ร่วมฟังเสียงครูก่อนการเลือกตั้ง นโยบายแรกที่คุณครูอยากให้นายกฯ คนใหม่แก้ไขคืออะไร?

ร่วมฟังเสียงครูก่อนการเลือกตั้ง นโยบายแรกที่คุณครูอยากให้นายกฯ คนใหม่แก้ไขคืออะไร?

ในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียง เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ต่างรอความหวังจากรัฐบาลใหม่ให้เข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง และวาระสังคมปัญหาอื่น ๆ

เฉพาะในส่วนของคุณครูและบุคลากรทางการศึกษา กสศ. พบว่าคุณครูหลายท่านต่างมีความหวัง รอคอยนโยบาย และอยากส่งเสียงถึงว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ให้เข้ามาช่วยแก้ปัญหา สะสางอุปสรรคเรื้อรัง

เมื่อวันที่ 29-30 เมษายนที่ผ่านมา มีคุณครูจำนวนมากไปพบปะกันในงาน insKru Festival 2023 ตอน ริเริ่มสร้างฉัน ซึ่ง insKru ร่วมกับมูลนิธิใจกระทิง กลุ่มธุรกิจ TCP กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และภาคีเครือข่ายร่วมกันจัดขึ้น ณ สวนโมกข์ กรุงเทพฯ

เราได้เข้าไปเช็กเสียงของคุณครูด้วยคำถามสั้น ๆ ว่า “นโยบายแรกที่คุณครูอยากให้นายกฯ คนใหม่แก้ไขคืออะไร?” ชวนฟังเสียงสะท้อนและร่วมเติมเต็มคำตอบไปด้วยกัน

ผอ.เอกชัย เครือขอน
โรงเรียนบ้านน้อยปรกอุทิศ จ.พิจิตร

หัวข้อ : 
– ลดภาระงานเอกสาร
– เพิ่มบุคลากรสนับสนุน

“เรื่องงานเอกสารธุรการของคุณครูครับ เพราะว่าคุณครูส่วนใหญ่จะใช้เวลาสอนส่วนหนึ่งไปทำงานเอกสารธุรการ เช่น พัสดุ การเงินข้อมูลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นของรัฐบาล นโยบายของเขตพื้นที่ มันกินเวลาการเรียนการสอนของคุณครู ทำให้ครูไม่สามารถสอนได้เต็มที่ 

อีกอย่างหนึ่งคือเรื่องของบุคลากรสนับสนุนในโรงเรียน ควรจะมีธุรการมาสนับสนุนในโรงเรียนนะครับ แต่จริง ๆ ธุรการมีบางโรงเรียนนะ แต่ไม่ใช่ทุกโรงเรียน มันควรที่จะมีทุกโรงเรียน หรือใช้ระบบของเอกชนในการบริหารงานก็ได้ จะคล่องตัวกว่า ครูไม่ต้องมาแตะงานเอกสารเลย ทำให้เขาสามารถสอนนักเรียนได้เต็มที่ เราต้องเปลี่ยนเป็นรูปแบบของเอกชนนิด ๆ ครับ”

ครูจีระ จุลวัฏฏ
โรงเรียนโนนปูนวิทยาคม จ.ศรีสะเกษ

หัวข้อ : หลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของนักเรียน

“นโยบายสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของนักเรียนค่ะ ไม่ใช่หลักสูตรที่ตรงกับความต้องการของครูหรือผู้บริหาร

พอเราเห็นความต้องการของแต่ละคนแล้ว ครูเองก็ดี ผู้บริการก็ดี ศึกษานิเทศก์ก็ดี หรือผู้ปกครอง การจัดการเรียนการสอน ในเรื่องของเทคโนโลยี การจัดการต่าง ๆ ต้องดูว่าตัวนักเรียนเองเขาสนใจ เรื่องอะไร เขาอยากจะเป็นแบบไหน หลักสูตรสนับสนุนเขาได้ไหมในเรื่องนี้

ฝากถึงนายกฯ ซึ่งท่านมีอำนาจในการบริหารจัดการ ตอนนี้เห็นเลยว่าหลักสูตรฐานสมรรถนะมันไปได้ไม่ไกล ตอนนี้ทาง CBE กำลังส่งเสริมให้เกิดการจัดทำหลักสูตรสมรรถนะ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการเองก็สนับสนุน แต่มันไปหยุดที่อะไรสักอย่าง แล้วมันดับฝันโรงเรียน โรงเรียนที่ทำหลักสูตรฐานสมรรถนะเป็นโรงเรียนนำร่อง ตอนนี้ทำแล้วก็จริง แต่ต้องอิงหลักสูตรแกนกลาง 2551 เพื่อที่จะอะลุ่มอะหล่วยและทำได้จริง”

ครูรอมล๊ะ ดอเลาะ 
โรงเรียนมัธยมสุไหงปาดี จ.นราธิวาส

หัวข้อ : ลดภาระงานครู

“เรื่องแรกที่อยากให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่แก้ปัญหาก็คือลดภาระงานครูค่ะ งานบางงาน อย่างงานธุรการก็ไม่จำเป็นต้องเอาครูมาทำก็ได้ งานเอกสารต่าง ๆ อาจจะให้กับคนที่เขาเกี่ยวข้องมาดูแลโดยตรง คืนครูสู่ห้องเรียน ได้สอนนักเรียนเต็มที่ค่ะ

โดยสามารถจัดสรรคนที่ดูแลแต่ละฝ่ายได้โดยตรงเลย ไม่เอาครูมาดูแลงานส่วนอื่นของโรงเรียน จริง ๆ ดูแลได้ แต่ไม่ต้องเยอะมากถึงขั้นครูไม่มีเวลาสอนค่ะ

เคยมีครั้งหนึ่งที่สอนหนังสือ แล้วให้นักเรียนช่วยสะท้อนกลับมาว่าเทอมนี้ครูสอนแล้วเป็นยังไงบ้าง นักเรียนคนหนึ่งบอกว่าครูคะ รู้สึกว่าเทอมนี้ครูไปอบรมบ่อยจัง มันเป็นคำที่ทำให้เรารู้สึกว่า เอ๊ะ ฉันไม่ได้สอนนักเรียนเต็มที่เท่าที่ควร เลยคุยกับเด็กนักเรียน วันไหนที่เรามีสอนเยอะก็จะพยายามเลี่ยงการอบรมค่ะ”

ครูอุมมี มารี
โรงเรียนบ้านธารน้ำใส จ.ยะลา

หัวข้อ : การจัดสรรครูที่จบตรงสาขา

“เรื่องแรกน่าจะเป็นเรื่องของการจัดสรรครูที่จบตรงสาขาในโรงเรียนที่ขาดแคลน อย่างเช่นในโรงเรียนขนาดเล็กค่ะ เพราะส่วนตัวแล้วครูสอนในโรงเรียนขนาดเล็ก มีครูที่จบตรงสาขาอยู่ประมาณ 1-2 คนเท่านั้นจริง ๆ ค่ะ

พอเราเอาครูที่จบไม่ตรงสาขามาสอน เด็กเรียนกับครูได้ไม่เต็มที่ ก็เลยอยากให้มีการจัดสรรให้ทุกโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดแคลนคุณครูที่จบตรงสาขา ให้เขตพื้นที่จัดสรรให้อย่างน้อย ๆ ให้มีสาขาละ 1 คนก็ได้ อย่างส่วนตัวจบอิสลามศึกษาก็อาจจะสอนแนวสังคมได้ แต่ต้องไปสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งรู้สึกว่าเด็กต้องมาเรียนกับเรา ตัวเองยังไม่ได้เก่งขนาดนั้นที่จะไปให้ความรู้เด็กค่ะ 

ตอนนี้มีกระแสหลายจังหวัดที่สอบขึ้นบัญชีครูผู้ช่วย แต่ก็ไม่ได้เรียกตัวใช่ไหมคะ ในปีเดียวกันจะมีการเปิดรับอีก แต่คนที่ขึ้นบัญชียังไม่ถูกเรียกตัว ตรงนั้นก็คือถ้าสอบได้ ขึ้นบัญชีเสร็จก็ควรจะจัดสรรไปเลย โรงเรียนที่ขาดแคลนครูสาขานี้ก็ให้เข้าไปเลยค่ะ ส่วนโรงเรียนที่มีครูสาขาซ้ำ ก็อาจจะจัดสรรให้ไปอยู่โรงเรียนอื่นให้เกิดความสมดุลค่ะ”

ครูจิรายุ โก
โรงเรียนบ้านป่าเลา(ประชานุสรณ์)

หัวข้อ : 
– ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
– การอยู่เวรตอนกลางคืน
– work-life balance

“สำหรับนโยบายหรือว่าวิสัยทัศน์สำหรับผู้บริหารหรือนายกรัฐมนตรีที่จะมาดำรงตำแหน่งในสมัยปัจจุบันนี้นะครับ นโยบายการศึกษาแรกที่ผมคิดไว้ก็คือเรื่องการเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษาใหม่ทั้งหมดครับ รู้ว่ามันอาจจะเป็นไปได้ยาก 

หนึ่ง ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา มาจากปัจจัยหลาย ๆ อย่างด้วยกัน ไม่ใช่ว่ามีแค่เทคโนโลยีที่จะเข้าถึงคนทุกโอกาส ทุกภาคส่วน หรือว่าแม้แต่โรงเรียนในถิ่นทุรกันดารนะครับ แต่อยากจะให้มีการลดภาระงานครู แน่นอนอยู่แล้วว่าครูทำทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ต่างจากพนักงานเซเว่นนะครับผม ดังนั้นอยากจะให้ลดภาระงานต่าง ๆ ที่เป็นงานซ้ำซ้อนกันครับ

สอง ในเรื่องของการอยู่เวรกลางคืน ซึ่งในส่วนนี้ ไม่ว่าจะเป็นครูหญิงหรือครูชาย ไม่สมควรที่จะมาอยู่เวรนะครับ

ในเรื่องถัดไป ควรให้ครูทำงานเป็นเวลา หรือ work-life balance ส่วนใหญ่ครูจะทำงานล่วงเลยเวลา สมดุลในการใช้ชีวิตจึงไม่ค่อยมี หลัก ๆ จะมีการทำงานนอกเวลาต่อ ซึ่งการทำงานนอกเวลาของแต่ละที่จะอยู่ที่ประมาณ 200 บาทต่อวัน ถ้าสมมติจะทำงานล่วงเวลาควรต้องมีการเขียนบันทึกข้อความถึงผู้อำนวยการของสถานศึกษา แล้วส่งต่อไปเพื่อเบิกที่เขตนะครับ ในส่วนนี้ก็อยากให้มีการทำงานแต่พอดี”

ครูกิตติธัช นาถศรีทา
โรงเรียนแพร่ปัญญานุกูล จังหวัดแพร่

หัวข้อ : 
– การอยู่เวรตอนกลางคืน
– ลดภาระงานครู

“เรื่องการอยู่เวรของครูเวรครับ ครูชายหรือแม้แต่ครูหญิงด้วยกัน บางโรงเรียนมีครูน้อยก็ให้ครูผู้หญิงมาอยู่เวรในตอนกลางคืน ในส่วนของโรงเรียนใหญ่เนี่ย โรงเรียนของผมก็มีการอยู่เวรตอนกลางคืน ทั้ง ๆ ที่โรงเรียนก็มีกล้องวงจรปิดในทุกมุม แต่ก็ยังให้คุณครูมาอยู่เวร ทั้ง ๆ ที่มียามด้วย มีคนงานอยู่ด้วย อันนี้คือในส่วนของโรงเรียนผม 

แต่ผมพูดถึงภาพรวมโรงเรียนอื่นนะ อย่างน้องสาวผมอยู่โรงเรียนขนาดเล็ก คุณครูจะต้องไปซื้อของในตอนช่วงประมาณตี 2-3 เพื่อที่จะซื้อของมาให้แม่ครัวทำกับข้าว ก็มีเวรซื้อของอย่างนี้ ทั้ง ๆ ที่มันไม่ใช่ภาระหน้าที่ของครูที่จะต้องมาซื้อของทำกับข้าวให้นักเรียนทาน น่าจะ 2 ประเด็นตรงนี้ครับ”