จ่าย 500 แต่สวยระดับล้าน
เป็นคอนเซปต์การทำงานของ ‘มาดามซาบีน่า’ เมคอัพอาร์ตทิสต์ตัวตึงแห่งอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนองถูกเด็กๆ ที่นี่สวมมง ‘ไอดอลชุมชน’ ให้
มาดามซาบีน่าสอนสวยคือชื่อในแพลตฟอร์มติ๊กตอกของ ชาปี่น๊ะ วันตา คุณแม่ลูกสองวัย 37 ที่เดิมเปิดร้านขายของชำแต่ด้วยความเป็นคนรักสวยรักงาม ชอบแต่งหน้า อาจจะมีปูมหลังมาบ้างว่าโดนล้อเรื่องสีผิวตั้งแต่เด็ก ชาปี่น๊ะ เลยหัดแต่งหน้าเองผ่านคลิปต่างๆ ในยูทูป
“เรามีพื้นฐานการแต่งหน้ามาสิบกว่าปี ยูทูปคืออันดับแรกที่เราเรียน ติ๊กตอกคืออันดับสอง เข้าไปดูว่าพส.จีน เขาแต่งหน้ายังไง ตัวดำหน้าขาวคือคอนเซปต์เรา อย่าไปดูหลังมือหลังเท้า ดูหน้าให้ขาวและสวยก็พอ (หัวเราะ)”
จากเรียนรู้เองก็เขยิบไปเรียนเข้าคอร์ส ราคาต่อหน้า 300 ปรับเพดานเป็น 500 บาท ตอนนี้มาดามก็ยังยืนพื้นราคานี้อยู่ทุกเทศกาล ตั้งแต่งานกีฬาสี ขบวนพาเหรด เพื่อนเจ้าสาว ญาติเจ้าสาว และเจ้าสาว
“เด็กๆ หน้าเล็กๆ นิดเดียว 100 ถ้า 1,000 สงสารผู้ปกครอง นึกถึงเรา เราผู้ปกครอง ลูกสองคนไป 2,000 แล้วนะ แต่ถ้าไป 300 600 อย่างน้อยเหลือ 400 ลูกยังได้กิน” ด้วยความเป็นแม่ลูกสอง คนโต 11 ขวบ คนเล็ก 9 ขวบ มาดามซาบีน่าเข้าใจดีว่าค่าใช้จ่ายความสุขของงานเด็กๆ ไม่ได้เล็กตามอายุ นี่ยังไม่รวมค่าเช่าชุดและค่าอื่นๆ อีกจิปาถะ

“เราทำงานกับชุมชน ดูฐานเศรษฐกิจชุมชน แค่นี้เราว่าสูงพอแล้ว เขาจ่าย 500 แต่ได้ความสวยระดับล้านค่ะ (ยิ้ม)”
ความดังระดับนี้ มาดามซาบีน่า เจ้าของแอคเคานต์ติ๊กตอก ‘มาดามซาบีน่าสอนสวย’ ก็ถูก ‘จ๊ะ’ ซึ่งแปลว่า ‘พี่สาว’ ทั้งหลายมาร่วมขบวนการในโครงการพัฒนาการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เพื่อสร้างโอกาสให้กับเยาวชนนอกระบบการศึกษา จ.ระนอง 1 ใน 40 ของโครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
จ๊ะทั้งหลายได้แก่ ‘จ๊ะสาว’ ฝ้าลี่ห้ะ ผดุงชาติ คนในชุมชนเรียกว่าครูสาว กับ ‘จ๊ะหยาด’ เรณู นะลุเก็ม ทั้งคู่เป็นกำลังสำคัญของโครงการฯ ที่ทำงานเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กๆ นอกระบบพื้นที่อำเภอสุขสำราญร่วมกับกลุ่มปัญญาชนสร้างสรรค์สังคม
“ถ้าพื้นที่ปลอดภัย เด็กสามารถแสดงศักยภาพของเขาได้ เขาจะรู้ได้ว่าตัวเองต้องการอะไร เราเป็นทีมที่จะช่วยหนุนเสริม ให้เขารู้สึกว่ามาตรงนี้แล้วไม่กดดัน ไม่มีอะไรที่ทำให้เขากังวล ปลดปล่อยได้ ก็เลยมองว่าพื้นที่ปลอดภัยไม่ใช่แค่พื้นที่ตรงนี้ แต่เป็นคน ชุมชน สังคมที่อยู่รอบข้างด้วย เขาสามารถเดินไปไหน เข้าบ้านไหนก็ได้ เขาสามารถทำอะไรด้วยตัวเขาเองได้ ด้วยความมั่นใจและมีแรงเสริม”
พอปลอดภัยมากพอ เด็กๆ ก็จะกล้าบอกความต้องการของตัวเองและหลายคนต้องการเรียนรู้และฝึกทักษะเพื่อไปเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ และคนที่เค้านึกถึงคือมาดามซาบีน่า ช่างแต่งหน้าที่เป็น ‘ไอดอลชุมชน’ ของพวกเค้า
“ครูสาวบอกว่าน้องๆ เขาขอมา ก็ถามว่าไอดอลยังไง ชั้นก็เป็นคนปกติ เขาบอกว่า มาดามมีความสามารถ แต่งหน้าได้สวย ก็ถามว่าสวยยังไง ก็แต่งปกตินี่แหละ เขาบอกว่าสวย เขาอยากได้คนนี้ เขาปักหมุดมา ก็โอเค เดี๋ยวจะไปเป็นวิทยากรให้ ถึงแม้ไม่มีค่าใช้จ่ายหนูก็ยอม เพราะใช้ใจในการทำงาน และได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับน้องๆ” มาดามย้อนความรู้สึกแรกที่รู้ว่าเป็นไอดอลของเด็กๆ

เมื่อเปรียบเทียบกับไอดอลตัวท็อปหรือติ๊กต็อกเกอร์ที่มีคนตามหลักล้าน เด็กๆ เลือกที่จะขอเรียนกับมาดามซาบีน่าที่ตอนนี้มีผู้ติดตามหลักพัน
คนที่ตอบเรื่องนี้ได้ดีไม่ใช่ผู้ใหญ่อย่างจ๊ะหยาด จ๊ะสาว และมาดาม แต่คือเด็กๆ ในชุมชนว่าทำไมต้องเป็นไอดอลชุมชน
“ไอดอลแบบนี้เข้าถึงง่าย เรารู้ว่าเขาดำเนินชีวิตแบบไหน คนในเมืองก็จะแบบหนึ่ง ชนบทก็อีกแบบหนึ่ง ถ้าไอดอลที่ไม่ได้อยู่ในชุมชนก็ไกลจากเรา บางทีไอดอลที่มีผู้ติดตามเยอะๆ เขาก็จะมีกำแพงของเขา แต่มาดาม ทุกคนในชุมชนจะเห็นความ เป็นมนุษย์จริงๆ อยู่ในโลกความเป็นจริง ไม่ได้อยู่ในโซเชียล เขามองเห็นว่าสิ่งที่มาดามทำประสบความสำเร็จจริงๆ เริ่มต้นจากยังไง ก็จะเกิดความเชื่อมั่นในตัวเองว่าเราก็ทำได้เหมือนกัน” คำตอบจาก ซาบีลาห์ เทพลักษณ์ หรือ ซาร่า เยาวชนในอำเภอสุขสำราญ ที่วันนี้มาเป็นแบบแต่งหน้าให้มาดาม
ความฝันที่เลี้ยงตัวเองได้และเอื้อมถึงคือความหมายของไอดอลชุมชน จ๊ะสาวในฐานะตัวตั้งตัวตีที่ชวนมาดามเข้าวงการ ชี้ว่า ช่างแต่งหน้ามีเยอะแยะ แต่ช่างแต่งหน้าที่เราต้องการต้องเป็นแบบนี้
“ความคิดของเขาที่จะมาเป็นไอดอลแบบนี้ ไม่ได้เริ่มต้นจากมูลค่าที่สูง แต่เขาเริ่มที่การให้มูลค่ากับสิ่งนั้น ให้คุณค่ากับเด็กเยาวชนในชุมชนที่มองว่า มีมาดามหนึ่งแล้ว จะต้องมีมาดามสอง เป็นกระบวนการที่สร้างคนสร้างเด็กตามความชอบของเขา มันจึงสนุกและมีคุณค่าในชุมชน”
จ๊ะสาว บอกอีกว่า มาดามไม่ได้ถ่ายทอดแค่การแต่งหน้า แต่ถ่ายทอดวิธีคิดสำคัญกับเด็กๆ นั่นคือ ‘การให้’ ผ่านการสร้างกระบวนการที่เน้นคุณค่าไม่ใช่มูลค่า
สำคัญกว่าการได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ นี้ มาดามบอกว่าคือความเชื่อใจและไว้ใจจากเด็กๆ

“พอเราได้มาเป็นวิทยากร เราจะพูดในใจ ขอบคุณนะ ขอบคุณที่นึกถึงเราในฐานะไอดอล ขอบคุณที่มาเป็นนักเรียนของเรา และเราได้เป็นครู สำหรับเรา ความเชื่อใจมันสร้างยากนะ แต่เราทำให้เห็นว่าเราทำมาตลอด ไม่เคยหยุด จนน้องๆ เยาวชนเห็น เขาเลยเชื่อใจ เวลาสอน เราเลยให้หมด”
เด็กๆ ที่มาเรียนกับมาดามมีทั้งผู้หญิง เพศหลากหลาย และพิการประเภทใบ้หูหนวก
“เวลาปัดอายแชโดว์ปัดอย่างนี้นะ เขาจะอ่านปากเรา ปัดจากหางตา แล้วก็วนๆๆ เขาก็ทำได้ หรือเขียนคิ้ว ก็ให้เขียนจากหางไปก่อน ให้คม เส้นเล็ก แล้วก็ดำ หัวลูกไม่ต้องไประบาย เขาเข้าใจ เราทำท่าทางไปด้วย พูดช้าๆ แล้วเขาก็จะอ่านปากเรา”
ตอนนี้ลูกศิษย์ของมาดามเริ่มรับงานเองบ้างแล้ว เพราะเรียนจบมาดามก็จะแถมอุปกรณ์ทำมาหากินครบเซ็ตไปให้ด้วย แถมทริคการเลือกซื้อเมคอัพ ครีมบำรุงต่างๆ ที่เน้นราคาถูก หาซื้อง่ายในชุมชน
“บอกว่าน้องๆ ว่าไม่ต้องเรียกสูง แค่คนละ 200 ห้าคนก็ 1,000 แล้ว ให้เห็นตัวเลขปลายทางว่าคุณมีรายได้แล้ว วันนี้คุณรอดแล้วนะ แต่ถ้านอนอยู่บ้าน คุณจะไม่ได้อะไรเลย”

‘บังหมาด’ ช่างตัดผมควบ อส.
มีช่างแต่งหน้าแล้วก็ต้องมีช่างตัดผม แล้วก็เป็นคนใกล้ตัวของมาดามซาบีน่าด้วย ใกล้แบบใต้หลังคาเดียวกันเลย
มอฮัมหมาด ผดุงชาติ สามีที่มาดามซาบีน่าและคนอื่นๆ แถวนี้เรียกว่า ‘บัง’ หรือ ‘บังหมาด’ บังเป็นอส.หรือ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนประจำอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง หน้าที่หลักคือบริการประชาชน
“ก็บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชน เวลาเขาต้องการร้องขอมา ก็ไปตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ไม่ว่างานอะไร งานของชาวบ้าน ไฟแล้ง โรงเรียนขอมาให้ช่วยตัดผมเด็ก ก็ช่วยได้ทุกอย่าง”
บังเล่าต่อว่าทรงที่ตัดบ่อยคือรองทรงสูง หลังๆ มาเป็นรองทรงสูงบวกสกินเฮดนิดๆ บังบอกว่าตัดง่าย ใครๆ ก็ตัดได้ แต่อส.วัยห้าสิบเศษคนนี้ไปเรียนมาจนได้ใบประกาศ และมีเครื่องไม้เครื่องมือเป็นของตัวเอง

คนใกล้ตัวอย่างมาดามซาบีน่าเลยชวนสามีมาสอนวิชาตัดผมให้เด็กๆ นอกระบบ คำตอบแรกที่ได้กลับมาคือ ไม่เอา สอนไม่ได้ ก็คนใกล้ตัวคนเดิมอีกนี่แหละที่ใช้น้ำเย็นเข้าลูบด้วยประโยคว่า ถ้ายังไม่เคย ให้ลองและลงมือทำก่อน ถึงตอนนั้นค่อยมาบอกว่าได้หรือไม่ได้
ได้ผล บังหมาดกลายเป็นไอดอลชุมชนด้านการตัดผม ที่งานนี้ตั้งใจสอนถึงขนาดพกลูกโป่งมาด้วย
“ฝึกให้กันจากลูกโป่งก่อน เพื่อฝึกน้ำหนักมือ เพราะถ้าเป็นหัวจริงกันพลาดจะบาดไง แต่ถ้าลูกโป่งพลาดมันเอาใหม่ได้ หรือปัตตาเลี่ยนขึ้นท้ายทอย ก็ให้หัดสะบัดมือ ให้นึกว่าตัดปากขวด มือต้องนิ่ม โค้งตามคอ สอนเทคนิค หัดตั้งแต่พื้นฐาน”
นอกจากนักเรียนจะได้วิชานอกห้องแล้ว สรรพนามที่เด็กๆ เรียกก็เปลี่ยนไป
“จากเดิมบัง ตอนนี้เป็นสู (ลุง) เป็นหวา(พี่ชาย) แต่ถ้าคนพุทธมาก็บอกว่า น้า ลุง”
ผิดจากแต่ก่อนที่บังหมาดจะขึ้นชื่อเรื่องเด็กๆ กลัวมาก กลัวในระดับที่เห็นหน้าบังปุ๊บ หันหัวมอเตอร์ไซค์กลับปั๊บ เพราะแต่ก่อนบังเคยทำหน้าที่พาเยาวชนที่ติดยาเสพติดไปบำบัดนานที 15 วันเรียกว่ากินนอนอยู่กับบังที่อำเภอเลย
พอถามว่างานบำบัดกับงานสอนตัดผม บังชอบอย่างไหนมากกว่ากัน บังตอบว่าชอบอย่างหลัง
“บำบัดมันทำให้เครียด แต่สอนตัดผมมันทำให้เพลิดเพลินจิตใจ ไม่ไปหมกหมุ่นกับเรื่องไม่ดี ตรงนี้ทำให้เด็กสนุก อยากเล่นโน่นเล่นนี่ การเสริมกับอาชีพของเขาเนี่ยเหมือนเรามองอนาคตของเขา เราอยากสอนตัดผมให้เขาถึงฝั่ง”
แต่ตัดผมเก่งอย่างเดียวคงไม่พอสำหรับการได้ใจเด็กๆ บังมีวิธีการสอนแบบนุ่มๆ เนิบๆ ต่างจากมาดามซาบีน่าที่มาสายสนุก

“เราก็ทำตัวเเราให้ต่ำลง อย่าถือที่ฐิติ ถ้าจะเข้าไปหาเด็ก เราต้องทำใจเราก่อน ทำตัวให้ต่ำที่สุด ถ้าพูดจริงๆ ให้เราโง่กว่าเขา จะบอกอะไร จะทำอะไรมันง่าย”
แล้วบังก็อาศัยจังหวะสอนตัด สอนอย่างอื่นไปด้วย
“การพูดการจา ส่วนมากผมจะสอนหลักธรรม การดำเนินชีวิต แต่ก็พูดไม่จริงจังนะว่า เฮ้ยถ้าตัวมึงไม่รักมึงแล้วมึงจะให้ใครรัก บางทีก็สอนแบบพูดลอยๆ ไม่ใช่จี้ พูดแบบอ้อมๆ ให้เขาคิด เด็กสมัยนี้ เพื่อนเป็นหลัก เพื่อนพูดคำเดียวเชื่อเลย บางทีก็ชวนเพื่อนๆ มาดูตอนสอนด้วย เราก็ไม่ห้าม แต่บางคนพอมาดูเสร็จ เฮ้ย ชอบเหมือนกันนี่หว่า เอ้า ชอบก็เรียน เคยชวนให้ผู้ใหญ่แถวนี้มาเป็นหุ่นให้เด็กๆ ด้วย มาเป็นหัวให้ที บอกเค้า”
ระดับผู้ใหญ่บ้านก็ถูกบังชวนเป็นหุ่นมาแล้ว และนั่นเป็นวิธีกระชับความสัมพันธ์ในแบบของบังอย่างหนึ่ง
“ผู้นำหมู่บ้านก็สำคัญ การมาเป็นหุ่นทำให้เขาสบายใจ เด็กๆ รู้สึกว่าเขาก็รักเรานี่หว่า พอผู้นำที่เขาคลุกคลีได้มันทำให้สบายใจ รู้สึกไว้ใจมากขึ้น ผู้ใหญ่บางคนก็ยอมหัวแหว่ง (ยิ้ม) เพราะอยากเห็นเด็กๆ เปลี่ยนแปลง”
บังบอกว่า ตอนนี้ในอำเภอสุขสำราญมีร้านตัดผมอยู่ 2 ร้านถ้วน ค่าตัดผมแบบธรรมดาเริ่มต้นที่ 60 บาท บังฝันว่าเด็กๆ ที่เรียนกับบังมาจะได้เปิดร้าน
“เปิดร้านดีกว่าไอ้พวกเนี้ย คนเก่าเขาก็ถอย เด็กใหม่ๆ ก็ขึ้นมาต่อยอด แถวนี้หัวละหกสิบ แต่ถ้าในเมืองติดแอร์หัวละเป็นร้อย แพงแล้ว” บังบ่นยิ้มๆ

จ๊ะสาวในฐานะตัวตั้งตัวตีที่ชวนทั้งมาดามซาบีน่าและบังหมาดมาร่วมเป็นห้องเรียน บอกกับเราว่า ทั้งหมดนี้ คือ การตั้งต้นจากตัวเด็ก ไม่คิดแทนเขาแต่จงถามเขาว่าต้องการเรียนหรืออยากรู้อะไร
“เด็กบางคนมีความฝันที่อยากเรียน อยากมีร้านเสริมสวยใหญ่โต แต่เวทีนี้ทำให้เขาเห็นว่า แม้ไม่ได้อยู่ในระบบเขาก็สามารถมาเรียนรู้ในชุมชนของเขาและประสบความสำเร็จได้ ไอดอลชุมชนก็เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ให้น้องๆ สามารถสัมผัสได้ว่าตัวชี้วัดไม่ใช่อยู่แค่ในโรงเรียน การเรียนรู้ทุกอย่าง ข้างนอกก็ได้ สามารถสัมผัส ปฏิบัติได้จริงๆ”
เรื่อง : ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
ภาพ : อธิคม แสงไชย