอกจากครูที่จะลงไปช่วยดูแลเด็กทุกสัปดาห์แล้ว ในพื้นที่ก็จะมีรุ่นพี่มัธยม ที่หากน้องคนไหนมีปัญหาก็ให้รุ่นพี่ช่วยอธิบายได้”​

ผอ.รร.บ้านดง อธิบายเพิ่มเติมว่า การระบาดรอบใหม่ โรงเรียนยังเปิดการเรียนการสอนได้ปกติ ​​จึงยังไม่ได้ใช้รูปแบบ Learning Box มาเสริมให้กับนักเรียน โดยยังคงรักษาความเข้มงวดในการคัดกรอง ตรวจวัดอุณหภูมิ ติดตามประวัติการเดินทางของนักเรียนผู้ปกครองเพื่อเฝ้าระวัง ไม่ให้เกิดกการแพร่ระบาดในโรงเรียน

 

รร.บ้านป่าเหมือด การเรียนไม่สะดุด
ปัดฝุ่น Learning Boxใช้อีกรอบทันที

อีกด้านหนึ่ง โรงเรียนบ้านป่าเหมือด อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ซี่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีคำสั่งให้ต้องปิดเรียนเพราะการระบาดของเชื้อโควิดรอบใหม่ แต่ด้วยประสบการณ์ที่เคยใช้ Learning Box ได้ผลในการแพร่ระบาดรอบที่แล้ว ทำให้รอบนี้สามารถปัดฝุ่นนำกลับมาใช้ในรอบใหม่​​ตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกล่องเดียวกันกับที่เด็กทุกคนตั้งแต่อนุบาลถึงป.6 ​เคยได้รับ เพียงแต่ปรับเปลี่ยนใบงานและรายละเอียดกิจกรรมในกล่องใหม่ ให้เหมาะสมกับความต้องการของเด็กแต่ละช่วงวัย

ครูพิมพ์-วรรณพิศา พฤกษมาศ ครูอนุบาล 3 รร.บ้านป่าเหมือด  มองว่า จุดเด่นของ Learning Box ก็คือเด็กจะถือไปเรียนที่ไหน ในห้องเรียน นอกห้องเรียน  ไม่จำกัดเวลา ไม่จำกัดสถานที่พกพาไปได้หมด ช่วงโควิดระบาดปิดเรียนเด็กก็นำไปใช้ที่บ้าน เปิดเรียนก็นำมาใช้ที่โรงเรียน จนรอบใหม่ก็นำกลับไปใช้ที่บ้านได้อีกรอบ  

สำหรับอุปกรณ์ใน Learning Box จะมีความแตกต่างกันในแต่ละระดับชั้น ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่อุปกรณ์ ดินสอ ปากกา สีไม้ สีเมจิก ไม้บรรทัด ยางลบ คัตเตอร์ กรรไกร กาว เข็มเย็บผ้า ด้าย ​แต่บางชั้นเรียนจะมีอุปกรณ์อื่นเสริมของใช้ส่วนตัวเพื่อความปลอดภัยช่วงโควิด​ทั้ง ผ้าเช็ดมือ คู่ไปกับใบงานที่จะบูรณาการวิชาต่างๆ ​ให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่กำหนด  

 

ตั้งกลุ่มไลน์ อัดคลิปให้ผู้ปกครองช่วยลูกหลานที่บ้าน
แก้ปัญหาในพื้นที่อ่านภาษาไทยไม่ได้

ประสบการณ์จากการใช้ Learning Box รอบที่แล้ว ผู้ปกครองจำนวนมากเป็นไทยใหญ่อ่านภาษาไทยไม่ได้ จึงไม่สามารถช่วยดูบุตรหลานให้ทำใบงานได้ รอบนี้ครูพิมพ์จึงเปลี่ยนเป็นการอัดคลิปเสียง และคลิปวีดีโอ ว่าใบงานแต่ละเรื่องต้องทำอย่างไร ให้ผู้ปกครองช่วยดูแลตรงไหนบ้าง และส่งผ่านไปทางไลน์กลุ่ม

โดยในห้องเรียนอนุบาลที่สอนมี 23 คน ผู้ปกครองมีมือถือและอินเตอร์เน็ตใช้ 22 คน ส่วนหนึ่งคนที่ไม่มีก็ให้ผู้ปกครองที่บ้านอยู่ติดกันช่วยประสานงานให้​วิธีนี้ถือว่าได้ผลดีผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมมากกว่ารอบก่อน โดยเฉพาะรอบนี้คุณครูไม่สามารถเข้าไปในหมู่บ้านได้เพราะชาวบ้านเกรงว่ามีความเสี่ยงที่จะนำเชื้อเข้าไปติดในหมู่บ้านได้ “ไลน์” จึงกลายเป็นช่องทางเสริมสำหรับการใช้ Learning Box  

สำหรับกิจกรรมแบบฝึกหัดใน Learning Box  ครูแต่ละห้องจะคิดขึ้นมาเองให้เหมาะสมกับนักเรียนเพราะแต่ละห้องมีรายละเอียด ข้อจำกัดที่แตกต่างกัน  จากนั้นครูก็จะมา PLC ร่วมกันดูว่าใครมีปัญหาตรงไหนควรเสริมตรงไหน หรือนำแบบอย่างจากครูคนอื่นมาปรับใช้กับของตัวเองได้อย่างไร โดยใบงานจะเป็นการบูรณาการทั้ง คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย ศิลปะ การออกแบบของเล่นจากเศษวัสดุเหลือใช้ที่อยู่ในบ้าน

“เมื่อเด็กทำเสร็จผู้ปกครองก็จะถ่ายรูปส่งมาในกลุ่มไลน์ ทุกคนก็จะได้เห็นได้เรียนรู้ร่วมกัน มีคอมเมนต์ ให้ฟีดแบ็ก อธิบายเสริม เสร็จแล้วก็รวมเป็นแฟ้มผลงานว่าทำไปถึงระดับไหน เก็บไว้ในระบบ “สตาร์ฟิช คลาส” จบเทอมการศึกษาก็จะปริ้นท์เป็นรีพอร์ตออกมาให้ผู้ปกครอง ซึ่งห้องครูพิมพ์ผู้ปกครองให้ความร่วมมือดีมากถึง 90%”

 

กระตุ้นพัฒนาการสร้างสรรค์ และมีวินัย
Learning Box เสริมการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา

การระบาดของโควิดรอบนี้จึงไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับการเรียนรู้มากนักเพราะมีประสบการณ์แล้ว Learning Box ช่วยให้ห้องเรียนเคลื่อนที่ไปพร้อมกับเด็กๆ จากเดิมที่เคยคิดว่าการเรียนต้องอยู่แต่ในห้อง แต่พอได้มาเห็นเขาวาดรูป ออกแบบของเล่น ทำกิจกรรมชุมนุม หรือนอกเวลาเรียนเขาก็เอา Learning Box ประยุกต์ใช้กับกิจกรรมอื่นได้  

“เขาสามารถใช้อุปกรณ์ในกล่องไปเพิ่มการเรียนรู้ได้ เราเห็นพัฒนาการของเขาเกิดขึ้น มีการสร้างสรรค์ผลงานเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เด็กได้ใช้ประโยชน์จริง มีความรับผิดชอบมากขึ้น มีวินัยในตัวเอง จุดสำคัญคือครูที่จะต้องคอยอำนวยความสะดวกให้เขาว่าอยากได้อะไร ทำให้กล่องนี้นำไปสู่ทักษะการเรียนรู้ เป็น​กล่องที่เสริมการเรียนรู้ได้ทุกที่เวลา อยู่ที่การออกแบบร่วมกันของครูและนักเรียน” ​ครูพิมพ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค