เรื่องเล่าจากค่าย ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ บนเส้นทาง ‘ครูนักพัฒนาชุมชน’
โดย : ศุภชัย ไตรไทยธีระ ประธานมูลนิธิปัญญากัลป์

เรื่องเล่าจากค่าย ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ บนเส้นทาง ‘ครูนักพัฒนาชุมชน’

ก้าวเข้าสู่วาระแห่งความน่าตื่นเต้นกับการคืนครูสู่ชุมชน การทำงานอย่างเข้มข้นที่ กสศ. ร่วมกับภาคีเครือข่ายร่วมกันผลิต “ครูรัก(ษ์)ถิ่น” จากนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล ผ่านกระบวนการคัดเลือกคัดกรองเข้าสู่กระบวนการผลิตของสถาบันการศึกษา วันนี้พวกเขากลับมาพร้อมศักยภาพและความพร้อมในการเป็นครูของชุมชนเรียบร้อยแล้ว

กสศ. ขอพาผู้อ่านร่วมสัมผัสประสบการณ์ความพร้อมดังกล่าว จากค่ายครูนักพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นความตั้งใจในการสร้างพื้นที่สำหรับดึงเอาสมรรถนะของความเป็นครูนักพัฒนาชุมชนของนักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่นออกมา เพื่อเปิดพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักศึกษาในแต่ละรุ่น ตลอดจนการสร้างสรรค์บรรยากาศของการมีส่วนร่วมกับชุมชนที่เห็นถึงความสำคัญของการนำเอาทรัพยากรชุมชนมาใช้และเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนพี่น้องครูรัก(ษ์)ให้เหนียวแน่นและงดงาม ผ่านเรื่องเล่าต่อไปนี้

ณ โรงเรียนอนุบาลเกาะช้าง ตำบลด่านใหม่ อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด ที่นี่มีนักเรียนกว่า 180 คน มีคุณครู 14 คน และมีครูรัก(ษ์)ถิ่นซึ่งเป็นลูกหลานของคนในชุมชน คือ ‘โก้’ หรือ ‘นายจิรายุ มัทธจิตร์’ นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ผู้บอกเล่ากับเราถึงเรื่องราวความประทับใจขณะที่มาฝึกสอนที่นี่

โก้เล่าว่า รู้สึกสนุกสนานและมีความสุข มีเหนื่อยบ้างท้อบ้าง แต่พอเริ่มวันใหม่ก็ต้องกลับมาเป็นคุณครูที่แข็งแกร่งและสดใสให้กับเด็ก ๆ การฝึกสอนที่โรงเรียนอนุบาลเกาะช้าง จึงถือเป็นประสบการณ์เตรียมความพร้อมให้กับตัวเองในอนาคตที่ดีอย่างมาก เพราะไม่ว่าจะเจอปัญหาอุปสรรค สิ่งดีร้ายอย่างไร เขาก็จะต้องผ่านมันไปให้ได้ และพึงคิดอยู่เสมอว่าเราจะต้องทำทุกวันให้ดีที่สุด

การมีเพื่อน มีน้องมาทำค่ายที่โรงเรียนเป็นเรื่องที่ดีต่อใจของโก้อย่างยิ่ง เขาดีใจแทนเด็ก ๆ ที่จะได้มีสนาม BBL เครื่องเล่นสนามสีใหม่ และเครื่องเล่นสนามอันใหม่ให้พวกเขาได้เล่นอย่างมีความสุข เป็นความรู้สึกอบอุ่นเป็นอย่างมาก และคิดว่าถ้าตนเองไม่ได้ออกมาฝึกสอนช่วงนี้ก็คงอยากมาค่ายนี้เช่นกัน เพราะการที่ได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้กับโรงเรียน นั่นคือความสุขหนึ่งของเด็กคนหนึ่งที่อยากพัฒนาโรงเรียนเช่นเดียวกัน

หลังจากจบค่ายครูนักพัฒนาชุมชนของพวกเราชาวครูรัก(ษ์)ถิ่น ความเปลี่ยนแปลงสิ่งแรกที่เห็นคือเด็กทุกคนสนใจที่จะเล่นสนาม BBL เป็นอย่างมาก เวลาว่างและพักเที่ยง เด็ก ๆ จะมารวมตัวกันเล่นที่สนาม และเมื่อใดที่ฝนตกแล้วสนามเด็กเล่นไม่สามารถเล่นได้ เด็ก ๆ ก็ยังมีพื้นที่เล่นเพื่อเรียนรู้ในส่วนที่ทางค่ายสร้างขึ้นมาให้ได้เล่นโดยไม่ต้องตากฝน รวมไปถึงสนาม BBL ยังเป็นจุดที่สามารถใช้สอนเด็กได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเด็กปฐมวัยและเด็กประถมศึกษา 

ทั้งนี้ความเปลี่ยนแปลงไม่ได้มีแค่สนาม BBL ที่สร้างขึ้นมา สนามเด็กเล่นที่มีสีสันสวยงามมากขึ้น มีเครื่องเล่นที่ทางเพื่อนและน้องจากต่างมหาลัยร่วมกันทำกับชุมชนให้เด็ก ๆ ได้เล่น และยังมีตาข่ายประตูฟุตบอลอันใหม่ให้เด็กได้เล่นกีฬาด้วยการดึงเอาการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนทุกส่วนมาร่วมกันพัฒนาโรงเรียน ยังทำให้ได้เห็นรอยยิ้มของเด็ก ๆ ที่สดใสมากขึ้น

กว่า 5 ฐานการเรียนรู้ ณ โรงเรียนอนุบาลเกาะช้าง ที่พวกเราชาวครูรัก(ษ์)ถิ่น ร่วมกันวิเคราะห์ความต้องการของเด็ก ๆ โรงเรียนและชุมชน ผ่านการสอบถามข้อมูลความคิดเห็น และนำมาออกแบบเป็นฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ ประกอบด้วย 1. ถังน้ำหลากสีหลังโรงอาหาร 2. ฐานส่งเสริมการเคลื่อนไหวทางกายด้านหน้าโรงอาหาร 3. BBL ด้านหน้าตึกอนุบาล 4. สนามเด็กเล่นกลางแจ้ง 5. ฐาน ล.ลิงไต่ราว จากวัสดุธรรมชาติในชุมชน และยังมีการลงพื้นที่ศึกษาชุมชนท่าเรือ แหล่งทรัพยากรธรรมชาติ ศาลเจ้าแม่ทับทิม ศาลเจ้าแม่ปากน้ำ เรียนรู้วิถีชีวิตวัฒนธรรมของชุมชนจากครูภูมิปัญญาและผู้นำชุมชน มีกิจกรรมสร่างความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น คณาจารย์สถาบันผลิต ครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้นำและคนในชุมชนท่าใหม่ นักเรียนในโรงเรียน โดยได้ร่วมแข่งขันกีฬาสานสัมพันธ์บรรยากาศเป็นไปด้วยความสนุกสนาน เห็นทั้งรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ นำไปสู่การเกิดสัมพันธภาพและความประทับใจทั้งพวกเราชาวครูรัก(ษ์)ถิ่นและชุมชนท่าใหม่อีกด้วย

การเปิดพื้นที่การเรียนรู้ในครั้งนี้ เสมือนเป็นการให้โอกาสพวกเราได้ใช้พื้นที่ในการพัฒนาจิตวิญญาณความเป็นครูเพื่อชุมชน ซึ่งจะค่อย ๆ ปรากฏชัดเมื่อมีสนามหรือพื้นที่ในการแสดงศักยภาพ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรม เกิดการเรียนรู้ใหม่ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นประโยชน์เมื่อเรานำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในโรงเรียนปลายทางของตนเอง และแบ่งปันกับเพื่อนๆครูรัก(ษ์)ถิ่นในแต่ละสถาบัน

นางนภัสสร สว่างโคตร ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลเกาะช้าง กล่าวความรู้สึกขอบคุณโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นและ กสศ. ที่นำพาสิ่งดี ๆ มาให้โรงเรียน เชื่อว่าเด็กจะตื่นเต้นเมื่อเห็นผลงานของนักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น เห็นความตั้งใจในการทำงานเป็นทีม มีผู้นำและผู้ตามที่ดีของน้อง ๆ ครูรัก(ษ์)ถิ่น เชื่อว่าน้อง ๆ ที่จะไปบรรจุในโรงเรียนปลายทางจะมีศักยภาพในการพัฒนาเด็กในโรงเรียน

การมาทำค่ายของน้อง ๆ ครูรัก(ษ์)ถิ่นในครั้งนี้ คือแรงบันดาลใจสำคัญของ เด็ก ๆ ในโรงเรียนอนุบาลเกาะช้าง ที่เกิดความสงสัยว่าทำอย่างไรถึงจะเป็นครูเหมือนพี่ ๆนักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่นในขณะที่เห็นพี่ ๆ ทำกิจกรรม ผอ. จึงแนะนำให้ตั้งใจเรียน และมุ่งมั่นเหมือนกับพี่ ๆ ค่ายนี้จึงเป็นทั้งค่ายสร้างการเรียนรู้ ความประทับใจ มิตรภาพ แรงบันดาลใจ และความสุข

คุณครูสุขศรี นพวรรณ (ครูคศ.3) บอกว่าโรงเรียนไม่เคยมีค่ายอาสามาเลย พอทราบข่าวว่าจะมีค่ายมาก็เกิดความกังวลเรื่องการจัดการ แต่พอทราบรายละเอียดก็สบายใจและมีความตื่นเต้น ครูรักษ์ถิ่นที่นี่เป็นเด็กน่ารักอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นเด็กที่นิสัยดี สามารถเข้ากับชุมชนได้ดี งานนี้โก้เขาก็ช่วยประสานงานเตรียมข้อมูลและการเตรียมการเรื่องการจัดการในการดูแลเพื่อน ๆ การที่มีครูรักษ์ถิ่นดีเกินบบรยาย

ที่นี่ได้ครูรักษ์ถิ่นเนื่องจากเป็นการชดเชยอัตราการเกษียณอายุราชการทันทีและเป็นครูที่ได้รับการพัฒนาอย่างเข้มข้น แต่น้องครูรัก(ษ์)ถิ่นก็ยังมีความกังวลเรื่องการยอมรับจากผู้ปกครองและชุมชน ครูเลยแนะนำให้มีการปรับตัวและสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ปกครอง การทำค่ายในครั้งนี้ประทับใจและจะบอกต่อเรื่องราวความประทับใจนี้ให้กับชุมชนและผู้นำชุมชนฟัง โรงเรียนได้รับประโยชน์และเปลี่ยนแปลงไปเยอะมากจากการพัฒนาของค่ายนักศึกษาทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงประจักษ์ทั้งฐานการเรียนรู้และทัศนียภาพ เห็นความตั้้งใจและเห็นความคิดสร้างสรรค์ของน้อง ๆ ครูรักษ์ถิ่นที่สร้างฐานการเรียนรู้ สนามเด็กเล่น เด็ก ๆ มีความน่ารักและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน ซึ่งจากค่ายนี้เชื่อว่าเด็ก ๆ จะมีจิตวิญญาณความเป็นครู ซึ่งเป็นภาระที่หนักในการทำคนให้เป็นคน ครูต้องอดทนและมีความพยายามตั้งใจอย่างยิ่งจังในการเปลี่ยนแปลงเด็ก ๆ ในห้องเรียนของตนเอง

นายสาเฮะมาโซ สาเฮะอามะ นักศึกษาครูรักษ์ถิ่นรุ่นที่ ๒ มอ.ปัตตานี บอกว่าเป็นค่ายที่ได้รับประสบการณ์ ได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม การปรับตัว ได้เข้าหาคนในชุมชน วิธีการและเทคนิคในการพูดคุยกับชาวบ้าน การเข้าถึงชาวบ้าน การจัดการปัญหา การแก้ไขปัญหา และประทับใจในการทุ่มเทความร่วมมือและความตั้งใจของเพื่อน ๆ ภูมิใจในผลงาน ปลูกฝังพฤตินิสัยของครูพัฒนาชุมชนที่ต้องอยู่ชิดติดกับชุมชน และมีทักษะที่หลากหลาย เช่น การช่าง ศิลปะ

การเข้าถึงชุมชนจะไม่ใช่แค่การสร้างความสัมพันธ์แต่สร้างความไว้วางใจให้แก่ผู้ปกครอง และครูต้องมีจิตอาสา ได้เรียนรู้การปรับตัว ปรับทัศนคติว่าจะมอง สถานการณ์ข้างหน้าเป็นปัญหาหรือโอกาส ทักษะสำคัญของครูนักพัฒนาชุมชน จะต้องเข้าใจและเข้าถึงชุมชน สร้างบรรยากาศของการมีส่วนร่วม ซึ่งในค่ายนี้ทำให้เห็นบรรยากาศของความร่วมไม้ร่วมมือและการสนับสนุนการทำงานของชุมชน และอยากให้มีค่ายลักษณะนี้อีก เพราะได้ลงมือทำจริง ความเป็นจริงกับสิ่งที่เรียนในห้องต่างกันเยอะ ได้เห็นบริบทโรงเรียน ยอมรับ ปรับตัว มีจิตอาสา

นางสาวรสริน ชุบขุนทด มรภ.อบ. รุ่น ๒ ยินดีที่ได้รู้จักเพื่อน ๆ เกิดความสนิทสนมระหว่างเพื่อนต่างสถาบัน ได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนแนวคิดเรื่องศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม ได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของเพื่อน ครูนักพัฒนาชุมชน ต้องเข้าใจบริบทชุมชน ปรับตัวให้เข้ากับบริบท การทำงานเป็นทีม การทำงานร่วมกับผู้อื่นการเห็นเป้าหมายและบริหารจัดการ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า สิ่งที่ประทับใจคือชุมชนวิถีความเป็นอยู่ ความงดงามของความหลากหลายทางวัฒนธรรมประทับใจในตัวเด็กนักเรียนที่ให้ความร่วมมือและสนใจการทำกิจกรรม

นายอัฟด้อล โส๊ะหมีน มอ.ปัตตานี รุ่นที่ ๒ ได้เรียนรู้ในการปรับตัวเข้ากับสังคม การสื่อสาร พื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้เอาความรู้ที่เรียนมาออกมาใช้ ทั้งในกระบวนการแลกเปลี่ยนรเรียนรู้และการแก้ปัญหา เกิดความรู้สึกดีใจและขอบคุณ รู้สึกถึงมิตรภาพความเป็นกันเอง ชื่นชมในความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของเพื่อน ๆ เห็นความมีจิตอาสา การเจอปัญหาและสามารถนำไปแก้ไขได้ เห็นบทเรียนในการทำงาน ซึ่งบทเรียนจะนำไปสู่การออกแบบแนวทางในการแก้ปัญหา การบริหารจัดการทรัพยากร ครูนักพัฒนาชุมชน ครูพร้อมใช้ที่มีจิตอาสา เป็นผู้พร้อมเรียนรู้อยู่เสมอ หมั่นฝึกฝนในสี่พัฒนา พัฒนาตนเอง พัฒนาเด็ก พัฒนาโรงเรียน พัฒนาชุมชน อยากให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กผ่านกระบวนการปลูกฝังและสร้างแรงขับเคลื่อนในการเรียนรู้ส่งต่อโอกาสที่ได้รับจากเราสู่เด็ก ขยับจากโรงเรียนสู่ชุมชน เช่น การดึงเอาศักยภาพของเด็ก รวมกลุ่มในชุมชน ตามความสนใจ นักกีฬาตัวน้อย สิ่งที่ประทับใจ เพื่อนครูรักษ์ถิ่นทำทันทีไม่รีรอ อาสาเข้ามาช่วยเหลือ  ความเป็นครูรักษ์ถิ่นทำให้พวกเราสนิทกันเร็วขึ้น (จิตวิญญาณของความเป็นครูรักษ์ถิ่น) รู้ตัวตน รู้บทบาทหน้าที่ 

นางสาวอนิส ใบหวัง มรภ.ภูเก็ต รุ่นที่ ๓ บอกว่าได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับเพื่อน ๆ ต่างถิ่นฐาน เเละได้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการเป็นอยู่ ศาสนา เเต่ก็ไม่ได้เป็นอุสรรคเลย มีความสุขด้วยซ้ำที่ได้เเลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อน ๆ อย่างพหุวัฒนธรรม เเละอีกอย่างได้นำประสบการณ์ที่ได้ในการเข้าค่าย สามารถนำไปใช้ได้จริงในการที่เราจะต้องลงไปทำงานโรงเรียนปลายทาง “ดิฉันอยากให้จัดค่ายเเบบนี้ขึ้นอีก ได้เจอเพื่อน ๆ ต่างสถาบัน สิ่งที่ประทับใจมากที่สุดคือ พี่ ๆ เพื่อน ๆ เเละคนที่นี่ใจดีเเละน่ารักมากเลย การปรับตัวเข้ากับสังคมที่แตกต่าง ดีใจที่ได้เห็นบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนทางศาสนา เช่น ทำไมถึงคลุมผ้าคลุม การปฏิบัติตัวเป็นอย่างไร คนที่ชุมชนใจดีมากทำให้เรารู้สึกไม่เป็นคนประหลาด การแลกเปลี่ยนเรื่องการใช้ชีวิตความเป็นอยู่กับพี่ ๆ รุ่นหนึ่ง อยากให้มีค่ายรวมทั้งหมดให้พวกเรามาเจอกัน”

นายวัชรินทร์ เทืองน้อย มรภ.เชียงใหม่ รุ่นที่ ๓ “ผมได้เรียนรู้การทำงานร่วมกันกับเพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่มาจากต่างถิ่น ต่างพื้นที่ และต่างความสามารถ ตอนแรกผมก็กังวลว่าจะทำค่ายนี้ให้สำเร็จได้อย่างไร แต่เมื่อมาอยู่ร่วมกัน มีเป้าหมายร่วมกัน ทำให้ผมรู้ว่าในค่ายเราไม่ได้โดดเดี่ยว เรามีเพื่อน ๆ พี่ ๆ คอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน งานหลาย ๆ อย่าง ผมเองก็คงทำไม่ได้ จึงต้องอาศัยเพื่อน ๆ และพี่ ๆ ถึงแม้ค่ายนี้จะจบ แต่ความรู้สึกที่ดี ความรู้ที่ได้ ผมสาามารถนำไปปรับใช้และส่งต่อประสบการณ์ความรู้ที่ได้ไปยังรุ่นต่อไปครับ”